--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ความจริงหรือเรื่องโกหก กรณีท่าน ว.วชิรเมธี อร่อยจนลืมกลับวัด !!?


กลายเป็นกระแสพูดถึงในหลายแง่มุม กับภาพถ่ายปิดผนังร้านอาหารแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ที่เป็นภาพพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว. วชิรเมธีกำลังฉันอาหาร โดยมีข้อความกำกับไว้ว่า “อร่อยจนลืมกลับวัด” พร้อมลายเซ็น
     
       หลายเสียงโจมตีวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง กับสถานะเฉพาะตัวของการเป็นพระที่พ่วงด้วยการเป็นบุคคลสาธารณะที่ได้รับความนับถือมากมาย จึงไม่แปลกที่จะมีคนตั้งแง่รังเกียจและจ้องจับผิด เมื่อพลาดเพียงจุดใดจุดหนึ่ง การจู่โจมอย่างไม่เว้นวางจึงเกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าอีกแง่มุมหนึ่ง การสร้างประเด็นครั้งนี้อาจมีเบื้องหลังมาจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพื่อทำลายภาพลักษณ์และโจมตีความคิดทางการเมืองของอีกฝ่ายก็เป็นได้!
     
       จากอาจารย์ถึงลูกศิษย์
     
       ภาพที่เป็นข้อถกเถียงนั้นถูกโพสต์สู่โลกไซเบอร์ เป็นที่แรกๆ จากเพจเฟซบุ๊คบก.ลายจุด โดยโพสรายละเอียดไว้เพียงว่า “อร่อยจนลืมกลับวัด รูปนี้อยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่” จากนั้นก็มีการวิจารณ์ถึงความเหมาะสมมากมาย แต่บางคนก็เลยเถิดไปถึงขั้นไล่ไป สึก
     
       “มันอยู่ที่ว่า อักษรใต้ภาพนี้ “ใครเขียน” ถ้าร้านเอามาเขียนเอง ร้านก็ “หาแดกกะพระ” แต่ถ้าพระรูปนี้เขียนเองหรืออนุญาตให้เขียน แม่งก็ “พระจัญไร” ว่ะ ชัดมะ พระจะแดกห่าที่ไหนก็ได้แล้วแต่ใครนิมนต์ไปแดก แต่ว่าเรื่องสำคัญ พระจะชมว่า “อร่อย” ไม่ได้ ไม่ว่าอาหารที่นั้นแม่งจะเป็นอาหารทิพย์มาจากไหนก็ตาม ดังนั้น ภาพนี้ต้องทำให้ชัดว่า “คำใต้ภาพ” มาจากไหน” คือความเห็นจาก Sa-rhingkhan Jack Sangpho
     
       ความเห็นส่วนมากจะเป็นเชิงเหน็บแนมเสียดสี ตั้งแต่ในทำนอง อร่อยจนลืมนิพพาน กำลังกินฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน หรือเรียกท่านว่าหลวงเจ๊ แต่ในส่วนของการแสดงความคิดเห็น หลักใหญ่คงจะหนีไม่พ้นคำว่า อร่อย ซึ่งคำนี้เพียงคำเดียวก็ทำให้บางคนคิดว่า สังคมควรเลิกเรียกท่านว่า พระ
     
       “อร่อยจนลืมกลับวัด คุณคิดว่าในสมัยพุทธกาลพุทธองค์จะกล่าวประโยคแบบนี้มั้ยครับ ในฐานะเป็นสงฆ์ที่ต้องมีความสำรวม สันโดษ ไม่ยึดติดและพอใจในรสอาหาร แต่คำว่า อร่อย แม่งก็ทรงพลังเกินกว่าจะเรียกท่านวอร์ว่าเป็นพระแล้ว ปัญหาไม่ได้อยูที่สถานที่ แต่อยู่ที่เจตนาคนพูด ซึ่งผมไม่แปลกใจถ้าคนอย่างท่านวอร์จะพูดประโยคนี้” ความเห็นโดย Brandon Boyd
     
       แต่ก็มีหลายความเห็นที่ยังคงใช้ภาษาที่สุภาพ และวิจารณ์การกระทำนี้ออกมาอย่างมีหลักการและเหตุผล โดยผู้ใช้ชื่อว่า RitChie Bachmore สรุปความได้ว่า เรื่องการฉันที่ไหนคงไม่มีผิดพระวินัย แต่ต่อมาเมื่อพระสงฆ์อย่างท่านว.มีชื่อเสียงในมุมเจ้าของร้านที่มีศรัทธา จึงกราบขอให้พระลิขิตลายมือ นอกเหนือจากการสวดตามปกติ พระสงฆ์จึงเมตตาเขียนชมให้ดังที่เห็น ประเด็นสำคัญคือการเขียนอวยพรเชิงการค้าว่า อร่อยจนลืมกลับวัด พร้อมลายเซ็นและสัญลักษณ์ เจ้าของร้านคงมาติดด้วยความรู้สึกดี ปัญหาคือ ในพระไตรปิฎกมีอรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ 9 ข้อความหนึ่งเขียนว่า เรื่องอาหารจะกล่าวด้วยอำนาจ ความยินดีในสิ่งที่น่าใครว่า เราเคี้ยวกิน ดื่มบริโภค อาหารมีสีดีมีรสอร่อยไม่ควร เขาแสดงความเห็นว่า พระสงฆ์ในภาพต้องอาบัติหรือผิดพระวินัยสงฆ์ประการใด ขอให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในภาพพิจารณาตนเอง ส่วนทุกคนที่แสดงความเห็นนั้นก็ตั้งข้อสังเกต และถกเถียงกันตามสมควร
     
       อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทางสอดเสียด ล้อเลียน ถึงขั้นใช้คำเรียกว่า หลวงเจ๊ หรือขนานนาม เป็นเซเลบ มีบางความเห็นที่โยงไปถึงเรื่องการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน โดยโยนให้พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีอยู่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์
     
       “เชียร์เผด็จการไม่ลืมหูลืมตาขนาดนี้น่าจะสึกออกมาเข้า ปชป. ซะจะได้เล่นกันให้เต็มตีนไม่ใช่ห่มจีวรไว้กันโดนด่า” Phasu Phadungsin แสดงความเห็น
     
        และท่ามกลางการถกเถียงแสดงความเห็น ที่มาถึงยุคปัจจุบัน การวิจารณ์พระดูจะกลายเป็นเรื่องที่สามารถทำกันได้อย่างอยู่ในกรอบเกณฑ์ แต่ก็มีหลายครั้งที่มีการใช้คำพูดที่แสดงอารมณ์รุนแรงจนเกินกว่าเหตุ ที่นำภาพเพียงเหตุการณ์เพียงภาพเดียวนี้มาตัดสินการกระทำและคำสอนทั้งหมด กลายเป็นการวิจารณ์ที่มุ่งโจมตีบุคคลจนลืมไปแล้วว่า หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องก็มีออกมาจากการเทศนาของท่านเช่นกัน
     
       ประเด็นเรื่องภาพนี้เป็นของจริงหรือไม่? ถูกตั้งคำถาม เมื่อมีคนนำภาพมาโพสลงที่เว็ปบอร์ดยอดนิยมอย่างพันทิป ในห้องศาสนา มีการนำลายมือ ลายเซ็นมาเปรียบเทียบ หลายคนโจมตีอย่างไม่ลดละ ขณะที่อีกฝ่ายก็ช่วยปกป้อง ฝ่ายที่ล้อเลียนก็ยังคงเดินหน้าทำโลโก้ชวนชิม โดยเป็นภาพ ว.วชิรเมธีเป็นตัวการ์ตูนลอยอยู่เหนือชามอาหาร มีข้อความเขียนว่า “ว.ชวนชิม อร่อยจนลืมเหาะกลับวัด”
     
       หลังจากภาพที่ปรากฏเป็นที่คลางแคลงใจของฝ่ายหนึ่ง และการกระทำในภาพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยอีกฝ่าย ในที่สุดพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีก็ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงภาพดังกล่าวว่า
     
       “การนำมาวิพากษ์วิจารณ์ อาตมภาพต้องขอบอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอย่างยิ่ง เพราะว่าอะไร เพราะว่าประการที่หนึ่ง ไม่ได้ผิดพระวินัยอะไร ญาติโยมเขาทำบุญนิมนต์พระไปฉัน พระฉันแล้วเขาอยากได้ขวัญและกำลังใจ อยากให้เขียนข้อความอะไรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ในฐานะเป็นลูกศิษย์ลูกหาก็เขียนให้กำลังใจ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อะไรมากไปกว่านั้น ฉะนั้น ก็อย่าไปตีความให้มันเลยเถิด เลอะเทอะ
     
       แล้วก็ประเด็นที่สอง เป็นการเขียนทีเล่นทีจริง ประสาครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ที่สนิทสนม ไม่ใช่การการันตีเหมือนกับรายการเชลล์ชวนชิมอะไรทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจว่านี่คือการเขียนทีเล่นทีจริงระหว่างครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ลูกหา ไม่ใช่การการันตีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ก็ขอให้วางใจได้นะ เอาเวลาไปทำอะไรที่มีสารประโยชน์มากกว่านี้ดีกว่า เจริญพร”
     
       จ้องจับแบ่งฝั่ง
     
       แม้ต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ถูกโยงไปสู่การเมือง แต่กรณีทวีตของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ที่ถูกบิดเบือนจาก “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าฆ่าคน” เป็น “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง คำพูดนี้ส่งผลถึงปัจจุบันที่มีการแสดงความคิดเห็นว่าที่ว.วชิรเมธีได้รับรางวัลผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิ์มนุษยชนนั้นไม่เหมาะสมโดยใช้ตรรกะเชิงล้อเลียนว่า ในเมื่อฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน แสดงว่าฆ่าคนย่อมทำได้ง่ายกว่าฆ่าเวลา
     
       ปรากฏการณ์ที่พระนักเทศน์ผู้มีชื่อเสียงคนนี้ถูกพาดพิงบ่อยครั้งนั้นมาจากหลายปัจจัยรศ. วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า การที่คนมีชื่อเสียง มีผู้ชื่นชอบมากจะมีคนที่อิจฉา หมั่นไส้และมักถูกจับจ้องจับผิดนั้นเป็นเรื่องปกติ
     
       “ปกติท่านก็มีอารมณ์ขำ ชอบพูดในเชิงนี้อยู่แล้วด้วย คนที่จับผิดก็คงหยิบมาเป็นประเด็น ถ้าไม่คิดอะไรมากก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ฝ่ายที่ไม่ชอบหมั่นไส้เขาก็จะจับผิด ในประเด็นว่าเป็นพระแล้วมาพูดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร”
     
       เมื่อมองถึงตัวว.วชิรเมธีในฐานะพระ รศ.วิทยากรมองว่าว.วชิรเมธีเป็นพระหนุ่มที่ยังมีอายุน้อยอยู่ การที่พระรุ่นใหม่ได้รับความนับถือ กลายเป็นบุคคลสาธารณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ การวางตัวบางครั้งจึงเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าการเป็นบุคคลสาธารณะทั่วไป
     
       “คนเราพอเป็นบุคคลสาธารณะมีชื่อเสียง ยิ่งมีคนชอบมาก ก็จะมีฝ่ายหนึ่งที่รู้สึกอิจฉา หรือไม่ชอบ จับจ้อง เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ที่ท่านต้องระวังเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ พูดจริงๆ พูดเล่นตลกก็ต้องระวังตัวมากขึ้น” เขาเอ่ย
     
       เมื่อมองถึงสภาพสังคม การแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นตัวจุดชนวนการวิจารณ์ชั้นดี เขามองว่า เมื่อสังคมไทยมองเป็นพรรคเป็นพวก เสื้อเหลือง เสื้อแดง จับจ้องกัน ใครผิดอะไรหน่อยก็เล่นงาน
     
       “สังคมมันไม่ได้มองให้สมดุล มองกว้างๆ หน่อย โอเควิจารณ์นิดหน่อยได้ แต่ไม่ใช่จะเป็นจะตาย เสื้อแดงเขามองว่าท่านเป็นเสื้อเหลืองคนละฝ่าย ยิ่งท่านเป็นพระด้วยก็เล่นงานได้ง่าย ท่านมาพูดแบบนี้ก็โดนเล่น เพราะพระมีกฎเกณฑ์ต้องสำรวม”
     
       ทว่าแต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ รศ.วิทยากรก็เห็นว่า การวิจารณ์นั้นสามารถทำได้ แสดงความเห็นได้ ไม่เห็นด้วยที่ท่านพูดแบบนี้ก็วิจารณ์ได้ แต่ไม่ถึงกับต้องเล่นงานอีกฝ่ายมากจนเกินไป และพยายามทำให้ความน่าเชื่อถือทั้งหมดของว.วชิรเมธีลดลง
     
       “บางทีผมว่ามันจะเล่นกันแบบเป็นฝั่งฝ่ายมากเกินไป ใช้อารมณ์มากเกินไป พระที่มีปัญหากว่าท่านก็มีเยอะ น่าจะถกในประเด็นที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ แต่สื่อหรือคนชอบเล่นคนดัง ท่านดังขึ้นมาก็เป็นเป้าเล่นงาน เป็นการเล่นกระแส เราควรไปแก้ปัญหาความเชื่อของคนไทยที่มีต่อพุทธศาสนามากกว่า อย่างมงาย เชื่อในทางที่ถูกต้อง”
     
       ต่อความน่าเชื่อถือในฐานะพระนั้น ว.วชิรเมธีก็มีการเขียน หรือการบรรยายซึ่งต่างก็มีข้อที่ดีอยู่ หากเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ควรอภัยให้ท่านบ้าง
     
       “ผมคิดว่ามันเป็นการเรียนรู้ของท่านเองด้วย ท่านก็ยังหนุ่มอยู่ ถ้าเป็นดาราพูดกับแฟนคลับมันคงไม่มีอะไร ผมว่าสังคมไทยควรมองเรื่องใหญ่ๆ หน่อย อย่าจับเรื่องเล็ก แล้วก็บางอย่างให้อภัยได้ก็ให้อภัยไป มีพระที่แย่กว่าเยอะมากๆ อย่าจับที่ตัวบุคคล จับที่ระบบ อย่ามองสุดโต่ง คือบางคนมองสุดโต่งว่าพระนี่เป็นพวกเสื้อเหลือง งมงาย ผมว่าพระที่โดยพื้นฐานสอนให้คนทำดีก็เป็นสิ่งที่ดี สังคมมันก็จำเป็นต้องมีศีลธรรม อันนี้เป็นถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
     
       ....
     
       การที่สังคมไทยเปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากทว่า การวิจารณ์ด้วยเจตนาอย่างไร แฝงฝังการเลือกข้างแบ่งฝ่าย และผ่านการสร้างกระแสยุยงหรือไม่นั้น บางทีประเด็นที่ก้าวไปข้างหน้าของการวิจารณ์ระบบนั้นดูจะเป็นที่ทางที่เหมาะสมกว่าการจับผิดเล็กๆน้อยๆต่อบุคคล

ที่มา.ผู้จัดการออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น