--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ย้อนรอย รธน. รัฐประหาร ทำประชาธิปไตยไม่เบ่งบาน !!?



โดย : ไพศาล เสาเกลียว

ย้อนรอย รธน.ไทยกำเนิดจากกษัตริย์ และ"คณะราษฎร" ชี้สาเหตุประชาธิปไตยไม่เบ่งบาน คือ"การทำรัฐประหาร"

วันที่ 10 ธ.ค.เป็นวันรัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์หนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประเทศไทยก้าวเดินอย่างล้มลุกคลุกคลานมาแล้วถึง 80 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยบ้านเราไม่เติบโตเบ่งบานเหมือนกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ก็คือการปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเมื่อรัฐประหารแล้วก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 18 ฉบับ ติดอันดับมากที่สุดในโลก

ในวาระแห่งวันรัฐธรรมนูญ  จะพาย้อนกลับไปดูรากเหง้าของรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ "ราก" ของภาษา และประวัติความเป็นมา ถือเป็นการเรียนรู้อดีตเพื่อตอบโจทย์ปัจจุบัน และวางแผนสู่อนาคต ในยามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเตรียมลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 (หรือ ส.ส.ร.3) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อ้างว่าต้องการให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม

ในงานสัมมนาเรื่องรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญไทยว่า คำว่า "รัฐธรรมนูญ" เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้่นใหม่ของ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ นักเขียนและคอลัมนิสต์ ซึ่งกว่าจะมาเป็นคำนี้ได้ ต้องโต้แย้งด้วยเหตุและผลกับคนจำนวนมากเกี่ยวกับศัพท์ทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎรกำลังยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม

ในครั้งนั้น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ได้โต้แย้งคณะราษฎรว่า ร่างดังกล่าวจะเรียก "พระราชบัญญัติ" หรือ "ธรรมนูญ" ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำอยู่เป็นคือ "ธรรมนูญของรัฐ" จึงเสนอให้ตั้งชื่อใหม่ว่า "รัฐธรรมนูญ" ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ ถึงขนาดที่คณะยกร่างธรรมนูญการปกครองฯ ต้องยอมใช้ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญ" ในเดือน ก.ย.2475 ดังนั้นวันที่ 24 มิ.ย.2475 หากพิจารณาในแง่นี้แล้วจึงไม่ใช่วันปฏิวัติรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว เพราะมีหลักฐานคือ ร่างกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม ซึ่งร่างฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาพยายามจัดระเบียบของสถาบันพระมหากษัติย์และองค์กรทางการเมือง

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีร่างกฎหมายดุสิตธานี ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าเป็นกฎกติกาการปกครองเขตดุสิตธานี
จากนั้น สมัยรัชกาลที่ 7 ก็มีการยกร่างกฎหมายที่คาดว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญอยู่ 2 ครั้ง โดยเมื่อปี พ.ศ.2469 หลังจากที่รัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 1 ปี พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาฉบับยาวเป็นภาษาอังกฤษถึงปัญหาของสยาม (Problems of Siam) ซึ่งมีเนื้อหาอยู่ 9 ข้อ

"หลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่เห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลย แต่ถ้าใครเคยอ่านพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าว ต้องอ่านตอนที่ 1 เขียนว่า The consititutation (กฎหมายสูงสุดของรัฐ) ซึ่งเข้าใจว่ารัชกาลที่ 7 ทรงคิดว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญที่พระองค์มียังไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย" ศ.ดร.นครินทร์ กล่าว และว่าจากนั้นในปี พ.ศ.2474 ได้มีการเขียนกฎหมายอีกฉบับหนึ่งอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพราะมีการเขียนเป็นมาตรา ซึ่งเป็นที่น่าขบคิดว่าร่างดังกล่าวน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของไทยเช่นกัน แต่สมัยนั้นยังไม่มีการใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ”
ศ.ดร.นครินทร์ อธิบายต่อว่า ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนปี พ.ศ.2475 มีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2470 คือ พระราชบัญญัติองคมนตรี ที่มีกว่า 200 คนในขณะนั้น รัชกาลที่ 7 ได้ทรงแก้กฎหมายดังกล่าวให้จำนวนองคมนตรีลดลง และมีการประชุมแบบถาวร เรียกว่ากรรมการองคมนตรีสภา กฎหมายฉบับนี้เข้าข่ายเป็น Constitutional law (กฎหมายรัฐธรรมนูญ)

นอกจากนั้น รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบโต้บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์ คือ Democracy in Saim (ประชาธิปไตยในสยาม) ดังนั้นเอกสารเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติองคมนตรี กับจดหมาย Democracy in Saim ได้นำประเทศไทยเข้าสู่ Constitutional law แล้ว

“รัฐธรรมนูญที่พวกเราเข้าใจคือปี พ.ศ.2475 คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ที่ร่างโดย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ถ้าได้อ่านคำปรารภของรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการตอนหนึ่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อให้บ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และพระองค์ทรงรับคำขอร้องของคณะราษฎร จึงให้มีการตรากฎหมาย โดยมาตราที่ 1 คืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”

"ส่วนรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นร่างที่ประกาศในวันที่ 10 ธ.ค.2475 มีคนร่างอยู่ 9 คน หนึ่งในนั้นคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 นี้ มีการแก้ไขอยู่ 3 ครั้ง คือ 1.เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย 2.แก้บทเฉพาะกาล และ 3.แก้เพื่อขยายบททั่วไป ที่สำคัญถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนยาวที่สุด นานกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ดังนั้นรัฐธรรมนูญไทยจึงเกิดขึ้นจากพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น