ผ่ามุมมอง 4 กูรูรัฐบาล "คณิศ-โอฬาร-ชัยวัฒน์-ณรงค์ชัย" มองเศรฐกิจไทยปี"56 โต 5.2% อานิสงส์ ลงทุนภาครัฐ
มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ ร่วมกับที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ 3 คน ประกอบด้วย นายโอฬาร ไชยประวิติ ,นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี จัดทำบทวิเคราะห์มองอนาคตเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกปี 2556
เศรษฐกิจไทยปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องประมาณ 5.2% โดยคาดว่าจะมีแรงขับเคลื่อนพิเศษจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนในปี 2556 เพิ่มเติมจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวค่อนข้างสูง
ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คาดว่าสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2555 แม้จะยังมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่เอเชียจะยังมีความมั่นคงในการขยายตัวมากกว่าปี 2555
@เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะมีโครงสร้าง ดังนี้
1. การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสม่ำเสมอที่ 4% และ 10% ตามลำดับ
2. การบริโภคภาครัฐขยายตัว 3.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูง 16.9% จากรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 2556 (ยังไม่นับรวมการลงทุนตามพ.ร.บ.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลอาจเสนอในปี 2556)
3. ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 7.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำเมื่อเทียบกับการขยายตัวในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เป็นอัตราที่สูงกว่าปีก่อนเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน ตามการขยายตัวของประเทศคู่ค้าไทยที่ดีขึ้น
4. ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำ 5.4% ตามการส่งออกและตามการชะลอตัวของการลงทุนเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วม
สำหรับภาคการผลิตในปี 2556 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและนโยบายในประเทศ จะยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศอย่างต่อเนื่องจากปี 2555
1. นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะภาคเกษตร ยังทำให้การผลิตภาคเกษตรมีอัตราเร่งของการขยายตัวสูง 4.5% ตามมาตรการจูงใจด้านราคาของภาครัฐและการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง
2. ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวสูงที่ 6.5% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตและมีความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป เป็นต้น
3.ภาคบริการมีการขยายตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวในะดับปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมหาอุทกภัย
ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่า จะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในด้านเสถียรภาพทางราคา การจ้างงาน และดุลบัญชีเดินสะพัด โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2555 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 ตามราคาน้ำมันที่ค่อนข้างทรงตัว ดุลบัญชีเดินสะพัด จะขาดดุลเล็กน้อยที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ขณะที่อัตราการวางงานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมเท่ากับปีก่อน
@ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเสริม
ปี 2556 แม้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2555 มากนัก คือ ขยายตัว 5.2% และอัตราเงินเฟ้อประมาณ 3.5 %แต่มีปัจจัยพิเศษ คือ การลงทุนของภาครัฐตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาววงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท
ประมาณดังกล่าวเป็นภาพรวมเศรษฐกิจกรณีฐาน ซึ่งอาจมีความผันผวนค่อนข้างมาก เพราะสภาวะแวดล้อมในต่างประเทศและนโยบายในประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงได้มาก
โดยสามารถแยกปัจจัยเสริมและปัจจัยเสี่ยงเป็น 3 ประการ คือ
1)สถานการณ์เศรษฐกิจโลกค่อนข้างอ่อนไหวง่าย ทั้งนี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกา ต้องอาศัยการตัดสินใจของรัฐบาลและรัฐสภาเป็นสำคัญ เช่น ในการแก้ปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงของรัฐสภาและหนี้ของยูโรโซนขึ้นอยู่กับกลไกไตรภาคี ประกอบด้วย คณะมนตรียุโรป ธนาคารกลางยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น ในกรณีของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจีน เกาหลีเหนือ ญี่ปุ่น ปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดน ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนสูง
2)สถานการณ์ความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นปัจจัยใหม่จากการที่พม่าเปิดประเทศสู่สังคมโลกอีกครั้ง การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับไทยก็สูงมากด้วย
3)การดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยการปรับทิศทางของนโยบายการพัฒนามาสู่การสร้างกำลังให้เศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการสร้างรายได้ให้กับฐานรากเศรษฐกิจจะยังคงดำเนินต่อไปในปีที่2 ของรัฐบาล ขณะที่มีการวางนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างที่สำคัญ โดยเฉพาะการวางมาตรการดูแลครอบครัว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
@ทิศทางนโยบายรัฐบาล
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2556 มีทิศทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการผลักดันเศรษฐกิจในประเทศด้วยการพัฒนาเชิงโครงสร้างที่สอดประสาน 3 เป้าหมายเข้าด้วยกัน คือ
1. การเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม
2.การสร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม
3.การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม มีความท้าทายอย่างมาก เพราะจะเป็นการปรับโครงสร้างให้การเจริญเติบโต มาจากฐานรากของเศรษฐกิจ และเป็นการเติบโตที่เปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วม โดยให้มีโอกาสการทำงาน มีรายได้ในวงกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และให้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ มาตรการตามแนวทางดังกล่าวจะเป็นมาตรการเชิงเศรษฐกิจ และสังคมประกอบกัน คือ จะเป็นการเน้นเป้าหมายที่กลุ่มคน ชุมชน และพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งจะต่างจากมาตรการเศรษฐกิจมหภาค หรือนโยบายสาขาเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว ตามที่เคยปฏิบัติกันมา
นโยบาย และมาตรการเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภายในมีความแข็งแกร่ง และมีภุมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นแนวทางใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงโดยใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
@รัฐดันพ.ร.บ.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ในปี 2556 คาดว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. .... วงเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท สำหรับระยะเวลา 7 ปี (2556-2563) จะเริ่มดำเนินการได้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแบบยุทธศาสตร์ฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ
ทั้งนี้ กรอบการลงทุนจะมีวงเงินลงทุนที่จะเบิกจ่ายใน 5 ปี (2556-2560) ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และวงเงินลงทุน ที่จะเบิกจ่ายภายหลังจากปี 2560 จนจบโครงการอีกประมาณ 5 แสนล้านบาท
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยเสริมที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ หากการเสนอพ.ร.บ.ดังกล่าว และการลงทุนจริง ทำได้เร็วขึ้น และมากขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้ นอกจากนั้น การรวมทุนดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.4-0.5 ต่อปี (ซึ่งยังไม่ได้นับรวมเข้าในการประมาณปี 2556) สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 43 ในปี 2555 จนสูงสุดในปี 2560 เท่ากับร้อยละ 51.5 ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น