--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผู้ทำ & ผู้นำ !!?


โดย: วิเชียร เมฆตระการ
ผมว่าเรื่องการบริหารจัดการ เป็นศิลปะที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ศาสตร์นี้มีพูดถึงกันแพร่หลายจากการเรียนรู้สั่งสมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ได้เคยถูกพูดถึงเมื่อ 100 ปีก่อนจะเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ตรงกันข้ามน่าจะเป็นรากฐานสำคัญที่นำมาใช้ต่อยอดได้อย่างแข็งแรงในการทำให้ องค์กรเดินไปข้างหน้า

หลาย ๆ แห่งมองเหมือนกันว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ "คน" นั่นเอง ที่เป็นทั้งทรัพยากรอันหาค่ามิได้ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนองค์กร เป็นจิตวิญญาณขององค์กร ง่าย ๆ ก็คือ เป็นทุกอย่างขององค์กร

พูดเป็นหลักการแบบนี้อาจนึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงเวลาก่อนหรือหลังเลิกงาน ที่ office ไม่มีพนักงานอยู่แล้วซิครับ นั่นแหละที่ผมเรียกว่า องค์กรที่ไม่มีชีวิต เปรียบเทียบกับเวลาที่พนักงานอยู่กันเต็ม มันมีจิตวิญญาณที่ทำให้องค์กรนั้นเคลื่อนไหวได้

ดังนั้น "องค์กรจะมีชีวิตชีวา มอบสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกคาดหวังได้ ก็ต้องมาจากคนนั่นแหละ" ศาสตร์ของทรัพยากรบุคคล เป็นเรื่องล้ำลึกเกินกว่าจะพูดได้เพียงครั้งเดียว

ฉะนั้น ผมจึงเลือกที่จะเน้นเรื่องนี้ให้เป็นอันดับ 1 หากใครมาถามผมว่า การที่จะ run บริษัทให้เติบโต ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ปัจจัยใดที่สำคัญที่สุด

พวกเราคงคุ้นหูกับคำว่า Management ง่าย ๆ ก็คือ ผู้บริหาร แล้วคำว่า Leader ที่แปลว่า "ผู้นำ" ใหญ่กว่า ผู้บริหารรึเปล่า หรือว่า Management ก็คือ Leader

ใช่หรือไม่ พูดแล้วชักงง เอาเป็นว่า ทั้ง "ใช่" และ "ไม่ใช่" ก็แล้วกันครับ

ขอแปลด้วยคำจำกัดความส่วนตัวของผมแล้วกันนะครับว่า Management ก็คือ "ผู้ทำ" ส่วน Leader คือ "ผู้นำ" (ใครเห็นต่างก็ลองแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ)

"ผู้ทำ" มีหน้าที่ไปลงมือทำงานตามกระบวนการ หรือตามขั้นตอนความถนัดของตัวเอง พูดง่าย ๆ คือ ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้วางเป็น guideline ไว้แล้ว คุณอาจมีการพลิกแพลง พัฒนาขั้นตอนนั้น หรือบริหารจัดการตามแนวของคุณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ หรือประสิทธิผลที่ดีขึ้น ซึ่งนี่ก็อาจบ่งบอกว่า คุณมีแววที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ หากผ่านขั้นตอนการ "ทำ" มาอย่างโชกโชน และเก๋าพอที่จะบอกได้ว่า สิ่งที่คุณกำลังมุ่งมั่นทำอยู่นั้น มีผลต่อองค์กรในภาพรวมอย่างไร

ส่วน "ผู้นำ" นั้น ผมมีวิธีคิดของ Jack Welch CEO ของ GE มา share โดยเขามองว่า คือคนซึ่งมีความคิดใหม่ ๆ และแสดงวิสัยทัศน์ซึ่งดลใจให้คนอื่นปฏิบัติตาม โดยบางครั้งไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากเกินไป รวมถึงรู้จักที่จะสรรหาและส่งเสริมบุคลากรที่สามารถทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้

ใช่แล้วครับ ความแตกต่างระหว่าง ผู้ทำ กับ ผู้นำ อยู่ที่การสร้างวิสัยทัศน์ และศักยภาพในการสร้างแรงบันดาลใจ
ผลักดันให้ทีมงานพร้อมใจที่จะเดินไปด้วยกันเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนั้นให้ได้

ถามว่าอะไรเป็นยากกว่ากัน ผมว่ายากด้วยกันทั้งคู่ แต่ยากกันไปคนละแบบ เพราะบางคนเกิดมาเพื่อเป็นผู้ทำ มีความสุขที่จะมุ่งมั่นลงมือทำในสิ่งที่ตนเองรักและหลงใหลให้ดีที่สุด เข้าข่ายแบบศิลปินเดี่ยวนั่นแหละครับ ส่วนที่ยากคือ ถ้าคุณจะก้าวสู่การเป็น "ผู้ทำ" ที่มีความสามารถเป็นเลิศ ชนิดหาไม่ได้อีกแล้วในแผ่นดินนี้ คุณก็ต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนหนักหนาสาหัสจนฝีมือก้าวไปสู่ขั้นเทพ แบบนี้ผมเรียกว่า พรแสวง หรือบางท่านที่ต้องถือว่าโชคดีสุด ๆ ก็คือ เป็นผู้ทำอัจฉริยะเพราะพรสวรรค์

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีพรสวรรค์จะเป็น ผู้ทำ ที่ประสบความสำเร็จทุกคน เพราะหากคุณก้าวไม่ผ่านขั้นตอนในการผลักดันตัวเองให้ลงมือทำ โดยไม่มีใครบังคับได้แล้วล่ะก็ คุณอาจไม่เหลือความพิเศษในตัวและแทบจะไม่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมในเชิงขององค์กร ผู้ทำ คือ บุคลากรที่ทรงคุณค่า เนื่องจากเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อน
ที่ไม่อาจคำนวณความแรงได้ หาก ผู้ทำ นั้น มีทั้งความรู้ความชำนาญในกระบวนการทำงานของพวกเขา แล้วยิ่งหากเป็นการ "ทำ" อย่างเต็มอกเต็มใจ มีความสุขที่จะลงมือทำ โดยไม่เหน็ดเหนื่อย รวมถึงยังเดินหน้าพัฒนาขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แหม ! ผมล่ะไม่กล้าคำนวณเลยทีเดียวว่า เมื่อพลังของเขามารวมกันแล้ว จะมหาศาลขนาดไหนแต่...ช้าก่อน พลังเหล่านั้นหากขาดการนำอย่างมีวิสัยทัศน์ อาจแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ "แรง" แต่ไม่มีประโยชน์ก็เป็นได้

ดังนั้นความท้าทายของคนที่จะเป็น ผู้นำ ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะดึงพลังของบุคลากรผู้ทำออกมาสร้างเป็นพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ได้ขอบอกว่าไม่ง่ายเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำคนมาก ๆ ในองค์กรใหญ่ ที่มีจำนวนพนักงานเป็นหลักพัน หรือหลักหมื่น

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพแล้วกันนะครับ เอาใกล้ตัวผมนี่แหละ คือในองค์กรอย่าง "เอไอเอส" ที่มีจำนวนพนักงานอยู่เกือบหมื่น ลำพังเรื่อง basic อย่างการสื่อสารเพื่อให้พนักงานรับรู้เรื่องราว ข่าวสาร ทิศทางองค์กร หากต้องการให้รู้โดยไม่ผิดเพี้ยนกลายเป็นคนละเรื่องยังไม่ง่ายเลยครับ ต้องอาศัยเครื่องมือหลายอย่างในการนำสารส่งไปยังพนักงาน

นี่ขนาดเป็นเพียงขั้นตอนของการสื่อสารทางเดียวนะครับ ยังไม่พูดถึงเรื่องการ feed back, interactive รวมไปถึงการส่งมอบวิสัย ทัศน์ ที่เป็นเป้าหมายขององค์กร ซึ่งบางครั้งก็มีความซับซ้อน แถมบางเรื่องก็ละเอียดอ่อน ต้องการการชี้แจงเป็นขั้นเป็นตอน ก็ย่อมยากขึ้นไปอีก

ที่ผ่านมาผมเลยต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน เพราะต้องเป็น "ป๋าสัญจร" ไปตามภูมิภาคเพื่อพบปะกับบรรดาเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเอไอเอส พูดคุยกันแบบถึงเนื้อถึงตัว ซึ่งเชื่อว่าทำให้เข้าใจกัน สนิทกันมากขึ้น และแน่นอนทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นภาพขององค์กร ที่สำคัญเราได้รับฟังความคิดเห็นจากเจ้าตัวโดยตรงอีกด้วย

ดังนั้นผมขอเพิ่มคุณสมบัติผู้นำจากของคุณ Jack ว่า หากคุณจะเป็นผู้นำที่ดี คุณต้องเห็นภาพและเข้าใจในรายละเอียด
ขั้นตอนตลอดจนข้อจำกัดและข้อได้เปรียบของงานแต่ละประเภทด้วย ไม่อย่างนั้นคุณจะไปนำเขาได้อย่างไร ถ้าตัวคุณเองยังไม่รู้ถึงวิธีการทำเลย

อีกประการคือ "ผู้นำ" ต้องสามารถจุด ประกายให้คนอื่นอยากทำงาน ที่สำคัญต้องมี "พลัง" ในตัวเอง ทั้งพลังงานทางกายและพลังงานทางใจ และมีกลยุทธ์ในการส่งมอบให้แก่ทีมงานได้ โดยไม่ทำให้ทีมกลัวหรือรู้สึกว่ากำลังโดนสั่ง !

ส่วนความท้าทายที่ผม เห็นว่า ยากมากสำหรับการเป็น "ผู้นำ" ที่ดี ก็คือ การสร้างวิสัยทัศน์ และวาง position ขององค์กรให้แม่นยำ อย่างที่ "อาร์คิมิดีส"

นัก คณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวกรีก บอกว่า Give me a place to stand on, and I will move the Earth ที่แปลได้ว่า หากผู้นำที่ดีสามารถกำหนด a place to stand on หรือวาง position องค์กรได้อย่างแม่นยำแล้ว ย่อมจะสามารถนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก ซึ่งการจะกำหนดตำแหน่งอย่างที่ว่าได้ ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญในสายอาชีพ
การสั่งสมของประสบการณ์ ที่สำคัญต้องได้รับการยอมรับจากทีมด้วย

สำหรับ ผม ทั้ง "ผู้ทำ" และ "ผู้นำ" ต่างมีความสำคัญกับองค์กรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การที่จะประสบความสำเร็จในการเป็น "ผู้ทำ" หรือ "ผู้นำ" ต่างก็ท้าทายกันไปคนละแบบ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเลือกเป็นแบบไหนก็ตาม ขอให้ก้าวผ่านความท้าทายทั้งหลายไปให้ได้ แล้วเมื่อนั้น

คุณจะสามารถ Move The Earth ได้อย่างแน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น !


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
************************************************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น