โดย : ปริญญา ชาวสมุน
เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายกันแล้วสำหรับปี 2555 ตลอดทั้งปีมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย
โอกาสสิ้นปีแบบนี้แทบจะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาสื่อต่างๆ กันไปแล้ว ที่จะต้องนำสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นในวงการใดวงการหนึ่งมารวบยอดถ่ายทอดอีกครั้ง เพื่อย้ำเตือน บางเรื่องอาจเป็นบทเรียนชั้นดีได้อีกด้วย สำหรับวงการวรรณกรรมบ้านเรา จุดประกายวรรณกรรม ก็เช่นเดียวกัน ไม่ปล่อยให้เรื่องบางเรื่องถูกปล่อยผ่านไป ไหนๆ จะสิ้นปี มาดูกันสิว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง เรื่องใดดี เรื่องใดร้าย เรื่องใดน่าสนใจ และสร้างแรงกระเพื่อมแก่วงการนี้บ้าง
1.รอยแผลจากอุทกภัยปี 54
ถึงแม้จะข้ามผ่านปี 2554 มาจวนจะหมดปี 2555 กันอยู่รอมร่อ ทว่าคงอดพูดถึงเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนั้นเสียมิได้ เพราะผลกระทบอันร้ายกาจมิได้หยุดอยู่แค่ปลายปี 54 แต่ไหลบ่าสู่ปี 55 นี้ด้วย กว่าจะพลิกฟื้นคืนสภาพกันได้ต้องใช้เวลากันนานพอตัว และภาพที่ได้เห็นกันคือความเสียหายของบรรดาบ้านนักเขียน บ้านบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสือ แม้กระทั่งบ้านนักอ่าน
ที่เด่นชัดและถูกกล่าวถึงมากที่สุด เห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากบรรณาธิการอาวุโสท่านนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบอุทกภัยเต็มตัวด้วยแรงกระแสน้ำซึ่งมาแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว และที่น่าเศร้าไปกว่าคือบรรดาหนังสือนับแสนเล่มที่บรรณาธิการเครางามคนนี้สะสมไว้ตั้งแต่สมัยเรียนก็ถูกน้ำท่วมเสียหายกลายเป็นซากแห่งปัญญา สะท้อนภาพสังคมไทยได้อีกนัยหนึ่ง
"สิ่งที่ผมทำผมหวังว่าวันหนึ่งจะเป็นสมบัติของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นประวัติศาสตร์สังคม แล้วแต่คนรุ่นต่อไปจะให้ความหมายมัน เอกสารและสิ่งเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปก็คือเอกสารชั้นต้นของคนรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือโป๊ หนังสือการเมือง หนังสือทุกๆ ประเภท ผมก็เก็บหนังสือทุกๆ ประเภท เพราะการเก็บหนังสือทุกประเภทนั้นผมต้องทำหน้าที่เหมือนบรรณารักษ์ ไม่เลือกที่รักไม่มักที่ชัง หนังสือแนวคิดทางการเมือง หนังสือต้องห้ามสมัย 6 ตุลา รวมทั้งหนังสือของผมเองก็จมไปหมดแล้ว หนังสือต้องห้ามที่ผมเคยฝังดินไว้เพราะเกิดภัยการเมืองช่วงนั้นมันก็รอดจากเหตุการณ์การเมืองเมื่อปี 2519 มาจนกระทั่งปีนี้ ไม่รอด" สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าว (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ. 8 ม.ค.55)
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีบรรดาเพื่อนๆ ในวงการหนังสือ รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาเข้าช่วยเหลือเก็บกู้หนังสือ แผ่นหนัง แผ่นเพลง ที่จมอยู่ใต้น้ำ แม้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นซาก แต่หากมองอีกมุมคงไม่มีอะไรดีไปกว่าได้เห็นน้ำจิตน้ำใจ และเห็นภาพสะท้อนการบริหารของฝ่ายบริหารที่สุดท้ายผลกรรมต้องตกอยู่กับชาวบ้าน เรื่องนี้มิได้เตือนใจเพียงแค่เรื่องพิบัติภัยทว่าคงสะกิดบอกอะไรแก่วงการหนังสือได้มากพอสมควร...หรือไม่จริง
2.E-Books (ไม่) บุกสักที
เป็นที่กล่าวขานถึงกันมาหลายปีแล้วว่าหนังสือกำลังจะตาย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์กำลังจะเข้ามาแทนที่ หากมองในต่างประเทศคงยากจะปฏิเสธ เพราะมีตัวอย่างของสำนักพิมพ์ที่ต้องปิดตัวลงเพราะไม่ปรับตัวเข้ากับกระแสอิเล็กทรอนิกส์ให้เห็นเนืองๆ หรือแม้แต่ร้านหนังสือ BORDERS ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา (ถัดจาก Barnes & Noble) ซึ่งเคยมียอดจำหน่ายถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่เมืองแอนอาร์เบอร์ ในรัฐมิชิแกน ต้องประกาศเลิกกิจการและปิดร้านค้าปลีกจำนวน 642 แห่งทั่วสหรัฐฯ และปลดคนงานกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมปี 2553
ซึ่งสองในสามเหตุผลในการปิดกิจการของ BORDERS ที่นักการตลาดได้วิเคราะห์ไว้ เกี่ยวกับการไม่ปรับตัวให้เป็นไปตามกระแส E-Books และ E-Commerce
ด้าน ดร.พลภัทร์ อุดมผล เจ้าของบริษัท ไอที เวิร์คส์ และถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน E-Books คนหนึ่งของเมืองไทย เคยกล่าวไว้ว่า
"ผมว่าคงยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมายนัก อาจจะเป็นเรื่องอุปกรณ์อาจจะเปลี่ยน อย่าง iPad 3 เราก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร จะมีอะไรเพิ่มขึ้นมาแค่ไหน ในปีนี้เองหลายๆ ค่ายมีแผนจะออกอุปกรณ์ อย่างค่ายแอ๊ปเปิ้ลในปีนี้ก็น่าจะมีทั้ง iPhone 5 และ iPad 3 ด้าน Android ก็มีแทบเล็ต Icecream, Sandwich เรียงแถวกันออกมาเลย ไมโครซอฟท์ก็จับมือกับโนเกียออกสมาร์ทโฟนวินโดว์ส จะมีวินโดว์ส 8 ออกมา ปีนี้น่าจะมีการเติบโต การแข่งขันในตลาดแทบเล็ตมาก มันก็จะดึง e-book ขึ้นไปด้วย" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.15 ม.ค.55)
ถ้าใครติดตามทั้งวงการหนังสือและวงการไอทีไปพร้อมๆ กัน จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ ดร.พลภัทร์ กล่าวนั้นเกิดขึ้นจริงในปี 2555 คือ สิ่งที่มาแรงจริงๆ คือ การแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์ แต่ละผลิตภัณฑ์ตอบสนองกระแสหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่หากจะบอกว่า E-Books เติบโตอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่ อาจยังตอบไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เท่าที่เห็นความเคลื่อนไหวของหนังสือบ้านเราก็คงเป็นกลุ่มนิตยสาร นิตยสารการ์ตูน หรือหนังสือประเภทอื่นบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ทดลองจับตลาด แต่จะจับติดหนับหรือไม่ อาจต้องรอดูกันยาวๆ ปีหน้า หรือไม่ก็ปีโน้น
3.มวจ.มาตรฐานใหม่แห่งวงการวรรณกรรม
จากต้นปีมังกรดำเนินมาอย่างเอื่อยๆ กระทั่งเข้าสู่กลางปี วงการหนังสือบ้านเราก็เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีกครั้ง นั่นคือการประกาศตัวทำโครงการ (ระยะยาว) มวจ. หรือ มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด โดยมีแกนนำคือ ดอนเวียง - วชิระ บัวสนธิ์ และ เรืองเดช จันทรคีรี ร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้มีใจรักวรรณกรรม เดินหน้าสร้างบรรทัดฐานให้การพิมพ์หนังสือชั้นดีเกิดขึ้นมากหลาย
เรืองเดช อธิบายว่า มวจ.เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณภาพและคุณค่าของหนังสือ เครื่องหมาย มวจ.จะเป็นเครื่องหมายรับรองให้ผู้อ่านมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าด้านเนื้อหา มีคุณภาพด้านงานบรรณาธิการ และการผลิต ซึ่งคุณค่าและคุณภาพทำให้สำนักพิมพ์และร้านหนังสือเล็กๆ ขายหนังสือนั้นได้มากขึ้นด้วย
ปัจจุบันตลาดวรรณกรรมภาพรวมอาจใหญ่โต แต่เมื่อแบ่งชั้นกัน วรรณกรรมดีกลับกลายเป็นชนกลุ่มน้อย แทบไม่มีที่ยืน มิหนำซ้ำผู้เสพงานวรรณกรรมดีก็ยิ่งมีน้อย วรรณกรรมดีจึงกลายเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (limited) แต่แง่ดีแนวทางของ มวจ.ก็เหมาะกับตลาดแบบจำกัดนี้ที่สุด
"ข้อดีอย่างหนึ่งของตลาดเฉพาะกลุ่ม คือ คู่แข่งน้อย เพราะตลาดเล็ก คนส่วนมากไม่สนใจ มันเล็กมาก ขายหนังสือ 2,000 เล่ม เขาไม่สนใจ เขาสนใจจะขายเป็นหมื่นเล่ม ดังนั้นหากเราค้นพบแนวหนังสือที่เป็นแนวถนัด ทางของตัวเอง ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้อ่านของเราได้ เราก็จะเป็นผู้นำตลาด" เจ้าสำนักรหัสคดี กล่าว (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.15 ก.ค.55)
จากวันนั้นจนวันนี้เราก็ได้เห็นหนังสือภายใต้เครื่องหมาย มวจ. ออกมาสองสามเล่มแล้ว เช่น สีแดงกับสีดำ และ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ซึ่งกระแสตอบรับจากนักอ่านก็ค่อนข้างดี
นับเป็นจุดเริ่มต้นอันงดงาม และน่าสนับสนุนต่อไป เพราะถ้าถามผู้อ่านจุดประกายวรรณกรรมอย่างเปิดอกเปิดใจว่าอยากเห็นอนาคตของวงการวรรณกรรมบ้านเราเป็นอย่างไร คงไม่มีใครต้องการให้บรรณพิภพไทยถึงคราวฉิบหายกันหรอก...ใช่ไหมครับ
4.'ซีเอ็ด - นายอินทร์' ศึกหนักกรณี DC 1 เปอร์เซ็นต์
ถัดมาเพียงหนึ่งเดือน วงการหนังสือบ้านเราก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องความร่วมอะไร เพราะเป็นการรวมตัวกันของสำนักพิมพ์ นักอ่าน นักเขียน ออกมาเรียกร้องให้ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของประเทศถึงสองแห่งที่จับมือกันร่อนหนังสือถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ แจ้งเจตน์จำนงว่าจะขึ้นค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า Distribution Center Fee (DC) อีก 1 เปอร์เซ็นต์ของราคาปก
ร้อนไปถึงเจ้าสำนักสามัญชน คนนอนอ่านหนังสือ อย่าง ดอนเวียง - วชิระ บัวสนธิ์ ต้องร่อนหนังสือคัดค้านมีใจความว่า...
"หนังสือที่เราเห็นๆ วางขายอยู่ตามร้านค้าทั่วไปนั้น หน้าร้านอาศัยกินเปอร์เซ็นต์จากเล่มที่ขายได้ เล่มใดขายไม่ได้ ก็ไม่คิดตังค์จากสำนักพิมพ์หรือสายส่งแต่ประการใด ข้อปฏิบัติดังกล่าวยังคงอยู่ แต่ซีเอ็ดกับอมรินทร์ ต้องการเรียกเก็บตังค์กินเปล่าเพิ่มอีก 1% ของยอดส่งสินค้าฝากขาย โดยผิวเผิน อาจดูเหมือนเป็นตัวเลขไม่สูงเท่าไร แต่ถ้าพิจารณาจากมูลค่าปกหนังสือที่ผลิตกันในช่วงปีปัจจุบัน ซึ่งมีการประเมินกันว่าไม่น่าจะต่ำกว่าสามหมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป เช่นนี้แล้ว และหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของยอดดังกล่าวที่จะไหลเข้ากระเป๋าของสองบริษัทมหาชนอย่างมากมาย" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.12 ส.ค.55)
หลังจากนั้นได้มีการตอบโต้จากหลายฝ่าย อาทิ การเรียกร้องไม่ให้ใช้บริการร้านหนังสือซีเอ็ดและนายอินทร์จากกลุ่มคนในสังคมออนไลน์ จนในที่สุดเรื่องก็ไปถึงคณะอนุกรรมาธิการการเมืองและสื่อสารมวลชน รัฐสภา โดยเรียกผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ทั้งตัวแทนจากซีเอ็ด, นายอินทร์ ตัวแทนสำนักพิมพ์ และสมาคมต่างๆ เข้าชี้แจง
กระทั่งได้บทสรุปว่า ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ทั้งสองเจ้ายอมยกเลิกการเรียกเก็บเงินดังกล่าว คล้ายเรื่องนี้จะจบลงอย่างงดงาม ทว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ซีเอ็ดกลับกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกครั้งจากกรณีจำกัดสิทธิการจำหน่ายหนังสือที่มีเนื้อหาส่อไปในทางเพศ เบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมที่กำลังก้าวไปสู่ความเป็นเสรีทั้งๆ ที่รากฐานทางความคิดยังไม่มั่นคงอย่างบ้านเรา ปีนี้จึงถือเป็นปีที่ซีเอ็ดและนายอินทร์ต้องรับศึกหนักจริงๆ โดยเฉพาะซีเอ็ด
5."เรยา"ผู้หญิงร้อนแรงข้ามปี
เรียกได้ว่าเป็นตัวละครหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อปีก่อนเพราะ 'เรยา วงศ์เสวต' ตัวละครเอกจากนวนิยาย 'ดอกส้มสีทอง' ของ ถ่ายเถา สุจริตกุล ได้ถูกรังสรรค์ในรูปของละครชื่อเดียวกัน ด้วยความที่บุคลิกและบทบาทของเรยาช่างร้อนแรงสะใจผู้ชม ทั้งนวนิายและละครจึงดังเปรี้ยงปร้างดั่งประทัดดอกไม้ไฟ
และในปี 2555 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ เรยาก็ถูกกล่าวขานถึงอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอมาในโฉมละครเวทีแบบมิวสิคัล ที่ขนเอาบทเพลงอันไพเราะมากมายขึ้นขับกล่อมพร้อมกับเนื้อหาที่เข้มข้น
ถ่ายเถา สุจริตกุล ผู้ประพันธ์ได้กล่าวไว้ว่า...
"ละครเพลงหรือมิวสิคัลสไตล์บอร์ดเวย์ เราเดินเรื่องด้วยเพลง คำพูดเป็นส่วนประกอบเพลง ไม่ใช่เพลงเป็นส่วนประกอบบทเจรจา ดิฉันก็ต้องคิดก่อน ตอนที่ได้คุยกันว่าจะทำเรื่องนี้เป็นละคร ดิฉันก็บอก ให้สมเถาแต่งเพลง เขาก็มีประสบการณ์เยอะ ติดต่อเขาก็ทำ สมเถาเป็นคนวางโครงเรื่อง เขาไม่ได้อ่านนวนิยายหมด เพราะภาษาไทยก็ไม่สันทัดนัก ดิฉันก็เขียนไปว่าตัวละครตัวนี้เป็นใคร ชีวิตเป็นอย่างไร จบอย่างไร เขาก็ไปทำโครงเรื่อง และมีบางตอนที่เรามาคุยกันว่าอย่างนี้ดีไหม แต่โครงเรื่องเขาเป็นคนวางเพราะเขารู้เรื่องดนตรีมากกว่าดิฉัน ที่อยากจะทำก็คือมันจะเป็นครั้งแรกที่ดนตรีนำเรื่อง ไม่ใช่เรื่องนำดนตรี" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.9 ก.ย.55)
เมื่อ เรยา เดอะมิวสิคัล แสดงเสร็จสิ้น ไม่ต่างจากทั้งเป็นนวนิยายและละครโทรทัศน์ เพราะมีทั้งเสียงชื่นชม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่อาจเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ต้องพบเจอเรื่องแบบนี้ หากเรายังดำรงอยู่ในสังคมปากว่าตาขยิบแบบนี้ ในสังคมที่มีคนแบบเรยาเดินไปๆ มาๆ ขวักไขว่...บางคนอาจยิ่งกว่าเรยาเสียด้วยซ้ำ
6.แรงเงา-กี่เพ้า
หลังจาก"เรยา"โบกมืออำลาไปแล้ว...."แรงเงา"ผลงานนวนิยายของ "นันทนา วีระชน"ที่ถูกนำมาทำเป็นละครทีวีก็ทำเร็ตติ้งร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งจิกทั้งตบทั้งกรี๊ดจนจอแก้วแทบร้าวเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วก็มีนวนิยายเรื่อง "กี่เพ้า"ผลงานของพงศกร (นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ)อีกเรื่องหนึ่งที่นำไปทำเป็นละครทีวี และประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับนวนิยายเรื่อง "รอยไหม"ที่มีคนดูติดกันงอมแงมทั่วประเทศ
7."คนแคระ" ซีไรต์ 2555
อย่างที่จุดประกายวรรณกรรมเคยพูดคุยกับ วิภาส ศรีทอง ว่า เขาบ่มกลั่น คนแคระ ร่วมสองปี ตั้งแต่เขียนเสร็จในช่วงปีครึ่งและแก้ไขตัดทอนอีกครึ่งปี เหตุผลแรกที่ใช้เวลานาน เพราะเนื้อเรื่องยาวมาก แต่อีกเหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าและเกือบทำให้เขาโยนคนแคระลงถังขยะเพราะ คำวิจารณ์อันหนักหน่วง รุนแรงจากเพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง
"มีกระแสตอบรับหลายอย่างที่...เอ่อ...ส่งให้เพื่อนนักเขียนหลายๆ คนอ่าน เขาบอกว่าไม่ผ่าน ต้องไปแก้เยอะ ผมต้องตัดไปเยอะ ตัดไปประมาณเกือบร้อยหน้าเอสี่ ซึ่งถ้าเป็นกระดาษมาพิมพ์ก็เกือบๆ สองร้อยหน้า...จริงๆ มีคนบอกให้ไปเขียนใหม่หมดหรือไม่ก็โยนทิ้งไปเลย ผมก็เสียความมั่นใจนะ" วิภาส เล่าให้ฟัง
แต่วิภาสก็ต่อสู้กับสภาวะในใจอันเกิดจากผู้อื่นหยิบยื่นให้ได้สำเร็จ เขาแก้ไขต้นฉบับที่มีปัญหาจนกระทั่งสมบูรณ์ ตีพิมพ์ และสุดท้ายก็ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปีล่าสุดไปครอง
ด้าน ผศ.สกุล บุณยทัต หนึ่งในคณะกรรมการบอกว่า นวนิยายเรื่องนี้สร้างมิติใหม่ทางสังคมอย่างน่าประหลาดใจ
"นี่คือจุดเด่นที่สุดของนวนิยายในรอบทศวรรษที่สร้างมิติของสังคมใหม่ให้ปรากฏเป็นภาพ สังคมใหม่มีรอยบาดเจ็บมาก ตัวละครมีความซับซ้อน มีความแปลกแยก แต่ละตัวเหมือนจะไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองกระทำ แต่ละตัวเหมือนจะไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสำนึกด้านในที่ปรากฏออกมา ตัวละครทั้งสี่ ทุกคนเป็นโลกแห่งความหมาย ซึ่งเป็นโลกแห่งความเร้นลับในชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน ด้วยฝีมือของวิภาสที่สร้างตัวละครเหล่านี้ให้กลายเป็นกรอบของภาวะสำนึกที่มันเจ็บปวดและขมขื่นและทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นภาวะที่เราได้ประจักษ์ถึงความทบซ้อนของชีวิตในภาวะต่างๆ และทำให้เราหันกลับมามองตัวเองว่าอย่างน้อยที่สุด ในสังคมทุกวันนี้เราก็เหมือนไม่รู้สึกตัวต่อสิ่งที่เราเป็นอยู่เช่นเดียวกัน"
แม้คนแคระของวิภาสจะคว้ารางวัลมาได้ด้วยมติขาดลอย 7 ต่อ 0 เสียง แต่ถ้าหากเท้าความไปเมื่อปี 2551 ความผิดพลาดครั้งนั้นกลับมาทิ่มแทงวิภาสจนกระทั่งวันนี้ ซึ่งภายในงานประกาศรางวัลซีไรต์ 2555 จิตติ หนูสุข กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาชิกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ได้แสดงทัศนะว่า ประหลาดใจมากที่ผลออกแบบนี้
"ผมไม่แน่ใจว่าในรอบคณะกรรมการตัดสินทั้งเจ็ดท่าน ซึ่งทุกท่านเป็นผู้ที่ผมเคารพ หลายท่านเป็นผู้ที่ผมเคารพนับถืออย่างยิ่ง แต่ผมคงต้องขอพูดความในใจ ผมไม่ทราบว่าท่านคณะกรรมการคิดอย่างไรถึงตัดสินให้ผลงานซึ่งแม้จะมีความดีเด่น ล้ำเลิศ ผมไม่สงสัยในคุณภาพของหนังสือเล่มนี้เลย ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้มีความดีเด่น แต่เราทั้งหลายในวงวรรณกรรมก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นักเขียนผู้เขียนผลงานดีๆ ผู้นี้มีความบกพร่องทางจริยธรรม โดยเฉพาะในการส่งประกวดรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2551 นักเขียนผู้นี้ได้ส่งหนังสือรวมเรื่องสั้นเข้ามาประกวด หนึ่งในตัวเรื่องสั้นเล่มนั้นได้ดัดแปลงเรื่องสั้นของนักเขียนต่างประเทศมา ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการตรวจสอบ และพบว่าเป็นความจริง นักเขียนคนนี้พอข่าวฉาวโฉ่ขึ้นมา นักเขียนคนนี้ก็หายหน้าไปจากวงวรรณกรรม 4-5 ปี แล้วปีนี้ ก็ได้บังอาจส่งนวนิยายผลงานเล่มใหม่เข้ามาประกวด กรรมการรอบตัดสินได้คิดเรื่องอะไรเหล่านี้หรือไม่ ผมคิดว่าในบ้านเมืองของเราเดือดร้อนวุ่นวายแสนสาหัส เพราะมีคนบกพร่องทางจริยธรรม และการบกพร่องทางจริยธรรมก็ได้ก้าวมาในวงการหนังสืออีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นระยะๆ ตลอดมา และผมก็คิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าโลกจะแตก"
หากมองอย่างเข้าใจ เสียงคัดค้านนี้มิได้มีเพียงเสียงเดียว หรือกล่าวร้ายอย่างเลื่อนลอยเท่านั้น จิตติเพียงประสงค์ดีต่อวงการวรรณกรรมและเกรงว่าจะเกิดคำครหาต่อศักดิ์ศรีแห่งรางวัลซีไรต์
แน่นอนว่าเมื่อมีก้อนอิฐโถมใส่ วิภาสรับรู้ แต่ไม่แปลกใจที่ถูกขุดคุ้ยประวัติ
"ผมไม่แปลกใจ เพราะประวัติน่ะใช่ มีปัญหาจริง แต่ซีไรต์เป็นการประกวดรางวัลหนังสือ เขาตัดสินกันที่หนังสือ เข้าใจนะว่าสังคมบ้านเรามีจารีต แต่ก็ดีเพราะจะได้มีการวิพากษ์วิจารณ์" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.30 ก.ย.55)
8.อำลา-อาลัยผู้จากไป
ในช่วงปี 2555 มีนักเขียนนักกวีหลายคนที่เสียชีวิต แต่ละคนต่างกรรมต่างวาระ มีผลงานที่หลากหลายตามแนวถนัดของตัวเอง ซึ่งทั้งผลงานและเรื่องราวชีวิตของนักเขียนแต่ละคน เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเล่าขานสืบไป ไม่ว่าจะเป็น อังคาร กัลยาณพงศ์, ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร หรือ ดาเรศ,ศิริพงษ์ จันทร์หอม,ตะวันสันติภาพ,ดร.สาทิส อินทรกำแหง,หมื่น(การ์ตูนนิสต์ล้อการเมือง),มานพ ถนอมศรี....และในนามจุดประกายวรรณกรรมขอให้ดวงวิญญาณทุกท่านจงหฤหรรษ์ในทิพย์วิมานแห่งสวรรค์
...
ไม่ว่าปีนี้ที่กำลังจะผ่านไปนั้นจะเกิดอะไรขึ้น มีสีสันอันน่าจดจำมากน้อยเพียงใด ปีหน้าวงการวรรณกรรมไทยก็ต้องเดินหน้าต่อไป...จะดีไหมหากเรานำบทเรียนและ 'กำไร' จากปีก่อนมาเป็นรากฐานของปีใหม่ บางทีทั้งชีวิตและวงการวรรณกรรมอาจรุดหน้าเทียบชั้นนานาประเทศได้
พบกับอีกทีในปี 'กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือแห่งโลก2556'....สวัสดีปีใหม่จากใจจุดประกายวรรณกรรม
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น