ทุ่งยั้งที่ตั้งเมืองราด . พ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย
เรื่องเมืองราดสมัยพ่อขุนผาเมืองกรุงสุโขทัย ยังเป็นคำถามว่าตั้งอยู่ที่ใด?
เนื่องจากนักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์หลายท่านเสนอไว้ เช่น เมืองราด คือ เมืองหล่มสัก (อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์), เมืองนครไทย (อ. นครไทย จ. พิษณุโลก) เมืองทุ่งยั้ง (อ.ลับแล จ.อุครดิตถ์) ฯลฯ
ในเรื่องนี้ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีกรมศิลปากรได้มีการศึกษาที่ตั้งของเมืองราดว่าอยู่ที่ใดเช่นกัน ได้สืบค้นจากข้อมูลจากเอกสารเก่า ลายลักษณ์อักษรศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม สุโขทัย จารึกหลักอื่น สุโขทัย และสภาพภูมิศาสตร์ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนเชื่อมโยงว่า เมืองราด คือเมืองทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน ท่านได้เขียนขึ้นไว้ในหนังสือ “เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย” กรมศิลปากร ก.ค. 2555 พิมพ์และเผยแพร่อยู่ขณะนี้ เพื่อที่ช่วยกันไขความกระจ่าง จึงขอคัดบทคำนำมาเป็นสังเขป
อ.พิเศษ กล่าวประวัติศาสตร์ตอนต้นสุโขทัยหรือก่อนสมัยสุโขทัยนี้ ดูจะเป็นเรื่องมืดมนที่จะหาคำอธิบายในหลายปัญหา เช่น การหายไปจากดินแดนแคว้นสุโขทัยของตระกูลพ่อขุนผาเมือง การที่ตระกูลพ่อขุนบางกลางหาวเข้าแทนที่อำนาจในแคว้นสุโขทัย และเรื่องเมืองราดของพ่อขุนผาเมืองที่ท่านกลับไปครองว่าอยู่ที่ใด โดยบันไดขั้นแรกของการคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ น่าจะอยู่ที่ว่าหาเมืองราดให้ได้เสียก่อน เมื่อหาได้แล้วก็อาจจะพบแสวงสว่างที่จะฉายเข้าสู่ความมืดมนของปัญหาอื่นๆ ได้
ทั้งนี้ได้ฉายแนวคิดภาพรวมของเมืองราดโดยอ้างอิงกับหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ ในลักษณะที่ 1 สถานที่อันจะเป็นเมืองราดได้นั้นควรจะมีหลักฐานประเภทใดประเภทหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์กับขอมเมืองพระนครธม หรือเมืองลพบุรี อันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมขอมในที่ราบลุ่มภาคกลาง ทั้งนี้ เพราะในศิลาจารึกหลักที่ 2ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน ว่าพ่อขุนผาเมืองผู้ครองเมืองราดนั้นเป็นลูกเขยกษัตริย์ขอม ถึงกับได้พระราชทานามสถาปนาว่า ศรีอินทรบดินทราทิตย์ จากนามเดิมว่ากมรเตงอัญผาเมือง พร้อมทั้งพระขรรค์ชัยศรีด้วย
ลักษณะที่ 2 เมืองราดควรจะเป็นเมืองที่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าหรือมากกว่าเมืองสุโขทัยเมื่อเริ่มแรก ทั้งนี้โดยพิจารณาจากความในศิลาจารึกหลักที่ 2 เล่าเรื่องการชิงเมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองของบิดาของพ่อขุนผาเมืองกลับคืนมาจากขอมเสมาสโขลญลำพง เมื่อยึดครองเอาไว้แล้วก็ได้ทำการอภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาวครองเมืองสุโขทัย ส่วนตัวท่านเองกลับไปครองอยู่ที่เมืองราดของท่านตามเดิม อันเป็นการแสดงว่าเมืองราดของท่านนั้นมีศักดิ์ศรีไม่น้อยไปกว่าเมืองสุโขทัย
ลักษณะที่ 3 เมืองราดควรเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับเมืองสุโขทัย ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกหลักที่ 8 พบที่เขาสุมนกูฏ สุโขทัย ปรากฏรายชื่อของเมืองต่างๆ ล้วนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โดยรอบจังหวัดสุโขทัยทั้งนั้น คือในพื้นที่เขตจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ในศิลาจารึกหลักนี้นั้น มีชื่อเมืองราดรวมอยู่ด้วย
อ.พิเศษ กล่าวถึงมูลเหตุจูงใจเสนอเรื่องที่ตั้งของเมืองราด ในการหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้พบข้อสะดุดใจบางประการเกี่ยวกับเรื่อง เมืองทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่มีเขตติดต่อทางทิศเหนือของ จ.สุโขทัย ดังนั้น ตามแนวคิดในลักษณะที่ 3 ทุ่งยั้งนั้นอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยของแคว้นสุโขทัยประมาณ 35 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตการปกครองท้องที่อำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ ระยะทางจากวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งจะอยู่ห่างจากแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านที่ตั้งตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า บางโพ ประมาณ 5 กิโลเมตร
ที่เมืองทุ่งยั้งมีร่องรอยของคูน้ำคันดินหลายชั้นซับซ้อนกันอยู่ยากที่จะบอกว่ารูปร่างของเมืองเป็นเช่นไร อย่างไรก็ดี ที่เรียกว่า เวียงเจ้าเงาะ ที่เห็นเป็นรูปร่างของเมืองอย่างชัดเจน และอยู่ติดกัยวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งก็เป็นส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทุ่งยั้งอย่างแน่นอน
ชื่อเมืองทุ่งยั้งจะปรากฏอยู่ในหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งของแคว้นล้านนาที่อยู่ทางทิศเหนือถัดไป เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารโยนก ตำนานพระธาตุบางเรื่อง ฯลฯ และเอกสารที่อยู่ทางใต้ของแคว้นสุโขทัย เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ หนังสือกฎหมายของอยุธยา พงศาวดารเหนือ ฯลฯ ซึ่งเอกสารทั้งหมดที่กล่าวนี้มิได้เป็นเอกสารของแคว้นสุโขทัย
แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าศิลาจารึกอันเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรของแคว้นสุโขทัยเอง ซึ่งเป็นที่แน่นอนอีกด้วยว่าเมืองทุ่งยั้งในอดีตเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอาณาเขตของแคว้นสุโขทัยด้วยนั้นกลับไม่ปรากฏชื่อของเมืองทุ่งยั้งอยู่เลย (ซึ่งอาจจะเป็นการบังเอิญก็ได้ที่ชื่อเมืองทุ่งยั้งจะมีอยู่ในส่วนที่เป็นรอยกะเทาะหลุดออกไปของศิลาจารึกสุโขทัยเหล่านั้น)
มีศิลาจารึกอยู่เพียงหลักเดียวที่มีชื่อเมืองทุ่งยั้ง คือศิลาจารึกหลักที่ 38 วัดสระศรี สุโขทัย อันเป็นจารึกกฎหมายที่มีชื่อเมืองทุ่งยั้งอยู่ด้วย ...อย่างไรก็ตาม ศิลาจารึกหลักนี้แม้จะพบที่สุโขทัยแต่ก็มิได้กระทำขึ้นโดยชาวสุโขทัยอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจที่จะกล่าวได้โดยไม่ผิดว่า ชื่อเมืองทุ่งยั้งยังไม่พบว่าปรากฏอยู่บนเอกสารลายลักษณ์อักษรที่เป็นของชาวสุโขทัย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ชื่อทุ่งยั้ง อาจเป็นชื่อที่ผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงทางทิศเหนือและใต้เป็นผู้เรียก ส่วนชาวท้องถิ่นเองอาจมีชื่อเรียกที่แท้จริงเป็นอย่างอื่น
ความคล้ายคลึงกันกับปัญหากรณีชื่อเมืองทุ่งยั้ง แต่เป็นไปในลักษณะกลับกันปรากฏขึ้นในกรณีของชื่อเมืองราดด้วย ดังได้กล่าวแล้วว่า ชื่อของเมืองราดปรากฏอยู่ในเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อันเป็นเอกสารของแคว้นสุโขทัยโดยอาศัยอยู่บนศิลาจารึกหลัก 2 หลัก คือศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม สุโขทัย ที่เล่าเรื่องว่าเมืองราดเป็นเมืองของพ่อขุนผาเมือง อีกหลักหนึ่งคือศิลาจารึกหลักที่ 8 เขาสุมนกูฏ สุโขทัย ที่เล่าว่าเมืองราดเป็นเมืองหนึ่งซึ่งมีไพร่พลร่วมไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สุโขทัยกับพระมหาธรรมราชาลิไท
ชื่อของเมืองราดปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ตามศิลาจารึกทั้งสองหลักนั้น ห่างกันประมาณ 150 ปี นั่นคือ ในความรู้สึกนึกคิดของชาวสุโขทัยนั้นเมืองราดไม่เคยหายไปไหนตลอดระยะเวลา 150 ปีนั้น แต่ก็เป็นน่าประหลาดใจอีกว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ นอกจากศิลาจารึกแล้วเหตุใดในเอกสารประเภทอื่นๆ ของท้องถิ่นอื่นที่มิใช่แคว้นสุโขทัยทั้งของฝ่ายล้านนาและของทางภาคกลาง จึงไม่ปรากฏชื่อของเมืองราดอยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นในรูปของตำนานปรัมปรา บันทึกจดหมายเหตุต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ จึงน่าที่จะเป็นไปได้ว่าในลายลักษณ์อักษรประเภทอื่นๆ ที่มิใช่จารึก อันเป็นเอกสารของคนท้องถิ่นอื่นที่มิใช่สุโขทัยทำขึ้นนั้น มิได้เรียกชื่อเมืองราดว่าเมืองราด แต่ได้เรียกชื่อของเมืองอยู่ในนามอื่น
อ.พิเศษ กล่าวให้เห็นว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งในกรณีของชื่อเมืองราดและเมืองทุ่งยั้ง จึงเป็นความปฏิสัมพันธ์ของหลักฐานที่อาจนำมาตั้งเป็นข้อสมมติฐานได้ว่า ในขณะที่คนในท้องถิ่นซึ่งอยู่ในแคว้นสุโขทัยนั้นรู้จักชื่อของเมืองๆ หนึ่งว่าชื่อเมืองราด จึงปรากฏชื่อของเมืองราดอยู่ในศิลาจารึกอันเป็นเอกสารของชาวแคว้นสุโขทัยเอง แต่คนใกล้เคียงกับแคว้นสุโขทัยคือชาวล้านนาและภาคกลางกลับรู้จักและเรียกชื่อเมืองๆ นั้นในชื่ออื่น คือเรียกว่าเมืองทุ่งยั้ง ดังนั้น จึงปรากฏชื่อเมืองทุ่งยั้ง และไม่พบชื่อเมืองราดอยู่ในเอกสารที่เป็นของคนถิ่นอื่นที่มิใช่เป็นของชาวสุโขทัย
นั่นคือเมืองราดคือเมืองๆ เดียวกับเมืองทุ่งยั้งนั่นเอง
ที่มา.สยามรัฐ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น