นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดกล่าวในการแถลงข่าวเศรษฐกิจเดือน ต.ค.2555 ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ขยายตัว ขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การส่งออกสินค้ายังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อชะลอลงเล็กน้อยจากราคาอาหารเป็นสำคัญ
“การวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนนี้ใช้การเทียบกับข้อมูลในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสามารถสะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าการวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ที่ข้อมูลเกือบทั้งหมดจะมีอัตราการขยายตัวสูงผิดปกติจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนที่เกิดอุทกภัย”
นายเมธีกล่าวในรายละเอียดข้อมูลการขยายตัวของเศรษฐกิจเดือน ต.ค.ว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อน 0.4% (9.3%หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า) ใกล้เคียงกับแนวโน้มการเติบโตในช่วงปกติ ตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ
ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อน 0.9% (16.4% หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า) จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องจักรในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนความเสียหายจากอุทกภัยที่ยังเหลืออยู่บางส่วนและเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวจากการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม
ผู้อำนวยการอาวุโสฯกล่าวว่าจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์ดีสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดี โดยหากเทียบกับเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 5.4% (36.1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า) ตามการผลิตของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการผลิตเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคงหดตัวจากความต้องการจากต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับภาคเกษตร
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 11.5% (21.2% หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า) แต่หากไม่รวมการนำเข้าทองคำการขยายตัวจะอยู่ที่ 8.5% โดยเป็นการเติบโตตามการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค
ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนนี้หดตัวจากเดือนก่อน 3.5% (14.4% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำการส่งออกจะขยายตัวเป็นบวกที่ 2.4% ตามการส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ที่ปรับดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายเมธีระบุว่าขณะนี้ดัชนีชี้นำการส่งออกหลายตัวทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ได้ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผลที่ได้จากการสอบถามผู้ส่งออกก็พบว่าส่วนใหญ่เห็นว่าการส่งออกจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ธปท. จึงเชื่อว่าการส่งออกจะไม่มีการทรุดตัวลงไปอีกจะจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามประเทศผู้ส่งออกในเอเชียอื่น ๆ เช่นจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน
“การส่งออกของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ใต้หวัน ที่เป็นกลุ่มที่นำการส่งออกไทยอยู่ได้ปรับตัวขึ้นไปแล้วและคาดว่าอีกระยะหนึ่งการส่งออกไทยจะปรับตัวขึ้นตาม”
นายเมธีกล่าวว่า สำหรับอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไปมีแรงส่งที่ดี โดยการบริโภคจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อ ขณะที่โครงการรถยนต์คันแรกก็จะมีผลไปถึงกลางปีหน้า ขณะที่การลงทุนก็มีสัญญาณที่ดีจากแนวโน้มการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงระดับสูง รวมถึงการขอบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใน 10 เดือนแรกที่ผ่านไปก็อยู่ในระดับสูงกว่ายอดการขอ BOI ของทั้งปีของหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะมีการลงทุนของภาคเอกชนจำนวนมากในระยะต่อไป
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
******************************************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น