ศาลนัดฟังคำสั่งสาเหตุการตายของ"น้องอีซา"ในเหตุสลายชุมนุมเสื้อแดงปี53 วันนี้(20 ธ.ค.) ทนายเชื่อผลเหมือนคดีนายพัน คำกอง กระสุนมาจากเจ้าหน้าที่
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี หรือ อีซา ที่เสียชีวิตช่วงสลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนหาสาเหตุการตายของ ด.ช.คุณากร ภายหลังจากที่ได้ไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้ว โดยตนคาดว่าแนวทางคำสั่งของศาลจะออกมาในทิศทางเดียวกับคดีของ นายพัน คำกอง โชเฟอร์แท็กซี่ ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทั้งหมดในคดีเป็นชุดเดียวกันกับคดีของนายพัน คำกอง ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่มีการยิงสกัดรถตู้ของนายสมร ไหมทอง ซึ่งเป็นผู้ขับขี่ โดยมีรูกระสุนรอบคันรถ ซึ่ง ด.ช.คุณากร ได้เสียชีวิตอยู่ใกล้กับนายพัน คำกอง โดยเชื่อว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาในทิศทางเดียวกันอย่างแน่นอนเพราะทั้งสองคดีเป็นเหตุการณ์เดียวกัน
นายโชคชัย กล่าวอีกว่า หากศาลมีคำสั่งว่าการเสียชีวิตของด.ช.คุณากร เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่จริง ก็จะสรุปสำนวนส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรสงเคราะห์ มุสลิมนานาชาติ ซึ่งเป็นผู้ปกครองของด.ช.คุณากร จะเดินทางมาร่วมฟังคำสั่งของศาลด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าว พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาสาเหตุการตายของ ด.ช.คุณากร ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้อง ทำให้เลือดออกมากในช่องท้อง เหตุเกิดที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ ช่วงที่มีการกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุม นปช. โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อกลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคา 2553
โดยคดีนี้ ถือเป็นสำนวนชันสูตรการเสียชีวิตในช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. ที่ศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นสำนวนที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลอาญาเคยมีคำสั่งแล้ว 2 สำนวนคือนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ และนายชาญณรงค์ พลศรีลา โดยศาลมีคำสั่งว่าการเสียชีวิตของทั้งสองเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนจากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม โดยถึงแก่ความตายขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งคล้ายกับสำนวนคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในคดีของนายชาติชาย ชาเหลา ผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกยิงที่ศรีษะเสียชีวิตบริเวณถนนพระราม 4
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น