โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ชื่อบทความเดิม “‘ประวัติศาสตร์’ กับ ‘การสร้างประวัติศาสตร์’”
ประเทศไทยเปลี่ยนไปไวเหมือนโกหก แต่ก็มีอะไรหลายอย่างที่ไม่เปลี่ยน ประวัติศาสตร์มันจึงไม่ตาย กลับโลดแล่น พลิกผัน เกิดใหม่ แปลงร่าง พรางกายอย่างพิสดารพันลึก นักเรียนประวัติศาสตร์ (ปวศ.) ต่างเฝ้ามองมันอย่างพินิจ พิเคราะห์ และหาคำอธิบาย “ความเปลี่ยนแปลง” อย่างใจจดจ่อ
แต่กระนั้น เราไม่อาจอธิบายทั้งโลกได้อย่างที่มันเป็น แต่เราอธิบายภายใต้ “สิ่งที่เราเป็น” หรือว่า “นักเรียน ปวศ.” อธิบาย “อดีต”
(๑) เป็นเรื่องที่เหมือน/ เกี่ยวกับเรา
(๒) หรือเพื่อเข้าใจในสิ่งที่แตกต่างจากที่เราเป็น (ในไชยันต์ รัชชกูล. ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์, ๒๕๔๙ )
วิชาประวัติศาสตร์ในอดีตเราพยายามศึกษา ‘ประวัติศาสตร์จริงๆ อย่างที่เราเป็น’ แต่ในที่สุดเราก็พบว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ย่อมมี ‘อคติ’ ‘ตัวตน’ ‘ภูมิปัญญา’ ‘บริบท’ ของคนศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ไชยันต์ รัชชกูล 2547) ฉะนั้น การศึกษา ปวศ. จึงมีความสัมพันธ์กับมิติที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนปม และทำให้ใครต่อใครลุ่มหลงอย่างไม่รู้ตัว
การศึกษาประวัติศาสตร์มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบ ‘ปัญหาของอดีต’ หรือ ‘ปัจจุบัน’ ว่าเราอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร และ ‘การไม่รู้อดีตของตนจึงเป็นความเจ็บปวด เพราะการไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร ทำให้ไม่รู้ว่าปัจจุบันจะอยู่อย่างไร และไม่อาจก้าวสู่อนาคตได้’
ในที่นี้ผมจะสรุปอย่างย่นย่อ ถึงห้วงจังหวะและกระของการผลิตสร้างประวัติศาสตร์ในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่เกิดภายใต้ความคิดประวัติศาสตร์ 3 กระแสด้วยกัน คือ
กระแสที่หนึ่ง คือ ประวัติศาสตร์ชาตินิยม
(ในสมัยหลังนิยมเรียกว่า “ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” เป็นแนวคิดเสนอโดยธงชัย วินิจกูล ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของอุดมการณ์ที่ถือเอาพระมหากษัตริย์เป็นผู้ผลักวิธีการพัฒนา ในที่นี้จะขอเรียกว่า ประวัติศาสตร์ชาตินิยม เพื่อสอดคล้องกลับประวัติศาสตร์สกุลท้องถิ่นชาตินิยม)
ที่ถือเอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแก่นแกนในการอธิบายประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์สกุลนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยชนชั้นนำให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ภายใต้บริบทของการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้เกิดการรวบรวมประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านอย่างละเอียด
การกลับมาค้นหาตัวตน หรือการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของคนในยุคนี้เกิดจากวิกฤติอัตลักษณ์ว่า “ฉันคือใคร และฉันจะอยู่ในโลกยุคใหม่นี้ได้อย่างไร? (นิธิ เอียวศรีวงศ์. 200 ปี ของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และทางข้างหน้า. ใน กรุงแตกพระเจ้าตากฯและประวัติศาสตร์ไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์. มติชน. 2550, หน้า 3-39.)”
รวมถึงการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันสิทธิเหนือดินแดนที่ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม คือ ล้านนา และภาคอีสาน ความสนใจในประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5
แม้ว่า ภายหลังในช่วงรัชกาลที่ 6 จะเกิดความซบเซาของการศึกษาประวัติศาสตร์ เนื่องด้วยวิกฤติอัตลักษณ์ของชนชั้นนำได้บรรเทาเบาบางลง (นิธิ เอียวศรีวงศ์. 200 ปี ของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และทางข้างหน้า. มติชน. 2550)
แต่ในรัชสมัยนี้มีความมุ่งหมายในการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อสร้าง “ชาติ” “ชาติ” ที่มีกษัตริย์เป็นแก่นแกน หรือผู้นำ เป็นผู้ผลักวิถีประวัติศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อความไม่มั่นคงในสถานะของรัชกาลที่ 6 ที่เกิดความแตกแยกในกลุ่มเจ้านาย และเกิดการเปรียบเทียบรัชสมัยของพระองค์ และพระบิดา (รัชกาลที่ 5) ยุคนี้จึงได้เกิดแนวคิดชาตินิยม “ไทย” เป็นใหญ่ภายใต้วาทะที่สำคัญที่เป็นหัวใจของชาติว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และเบียดขับคนกลุ่มอื่นที่ไม่ยอมเป็น “ไทย” ให้เป็นอื่น เช่น คนจีน เป็นต้น
จังหวะต่อมาที่มีการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้าง “ชาติ” ที่สำคัญ คือ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ช่วงทศวรรษที่ 2480) มีการใช้ประวัติศาสตร์สร้าง “ชาติ” โดยในยุคนี้ถือว่าเป็นยุค “ชาตินิยม” เพื่อนำไทยสู่อารยะ มีการออก “รัฐนิยม” เพื่อให้ราษฎรปฏิบัติ ทั้งการใส่หมวก ห้ามกินหมาก (สายชล สัตยานุรักษ์ ในโครงการ “ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ. 2435-2535”)
รวมถึงมีการสร้างความเป็นไทยผ่านประวัติศาสตร์ วรรณกรรม นิยาย ละคร เพื่อสร้างมหาอาณาจักรไทย โดยมีปัญญาชนที่สำคัญ คือ หลวงวิจิตรวาทการ โดยแก่นแกนสำคัญของชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็คือ “ผู้นำ” เป็นผู้นำที่เป็น “สามัญชน” มิใช่ผู้นำที่เป็นกษัตริย์ดั่งเช่นรัชกาลที่ 6
เนื่องด้วยจอมพล ป. เป็นผู้ก่อการที่สำคัญในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประวัติศาสตร์ในสมัยนี้ลดบทบาทและพื้นที่ของพระมหากษัตริย์ลง และเพิ่มพื้นที่ให้แก่ผู้นำที่เป็นสามัญชน (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. 2546.) เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังคำขวัญว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” แต่อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ชาตินิยมทำนองนี้ก็ไม่มีพื้นที่ให้แก่คนตัวเล็กตัวน้อยและท้องถิ่นอื่นนอกศูนย์กลางในประวัติศาสตร์
หลังทศวรรษที่ 2500 -ปัจจุบัน เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของกระแสประวัติศาสตร์ชาตินิยม หรือราชาชาตินิยม คือ เป็นยุคแห่งการพัฒนาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในยุคนี้ได้นำแนวคิด “ราชาชาตินิยม” (ธงชัย วินิจจะกูล . ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยม ใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน. ศิลปวัฒนธรรม, 23: 1 (พฤษจิกายน) 2544)
มาเป็นอุดมการณ์ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้บริบทของการยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่ขาดความชอบธรรมจากสังคม และนานาชาติ วิธีการหนึ่งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้ คือ การอ้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ ที่ถูกลดบทบาทในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2490-2500)
อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นภายหลังจากรัชกาลที่ 9 ทรงกลับมาประทับในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 2490 แต่บทบาทของพระองค์ก็ไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากนัก เพราะในสมัยจอมพล ป. เป็นยุคที่เน้นผู้นำที่เป็นสามัญชน แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงพระปฏิบัติพระราชกรณียกิจก็เป็นแต่เพียงงานทางด้านพิธีการ แต่พระองค์ทรงได้ความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินตามภูมิภาคต่างๆ มีผู้คนมาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินในภาคอีสานรัฐบาลก็ไม่สนับสนุนในพระราชกรณียกิจนี้อีกต่อไป เพราะเกรงว่าสถานะของรัฐบาลจะสั่นคลอน รวมถึงเกรงว่าพระองค์จะทรงมีบทบาทนำเหนือจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ชนิดา ชิตบัณฑิต. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2550, หน้า 58-87)
อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ เป็น “หัวใจของชาติ” เป็นผู้นำทางด้านศีลธรรม คุณธรรม พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีลำดับชั้นสูงสุดในสังคมไทย เป็นผู้พระราชทานคำแนะนำให้แก่ผู้นำ เพราะฉะนั้นประชาชนไม่ต้องคอยตรวจสอบถ่วงดุลผู้นำ เพราะผู้นำมีคุณธรรมและศีลธรรมอยู่แล้ว รวมถึงได้รับคำแนะนำจากกษัตริย์ด้วย
อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” สนองตอบต่อการปกครองระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ได้สร้างเสริมพระบารมีให้แก่สถาบันกษัตริย์เป็นอย่างมาก เช่น การส่งเสริมให้เสด็จประพาสยังต่างประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งการเสด็จประพาสต่างประเทศสร้างความประทับใจให้แก่ประเทศไทย ประชาชนไทย และรัฐบาลไทย รวมทั้งหันเหความสนใจของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล และลดคำวิจารณ์ของชาวต่างชาติต่อรัฐบาลเผด็จการของไทย (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2548, หน้า 255-259.)
นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ ยังได้เปลี่ยนแปลงวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรืออีกนัยยะหนึ่งคือตัวแทนคณะราษฎรได้กำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2481 มาเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมแทน ในปี พ.ศ. 2503 รวมถึงรื้อฟื้นสถานภาพและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น การเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค งานเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา. ใน ฟ้าเดียวกัน, 2 : 2(เมษายน-มิถุนายน 2547) : 70-121.) เป็นต้น
รวมถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่กระทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ชนิดา ชิตบัณฑิต. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. 2550.) หรือทรงระงับวิกฤติในสังคมไทยหลายครั้ง เช่น 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535
ทำให้พระบารมีของพระองค์ทรง “สถิต” ในใจราษฎร ทำให้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ฝังลึกในสังคมไทย และมีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การเขียน/ สร้าง(อนุสาวรีย์) ประวัติศาสตร์ ‘ใหม่’ ต่างเกิดภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม
แม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้จะเกิดแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์แนวอื่น เช่น ท้องถิ่นนิยม(หลัง พ.ศ. 2526) ประวัติศาสตร์แนวสังคมนิยม แต่ไม่ได้ทรงพลังเท่าประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ครอบงำการรับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย และคงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
กระแสที่สอง คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม
เป็นประวัติศาสตร์กระแสใหม่ที่เกิดในทศวรรษที่ 2520 เป็นประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับสังคม ความเป็นมาของผู้คนในท้องถิ่นเดียวกัน ทั้งด้านประเพณี ความเชื่อ และความทรงจำ โดยถือเอาท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการอธิบายประวัติศาสตร์ เกิดภายใต้ความเปลี่ยนแปรสำนึกทางประวัติศาสตร์ หลังการปฏิวัติของนักศึกษาประชาชนในปี พ.ศ. 2516 ที่หันมาให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ยงยุทธ ชูแว่น. โครงการประมวลวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้เพื่อเขียนตำรา เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย. 2548.)
ทำให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยครูในท้องถิ่นต่างๆในช่วงทศวรรษที่ 2520 ทำให้เกิดความตื่นตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น ดูได้จากงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น
- ปริศนา ศิรินาม เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศราชในหัวเมืองลานนาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในปี พ.ศ. 2516
- ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์ เรื่อง การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ทางภาคเหนือของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2439 ถึง พ.ศ. 2475 ในปี พ.ศ. 2521
- ชูสิทธ์ ชูชาติ เรื่อง วิวัฒนาการเศรษฐกิจหมู่บ้านในภาคเหนือของประเทศไทย (พ.ศ.2394-2475) ในปี พ.ศ. 2523
- สรัสวดี ประยูรเสถียร เรื่อง การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ. 2436-2476) ในปี พ.ศ. 2522 เป็นต้น
การศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นอื่น นอกเหนือจากประวัติศาสตร์รัฐราชาธิราชในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงแรกเป็นความสนใจ และขับเคลื่อนจากสถาบันการศึกษามิได้เกิดจากความตื่นตัวของท้องถิ่นอย่างแท้จริง และการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในสกุลนี้ก็มีความหลากหลายอาทิเช่น
(ก) ศึกษาท้องถิ่นในฐานะส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง
(ข) หาตัวตนของท้องถิ่น เช่น งานคลาสสิค 2 ชิ้นของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ผลิตในยุคนี้ คือ จากรัฐชายขอบถึงมณฑลเทศาภิบาล: ความเสื่อมสลายของกลุ่มอำนาจเดิมในภูเก็ต (2528)
และนครศรีธรรมราชในอาณาจักรอยุธยา รวมถึงการปริวรรตเอกสารในท้องถิ่น เช่น ตำนานพระยาเจือง (2524) กฎหมายมังรายศาสตร์ (2528) หัตถกัมมวินิจฉัยบาฬีฎีการอมสมมุติราช (2527) เป็นต้น
การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน (ยงยุทธ ชูแว่น. โครงการประมวลวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้เพื่อเขียนตำรา เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย. 2548.) จะเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำให้ผู้คนในท้องถิ่นตระหนักในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตนเองมากขึ้น จนทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ในสกุล“ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (นิยม)” ความตื่นตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในช่วงทศวรรษที่ 2520 เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภูมิภาคต่างๆ
นอกจาก “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏ หรือ ฯลฯ ก็ได้รับการรื้อฟื้น “สร้างใหม่” ในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระนั้นใน ‘อดีต’ และสร้างตำแหน่งแห่งที่ให้คน ‘ปัจจุบัน’ เช่น ประวัติศาสตร์ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” (จะกล่าวต่อไปในครั้งหน้า)
อย่างไรก็ตาม ความเฟื่องฟูของสกุล “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” มาได้รับความสนใจอย่างจริงจังภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ที่มีหลายมาตราเอื้อต่อการสร้างสำนึกท้องถิ่นนิยม เช่น มาตราที่ 46 ที่กำหนดให้ “บุคคลที่รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ…(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540)”
และมาตราที่ 56 “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง…” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540) โดยเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้เข้ามาจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น
ดังปรากฏในงานวิจัยประวัติศาสตร์ชุมชนของกลุ่มอาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ที่ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยทางประวัติศาสตร์ (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ . ประวัติศาสตร์เพื่อชุมชนทิศทางใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์, 2548) รวมถึงการสนับสนุนอย่างจริงจังของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเฉพาะฝ่าย 4 ที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นแพร่หลายอย่างไม่เคยมีมา
ภายใต้บริบทที่เอื้อต่อการสร้าง รื้อฟื้น ประวัติศาสตร์และความทรงจำท้องถิ่นเช่นนี้นำมาสู่การสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในภูมิภาคต่างๆ กอปรกับในปี พ.ศ. 2539 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี จึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น งานฉลองเชียงใหม่ 700 ปี การสร้างอนุสาวรีย์พญาพลเมืองแพร่ เป็นต้น การสร้างอนุสาวรีย์ และหนังสืออนุสรณ์จึงเฟื่องฟูภายใต้บริบทของความเป็นปีมหามงคล และการเฉลิมฉลองนี้
กระแสที่สาม ประวัติศาสตร์ ‘ท้องถิ่นชาตินิยม’
คือ การผสมระหว่างประวัติศาสตร์ชาตินิยม และท้องถิ่นนิยม เกิดในราวทศวรรษที่ 2530 ภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” อันทรงพลัง ‘สูงสุด’ ทำให้พลังท้องถิ่นนิยมอย่างเดียวไม่มีพลังในการจัดตำแหน่งแห่งที่แก่ท้องถิ่นได้ จึงได้เกิดประวัติศาสตร์แบบ “ท้องถิ่นชาตินิยม” โดยเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติ
เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ชาตินิยมกระแสหลักทรงอิทธิพลจนทำให้การอธิบายประวัติศาสตร์จากมุมมองของท้องถิ่นไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ จึงต้องอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติเพื่อให้มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งประวัติศาสตร์กระแสนี้มีอิทธิพลสูง และมีสัมพันธภาพกับการจัดวาง ‘ตำแหน่งแห่งที่’ ของคนกลุ่มต่างๆ อย่างซับซ้อน ผมจึงขอยกรายละเอียดเอาไว้ครั้งหน้า
การสร้างประวัติศาสตร์ในโครงเรื่องต่างๆ ภายใต้กระแสประวัติศาสตร์ข้างต้น เกิดภายใต้คนหลากหลายกลุ่มเพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ในหน้าประวัติศาสตร์ และจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่ ‘สร้าง’ ในสมัยหลัง
- (๑) ขาหนึ่งวางอยู่บนการหาตัวตนของท้องถิ่น
- (๒) แต่ขาอีกข้างกลับวางอยู่บนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ซึ่งแสดงให้เห็นการผสม/ลงเอยกันอย่างลงตัว และบ้างครั้งก็ลักลั่นระหว่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมและอุดมการณ์ราชาชาตินิยม
การเกิดการเขียนประวัติศาสตร์ภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” “ท้องถิ่นนิยม” และ “ท้องถิ่นชาตินิยม” เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย แตกต่างกันเพียงกระแสประวัติศาสตร์แบบใดจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน และมิได้เกิดขึ้นเฉพาะแห่งหนึ่งแห่งใด แต่สัมพันธ์แนบแน่นกับ “บริบท” และความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างลึกซึ้ง
และประวัติศาสตร์ก็ “กลับมาโลดแล่น และมีชีวิต ตื่นจากนิทรา” อีกครั้ง แต่มันได้ ‘เผยร่าง พรางกาย สร้างใหม่’ เอาไว้
ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น