--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กับดักรัฐธรรมนูญ !!?


โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ’ 2555

1. ความหมายและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญถูกให้ความหมายว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ นี้เป็นความหมายโดยทั่วไปของรัฐธรรมนูญ แต่ในที่นี้ขอให้ความหมายของรัฐธรรมนูญใหม่ว่า รัฐธรรมนูญเป็น “พื้นฐานของการเคลื่อนไหวของมวลชน กลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ภายใต้เงื่อนไขของการให้สำคัญคุณค่าของความเป็นคน รัฐธรรมนูญจึงมีความหมายอย่างที่นำเรียน
รัฐธรรมนูญไทย ภาพจาก wikipedia
ประการต่อมา คือ รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคล องค์กรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตว่ามีตำแหน่งแห่งที่ หรือที่ยืนของตนเองอย่างไร องค์กร/คนไหนมีอำนาจมาก องค์กร/คนไหนมีอำนาจน้อย หรือองค์กร/คนไหนไม่มีอำนาจเลย หรือพูดง่ายๆ ว่าท่านควรเป็นไพร่ที่ไร้อำนาจ หรือมีอำนาจน้อย หรือเป็นเจ้าศักดินา ขุนนางผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ศฤงคาร ด้วยการใช้อำนาจที่อาจฉ้อฉล รัฐธรรมนูญจึงเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรต่างๆ ตราบที่ยังไม่มีใครฉีกทิ้ง
กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุดที่กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งไม่ได้ (โดยที่เราจะมองว่ามันทำงานได้จริงหรือไม่ก็ตาม) รวมถึงเป็นตัวจัดความสัมพันธ์ของคน/องค์กรต่างๆ กฎหมายรัฐธรรมจึงมีผลต่อการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่ถือใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญเป็นเสมือนตรายางประทับความชอบธรรมของการกระทำต่างๆ ที่บอก/อ้างว่าชอบธรรม โดยรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่กำหนดแต่ถูกตีความโดยเนติบริการก็ตาม
รัฐธรรมจึงมีความสำคัญทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของคน/องค์กรต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ที่มาไม่ชอบธรรม: กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การมีส่วนร่วมของประชาชน

ในอดีต การร่าง หรือการเขียนรัฐธรรมนูญล้วนเกิดจากผู้มีอำนาจที่ครอบครองอำนาจรัฐ ทั้งคณะปฏิวัติ รัฐประหารชุดต่างๆ ที่ต่างอ้างตัวว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งชอบธรรมบ้างไม่ชอบธรรมบ้าง ตั้งคณะกรรมาธิการฯ บ้าง เขียนโดยคน 2-3 คนบ้าง ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. … ออกมาบังคับใช้ เพื่อสนองต่ออำนาจของกลุ่ม/องค์กร/คณะบุคคล แห่งตน โดยประชาชนคนเดินดินกินข้าว หาเช้าบ้างไม่พอถึงค่ำ ไม่ได้มีส่วนในการเข้าไปร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่จัดความสัมพันธ์ระหว่าง “เขา” กับ “รัฐ” เลย
แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มีการทำประชาพิจารณ์ และให้ประชาชนเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวางตามจังหวัดและภูมิภาค โดยคณะกรรมาธิการฝ่ายรับฟังความคิดเห็นของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯด้วยกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างอย่างกว้างขวาง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็น นำมาซึ่งบทบัญญัติด้านสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ การเข้าถึง และรักษาทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดก่อน (แม้รัฐบาลที่ได้ชื่อว่ารัฐบาลพระราชทานก็ตาม)
รวมถึงการเกิดองค์กรใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในหลายๆด้าน (แม้จะมีข้อบกพร่องไปบ้างก็อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ไม่ใช่กลุ่ม/คณะใดจะลุแก่อำนาจในการฉีกทิ้งอย่าง คมช. กระทำ) จนเกิดกลุ่มที่เห็นด้วย (ใช้ธงเขียวเป็นสัญลักษณ์) และกลุ่มไม่เห็นด้วย (ใช้ธงเหลืองเป็นสัญลักษณ์) ต่อเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 40 แต่การแสดงออกของประชาชนทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแสดงให้เห็นการมีส่วนร่วม รับรู้ และสนใจต่อรัฐธรรมนูญ 40 อย่างกว้างขวาง ท้ายสุดกลุ่มธงเขียวสามารถกดดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้ลงมติผ่านร่างได้ในที่สุด ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 40 จึงได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ส่วนรัฐธรรมปี 2550 เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการรัฐประหารของ คมช. ที่ทำการโค่นอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทุนนิยม? ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (คนดีศรีเชียงใหม่ ขวัญใจรถแดง…) ที่ฉ้อฉล ตีความ บิดพลิ้ว เล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญปี 40 โดยความร่วมมือของเนติบริการ ที่แม้ปัจจุบันก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง จนทำให้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คมช.
ฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญ 50 จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ปกคลุมด้วยเผด็จการของคนดี? ที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง (แต่ ณ เวลานี้คนทั่วไปเริ่มรู้สึกว่ามาสร้างวิกฤติอีกรูปแบบหนึ่ง)
ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น จึงได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และในสภาร่างรัฐธรรมนูญใช้วิธีการเลือกกันเองจากสมาชิกกลุ่มสาขาอาชีพ องค์กรต่างๆ ให้เหลือ 200 คน แล้วให้ คมช. เลือกให้เหลือ 100 คน แล้วให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคัดเลือกสมาชิกสภาร่างฯ ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับตัวแทนที่ คมช. ส่งมาอีก 10 คน ซึ่งกระบวนการนี้มีผู้ออกมายกย่องว่าเป็นการเลือกที่กระจายตามกลุ่มอาชีพอย่างทั่วถึง
ในขณะที่ร่างฯ ก็ได้มีการออกรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนบ้าง แต่พึงสังเกตว่ากระบวนการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นสภาร่างฯ และกรรมาธิการยกร่างฯ คมช. ล้วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทั้งสิ้น
ท้ายสุดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมเป็นเหมือนตัวหนังสือเปื้อนกระดาษที่ชอบธรรม ก็ให้มีการลงประชามติโดยประชาชน เพื่อเป็นตราประทับรวมถึงมัดมือชก ว่าประชาชนเห็นชอบและมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับ 50 แล้ว ถ้าประชามติไม่ผ่าน ทาง คมช. ก็มีสิทธิ์ที่จะยกเอารัฐธรรมนูญปีไหนก็ได้ในอดีตมาใช้
รัฐธรรมนูญ 50 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกแยกจากผู้คนและสังคม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญ 40 และร่างรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งกระบวนการและเป้าหมาย วิธีคิด ฯลฯ รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ชื่อว่า “ฉบับประชาชน” ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก ส่วนฉบับหลังน่าจะได้ชื่อว่า “ฉบับเผด็จการของคนดี” เพื่อคนดี? และความสมบูรณ์พูนสุขของคนดีกระมัง
รัฐธรรมนูญของไทยหลายต่อหลายฉบับที่ว่าดีแต่ก็ถูกฉีกทิ้งอย่างง่ายดาย รวมทั้งฉบับปี พ.ศ.2540 ด้วย โดยผู้กระหายอำนาจที่อ้างความสงบสุขของประชาชนและประเทศ เพราะเหตุใดเล่ารัฐธรรมนูญที่ว่าดีจึงถูกฉีกได้อย่างง่ายดาย โดยประชาชนคนไทยไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านผู้กระทำการนั้นๆ คำตอบก็อยู่ในสายลม คือ “ประชาชนคนไทยไม่มีส่วนในความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทั้งในสำนึก และในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ในความหมายไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมให้คนตัวเล็กตัวน้อยผู้เข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าผู้ลากมากดี/ขุนศึกศักดินา/พ่อค้านายทุนยังไงล่ะ” รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ควรหวงแหนในเมื่อมันไม่ให้อะไรแก่เขาเหล่านั้นเลย แล้วจะเสียเวลาออกมาปกป้องเพื่ออะไร
การแสดงความคิดเห็นข้างต้นอาจถูกตีความได้ว่าแล้วเราในฐานะประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ ในเมื่อมันไม่เกิดประโยชน์แก่เรา “ผิดถนัด” ครับ เพราะอย่างไรเสีย เราก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ยกเว้นเราเนรเทศตัวเองไปอยู่ ณ โลกอื่นเสีย
การรัฐประหาร 19/9/49 ได้ชี้เห็นถึง “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่สร้างบรรทัดฐานของการใช้อำนาจในการล้มล้างสถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล ฯลฯ รวมถึง “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นเสมือนเครื่องมือจัดความสัมพันธ์อำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังแสดงให้เห็นวุฒิภาวะของสังคมไทย ที่เป็น “สังคมพึ่งพิง” ที่ต้องการใช้ “อำนาจอื่น” ทั้งในระบบและนอกระบอบมาแก้ปัญหาของชาติมากกว่าใช้วิถีทางตาม “ครรลอง”
ถ้าตราบใดเรายังร้องหา “อำนาจอื่น” มาแก้ไขปัญหา สังคมไทยย่อมไม่เกิดการเรียนรู้ ปล่อยให้ชนชั้นนำเป็นผู้เล่น “เกมส์แห่งอำนาจ” กำหนดทิศทางประเทศที่พวกเราเป็นเจ้าของ ไปตามใจชอบ พอได้อำนาจก็ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ นำประเทศ “ตกเหว” อย่างนี้ต่อไปนะหรือ
อำนาจในวิถีทางประชาธิปไตยย่อมมาจาก “มวลมหาชน” องค์กร หรือกลุ่มคนใดที่จะเป็นตัวแทนของประชาชน ในการร่างรัฐธรรมนูญย่อมมาจากประชาชน มิใช่มาจากการรัฐประหาร และด้วยเหตุผลข้างต้น รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 จึงเป็น “องค์กรเถื่อน” ในวิถีทางประชาธิปไตย ไม่มีความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะมาจากรัฐประหารมิใช่มาจากประชาชน
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่ร่างโดย “องค์กรเถื่อน” ในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่มีความชอบธรรม และไม่สามารถเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองประเทศได้อย่างชอบธรรม
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในอดีต ภาพจาก wikipedia

3. กับดักรัฐธรรมนูญ: ความไม่สมดุลในการจัดโครงสร้างเชิงอำนาจในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญในสังคมต่างๆ เป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่างๆในสังคม เพื่อสร้างความเสมอภาค เท่าเทียมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดดุลยภาพ และเกิดสันติประชาธรรม
รัฐธรรมนูญจึงมีความจำเป็นต้องสร้างดุลแห่งอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (เท่าที่จะเป็นไปได้) จะให้อำนาจตกแก่กลุ่มใดมากไปไม่ได้
แต่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างจากความกลัว “ระบบทักษิณ” จึงสร้างระบบที่ดึงอำนาจสู่ชนชั้นนำ (ที่อ้างว่ามีคุณธรรม ความดีมากกว่าคนอื่นในสังคม แต่ก็พิสูจน์มานักต่อนักว่าไม่จริง) การดึงอำนาจไปแขวน หรือฝากไว้กับชนชั้นนำ หรือองค์กรต่างๆ ที่ต่างอ้างคุณงามความดี นำมาสู่ปัญหาในการตรวจสอบ ปัญหาในการจัดความสมดุลของอำนาจ ความลักลั่นของบทบัญญัติที่ไม่อาจเป็นจริงได้ เช่น
3.1 การคัดสรรวุฒิสมาชิกจำนวน 74 คนจากจำนวน 150 คน
เราไม่อาจตรวจสอบได้ว่าบุคคลที่ถูกคัดสรรเป็นคนที่ “ดี” และทำงานให้แก่ประชาชนได้จริงหรือไม่ รวมถึงวุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดสรร (แต่งตั้ง) หลุดลอยจากการตรวจสอบของประชาชน เพราะคนเหล่านี้จะไม่คำนึงถึงคะแนนนิยมจากประชาชน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่จำเป็นต้องห่วงคะแนนเสียง และเมื่อเกิดญัตติสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ไม่มีกระบวนการกดดันวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งนี้ได้เลย
ระบบสรรหาเป็นระบบที่ประชาชนไม่สามารถกำหนดได้ อำนาจการสรรหาตกไปอยู่ในมือชนชั้นนำไม่กี่คน ที่ประกันได้หรือไม่ว่าจะได้คนที่เรียกว่า “ดี”??? และดีของใคร??? ซึ่งก็ไม่พ้นข้าราชการแก่บ้าง หนุ่ม (ที่มากกว่า 50) บ้าง และข้าราชการเหล่านี้ก็ไม่พ้นมองชาวบ้านว่าโง่ แล้วชาวบ้านประชาชนจะใช้เครื่องมืออะไรควบคุมคนเหล่านี้ในเมื่อประชาชนไม่ใช่คนแต่งตั้ง ไม่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง สุดท้ายวุฒิสภาก็เหมือนที่แล้วๆ มาที่เป็นเพียงแต่สภาตรายาง วุฒิสภาจึงเป็นกับดักอีกตัวหนึ่งของ รัฐธรรมนูญ 50
แม้ว่าระบบเลือกตั้งจะมีปัญหา แต่ในอีกแง่หนึ่งประชาชนก็สามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบ ควบคุมนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง เพราะนักการเมืองย่อมต้องคำนึงถึงฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยในที่นี้ขอเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งในการเลือกตั้งประชาชนไม่ได้โง่ ประชาชนรู้ว่าใครมีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ และไม่จำเป็นที่จะมีใครมาตัดสินแทนว่าใครคือตัวแทนของเขา แต่ถ้ายังดื้อที่จะให้มีการสรรหาต่อไป การสรรหาวุฒิสภาก็เป็นเหมือนกับดักที่พร้อมจะให้สังคมไทยติดกับได้ทุกเวลาในอนาคต 
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังสร้างองค์กรอิสระมาควบคุม ตรวจสอบ องค์กรต่างๆ ที่ล้วนเลือกสรรจากชนชั้นนำ เช่น ผู้พิพากษา อธิบดี ปลัดกระทรวง เข้ามาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งองค์กรเหล่านี้หลุดลอยจากการตรวจสอบของประชาชนโดยสิ้นเชิง
 3.2 รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายที่ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงเลย
เนื่องจากองค์กรปฏิบัติต่างๆ เช่น ข้าราชการไม่นำพาต่อเสียงของประชาชน ยิ่งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยิ่งมีการเอ่ยอ้างว่าเป็นคณะรัฐประหารภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้าราชการไม่จำเป็นต้องรับใช้ประชาชน ทั้งๆ ที่มีเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่ในทางกลับกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างให้ข้าราชการเป็น “นาย”ประชาชน
รวมถึงการอ้างว่าเป็นข้าราชการ “ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ยังเป็นกระบวนการสร้างเกราะป้องกันการตรวจสอบของข้าราชการ ดังมีตัวอย่างข้าราชการหญิงนางหนึ่งอ้างว่าเป็นข้าราชการ “ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” เพื่อปฏิเสธคำถามต่อสื่อมวลชน ข้าราชการจึงมีสถานะเป็น “นาย” ของประชาชน มิใช่ผู้รับใช้ประชาชน!?
รวมถึงการนำ “ข้าราชการแก่ๆ” ที่มีความคิดแบบ “ดึกดำบรรพ์” ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมาเป็นรัฐมนตรีที่วันๆ ยุ่งแต่เครื่องแต่งกายของเด็กนักเรียนนักศึกษาคุณธรรม และมารยาทไทยแท้ซึ่งไม่แน่ว่ามีจริงหรือเปล่ามาบริหารประเทศ จนทำให้เกิดวิกฤตค่าเงิน บริษัทล้มระนาว คนตกงานเป็นเบือ ไม่เห็นอดีตข้าราชการแก่ๆ ที่อ้างว่ามีคุณธรรมแก้ปัญหาได้แม้แต่น้อย
แม้แต่การกำหนดให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการบัญญัติเรื่องสิทธิ อำนาจของท้องถิ่น แต่ก็ไม่อาจเป็นจริงได้เลย เมื่ออำนาจในการปฏิบัติยังอยู่ในมือข้าราชการ และก็ได้พิสูจน์มานักต่อนักแล้ว เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ข้าราชการไม่เห็นด้วย สุดท้ายก็ตกไป
3.3 ระบอบการอ้างคุณงามความดีอย่างพร่ำเพรื่อในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
คำว่า ธรรมาภิบาล คุณธรรม พอเพียง โปร่งใส สุจริต ฯลฯ ล้วนเป็นคำที่ “โตๆ” และตรวจสอบ หาเกณฑ์มาตรฐานมาวัดไม่ได้ทั้งสิ้น และเป็นรัฐธรรมนูญที่คนร่างรัฐธรรมนูญมองว่า “โง่” “เลว” “ต่ำ” กว่าพวกที่ร่างฯ และกำลังจะใช้อำนาจในองค์กรอิสระต่างๆ
คุณธรรม และความดีจึงไม่ใช่มาตรฐานในการวัดคนในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำงานให้แก่ประชาชน เพราะคุณธรรมความดีเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน รวมถึงวางอยู่บนฐานการตรวจสอบของสังคมนั้นด้วยมิใช่คำที่โต และโก้อยู่ลอยๆ เหมือนดังที่อ้างกันอยู่ ณ ปัจจุบัน และบางครั้งก็พิสูจน์แล้วว่าไอ้ที่อ้างว่ามีคุณธรรมความดี แต่แท้จริงโคตรโกง “หน้าเนื้อใจเสือ” เอาคุณธรรมความดีบังหน้าก็มีถมไป
 3.4 การดึงอำนาจออกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารวมศูนย์อยู่ในระบบข้าราชการ ตามรัฐธรรมปี 2540
มีบทบัญญัติที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนมีองค์กรที่ปกครองกันเองในท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาล ฯลฯ เพื่อให้เกิดประชาสังคม คนท้องถิ่นตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกจากคนท้องถิ่น โดยการโอนกิจการบางอย่างให้ท้องถิ่นดำเนินการ และองค์กรเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการมาในระดับหนึ่ง
แต่หลัง 19 กันยายน คณะรัฐประหารและรัฐบาลมีความไม่วางใจองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้มองว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจึงมีการสลาย และทำลายให้องค์กรเหล่านี้อ่อนแอ โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรีต่ออายุกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ สามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุ 60 ปี จากเดิมที่มีวาระ 4 ปี เพื่อคานกับกลุ่มองค์กรท้องถิ่นจากเดิมที่ผู้ใหญ่บ้านเป็นองค์กรหนึ่งในการ “เล่นการเมืองของชาวบ้าน” ก็หลุดลอยกลายเป็น “ข้าราชการจำแลง” ไปในที่สุด
นอกจากนี้เหล่าผู้ดีเก่าที่อ้างคุณงามความดีก็ “ใส่ป้าย” ว่าสมาชิกองค์กรส่วนท้องถิ่น คือ ที่มาของการทุจริต ต้องควบคุม ปราบปราม ต้องเอาข้าราชการที่อาจจะโกงยิ่งกว่ามาปราบโดยให้อำนาจในทางต่างๆ…พูดง่ายๆ คือ “ใช้โจรมาปราบโจร” นั่นเอง
3.5 รัฐธรรมนูญปี 2550 สร้าง “รัฐซ้อนรัฐ”
กล่าวคือ ในร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายที่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ในปฏิบัติไม่สามารถใช้ได้เลย เนื่องด้วยเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของบ้านเมือง เป็นร่างรัฐธรรมนูญของเผด็จการที่ทหารร่วมกับกลุ่มขุนนางข้าราชการ เสนอให้ออก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ ที่มีบทบัญญัติที่ขัดและแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การเข้าตรวจค้นบ้านประชาชนในกรณีที่อ้างความมั่นคงโดยไม่ต้องมีหมายศาล การจำกัดการชุมนุมของประชาชน หรืออะไรก็ตามที่อ้างเรื่องความมั่นคงก็สามารถดำเนินการได้
การให้นิยามความมั่นคงโดยทหาร หรือผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว ประชาชนไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ “ความมั่นคง” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นความมั่นคงของรัฐบาล หรือความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชนกันแน่
นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังได้สร้างระบบ “นายกฯ สองคน” คือ “นายกฯ ฝ่ายพลเรือน” ที่อาจถูกทหารแทรกแซงเพราะไม่มีอาวุธในมือและอ่อนแอ รวมถึงรักษาผลประโยชน์ของตนเองเกินกว่าจะยอมทัดทานการใช้อำนาจของนายกฯ ทหาร
และ “นายกฯ ทหาร” หรือผู้บัญชาการทหารบกที่เป็น ผอ.รมน. ตาม พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในฯ ที่มีทั้งกำลังรบและอาวุธในมือ ซึ่งจะเป็นผู้นิยาม “ความมั่นคง” ของประเทศชาติและพวกพ้อง ซึ่งอาจมีอำนาจเหนือ “นายกฯ พลเรือน” เพราะมีอาวุธในกำมือ (ซึ่งก็ซื้อโดยภาษีประชาชนนี้ละ)
การทำให้ประเทศไทยมี “นายกฯ สองคน” แบบเขมร (ซึ่งก็น่าจะดีไม่หยอกครับเจ้านาย) และ พ.ร.บ. “ความมั่นคง” นี้ละจะเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการชุมนุมเรียกร้อง การตรวจสอบ เคลื่อนไหวเพื่อรักษาความเป็น “คน” ก็จะถูกจำกัด
3.6 กระบวนการและเป้าหมายที่แยกจากกันนำสู่ความแปลกแยกของรัฐธรรมนูญฉบับ50
รัฐรัฐธรรมปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดภายใต้เงื่อนไขของการทำรัฐประหาร ดังที่ได้อธิบายข้างต้น ซึ่งนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่อาจมีเป้าหมายเพื่อจัดโครงสร้างทางอำนาจในสังคมใหม่? ซึ่งอาจเป็นเจตนาที่ดี? แต่มีวิธีคิดที่เป็นปัญหา คือ “การแยกระหว่างเป้าหมายออกจากกระบวนการ”
เป้าหมายที่ดีนั้นไม่มีใครมองว่าผิด แต่กระบวนการที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังที่อธิบายข้างต้นการที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 50 ประชาชนถูกตัดตอนออกจากกระบวนการร่างฯ ถึงมีก็น้อยมาก จะส่งผลต่อความเป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญ 50 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนในการกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ 50 เลย
โดยแท้จริงแล้วภายใต้สถานการณ์การรัฐประหารที่ชาวประชามองว่าไม่ชอบธรรม เพื่อนำสู่เป้าหมายบางอย่าง ผู้กระทำการย่อมต้องพึงสำเหนียกถึงกระบวนการที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น
ในที่นี้ก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญย่อมต้องนำเข้ามาสู่กระบวนการที่ชอบธรรม คือ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากที่สุด เพื่อกำหนดทิศทางของ รัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย กระบวนการที่ไม่ชอบธรรมจะนำสู่เป้าหมายที่ชอบธรรมย่อมยากยิ่ง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็น รัฐธรรมนูญ ที่แปลกแยกจากสังคมและประชาชน ใครมาฉีกทิ้งหรือทำลายก็ไม่เกี่ยวเพราะไม่ใช่ของประชาชน (แม้จะอ้างกันว่ามาจากประชามติก็ตาม) เนื่องจาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนไม่มีส่วนในกระบวนการร่าง และไม่มีความเป็นเจ้าของด้วยครับ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน ภาพจาก wikipedia
3.7 มโนทัศน์การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
รัฐธรรมนูญปี 50 เกิดภายใต้สถานการณ์พิเศษ (นำมาสู่การใช้อภิสิทธิ์อย่างพิเศษของคนพิเศษด้วย) ดังอธิบายข้างต้น โดยมีแนวคิดหลักในการร่าง คือ
ประการที่หนึ่ง กำจัด หรือป้องกันการกลับมาของ “ระบบทักษิณ” นำมาสู่การสร้างระบบป้องกัน และกำจัด “ระบบทักษิณ” ในวิถีทางต่างๆ และจากแนวคิดทำนองนี้ทำให้การร่าง รัฐธรรมนูญ เป็นการร่างเพื่อเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อกำจัดระบบที่ไม่พึงประสงค์นี้ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญที่ท่านร่างนี้จะส่งผลต่ออนาคตอย่างมหาศาล (จะกล่าวครั้งหน้า) เพราะเมื่อเราคิดกลไกในการกำจัดระบบใดระบบหนึ่งย่อมต้องคิดเครื่องมือเพื่อกำจัด ทำลายเป้าประสงค์นั้นๆ
โดยทำให้ละเลยหนทางแก้ปัญหาในวิกฤต หรือระบบแบบอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเครื่องมือที่ท่านสร้างอาจเป็นตัวทำลายระบบที่ท่านสร้างเอง เช่น การเอาอำนาจต่างๆ ทั้งการแก้วิกฤตของประเทศ การเลือกองค์กรอิสระ ฯลฯ ไปแขวนไว้ที่ศาลซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาความเป็นกลางของศาล และการถูกแทรกแซงจากองค์กรทางการเมือง จนนำสู่ความไม่น่าเชื่อถือของศาลดังปรากฏชัดในปัจจุบัน
ฉะนั้นการร่าง รัฐธรรมนูญ ที่เป็นเครื่องมือจัดความสัมพันธ์ทางสังคมจึงต้องพึงระวังในการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือที่มิใช่ตอบสนองผลประโยชน์ในปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้ามย่อมต้องคิดถึงอนาคตให้มากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นรัฐบาลทักษิณ เป็นรัฐบาลพลเรือนที่ได้อำนาจมาด้วยฉันทานุมัติจากประชาชน ฉะนั้น การจะล้มล้าง หรือทำลาย (ไม่ไว้วางใจย่อมเป็นอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบเคลื่อนไหวตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ และกระบวนการกำลังจะดำเนินไป?) มิใช่เกิดจากคมหอกกระบอกปืนที่จะมาโค่นล้ม  (ที่ซื้อมาจากภาษีประชาชน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีอำนาจมากกว่า “เสียงและสิทธิ” ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
ประการที่สอง การไม่ไว้ใจประชาชน เป็นความเข้าใจของผู้เขียนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ คมช.คณะรัฐมนตรี ฯลฯ (ส่วนใหญ่) มองประชาชนในชนบทว่าโง่ และถูกหลอกจาก “ระบบทักษิณ” เป็นผู้เสพติดประชานิยม จึงมองประชาชนอย่างไม่ไว้วางใจ จนนำมาสู่การให้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญน้อยมากดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น และนำมาสู่การสร้างเครื่องมือเพื่อควบคุมการใช้อำนาจประชาชน เช่น การเลือกตั้ง สว. ที่เป็นบทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญ ปี 40
ในฉบับปี 50 ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบสรรหา รวมถึงการออกมากร่นด่า ประณามผู้ไม่เห็นด้วย ที่บอกว่าผู้ต่อต้าน หรือจะลงมติไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญ 50 เป็นพวกทักษิณ โดยไม่มองว่าเขาไม่เห็นด้วยในประเด็นใด มองเหมารวมว่าเป็นพวกทักษิณหมด คนที่ออกมาต่อต้านเป็นคนเลว ไม่รักชาติ (ชาติจึงเป็นสมบัติของผู้เห็นด้วยเท่านั้น) ประชาชนจึงเป็นส่วนเกินของรัฐธรรมนูญ 50
ประการที่สาม การเมืองของคนดี นิยามของการเมืองถ้ายึดตามร่าง รัฐธรรมนูญ 50 ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ต้องเป็นการเมืองของคนดี? เป็นการเมืองของผู้ไม่โลภ? เป็นผู้ใสสะอาดบริสุทธิ์ดังผ้าขาวที่ไม่มีมลทิน เป็นผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาอำนาจแต่ชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การเมืองแบบไทย” ต้องเอาคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง โครงสร้าง/ระบบมันจะเสียหายอย่างไร ถ้าคนดีเข้ามาปกครองดีหมด พูดง่ายระบบไม่เกี่ยว “คนดี”?? ที่กำลังจะเนรมิตความเจริญ ความเท่าเทียมให้สังคมไทย
ประชาชนต้องคอยช่วยคนดีปกครอง ห้ามถาม ห้ามเรียกร้อง น้ำจะท่วมนา ปลาจะตายลอยน้ำ ฝนจะแล้ง หมอกควันจะทำให้หายใจไม่ออก โจรผู้ร้ายจะฆ่าผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ ท่านทั้งหลายอย่าได้ปริปากเดี๋ยวจะหาว่าไม่รักชาติ “ชาติ” “การเมือง” จึงเป็นของคนดีเท่านั้น
ปัญหาของคนดีที่ รัฐธรรมนูญ มองไม่เห็น คนดีไม่จำเป็นต้องทำงานเป็น คนดีอาจไม่ดีจริง คนดีในมุมมองต่างๆ อาจไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์เราอาจต้องการคนดีที่เก่งด้วย ทำงานเป็นด้วย บ้างครั้งเราอาจต้องการคนดีที่โง่แต่ตรวจสอบได้ บางครั้งเราอาจต้องการคนดีที่เข้มแข็ง ฯลฯ ฉะนั้นคนดีจึงไม่จำเป็นต้องถึงพร้อมสมบูรณ์แบบ? แต่ในเมื่อเราบอกว่า “ดี” ที่ไม่ต้องตรวจสอบถูกรับประกันโดยใครบางคนแล้วเราก็บอกว่า “ดี” แล้วอย่างนี้มีดีให้ประชาชนไหม?

4. สรุป

วิถีทางเดียวที่เราในฐานะประชาชนตัวเล็กตัวน้อยจะทำได้ คือ “การตั้งคำถาม” ตั้งคำถามกับอำนาจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเรา รวมถึงตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นๆ
รัฐธรรมนูญจึงเป็นฐานของการใช้สิทธิ เสรีภาพของเราในการต่อสู้กับอำนาจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด “สิทธิความเป็นมนุษย์” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในฐานะมนุษย์ การต่อสู้ในหนทางสันติวิธีเพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้
รัฐธรรมนูญแม้จะอธิบายกันว่าเป็นกฎหมายสุดสูง กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งมิได้ แต่เมื่อมันเป็นแต่เพียงกระดาษที่เปื้อนหมึกหากไม่มีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง ความศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมมลายหายเป็นธรรมดา
รัฐธรรมนูญฉบับ 50 นี้โดยคณะผู้ร่างฯ จะสำนึกหรือไม่สำนึกก็ดีท่านได้วางกับดักให้สังคมไทยในหลายประเด็นดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น และประเด็นเหล่านี้ที่ท่านวาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาให้แก่สังคม อาจกลับมาเป็นเครื่องมือที่ทำลายสังคมเองก็ได้ ก็ในเมื่อท่านไม่ไว้วางใจในประชาชนเสียแล้ว ยกอำนาจ มั่นใจนักมั่นใจหนาในความดีของชนชั้นนำ พวกไพร่ชาวดินก็คงหมดความหมาย แล้วเขาจะหวังอะไรเล่า
*หมายเหตุ บทความนี้เป็นการนำบทความ 2 ชิ้น มาเรียบเรียงเขียนใหม่ และทำให้เนื้อเรื่องเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง “บทความ: เมื่อ นศ.ป.โท มช. วิพากษ์ต้องโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญทองเค พ.ศ. 2550” และ “บทความวิพากษ์ รัฐธรรมนูญ 50: กับดักรัฐธรรมนูญ
แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ (4 ปีผ่านไป) สาระสำคัญของเรื่องก็ยังไม่เก่า แต่เหตุการณ์อาจวุ่นวายไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ การเอาบทความ 2 ชิ้น มา “ตัดแต่งใหม่” ซึ่งไม่ได้ทำให้ล้าสมัยไปเลย แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังอยู่ใต้กับดักรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2550 อยู่ และผมจะเขียนในตอนที่ 2 ต่อไปเรื่องความวุ่นวายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 นี้
ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น