ไทย จะก้าวกระโดดจากประเทศชั้นกลางสู่ประเทศก้าวหน้าได้อย่างไร ท่ามกลางวังวนของปัญหาการเมือง และไร้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่ชัดเจน
ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลต้องเป็นแกนนำในการสร้าง “ฉันทามติ” ทางการเมืองและสังคม เพื่อนำสู่การวาง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย” ให้ทุกฝ่ายก้าวไปในทิศทางเดียวกัน หากมี 2 เป้าหมายนี้ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างชัดเจน สิ่งที่เป็นปัญหาก็จะถอยออกไปเอง
“ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศชั้นกลาง เป็น Middle Income ไม่ใช่ยากจน และไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่ไปถึงขั้นสูง กำลังไต่ แต่ก็ตกลงมาทุกที เพราะไม่มีฉันทามติทางการเมือง นี่คือปัญหาในทุกประเทศเมื่อเกิดวิกฤติ และทำให้การเมืองไทยไม่พ้นตรงนี้สักที ” ดร.สารสินกล่าว
“ฉันทามติ” นับว่าสำคัญมากต่อประเทศที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจก้าวหน้า แต่ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายที่มีบทบาททางการเมืองรวมตัวกันได้หรือไม่เพื่อสร้างฉันทามติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องมี “ภาพใหญ่” เป็น ฉันทามติ มิเช่นนั้นนโยบายและแนวทางพัฒนาในทุกเรื่องจะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งการบริหารเศรษฐกิจ ภาคเอกชน การศึกษา ฯลฯ
ฉันทามติ ยังจะเป็นกลไกในการลดความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของกลุ่มก้อนที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย
ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ มีหลายกลุ่มก้อนทางความคิดที่แตกต่างกันแต่การแสดงออกของความขัดแย้งอยู่ในกรอบได้ ตำรวจสามารถใช้แก๊สน้ำตา หรือมีการกระทบกระทั่ง แต่สังคมไม่แตกแยกเหมือนบ้านเรา นั่นเป็นเพราะบ้านเมืองมีฉันทามติ
“หากตกลงกันได้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา นายกฯ ต้องเป็นแกนนำเรียกทุกฝ่ายมาตกลงกันในการจัดการวิกฤติ ลืมทุกอย่างหมด หัวหน้าฝ่ายบริหารต้องเริ่มต้นในกระบวนการทางการเมืองด้วยตัวเอง จะมีฉันทามติเดินหน้าไปได้อย่างไร นายกฯ ต้องคุยกับวิป อย่าง อเมริกามีปัญหาหน้าผาการคลัง ก็เป็นกระบวนการที่บารัก โอบามาเรียกฝ่ายค้านมาคุย เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกที่ดี แต่บ้านเราแค่แสดงออกยังไม่มี”
เตือนวิกฤติใน 5-10 ปีข้างหน้า
ดร.สารสิน กล่าวต่อว่า คำถามใหญ่ในเวลานี้ คือ ประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหนใน 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ท่ามกลางวิกฤติสินค้าไทย เป็น “สาละวันเตี้ยลงทุกวัน” มองว่าวิกฤติไม่ใช่พรุ่งนี้จะพัง!! แต่โอกาสไปถึงดวงดาวจะไม่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างจีนและอเมริกา ไทยต้องรู้ว่าจะก้าวไปทางไหน เร่งไต่ระดับจากประเทศตรงกลางไปอยู่ข้างบน เพื่อให้พ้นจากแรงบีบทางการแข่งขันของการอยู่ "ตรงกลาง"
ไทยต้องเร่งแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้คนเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น หากเศรษฐกิจมั่นคงถาวรได้ความมั่นคงในสังคมก็เกิดขึ้น ทุกคนก็อยากปฎิบัติในกรอบระเบียบไม่ให้เกิดความผันแปร เสถียรภาพจะเกิดขึ้น
“การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ต้องมาคิดว่าจะวางระบบเสริมสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานอย่างไร ไม่ใช่คิดแค่ 300 บาทแจกเงินอย่างเดียว แต่ต้องดูแลสวัสดิการแบบครบวงจร ระบบการศึกษาจะแข่งขันกับต่างประเทศอย่างไร ครูสอนภาษาต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนอีกเท่าตัว รัฐบอกเลยว่าจะเพิ่มรายได้ให้เป็นการตอบแทน” ดร.สารสินกล่าว
ในเชิงอุตสาหกรรมของประเทศไทย จากเดิมพึ่งพาการส่งออก จะสามารถส่งข้าวไปขายอย่างเดิมได้ไหม ท่ามกลางคู่แข่ง พื้นที่เพาะปลูกมีปัญหา หรือในเรื่องของพลังงานในประเทศ หากจะมีบทบาทด้านการผลิตมากขึ้น จะบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างไร
“เรากำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ก็กลับไปที่ฉันทามติ เริ่มหาฉันทามติก่อนได้ไหม เพื่อประเทศชาติจะแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง เสมือนสุภาษิตจีน บอกว่า ดึงกองฟืนออกมาจากใต้หม้อต้ม อุณหภูมิก็ลดลง”
ชูไทยได้เปรียบศูนย์กลางอาเซียน
ประเทศไทยต้องมามองว่ามี “จุดแข็ง” หรือสร้างสถานะความเป็น “บวก” ในอาเซียนได้อย่างไร ทั้งนี้ในความเป็น "อาเซียน" ทำให้ภูมิภาคนี้มี “ราคา” เพราะสมาชิกไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาซึ่งกันและกัน อาเซียนจะไม่มีสงคราม
ประการสำคัญ พลเมืองกว่า 600 ล้านคนเป็นตลาดใหญ่รองจากจีน และอินเดีย ทั้งมีโอกาสเชื่อมต่อจีน อินเดีย อีกด้วย ต้องวางกรอบของ Connectivity ให้ชัดเจนและขับเคลื่อนได้จริง
ดร.สารสิน ยกตัวอย่างด้วยว่า กรณีโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็ค “ทวาย” ถามว่าใครได้ประโยชน์ไทยหรือพม่า เวลานี้มองไม่เห็นว่าไทยได้ประโยชน์อะไร แต่พม่าได้ทันที ซึ่งไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่สามารถทำได้ทันที และเป็นจุดเริ่มต้นของ Connectivity ทางทะเล หรือ ทางน้ำ ที่สามารถขยายโครงข่ายไปได้กว้างไกลกว่าเทียบทวายแล้วเห็นได้ชัดว่าไม่มีความพร้อมเท่าอีสเทิร์นซีบอร์ด
การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ อาเซียน ซัมมิต ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าและกำหนดเส้นทางเดินของภูมิภาคนี้ ที่ประเทศไทยต้องเอามาตีโจทย์ว่ามองเห็น “โอกาส” อย่างไรจากความได้เปรียบของความเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน
ยุทธศาสตร์ประเทศไทยเชื่อมเออีซีด้วย Connectivity เป็นเรื่องใหญ่ ต้องมี “เชิงรุก” มากขึ้น...ช้าไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
----------------------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น