--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อรุณรุ่งที่ บู๊ตึ๊ง.. !!?


โดย.ชาธิป.

ต้นหนาวปีนี้ มีโอกาสไปรับลมหนาวที่ "อู่ฮั่น" เมืองประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวยาวนานกว่า 3,500 ปี

โดยเหตุการณ์สำคัญหลายตอนในเรื่อง "สามก๊ก" อย่างตอน "โจโฉแตกทัพเรือ" หรือการยุทธที่ "ผาแดง" ก็อยู่ในเมืองอู่ฮั่นนี่เอง

จากดอนเมืองเราใช้บริการสายการบินของไทยบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่อู่ฮั่น ใช้เวลาบินประมาณ 4 ชั่วโมง "อู่ฮั่น" (Wuhan) เป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ย มีพื้นที่ประมาณ 8,467 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 12 ล้านคน

มณฑลหูเป่ยนับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางการคมนาคมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีนตอนกลาง การคมนาคมทางบกมีเส้นทางรถไฟขนส่งสายหลักของประเทศ คือ ปักกิ่ง - กว่างตง พาดผ่านทิศตะวันออกของมณฑล ในช่วงทศวรรษ 1970 มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายสำคัญในมณฑลจากตะวันตกไปตะวันออก และจากเหนือลงใต้ จนถึงปี 1990 มณฑลนี้มีเส้นทางรถไฟรวมระยะทาง 1,673 กิโลเมตร และยังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟด่วนที่ใช้ไฟฟ้าและทางหลวงอีกหลายสาย มณฑลหูเป่ยยังมีอุตสาหกรรมการเดินเรือที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศจีนอีกด้วย ส่วนการขนส่งทางอากาศในมณฑลหูเป่ยมีบริษัทสายการบิน 4 แห่ง สนามบินพลเรือน 5 แห่ง สนามบินทหาร 1 แห่ง เปิดเส้นทางบินทั้งในและนอกประเทศ 107 เส้นทาง

ในส่วนของเมืองอู่ฮั่น เมื่อก่อนมีชื่อเสียงในการผลิตอาวุธสงคราม ปัจจุบันสินค้าที่สร้างรายได้คือการผลิตเครื่องจักรกลและน้ำมันพืช และด้วยมีแม่น้ำสำคัญ 2 สายไหลผ่านคือแม่น้ำแยงซี (แม่น้ำฉางเจียง) และแม่น้ำฮั่นเจียง จึงเป็นที่ตั้งของท่าเรือใหญ่ที่สุดบนสายแม่น้ำแยงซีตอนล่าง และสนามบินเทียนเหอที่เมืองอู่ฮั่นยังเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของประเทศจีน

ไปเที่ยวนี้เน้นที่การขึ้น "เขาบู๊ตึ๊ง" เป็นหลัก ดังนั้นแม้ในเมืองอู่ฮั่นยังมีอีกหลายที่ที่น่าเที่ยว แต่ขอเล่าเพียงสังเขป อาทิ หอกระเรียนเหลือง (หวงเห่อโหลว) เป็นหอ 1 ใน 3 ที่มีชื่อเสียงของจีนเคียงคู่กับหอเอี้ยหยางแห่งมณฑลหูหนานและหอเถิงหวังเก๋อแห่งมณฑลเจียงซี สร้างขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ.223 ต่อมาถูกทำลายและได้รับการบูรณะใหม่ จนกระทั่งในปีค.ศ.1884 หอแห่งนี้ได้ถูกไฟไหม้จนหมดและถูกสร้างขึ้นใหม่รวม 4 ครั้ง ได้รับการบูรณะใหม่ในลักษณะของอาคารแบบดั้งเดิม ปัจจุบันหอนี้เป็นที่จัดแสดงงานเขียนอักษรจีนและงานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงหลายยุคสมัย

วัดกุยหยวน (Guiyuan Temple) หรือ "กุยหยวนซื่อ" วัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง 1 ใน 4 ของเมืองอู่ฮั่น สร้างขึ้นในราวปลายราชวงศ์หมิงต่อเนื่องถึงต้นราชวงศ์ชิง ภายในมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ที่ชาวจีนนิยมไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล รายล้อมด้วยรูปปั้นพระอรหันต์ 500 องค์ที่ปั้นจากดินเหนียวเคลือบทองซึ่งมีรูปร่างหน้าตาและอากัปกริยาที่ไม่ซ้ำกันเลยตามตำนาน

อีกสถานที่ที่น่าไปเดินเล่นหย่อนอารมณ์ คือ กู่ฉินไถ (Heptachord Terrace) เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงมิตรภาพผ่านเสียงดนตรีของ "หยูโป๋หยา" เซียน "กู่ฉิน" (เครื่องดนตรีโบราณ บรรพบุรุษของ "กู่เจิง") และ "จงซีจี" พ่อค้าทางไกล สถานที่นี้สร้างขึ้นในสมัยรางวงศ์ซ่งแต่ถูกทำลายไปก่อนจะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์ชิง ไปที่นี่อย่าลืมขอให้อาจารย์อู๋ฉู่ฉีผู้ดูแลสถานที่สาธิตการเล่นกู่ฉินและกู่เจิงให้ฟังสดๆ ฟังแล้วซาบซึ้งตรึงใจก็สามารถซื้อซีดีกลับไปไว้ฟังที่บ้านได้ด้วย

และ Han Street ถนนคนเดินที่ลงทุนกว่า 5,000 ล้านหยวน โดย Wanda Group ข้างแม่น้ำชู ถนนสายสั้นๆ ความยาวเพียง 1.5 กิโลเมตร แต่อัดแน่นไปด้วย shop สินค้าแบรนด์เนมที่พร้อมจะดูดวิญญาณนักช้อปให้แน่นิ่งไปไหนไม่รอด (มีคนแนะนำว่าถ้าพาทัวร์ไทยมาลงที่นี่ควรเผื่อเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง)

สรุปว่าอู่ฮั่น คือเมืองท่องเที่ยวที่มีครบทั้งประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ไปจนถึงแหล่งช้อปปิ้ง ถามว่าน่าไปไหม...ตอบได้ว่า "มาก" แต่อยากบอกว่าไม่ควรไปเองถ้าไม่สามารถใช้ภาษาจีนได้อย่างชาญฉกาจ แนะนำว่าไปกับทัวร์ดีที่สุด

ช่วงเวลาต่อจากนี้เป็นการเดินทางมุ่งหน้าสู่ เมืองเสียงฝาน เมืองโบราณทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย ใช้เวลาเดินทางจากอู่ฮั่นประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง เสพทิวทัศน์สองข้างทางที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนบนเน้นทางอันคดเคี้ยวของเขาอู่ตัง ก่อนจะเข้าสู่โรงแรมที่พักซึ่งตั้งอยู่ติดกับสถานีรถกระเช้า เพื่อรอขึ้นเขาในเช้าวันรุ่งขึ้น

และแล้วรุ่งเช้าที่รอคอยก็มาถึง ไม่ทันที่แสงแรกของวันจะผลิพ้นเส้นขอบฟ้า ปวงประชาชาวจีนก็มารอที่สถานีรถกระเช้ากันล้นหลาม สังเกตดูมีไม่น้อยที่เป็นประชาชนอาวุโสรุ่นอากงอาม่า ยังนึกสงสัยว่าปูนนี้จะเดินเขาไหวละหรือ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมาหลังจากรถกระเช้าลอยข้ามหุบเขาไปส่งถึงทางขึ้นเขาที่ฝั่งตรงข้ามแล้วจะเป็นรายการเดิน...เดิน...และเดินล้วนๆ

ชื่อขุนเขาที่เรารู้จักในนาม "บู๊ตึ๊ง" นั้น ภาษาจีนกลางเรียก "อู่ตังซาน" หรือ "เขาอู่ตัง" เป็นเทือกเขาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะจุดต้นกำเนิดของปรัชญาคำสอนของ "ลัทธิเต๋า" มีเรื่องเล่าสืบมาว่า "ปรมาจารย์เจินอู่" หรือ "เสวียนอู่" ได้ใช้วิชาทั้งบุ๋นและบู๊ต่อกรกับภิกษุหลายรูปของฝ่ายพุทธจนสามารถยึดเขาแห่งนี้เป็นที่พำนักสืบมา และได้บำเพ็ญตบะจนกระทั่งสำเร็จเป็นเซียนหรือเทพบนยอดเขาแห่งนี้ เขาบู๊ตึ๊งจึงได้กลายมาเป็นแหล่งศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ ของนักพรตลัทธิเต๋ามาหลายยุคหลายสมัย และยังเป็นที่กำเนิดของวิชากังฟูฉบับบู๊ตึ๊งอีกด้วย จนปัจจุบัน บนเขาอู่ตังยังเป็นสำนักเรียนของลัทธิเต๋า ยังมีนักพรตผู้ฝึกตนและผู้สนใจเข้ามาหาความรู้อยู่ไม่ขาดสาย ทั้งความรู้เชิงปรัชญาของลัทธิเต๋าและเรียนวิชากังฟูควบคู่กันไป

จากจุดจอดกระเช้า ท่ามกลางอากาศหนาวจนหูชา เราเริ่มรายการ "เดินทัพทางไกล" ย่อยๆ ด้วยการค่อยๆ เดินไปตามทางเดินหินโบราณที่วกเวียนขึ้นสู่ยอดเขา ท่ามกลางสหายชาวจีนโดยเฉพาะบรรดาผู้สูงวัยหลายราย (ด้วยความเคารพ) ประมาณวัยคงไม่ต่ำกว่า 70 ค่อยย่องค่อยย่างขึ้นเขาอย่างช้าๆ ดูไม่มั่นคงแต่ก็เดินได้ไม่หยุด น่าทึ่งที่เหล่าผู้อาวุโสรักษาสุขภาพได้อย่างดีจนมาเดินขึ้นเขาแข่งกับลูกหลานได้อย่างนี้ อีกอย่างที่น่าชมคือการดูแลรักษาความสะอาดและความปลอดภัย ทางเดิน ราวกั้น บันไดหินอายุหลายร้อยปียังคงได้รับการดูแลรักษาให้มั่นคงได้เป็นอย่างดี

กลุ่มพระราชวังโบราณและศาสนสถานที่กระจายตัวอยู่บนเขาอู่ตัง สร้างในยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907)และได้รับการสร้างต่อเติมเรื่อยมา แต่มาถึงจุดสุดยอดเอาในสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อจักรพรรดิ์จูตี้ ส่งทหารและแรงงานราว 300,000 คน มาที่เขาอู่ตังในปีค.ศ.1412 และเริ่มโครงการ 12 ปีในการก่อสร้างพระราชวังและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนเขาอู่ตัง สถานที่สำคัญอีกแห่งคือพระราชวังจื่อเซียว หรือ "จื่อเซียวกง" (อารามเมฆม่วง) พระราชวังเก่าแก่ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับพระราชวัง "กู้กง" ที่กรุงปักกิ่ง เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีสำหรับฮ่องเต้ที่ปัจจุบันได้รับการบูรณะไว้เป็นอย่างดี

เขตโบราณสถานบนเขาอู่ตังมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 321 ตารางกิโลเมตร เป็นสถานที่ที่รวมสิ่งก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีนหลายยุคหลายสมัย ประกอบด้วยหมู่ตึกโบราณที่ทั้งหมดได้รับการออกแบบตามหลักการความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติตามแนวคิดของลัทธิเต๋า และยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ อาทิ สระน้ำ บ่อน้ำพุร้อน ถ้ำ หน้าผา และยอดเขารวมกว่า 400 แห่ง ที่นี่ยังอุดมไปด้วยพืชสมุนไพรตามตำรายาจีน ว่ากันว่าในจำนวนสมุนไพร 1,800 ชนิดที่ถูกบันทึกไว้ในตำรับยาสมัยราชวงศ์หมิงนั้น 600 ชนิดมีอยู่ในพื้นที่เขาอู่ตังแห่งนี้ เขาอู่ตังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติจากองค์การยูเนสโกเมื่อปีค.ศ.1997 ภายใต้ชื่อ “หมู่โบราณสถานบนเทือกเขาอู่ตัง”

ถามว่าไปช่วงไหนดี ตอบว่าอู่ตังซานสวยตลอดปี ในฤดูใบไม้ผลิเต็มไปด้วยสีสันของดอกไม้ ส่วนฤดูใบไม้ร่วงทั้งเทือกเขาปกคลุมด้วยสีเหลืองส้มของใบไม้ใกล้ผลัด ส่วนในฤดูหนาวเขาอู่ตังจะมีหิมะตกหนัก ทั่วทั้งเขาปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนไปทั้งเทือกราวกับเอาผ้าขาวมาคลุมไว้

จุดหมายของทุกดวงใจ ณ เวลานี้คือการเดินขึ้นไปยัง เทียนจู้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,612 เมตร เป็นที่ตั้งของ วิหารทอง (จินเตี้ยน) วิหารที่เคารพของลัทธิเต๋า มีความสูง 5.5 เมตร กว้าง 5.8 เมตร ภายในประดิษฐานรูปสำริดของเทพเจ้าเจินอู่ (เสวียนอู่) สร้างขึ้นในปีที่ 14 ของรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1416) จุดนี้คือยอดเขาหลักที่ถือเป็น "สุดยอด" ของบู๊ตึ๊งที่ต้องไปให้ถึงให้ได้ ชาวจีนเชื่อกันว่าหากไปขอพรที่นี่มักจะได้รับโชคลาภตามประสงค์

แว่วเสียงเพลงจีนสะท้อนก้องมาในหุบเขา เดินไปสักครู่พบนักพรตท่านหนึ่งยืนสง่าริมผาพลางสาธิตกังฟูฉบับบู๊ตึ๊งคลอเสียงดนตรี ท่านนักพรตร่ายรำมวยแล้วเสร็จก็หันมาสนทนากับเราเป็นอันดี และดูเหมือนความจริงที่ว่าเราพูดภาษาจีนไม่ได้นั้นไม่ได้สร้างปัญหาแก่ท่านนักพรตแต่อย่างใด เพราะท่านยังคงพยายามแบ่งปันความหมายของวิชากังฟู คุยกันไม่รู้เรื่องแต่ก็ดูเหมือนจะเข้าใจกันได้ดีพอใช้

ใครคนหนึ่งตั้งคำถามน่าสนใจว่า สิ่งก่อสร้างทั้งหมดนี้เหลือรอดมาจากยุค "ปฏิวัติวัฒนธรรม" ได้อย่างไร ท่านนักพรตรูปหนึ่งชี้ให้ดูผนังที่ยังหลงเหลือข้อทำนองว่า "ขอให้ประธานเหมาอายุยืนหมื่นปี" เพียงเพราะข้อความไม่กี่คำนี้ที่ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมสำคัญแห่งนี้ไม่ถูกทำลายลง

การเข้าสู่ศาสนสถานลัทธิเต๋าบนเขาอู่ตังมีข้อปฏิบัติบางอย่างคล้ายกับวัดไทยเหมือนกัน คือถ้าทางเข้ามีธรณีประตูอยู่ไม่ควรเหยียบให้ก้าวข้าม ไม่ควรคุยเล่นส่งเสียงเอะอะอื้ออึง เสียงระเบิดหัวเราะอย่างขาดสำรวมหรือคำสบถให้งดเสีย และให้เพิ่มความสำรวมเป็น 2 เท่าหากเข้าไปในอาคารที่กำลังมีการทำพิธีหรือสวดมนต์

ที่สำคัญ นักพรตโดยเฉพาะรุ่นใหญ่มักไม่ชินและไม่โปรดกล้องถ่ายรูป ยิ่งถ้าไปถ่ายจ่อๆ ต่อหน้าถือว่าไม่ควรอย่างยิ่ง ส่วนการถ่ายรูปเทพเจ้าในวิหารต่างๆ ทำได้แต่ห้ามใช้แฟลช (อันที่จริงแม้แต่แสงช่วยโฟกัสของกล้องถ้าไม่ใช้ได้ก็จะดี) เพราะถือกันว่าเทพเจ้าเท่านั้นที่ทรงฤทธิ์ก่อกำเนิดแสงสว่าง มนุษย์เดินดินอย่างเราไม่ควรขันแข่ง

ไปคราวนี้โชคดีหลายอย่าง เพราะนอกจากจะครบรอบ 600 ปีของการก่อสร้างพระราชวังบนเขาอู่ตัง (นับตั้งแต่ปีค.ศ.1412) ยังประจวบเหมาะเป็นวันพระใหญ่คือวันที่ 9 เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน อีกวันคือวันที่ 3 เดือน 3) ทำให้ได้เห็นพิธีฉลองเป็นการใหญ่ มีผู้นับถือลัทธิเต๋าทั้งจากจีนและต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ มาร่วมงานคับคั่ง จนทางเดินขึ้นเขาดูจะคับแคบไปเล็กน้อย เพราะใครๆ ก็อยากเดินขึ้นให้ถึงยอดเขาทันรับอรุณรุ่ง

ถ้าถามว่าอะไรคือที่สุดแห่งความรู้สึกของการได้ไปเหยียบยืนอยู่บนยอดเขาอู่ตังครั้งนี้ คงต้องบอกว่าอยู่ที่ช่วงเวลาเมื่อปลายฟ้าเปิด ตะวันส่องแสงทะลุม่านเมฆระบายท้องฟ้าด้วยสีของแสงที่ให้ความรู้สึกเหนือจริง ราวกับว่าเช้าวันนี้พระอาทิตย์ตั้งใจแสดงฝีมือการส่องประกายเป็นพิเศษ ทำเอาคนที่เพิ่งจะรู้สึกตัวพองโตหลังพิชิตยอดเขาได้หมาดๆ ตัวหดกลับไปเป็นมนุษย์เล็กกระจ้อยร่อยอีกครั้ง

แทบไม่อยากยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ เพราะรู้ว่าภาพถ่ายฝีมือมนุษย์ไม่มีทางเทียบบรรยากาศงามอลังการของอรุณแรกรุ่งบนยอดเขาอู่ตังซานที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ได้เลย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น