อธิบดีกรมศุลฯกางแผนของบฯ 1.1 หมื่นล้านบาท เดินหน้าสร้าง-ขยายด่านศุลกากรทั่วประเทศรองรับเปิดเออีซีในระยะ 7 ปี ชี้ปี"56 เร่งเปิดด่านพุน้ำร้อนรับโครงการทวาย มั่นใจดันมูลค่าการค้าชายแดนโตต่อเนื่อง
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 นอกเหนือจากเก็บรายได้เข้ารัฐให้ได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็คือการสร้างและขยายปรับปรุงด่านศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในทางการค้า และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งผลอาจจะไม่ได้แสดงให้เห็นในแง่เงินภาษี แต่จะมีอิมแพ็กกับการขยายตัวของมูลค่าการค้า
ทุ่มหมื่นล้านเพิ่มด่านทั่วไทย
โดย ขณะนี้กรมศุลกากรได้เตรียมแผนลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด่านศุลกากร ทั้งการก่อสร้างด่านใหม่ และปรับปรุงขยายด่านเดิม 32 แห่งทั่วประเทศ ด้วยงบฯ 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่รัฐเตรียมจะออกพระราชบัญญัติ 2 ล้านล้านบาท เพื่อกู้เงินมาใช้ในการลงทุนระบบคมนาคม โลจิสติกส์ของประเทศในระยะ 7 ปี
สำหรับ การสร้างด่านใหม่เพื่อรองรับโครงการทวายทางฝั่งพม่า ก็จะมีด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว จากปัจจุบันมีด่านสังขละบุรีดูแลอยู่ และจะขยายเพิ่ม ได้แก่ ด่านสิงขร, ด่านกิ่วผาวอก, ด่านบ้านห้วยผึ้ง
ส่วนทางอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่ติดกับกัมพูชา ก็จะมีด่านหนองเอี่ยน จะขยายออกไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร เพิ่มจากด่านอรัญประเทศเดิม ด่านบ้านผักกาด ด้านชายแดนลาว ก็จะมีด่านภูดู่, ด่านทุ่งช้าง ส่วนทางใต้ก็จะขยายด่านเดิม หรือเพิ่มด่านในสนามบินบางแห่งที่ยังไม่มี
"เป็นเรื่องดีที่รัฐบาล ให้เราอยู่ในกรอบ 2 ล้านล้านบาท เพราะเท่ากับเรากำลังทำแผนงบประมาณ 7 ปี โดยโครงการจะทยอยทำในปี 2556 ด่านใหม่ที่จะเห็นก็คือพุน้ำร้อน พร้อมกับการปรับปรุงอีกหลาย
แห่ง อย่างด่านสะเดา ด่านสุไหงโก-ลก ทางภาคใต้ก็ต้องพัฒนาใหม่หมด"
ปัจจุบัน หลายด่านมีความแออัดมาก เช่น ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม ด่านหนองคาย ด่านแหลมฉบัง เป็นต้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการตรวจสินค้า ซึ่งจะต้องเพิ่มเครื่องเอกซเรย์สินค้าเข้าไปด้วย
กางแผนลงทุน 7 ปรับเออีซี
นาง เบญจากล่าวว่า การปรับปรุงและขยายด่านศุลกากรจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านแดน และช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นได้อีกมาก อาทิ ด่านสะเดาที่มีมูลค่าการค้ากว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ด่านปาดังเบซาร์ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และด่านเชียงของ 3-4 พันล้านบาทต่อปี เป็นต้น
"ประเทศ ไทยโชคดี เพราะโดยที่ตั้งเป็นเกตเวย์ของหลายประเทศ อย่างพม่าถ้าเปิดประเทศมากขึ้น ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น หรือลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ก็ต้องผ่านทางไทย" นางเบญจากล่าว
อธิบดี กรมศุลกากรกล่าวว่า ปีหน้าจะเร่งขยายโครงการตัวแทนออกของระดับมาตรฐาน AEO ที่เป็นการดึงผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า (บัตรทอง) รวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนศุลกากร (โบรกเกอร์) เข้ามาอยู่ในระบบการรับรองผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย สินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานว่า มีการดำเนินงานที่ปลอดภัยและได้รับการรับรองจากศุลกากรว่าได้ปฏิบัติตาม มาตรฐานขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ที่ได้กำหนดกรอบมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกทางการค้า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ที่ ต้องเร่งคือระบบ National Single Window (NSW) และพัฒนาไปสู่ ASEAN Single Window ต่อไป โดยขณะนี้กรมได้ลงนามเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ แล้ว 35 หน่วยงาน แต่การเชื่อมต่อในทางปฏิบัติยังทำได้แค่ 12 หน่วยงาน ซึ่งหากเข้าสู่เออีซี ระบบนี้จะมีความสำคัญมาก และเอกชนก็ต้องการให้มีการอำนวยความสะดวกได้ในจุดเดียว
นอกจากนี้ใน อนาคต เมื่อมีการขยายด่านศุลกากรทั่วประเทศแล้ว จะต้องมีการขออัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม ซึ่งในระยะเร่งด่วน ขณะนี้ได้ทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อขอเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่จำนวน 504 อัตรา เพื่อรองรับภารกิจที่มากขึ้นในปัจจุบัน
"ตอนนี้คนไม่พอ อย่างด่านดอนเมือง ก็ต้องดึงคนจากด่านสุวรรณภูมิไปช่วยกว่า 100 คน ซึ่งจริง ๆ ต้องใช้ประมาณ 300 คน ดังนั้น ในส่วนของดอนเมืองจึงต้องขออีกกว่า 200 คน" อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว
แบ่งพอร์ต 3 กลุ่มหลัก
แหล่ง ข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ใน พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีโครงการเพิ่มศักยภาพด่านศุลกากรอยู่รวมทั้งสิ้น 52 โครงการ วงเงิน 10,177 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ด้านเส้นทางเชื่อมโยงหลักเออีซี รวม 14 โครงการ วงเงินกว่า 6,668 ล้านบาท เช่น ด่านสะเดาแห่งใหม่ วงเงินกว่า 1,937 ล้านบาท ด่านบ้านประกอบระยะที่ 2 วงเงิน 380 ล้านบาท ก่อสร้างด่านบ้านหนองเอี่ยน 820 ล้านบาท ด่านนครพนมแห่งใหม่ กว่า 440 ล้านบาท ด่านหนองคายแห่งใหม่ กว่า 382 ล้านบาท ด่านทุ่งช้าง กว่า 147 ล้านบาท ด่านพุน้ำร้อน 825 ล้านบาท เป็นต้น
กลุ่ม ที่ 2 ด้านเส้นทางเชื่อมโยงรอง "ท่าเรือ และท่าอากาศยาน" จำนวน 33 โครงการ วงเงินกว่า 1,413 ล้านบาท เช่น ก่อสร้างลานตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเพิ่มเติมประจำศูนย์เอกซเรย์ ด่านแหลมฉบัง 35 ล้านบาท การก่อสร้างอาคารบริการบริเวณท่าเรือโดยสาร และอาคารชุดพักอาศัย ด่านบึงกาฬ 44 ล้านบาท การก่อสร้างที่จอดเรือตรวจการณ์ ด่านตากใบ 14 ล้านบาท การจัดหาเรือตรวจการณ์ ด่านสตูล 118 ล้านบาท ปรับปรุงที่ทำการอีก 42.5 ล้านบาท เป็นต้น
และกลุ่มที่ 3 ด้านสนับสนุนเพื่อการควบคุมทางศุลกากรอีก 5 โครงการ วงเงินกว่า 2,096 ล้านบาท เช่น โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แบบถอดประกอบเคลื่อนย้ายได้ สำหรับด่านนครพนม ด่านบ้านพุน้ำร้อน และด่านบ้านหนองเอี่ยน รวม 840 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กว่า 523 ล้านบาท โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แบบเคลื่อนที่ได้ สำหรับด่านเบตง และด่านสิงขร 300 ล้านบาท โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แบบตรวจขบวนรถไฟ ด่านปาดังเบซาร์ 364 ล้านบาท เป็นต้น
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น