--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คิดอย่างมีตรรกะ : ทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง !!?


โดย : วีรพงษ์ รามางกูร
ในขณะที่นักคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมือง conomique politique (ภาษาฝรั่งเศส) มีความคิดให้เหตุผลไป 2 ทาง กล่าวคือ ฝ่ายเสรีนิยมเริ่มจากหนังสือเรื่องความมั่นคั่งของชาติ หรือ The wealth of Nation ของอดัม สมิท ตามด้วย The Principles of Political Economy and Taxation ของเดวิด ริคาร์โด หนังสือของยีน แบบติสก์ เซย์ ที่เรียบเรียงเพิ่มเติมหนังสือของอดัม สมิท เป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ Trait d′Economie Politique แล้ว หนังสือเรื่อง Cours Complete d′Economie Pratique ทำให้ผู้คนในฝรั่งเศสและยุโรปรู้จักอดัม สมิท มากขึ้น เดวิด ริคาร์โด 
ก็รับเอากฎของเซย์ การว่างงานเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ตลาดแรงงานเป็นตลาดเสรี รัฐบาลหรือสหภาพแรงงานอย่าเข้ามายุ่ง 

เพราะผลผลิตสินค้าและบริการ ทำให้เกิดกำลังซื้อและความต้องการซื้อเท่ากันพอดี สินค้าไม่มีวันล้นตลาด แรงงานก็ไม่มีวันว่างงานจนกระทั่งมัลทัสเป็นคนแรกที่เห็นว่า ไม่แน่ว่าสินค้าและบริการผลิตออกมาแล้วจะขายหมด ความต้องการจริง effective demand อาจจะน้อยกว่าความต้องการขายจริง effective supply ก็ได้ ถ้าสินค้าล้นตลาดอย่างมากเป็นเวลานาน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานก็จะเกิดขึ้นอย่างที่มีให้เห็นในประวัติศาสตร์ก็หลายครั้ง

ต่อมาจอห์น เมนาร์ด เคนส์ จึงสานต่อจากมัลทัส อธิบายว่า ทำไมโดยปกติแล้ว ความต้องการสินค้าและบริการจริงจึงมักจะมีต่ำกว่าความต้องการขาย สินค้าจึงล้นตลาด ขายไม่หมดอยู่เสมอ ทำให้ธุรกิจล้มละลาย ต้องลอยแพคนงาน เศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานมากขึ้น

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะไม่ใช้จ่ายหมด แต่จะเก็บเป็นเงินออมไว้ส่วนหนึ่ง ยิ่งรวยมาก สัดส่วนของเงินออมต่อรายได้ก็ยิ่งมาก เช่น คนมีรายได้เดือนละหมื่นบาท อาจจะไม่มีเงินออมเลย มีเงินเดือน 30,000 บาท อาจจะออม 10 เปอร์เซ็นต์ คือเดือนละ 3,000 บาท ถ้าเงินเดือน 50,000 บาท อาจจะออม 15 เปอร์เซ็นต์ คือเดือนละ 4,500 บาท ถ้าเงินเดือน 100,000 บาท อาจจะออม 20 เปอร์เซ็นต์ คือ 20,000 บาท ถ้ามีเงินเดือนล้านบาท อาจออม 80 เปอร์เซ็นต์ คือ 800,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ถ้าออมแล้วเอาเงินออม ทั้งหมดไปฝากธนาคาร แล้วมีผู้มากู้ไปใช้จ่ายลงทุน หรือบริโภคจนหมด ก็ไม่เป็นไร ผลิตสินค้ามาเท่าไหร่ ก็ขายหมด การว่างงานไม่เกิด แต่ถ้าไม่มีผู้กู้ไปใช้จ่ายลงทุน หรือมีกู้ไปน้อยกว่าเงินออมที่นำมาฝากธนาคาร สินค้าก็ขายไม่หมด บริษัทต้องลดการผลิตลง ปลดคนงานออก การว่างงานก็เกิดขึ้น

ดังนั้น ถ้าเอกชนลงทุนไม่พอกับเงินออมที่ประชาชนออม รัฐบาลต้องออกมากู้จากธนาคาร และจากประชาชนเอาไปลงทุนชดเชยส่วนที่ขาด เศรษฐกิจจึงจะหดตัวน้อยลง การว่างงานก็จะน้อยลง การมีสหภาพแรงงานที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำหรือ ค่าแรงที่แท้จริงลดลงไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ระดับราคาลดลง ทำให้ต้นทุนของนายทุนสูงเกินจริง สินค้าลดราคาไม่ได้ เมื่อขายไม่ออก ของเหลือมาก การปลดคนงานจึงเกิดขึ้น การว่างงานก็มากขึ้น วัฏจักรเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ
คาร์ล มาร์กซ์ เห็นข้อเท็จจริงอันนี้ ก็เสริมต่อไปอีกว่า แม้ไม่มีสหภาพแรงงาน และรัฐบาลจะกู้มาลงทุนชดเชย ค่าแรงที่แท้จริงก็จะไม่เพิ่ม ตาม "กฎเหล็กของค่าจ้างแรงงาน" หรือ "the iron law of wages" สาเหตุก็เพราะค่าจ้างที่แท้จริงจะไม่มีวันสูงกว่าค่าแรงที่จะพอประทังชีวิตอยู่ได้ หรือ subsistence level เท่านั้น เพราะถ้าค่าแรงที่แท้จริงเพิ่มสูงกว่านี้ จะมีแรงงานหลั่งไหลเข้ามาหางานทำมากขึ้น เพราะจะมีลูกมากขึ้น ตามกฎของมัลทัส

ถ้าค่าจ้างที่แท้จริงต่ำกว่านี้ กรรมกรก็จะอดอยากล้มตายและมีลูกน้อยลง ในที่สุดค่าแรงที่แท้จริงก็จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับพอประทังชีวิตอยู่ได้เท่า นั้น ชนชั้นกรรมาชีพจึงยากจนข้นแค้นตลอดกาล ทั้ง ๆ ที่มูลค่าของแรงงานที่ใส่เข้าไปมีมูลค่ามากกว่านั้น มาร์กซ์เรียกว่า "มูลค่าส่วนเกินของแรงงาน" หรือ "labor surplus of value" ส่วนนี้นายทุนและเจ้าของที่ดินเอาไป เศรษฐีนายทุนเจ้าของที่ดินมีน้อยกว่าแรงงานเสมอ ดังนั้น ถ้าจะให้กรรมกร

ผู้ใช้แรงงานได้ผลตอบแทนเท่ากับมูลค่าแรงงานที่ตนใส่เข้าไปในผลผลิต ก็ต้องกำจัดการเป็นเจ้าของทุน เจ้าของที่ดิน เอามาเป็นของส่วนรวม หรือของสังคมเสีย แล้วเอามาแจกจ่ายให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานในการผลิต

ความคิดอย่างหลังนี้ มีผู้ร่วมขบวนการหลายคน เช่น ออสก้า ลังเก้ เองเกล ได้พิมพ์หนังสือของคาร์ล มาร์กซ์ เป็นภาษาเยอรมันชื่อ Das Kapital Kritik Politischen Oekonomic มี 3 เล่ม คาร์ล มาร์กซ์ เดินตามทฤษฎีของอดัม สมิท เดวิด ริคาร์โด และมัลทัสอย่างเคร่งครัดแล้ว

ต่อยอดที่ว่า เมื่อชาติมั่งคั่ง แล้วความมั่งคั่งจะแผ่ลงไปยังผู้ใช้แรงงานที่ยากจนนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะ "กฎเหล็กของค่าจ้างแรงงาน" รัฐบาลจะเก็บภาษีมาแจกจ่ายก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลก็เป็นตัวแทนของนายทุนและเจ้าของที่ดิน มีทางเดียวเท่านั้น คือกรรมกรผู้ใช้แรงงานต้องรวมตัวกันปฏิวัติโค่นล้มนายทุน เจ้าของที่ดินเสีย แล้วนำมาเป็นของสังคม หรือของส่วนกลาง ที่มีแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น
แนวความคิด 2 ขั้วมีผลในความคิดในตรรกะทางการเมืองเป็นอันมาก เพราะตรรกะของคาร์ล มาร์กซ์ ไม่อาจโต้เถียงได้ในยุคนั้น เพราะกษัตริย์เป็นตัวแทนของเจ้าที่ดินในยุคศักดินา สภาราษฎรเป็นตัวแทนของนายทุน เมื่อเจ้าที่ดินและนายทุนสามารถรวมตัว ตั้งพรรคการเมืองได้ แต่กรรมกรไม่สามารถรวมตัวตั้งพรรคการเมืองที่จะชนะการเลือกตั้งได้ แม้จะมีจำนวนมากกว่า ข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้นในยุคนั้น

ดังนั้น กรรมกรชาวนาก็ต้องพึ่งพาปัญญาชน นายทุนน้อยและนายทุนใหญ่ที่เข้าใจชะตากรรมของตน ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาที่ไม่มีที่ทำ กิน รับจ้างเขาทำ ดัง "คำประกาศแสดงเจตจำนงของพรรคคอมมิวนิสต์" หรือ "Manifest der Kommunischen Partei" เมื่อมาร์กซ์และเองเกลร่วมกันเขียนและถือเป็นคัมภีร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่ว โลกในเวลาต่อมา

หลังการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 โดยพรรคบอลเชวิค แล้วกลายมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย พรรคคอมมิวนิสต์ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วโลก

บรรดานายทุนเจ้าที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายยิวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออก ต่างหลั่งไหลหนีมาอยู่ยุโรปตะวันตก แต่ส่วนใหญ่หนีไปอยู่สหรัฐอเมริกา และเป็นพ่อค้าร่ำรวย เป็นนายธนาคาร เจ้าของโรงงาน และเป็นผู้จ่ายเงินหนุนหลังพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค คือพรรคดีโมแครตและพรรครีพับลิกัน

บรรดาปัญญาชนและนายทุนที่ร่ำรวย ก็เป็นคนมาจากอังกฤษ ฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย โดยปรัชญาพื้นฐานของชนชั้นปัญญาชนที่มาจากยุโรปตะวันตก คือเกลียดชังรัฐบาล หรือกษัตริย์ ที่กดขี่ไม่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะประชาชนประเทศไหนต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายที่กษัตริย์นับถือ พระเจ้าแผ่นดิน สแกนดิเนเวียนับถือโรมันคาทอลิก ใครไม่ใช่แคทอลิกก็ถูกขับไล่ออกไป กษัตริย์อังกฤษนับถือคริสต์นิกายอังกฤษ ใครไม่นับถือก็ถูกขับออกไป เยอรมัน ออสเตรเลีย ฮังการี นับถือนิกาย

ลู เทอรัล นักปฏิรูปศาสนาเยอรมัน ใครไม่นับถือก็ถูกขับออกไป ประชาชนที่ไม่ยอมนับถือศาสนาคริสต์นิกายที่พระเจ้าแผ่นดินนับถือก็ถูกไล่ล่า จึงเกิดการอพยพมาที่โลกใหม่ "New World" หรืออเมริกาอย่างขนานใหญ่

ปรัชญาการเมืองของชาวอเมริกาที่อพยพมาจากยุโรป จึงไม่ต้องการกษัตริย์ และไม่ต้องการผู้นำเผด็จการ เพราะเข็ดขยาดจากการไล่ล่าจากการไม่นับถือศาสนาคริสต์ที่ผู้ปกครองนับถือ ไม่ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง และเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนตัว

การทำมาหากิน ที่ดินก็มีมากมาย ไม่มีราคา ไม่เหมือนยุโรป หรือแม้แต่เอเชีย รัฐบาลควรทำหน้าที่แค่ปกป้องประเทศชาติ ดูแลความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินส่วนบุคคล รัฐสภาทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรากฎหมาย และควรจะมีกฎหมายให้น้อยที่สุด ถ้าจะมีก็ต้องละเอียดที่สุด ป้องกันรัฐบาลตีความเอาอำนาจเข้าตัวเอง ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มีศาลไว้ตัดสินข้อพิพาทขัดแย้ง คำว่า "สังคมนิยม" จึงเป็น "คำสกปรก" สำหรับคนอเมริกัน

ส่วนยุโรปเจ้านายเจ้าที่ดินและนายทุนต้องประนีประนอมกับกรรมกร ถ้าไม่อยากถูกโค่นล้มเป็นคอมมิวนิสต์ จึงเกิดความคิดทางการเมือง เช่น รัฐสวัสดิการบ้าง สังคมนิยมประชาธิปไตยบ้าง ตามดีกรีความเข้มความอ่อนที่ต่างกัน เกิดพรรคกรรมกรขึ้นมาหลายประเทศ

ในเอเชียพรรคก๊ก มิน ตั๋ง ถูกโค่นล้มโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคคอมมิวนิสต์ก็ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม โฮจิมินห์ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม ความคิดเรื่องคอมมิวนิสต์จึงแพร่ไปยังประเทศอื่น เช่น ลาว กัมพูชา คิวบา มองโกเลีย เจ้าอาณานิคมจึงต้องรีบให้เอกราชแก่อาณานิคมของตัวเอง โดยเริ่มจากอินเดีย นำโดยมหาตมะ คานธี หลังได้รับเอกราชอินเดียเป็นเสรีประชาธิปไตยในทางการเมือง แต่ทางเศรษฐกิจเป็นสังคมนิยมอย่างเข้มงวดเกือบจะเป็นคอมมิวนิสต์

กระดาษหมดแล้ว ขอจบเท่านี้


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
************************************************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น