--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จากรุ่นเก๋าสู่รุ่นแซบ มุมมองในสนามAECของคนข้ามรุ่น !!?


โดย : ชัยพร เซียนพานิช

โจทย์ที่สำคัญคืออะไรคือโอกาสและจะเตรียมพร้อมในการไปข้างหน้ากับ AEC ของธุรกิจSMEs ได้อย่างไร

ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไปตลาดการค้าขายตามแนวชายแดน ตลาดของผู้นำเข้าส่งออก จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิมจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะหลอมรวมเอาภูมิภาคอาเซียนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน แน่นอนว่าโอกาสและความท้าทายที่มากมายกำลังรอทุกคนที่มองเห็นโอกาสและช่องว่างที่จะนำเอาธุรกิจและสินค้าของตนเข้าไปยังตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าทุกวันนี้

นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนา SCB YEPAEC Seminar ที่มุ่งมั่นต้องการให้ความรู้ ให้มองทะลุถึงโอกาสและความท้าทายที่นักธุรกิจโดยเฉพาะชาย SME ทั้งหลายที่ต้องเผชิญหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว โจทย์ที่สำคัญคืออะไรคือโอกาสและจะเตรียมพร้อมในการไปข้างหน้ากับ AEC ของธุรกิจSMEs ได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ถือได้ว่าเป็นโอกาสดีมากๆสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ได้ฟังปาฐกถาพิเศษของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้เล่าถึงภาพของอาเซียนเป็นเป้าหมายที่ต้องไปของธุรกิจไทยถ้าต้องการที่จะอยู่ให้รอดท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในระดับโลก พร้อมยกตัวอย่างของญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจแต่ไม่เคยลดการลงทุนในอาเซียนและเอากำไรกลับไป สหภาพยุโรปแม้ว่าจะประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ก็ยังไม่ลดการลงทุนในอาเซียน ในปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรปเอาเงินมาลงทุนในภูมิภาคนี้แล้วกว่า 19,000 ล้านยูเอสดอลลาร์

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณยังชี้ให้เห็นว่า “เวทีอาเซียนนี้คือเวทีของคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจรุ่นใหม่ จะให้คนรุ่นก่อนมาแข่งขันได้อย่างไร ถ้าจะเอาตัวรอดจากเวทีระดับโลก ต้องเริ่มจากเวทีอาเซียนเพราะเป็นเวทีครึ่งทางของนักธุรกิจไทย ต้องยอมรับว่านักธุรกิจ SMEs รุ่นใหม่เหล่านี้เป็นกองทัพหน้าที่จะออกไปแสวงหาและแข่งขันในเวทีอาเซียน บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทมี Asean Department ทำไมอาเซียนน่าสนใจเพราะการเติบโตของชนชั้นกลางในอาเซียนเมื่อมีรายได้ดีมากขึ้นก็ย่อมต้องการสินค้าดีๆ บริการดีๆ มากขึ้น นี่คือโอกาสที่ธุรกิจไทยทำได้ดีมาตลอดและต้องออกไป”

และยังกล่าวไว้น่าสนใจมากว่า “เราต้องเปลี่ยน Mindset กันใหม่ที่ผ่านมานักธุรกิจไทยออกไปนอกบ้านน้อยมากเพราะการติดที่อยู่ อาหาร ครอบครัว แต่ถ้าเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจของท่านต้องกล้าเปลี่ยนและออกไปเสี่ยงในนอกประเทศ ท่านต้องกล้าพูด กล้าต่อรอง กล้าถกเถียง ไม่ได้เรียกร้องให้ท่านสุภาพและลืมรอยยิ้ม แต่สองสิ่งนี้ไม่ได้ช่วยให้ท่านอยู่รอดได้”

หลังจากคนรุ่นเก๋าได้กรุยทางให้กับคนไทยและนักธุรกิจไทยในฐานะเลขาธิการอาเซียนไปแล้วถัดมาคือคนรุ่นแซ่บที่ยังมีไฟและความมุ่งมั่นที่จะไปและสืบสานเจตนารมย์ของคนรุ่นเก๋าไว้ จะไปอาเซียนได้อย่างไรก็ต้องเริ่มที่ความเข้าใจก่อน คุณวิธาน เจริญผล นักวิเคราะห์อาวุโสของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจว่า SMEsเกินครึ่งในเวลานี้มีความเข้าในในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนน้อย เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าจะมีลักษณะที่กว้างและลึกมากขึ้นในเรื่องของกรอบข้อตกลงที่มีจำนวนมากและมีหลายสินค้าที่ทำการเปิดในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ต่างกัน

พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ”กรอบการเปิด AEC เพื่อการขจัดอุปสรรคการค้าต่างๆเมื่อไม่มีกำแพง ใครผลิตได้ดีกว่า ใครมีความสามารถที่เก่งกว่า ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่ดีกว่า แต่ก็อย่าลืมว่าเราออกไปคนข้างนอกก็เข้ามาบ้านเราได้ง่ายขึ้นด้วย ย่อมมีคู่แข่งมากขึ้น ย่อมเป็นความท้าทายที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่น จะไปรุกตลาดจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนว่ามีตลาดหรือไม่แต่จุดแข็งของธุรกิจไทยคือ Know-how ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนรถยนต์จากการลงทุนของญี่ปุ่นมายาวนาน หรืออุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ทำมานาน นี่เป็นจุดหนึ่งที่ธุรกิจไทยพอจะเอาตัวรอดได้จาก AEC”

สำหรับนักธุรกิจไฟแรงตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่าง ผศ.ดร.ปรีชาพร สุวัฒโนดม กรรมการผู้จัดการบริษัท Pro Five Development จำกัดและเป็นประธาน SCB YEP รุ่นที่ 10 ได้มาให้ความรู้ได้น่าสนใจมากว่า AEC คือ FTA ในรูปแบบของภูมิภาคคนที่ได้รับผลกระทบมากคือภาคธุรกิจบริการ เช่นท่องเที่ยว โรงแรม หรือกลุ่มที่เรียกว่าปลายน้ำของอุตสาหกรรม เพราะทำให้ SMEsจะต้องเผชิญกับธุรกิจที่มีทุนหนาแต่ราคาท้องถิ่นเข้ามาแข่งขัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนก่อนคือเรื่องราคาที่สู้ลำบาก นี่เป็นปัญหาที่ต้องตั้งรับ

สำหรับผู้ที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ดร.ปรีชาพร สุวัฒโนดม ได้ให้ข้อแนะนำที่น่าสนใจมากว่า “ก่อนที่คุณจะออกไปคุณต้องมีทุน ปัญหาSMEsที่ผ่านมาคือเรื่องของแหล่งทุน เรื่องที่สองคือความไม่เข้าใจของ วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างกรณีชุดชั้นในของไทยที่ขายดีมากในไทยแต่กลับขายได้ลำบากในมาเลเซีย อินโดนีเซียเพราะตลาดฝั่งนั้นไม่ต้องการแสดงออกของรูปร่าง เรื่องที่สามคือต้องหา คู่ค้าท้องถิ่นที่ไว้ใจได้เพราะถ้าคุณมีตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ดีคุณย่อมไปรอด และเรื่องที่สี่คือเรื่องภาษา ที่ไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่นซึ่งจำเป็นมาก”

ทางด้านคุณฐิตินันท์ เกียรติไพบุลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท KRC (Thailand) จำกัด ประธาน SCB YEP รุ่นที่ 8 ได้แสดงความเห็นว่า “การออกไปข้างนอกจะต้องไปเป็นกลุ่มหมายถึงไม่ปล่อยเอกชนออกไปแค่ฝ่ายเดียวแต่ต้องมีทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาออกไปด้วย อย่างกรณีของญี่ปุ่นที่ไปพร้อมกันมี JBIC และ JTRO เป็นตัวแทนของรัฐมาช่วย มีธนาคารญี่ปุ่นเสริมไปพร้อมกัน”

ทั้งนี้คุณฐิตินันท์ยังชี้ให้เห็นจุดด้อยของ SME ให้เห็นว่า ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ใช้คนงานเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการแต่ยังไม่เข้าถึงการมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมหรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมาตรฐาน เพราะปัจจุบันมาตรฐานสินค้าสำคัญมาก ธุรกิจ SMEsมีความสามารถในการผลิตตามสั่งหรือ made to order ได้แต่มีน้อยรายมากที่สามารถผลิตสินค้าต้นแบบหรือ Prototype ที่มีนวัตกรรมแทรกในนั้นได้ รายได้ที่ควรได้รับจริงๆจึงได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ปิดท้ายของการเตรียมความพร้อมของธุรกิจ SMEs ที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อรับกับประชาคมอาเซียน ดร.ปรีชาพรได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญมากๆและน่าสนใจมากนั่นคือ โอกาสมีมากมายในตอนนี้แต่ก้าวแรก (First Step) ของพวกคุณคืออะไร จะทำอะไร ขั้นแรกถ้าจะออกไปลงทุนหรือทำกรค้าในประเทศเพื่อนบ้านคุณควรที่จะติดต่อคนไทย โดยเฉพาะภาครัฐของไทยไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมการส่งออก หรือแม้แต่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องอาเซียนเช่นกัน ขั้นที่สองคือสถานทูตของประเทศที่จะเข้าไปในประเทศไทย เข้าไปข้อมูลต่างๆ ขั้นที่สามคือการติดต่อกับสถานทูตไทยในประเทศที่จะเข้าไป หรือแม้แต่ทูตพาณิชย์ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้คุณคิดหาวิธีการที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น”

แม้ว่าเวทีสัมมนาจะจบลงไปแล้ว แต่การดำเนินธุรกิจของคนไทยในประชาคมเศรษฐกิจเซียนยังต้องดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้งและยังต้องเอาใจช่วยนักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการออกไปลงทุนและทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่จะต้องเจอทั้งคู่แข่งและความไม่คุ้นเคยของบรรยากาศการทำธุรกิจที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น