--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทำไม ? ต้อง ร้องเพลง กับเหตุผลที่แฝงอยู่ !!?



เพราะข้อสงสัยจากคำว่า "ทำไม" แท้ๆ ที่ทำให้เราต้องไล่ถามคนในแวดวง ว่าทำไมเวลารายการไหนๆจะประกวดหาคนเก่ง เป็นต้องจบที่ประกวดร้องเพลงทุกที

จะบอกว่าประกวดการแสดงก็มี อย่างของ "ดิ ไอดอล" และของ "ดัชชี่ บอย แอนด์ เกิร์ล" ก็ใช่ หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นน่ะเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่จะออกมาในรูปของเพลง เพลง เพลง และก็เพลง

เราจึงได้เห็นคนมาอวดความสามารถด้านเสียงกันไม่ขาด ผ่านรายการ "เอเอฟ-ทรู อคาเดมี่ แฟนเทเชีย", "เดอะ สตาร์ ค้นฟ้า คว้าดาว", "เดอะ เทรนเนอร์", "ซิงกิ้ง คิดส์", "เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์" ฯลฯ และที่กำลังจะมีอีกหลายรายการในปีหน้า

คนทำ "เดอะ สตาร์ฯ" ศศิภา กฤดากร ณ อยุธยา ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ ตอบคำถามนี้ตามตรงว่า ที่เอ็กแซ็กท์เลือกทำรายการประกวดร้องเพลงเพราะอยากตอบสนองบริษัทแม่คือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัททำเพลง ในการหานักร้องน้องใหม่มานำเสนอ

ส่วนที่เห็นหลายคนจากการประกวดกลายมาเป็นนักแสดงนั้น นั่นเป็นผลพลอยได้จากความสามารถของคนประกวดกับฐานแฟนคลับที่ดูรายการแล้วสนับสนุนมาบวกกัน แล้วลงตัวพอดี

ขณะที่ สรกฤต ลัทธิธรรม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มช้าง เจ้าของโปรเจ็กต์ ช้าง มิวสิคคอนเทสต์ 2012 ที่ต้องการเฟ้นหาวงดนตรีที่มีพรสวรรค์บอกว่า ที่เลือกทำอย่างนี้ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีดนตรีในหัวใจ อีกทั้งการประกวดผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อปีก่อนก็ได้รับการต้อนรับท่วมท้น จนตัดสินใจขยายมาเป็นรายการโทรทัศน์

การจับการตลาดแบบมิวสิก มาร์เก็ตติ้ง ที่เชื่อว่าเข้าถึงคนอันเป็นกลุ่มลูกค้าได้ง่าย คือเหตุผลใหญ่ของการจัดประกวดดนตรีของเขา

ด้าน วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ซึ่งจะทำรายการ "The session : ปรากฏการณ์ดนตรี" ที่จะนำคนดนตรี 2 เจเนอเรชั่นมาเจอกัน บอกว่า สำหรับเขาแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่าความถนัดล้วนๆ ค่าที่โตมากับสายเพลง อีกทั้งกระเเสรายการเหล่านี้ยังดี เลยยิ่งกระตุ้นให้คนยิ่งอยากทำ

ซึ่งก็จริง- สถาพร พานิชรักษาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด ที่ทำ "ไมค์ ไอดอล" ทั้งยังเป็นกรรมการในการประกวดนั่น โน่น นี่ เห็นด้วยในเรื่องกระแส แต่ขณะเดียวกันเขาว่าที่ใครๆ ต่างเลือกทำรายการประกวดเพลงนั้นยังมีเหตุผลอื่น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกวดประเภทอื่นทำได้ยาก อย่างประกวดการแสดง ที่หลายครั้งจะเห็นความเคอะเขินของผู้เข้าแข่งขัน จนดูไม่ลื่น

ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าการเฟ้นหาผู้เข้าประกวดนั้น หาคนประกวดร้องเพลงง่ายกว่าหาคนแข่งประกวดการแสดงเยอะ

"จากที่ผมเห็น คนที่อยากเป็นนักร้องจริงๆ จะขวนขวายและแสดงตัวเองออกมาประกวด แต่คนที่อยากเป็นนักแสดง ประกาศตัวว่าอยากเป็นนักแสดงอย่างเดียวจริงๆ มักไม่ค่อยมี"

ที่เป็นอย่างนั้นอาจเป็น "ไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถทางด้านนี้"

เพราะจะว่าไปการลองเล่นอยู่หน้ากระจกเอง แล้วฟันธงเองว่าเก่ง ก็ยาก ต่างจากการร้องเพลงที่มีโอกาสร้องให้คนอื่นได้ยินมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหน้าชั้นเรียน ในงานเลี้ยง ซึ่งถ้าร้องเก่ง มีคนชม ก็จะพัฒนาเป็นความอยากร้อง และกล้าร้องให้คนอื่นฟัง

"โอกาสที่คนคนหนึ่งจะรู้ว่าฉันอยากเป็นนักแสดงเพราะฉันแสดงเก่งจึงค่อนข้างยาก นอกจากมองกระจกแล้วเห็นว่าฉันสวย ฉันหล่อ หรือมีคนมายอว่าหน้าตาอย่างนี้เป็นนักแสดงได้ แต่ไม่มีเวทีการแสดงออก จึงเกิดเป็นเรื่องแมวมองมากกว่า อย่างเอ-ศุภชัย (ศุภชัย ศรีวิจิตร ไปชวนณเดชน์ (คูกิมิยะ) แล้วให้เป็นนักแสดงเลย ไม่ต้องผ่านเวทีประกวด"
ขณะเดียวกันในการตัดสินนักแสดงนั้น กรรมการต่างคนมักต่างความเห็น บางคนมองว่าคนนี้ไม่มีแวว ขณะที่อีกคนมองว่านำไปขัดเกลาอีกนิดก็จะออกมาดี

มติจึงยากที่จะเป็นหนึ่งเดียว

ต่างจากการตัดสินนักร้องที่กรรมการมักเห็นไม่ต่าง เพราะฟังดูก็รู้ว่าใครร้องดีกว่าได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม แม้รายการเหล่านี้กระแสจะดี แต่หากจะให้ยั่งยืนเขาก็ว่าจะต้องดูผลที่ตามมาหลังจบรายการด้วย

เพราะความหวังของคนที่มาแข่งไม่ได้จบอยู่ที่ "การชนะ" เท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมาหลังชนะต่างหากที่สำคัญกว่า

การต่อยอดให้มีงานทำ และมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นๆ นี่แหละที่สุดท้ายแล้วจะเป็นตัววัดความสำเร็จของการประกวดเหล่านั้น เพราะจะเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้ใครต่อใครพากันสมัครเข้าร่วมแข่งขันครั้งต่อๆ ไป และหากรายการไหนทำไม่ได้ ก็ทำใจไว้เลยว่า นอกจากจำนวนคนสมัครจะค่อยๆ ลดลงแล้ว ก็อาจมีผลถึงคุณภาพของผู้เข้าประกวด

ด้วยใครๆ ก็อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ยิ่งเป็นคนเก่งยิ่งมีสิทธิเลือก

เลือกว่าจะเข้าร่วมรายการประกวดร้องเพลงรายการไหน ในบรรดามากมายหลายรายการที่มีอยู่

หน้า 24,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2555

***********************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น