--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สวดมนต์ข้ามปี. ขอบคุณปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ สร้างฐาน ความดี ตั้งแต่นาทีแรก !!?


สวดมนต์ข้ามปี วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จ.กรุงเทพฯ จากเว็บไซต์ http://board.palungjit.com

คืนข้ามปี ระหว่าง "ใหม่" กับ "เก่า"

จัดว่าเป็นคืนหนึ่งที่มีงานเลี้ยงเกิดขึ้นทั่วประเทศ

แน่นอนว่างานเลี้ยงสังสรรค์กับของมึนเมา เหล้ายาปลาปิ้ง เหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้เอาเสียเลย หลายคนเลือกที่จะดื่มแอลกอฮอล์เพื่อฉลองส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ที่ต่างกันเพียงชั่วระยะวินาทีเดียว

แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ "คิดต่าง" ออกไป

ด้วยการเลือกฉลองส่งท้ายปีในรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมอย่างยิ่ง นั่นคือการ"สวดมนต์ข้ามปี" 
เพราะ "การสวดมนต์" เป็นการทำบุญที่ลงทุนน้อยที่สุดอย่างที่ พระเทพวิสุทธิกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา ว่าไว้ 


พระเทพวิสุทธิกวีเล่าให้ฟังว่า การสวดมนต์ข้ามปีนั้น เป็นสิ่งที่คิดทำกันขึ้นมาใหม่ พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติให้มีการสวดมนต์ข้ามปี แต่การกระทำนี้ ก็ไม่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด ถือว่าทำได้ เพราะการสวดมนต์ไม่ว่าอย่างไรก็ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว

การสวดมนต์เป็นการสงบจิตสงบใจจากเรื่องวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวง ให้มาอยู่กับบทสวด ในขณะที่สวดก็ถือว่าปลอดภัย

แม้จะไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ แต่หากมีโอกาสก็ควรจะทำ และควรจะชักชวนเพื่อนฝูง คนรู้จักมาสวดมนต์ เพราะการสวดมนต์นั้น นอกจากจะไม่ต้องลงทุนอะไรแล้ว ยังถือเป็นการสั่งสมคุณงามความดี ทั้งจากการกระทำของเราเองคือการสวดมนต์ และจากการนั่งฟังคำสั่งสอน ฟังธรรมะจากพระสงฆ์ จากนั้นก็นำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการเพิ่มพูนคุณงามความดีของเราขึ้นไปอีก

"อย่างน้อยแทนที่เราจะไปกันอย่างไร้ทิศทาง คิดแต่ว่าเราจะไปฉลอง จะไปเฮฮากันที่ไหนในคืนปีใหม่ หรือไปสำมะเลเทเมาที่ไหนก็มาเข้าวัดสวดมนต์ มาใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ปีเก่าจะผ่านไป" พระเทพวิสุทธิกวีกล่าว

การสวดมนต์ข้ามปี ยังถือเป็นการขอบคุณปีเก่าที่ผ่านมาด้วย แม้ว่าจะมีความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง แต่เราก็ผ่านมาอย่างรอดปลอดภัยสวัสดี ถึงโอกาสปีใหม่ก็สวดมนต์ เริ่มปีใหม่ด้วยความดีกัน และถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความดี

"การเข้ามาสวดมนต์ในแต่ละปีก็เหมือนกับการหยุดความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวง มาทำใจให้สงบในการสวดมนต์ เพื่อทำใจให้เป็นฐานที่ตั้งแห่งความดี แห่งความสวัสดีของเราต่อไป นอกจากจะได้หยุดแล้วก็ยังได้ฟังพระ ได้ข้อคิดไปพัฒนาตนเอง เพื่อสู้ เพื่อยืนหยัดอยู่กับสิ่งใหม่ที่จะมาถึง เริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำความดี และก็เก็บเอาความดีที่พระได้สั่งสอนไปประพฤติปฏิบัติเพื่อความดียิ่งขึ้น" พระเทพวิสุทธิกวีกล่าว

ด้วยเหตุที่มีแต่ข้อดีหลายประการนี้เอง ทำให้การจัดงานในปีนี้ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่แล้วมาในอดีตนั้นมีการฉลองปีใหม่สากล โดยลักษณาการแบบเดียวกับงานปีใหม่ไทยในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีคือ เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้ามีการทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม จากนั้น ก็ไปเยี่ยมผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อมอบของขวัญปีใหม่

แต่ระยะหลังนั้น ประเพณีนิยมเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นการจัดปาร์ตี้ จัดงานเคานต์ดาวน์ต้อนรับปีใหม่ มีลานเหล้า ลานเบียร์ เมาจนสุดลิ่มทิ่มประตูเลย เป็นที่มาของการดื่มแอลกอฮอล์จนเสียสติ นำมาสู่การตีรันฟันแทง นอกจากนั้นยังเสื่อมสุขภาพและนำมาสู่อุบัติเหตุที่จะเกิดจากการเมาแล้วขับ

สวดมนต์ข้ามปี จ.พิษณุโลก จากเว็บไซต์ www.phitsanulokhotnews.com


สสส.จึงได้ริเริ่มโครงการสวดมนต์ข้ามปีเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน

ศ.นพ.อุดมศิลป์กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรงดเหล้านั้น จัดงานสวดมนต์ข้ามปีมานานแล้ว แต่ไม่ได้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ

ทาง สสส.เห็นว่าน่าสนใจ จึงร่วมกับเครือข่ายและเชิญชวนวัดต่างๆ ประมาณ 700-800 วัด ซึ่งทางมหาเถระสมาคมก็เห็นชอบโดยได้สั่งการไปตามวัดทั่วประเทศ

ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี บอกถึงความพิเศษในปีนี้ พ.ศ.2555สู่ปี พ.ศ.2556 นี้ว่า ถือเป็นปีที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นปีมหามงคลมี 4 เหตุการณ์สำคัญ คือ

1.ปีพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้

2.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา

3.สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา

4.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามกุฏราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

"สำหรับผู้ที่หวังจะทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่า และเริ่มก้าวเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความเป็นมงคลของชีวิต สามารถเดินทางไปร่วมกิจกรรมได้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดตัวแทนภาคทั้ง 4 ภาค ได้แก่

ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น, ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา และภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่หากไม่สะดวกเดินทางก็สามารถสวดมนต์ที่บ้านได้เช่นกัน"

ด้าน ขวัญชัย เต็งน้อย อายุ 23 ปี อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ชาวกรุงเทพฯ เล่าว่า เพิ่งจะสวดข้ามปีเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วที่วัดใกล้บ้าน ซึ่งปกติเคยสวดอยู่ที่บ้าน สำหรับปีนี้ตัดสินใจเปลี่ยนบรรยากาศจากเคานต์ดาวน์ ตามสถานที่เที่ยว ไปสวดมนต์ข้ามปีเหมือนปีก่อน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะไปที่วัดใด เพื่อเป็นการลองอะไรใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นความสุขสงบไปอีกรูปแบบ

"สำหรับงานสวดมนต์เมื่อปีที่แล้วมีวัยรุ่นมาบ้างแต่ก็ไม่มากนัก คาดว่าในปีนี้น่าจะมีวัยรุ่นหลายคนหันมาทำกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีมากขึ้น เพราะหลายคนที่อยากจะลองเปลี่ยนบรรยากาศ หาประสบการณ์ใหม่ๆ เป้นการทำบุญเพื่อให้ปีหน้าพบเจอแต่สิ่งดีๆ และยังสร้างความสบายใจซึ่งหลายคนอาจจะพบความสุขความสงบบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงก็ได้" ขวัญชัยกล่าว

สำหรับในปีนี้กระทรวงมหาดไทยก็ได้ขอความร่วมมือไปยังอำเภอต่างๆ ให้ร่วมกันจัดงานอย่างน้อยอำเภอละ 1 วัด

นอกจากจะมีวัดไทยในประเทศไทยที่แจ้งความจำนงเข้าร่วมแล้ว 2,000 กว่าวัด ก็ยังมีการจัดงานสวดมนต์ข้ามปีในต่างประเทศด้วย ซึ่งจะใช้ที่สนามหลวงเป็นศูนย์กลาง ถ่ายทอดสดไปยังจังหวัดต่างๆ และถ่ายทอดทางอินเตอร์เน็ตไปยังวัดไทยในต่างประเทศด้วย เพื่อให้พิธีต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

เป็นการก้าวสู่ปีใหม่ที่ได้บุญ สร้างฐานความดีตั้งแต่วินาทีแรก

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม

สวดมนต์ข้ามปี 2556 และอยากตรวจสอบรายชื่อวัดใกล้บ้านที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพwww.thaihealth.or.th




กิจกรรมดีๆ สวดมนต์ข้ามปีทั่วประเทศ
 ภาคเหนือ
ที่ จ.เชียงใหม่ มีการจัดทำโครงการ "ส่งท้ายปีเก่าด้วยวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่ด้วยวิถีพุทธ" เพื่อชี้นำสังคมไปในทางที่ดี และเป็นทางเลือกแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ที่จะเลือกฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยการบำเพ็ญกุศลในรูปแบบต่าง ๆ ทางศาสนา เริ่มงานตั้งแต่ ภาคค่ำ-คืน วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป โดยที่ วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร มีกิจกรรม และพิธีกรรม คือ ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ภาวนาข้ามปีรอบองค์พระเจดีย์หลวง ทำบุญถวายสังฆทานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง เชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ สมาทานศีล ฟังเทศน์ การแสดงศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ "พุทธชยันตี" สวดมนต์ ทำสมาธิเคาท์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่การกวนข้าวมธุปายาส

อีกทั้งยังมีการจัดงาน ณ ลาน 3 กษัตริย์ จัดกิจกรรมและพิธีกรรม นานาศาสนา ความหลากหลาย บนเส้นทางเดียวกัน ณ ลาน 3 กษัตริย์ การจัดกิจกรรม ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอสารภี ศรัทธาประชาชนร่วมกันประพิธีกรรมและจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วัดดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นอกจากจะมีการสวดมนต์ข้ามปี เข้าวันที่ 1 มกราคม 2556 เวลา 06.30 น. พระสงฆ์-สามเณรกว่า 50 รูป จะเดินลงจากบันไดนาครับบิณฑบาตจากประชาชนมากกว่า 2,000 คน

สำหรับวัดใน จ.เชียงใหม่ ที่จัดกิจกรรมใหญ่คือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร, วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร วัดโพธารามมหาวิหาร และ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

วัดอื่น ๆ ในภาคเหนือที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เช่น วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงราย วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่ วัดพระธาตุช้างค้ำ จ.น่าน, วัดบุญเกิด จ.พะเยา, วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ จ.ลำปาง, วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน, วัดพระแท่นศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์, วัดดอยสวรรค์ (เขาไก่เขี่ย) จ.อุตรดิตถ์, วัดสุวรรณคีรีวิหาร จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
งานสวดมนต์ข้ามปีที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นตัวแทนภาค จัดขึ้นที่ วัดหนองแวงพระอารามหลวง โดยตลอดทั้งปีก่อนหน้านี้ได้มีการจัดงานสวดมนต์งดเหล้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมอันดีงามเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตของตนเองครอบครัว คนรอบข้าง และประเทศไทย และเนื่องจากปีนี้ เป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบการตรัสรู้ 2,600 ปี ของพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่าปี "พุทธชยันตี" จึงมีการจัดสวดมนต์รูปแบบใหม่ ด้วยการสวดมนต์ที่ยาวนานที่สุด เพื่อการบันทึกสถิติ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน กิจกรรมนิทรรศการรณรงค์การสร้างครอบครัวให้อบอุ่น โดยมีเกมต่าง ๆ ที่จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี

สำหรับวัดใน จ.ขอนแก่น ที่จัดกิจกรรมใหญ่คือ วัดศรีจันทร์, วัดโพธิ์ชัย, วัดฝางศรีงามราษฎร์, วัดเกาะแก้ววราราม และวัดสว่างอารมณ์

วัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เช่น วัดพระนารายณ์มหาราชวรมหาวิหาร จ.นครราชสีมา, วัดวชิราลงกรณ์วราราม จ.นครราชสีมา, วัดคำเจริญวราราม จ.อุบลราชธานี, วัดหลวงสุมังคลาราม จ.ศรีสะเกษ, วัดสันติวนาราม จ.อุดรธานี, วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม, วัดโมกขวนาราม จ.ขอนแก่น, วัดอินทรังสฤษฏิ์ จ.สกลนคร, วัดแจ้งแสงอรุณ จ.สกลนคร, วัดศรีบุญเรือง จ.มุกดาหาร เป็นต้น

ภาคกลาง
สำหรับจังหวัดที่เป็นตัวแทนภาคคือ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือที่รู้จัดกันดีว่า "วัดโสธร" ซึ่งมีหลวงพ่อพุทธโสธร ประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้ว ที่วัดแห่งนี้ ตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสักการะหลวงพ่อพุทธโสธร และทำบุญที่วัดมากมาย การจัดงานสวดมนต์ข้ามปี

งานครั้งนี้มีเป้าหมายที่ต้องการเห็นประชาชนงดเหล้า เยาวชนไม่มั่วสุมสุราเพื่อลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวได้สร้างกุศลอันดีงาม

สำหรับวัดใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่จัดกิจกรรมใหญ่ คือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร, วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง), วัดอภัยภาติการาม, วัดสัมปทวนนอก และวัดโพธิ์บางคล้า

วัดอื่น ๆ ในภาคกลางที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เช่น วัดราษฎร์บูรณะ จ.กรุงเทพ, วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม, วัดไทรน้อย จ.นนทบุรี, วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี, วัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา, วัดป่าธรรมโสภณ จ.ลพบุรี, วัดพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ, วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, วัดไทยชุมพล จ.สุโขทัย, วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น

ภาคใต้จ.นครศรีธรรมราช จะมีการจัดกิจกรรม "เดิน-วิ่งข้ามปี บูชาพระธาตุ" และกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ของ จ.นครศรีธรรมราช ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งการสวดมนต์ข้ามปีที่ผ่านๆมา เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสามารถดึงดูดให้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

และในปีนี้ จ.นครศรีธรรมราชซึ่งกำลังโปรโมทกิจกรรมการท่องเที่ยว "นครศรีฯ ดี๊ ดี" ตลอดถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อร่วมผลักดันพระบรมธาตุสู่มรดกโลก จึงมีกำหนดการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ข้ามปี บูชาพระธาตุ และกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี อย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี

สำหรับวัดใน จ.นครศรีธรรมราช ที่จัดกิจกรรมใหญ่ คือ วัดมะนาวหวาน, วัดท่าโพธิ์, วัดธาตุน้อย, วัดสุทธจินดา และ วัดปอแดง

วัดอื่น ๆ ในภาคใต้ที่ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เช่น วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่, วัดชุมพรรังสรรค์ จ.ชุมพร, วัดป่าวังเจริญ จ.ตรัง, วัดหมื่นระงับรังสรรค์ จ.นครศรีธรรมราช, วัดมาตุคุณาราม จ.พังงา , วัดอุดมวราราม จ.พัทลุง, วัดสุนทราวาส จ.พัทลุง, วัดคงคาสวัสดิ์ จ.สงขลา, วัดมงคลมิ่งเมือง จ.สตูล, วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ที่มา.มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปลอดประสพ เชื่อ ปี56 แก้รธน.- เขาพระวิหารร้อน.. !!?


ปลอดประสพ.วิเคราะห์การเมืองปี 56 แก้รัฐธรรมนูญและปราสาทเขาพระวิหาร เป็นประเด็นร้อน

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2556 ว่า เริ่มตั้งแต่ต้นปีก็มีประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นใหญ่ที่สุด และเรื่องนี้รัฐบาลคงต้องใช้เวลาสักระยะในการดำเนินการ โดยเป้าหมายคือหาทางออกให้ดีที่สุดด้วยการสร้างอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำประชามติ ซึ่งรัฐสภาได้ผ่าน 2 วาระไปแล้วว่าให้แก้ไข ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย รัฐบาล และรัฐสภา ต้องการคืนอาจประชาธิปไตยให้คนไทยที่ถูกขโมยอำนาจอธิปไตยไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร เปลี่ยนคัมภีร์ที่ถูกสร้างไว้เพื่อข่มเหงรังแกลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดความถูกต้อง ส่วนจะแก้ไขมาตราใดและหน้าตาของรัฐธรรมนูญออกมาเป็นแบบใดสุดท้ายจะจบลงที่ประชาชนต้องเป็นเจ้าของประเทศมีสิทธิในการปกครองประเทศเต็มที่

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ตอนนี้การดำเนินการมาติดกับ เพราะคนที่ไม่ควรยุ่งแต่เข้ามายุ่ง ดังนั้นแนวทางทั้ง 3 ทาง คือ 1.ทำประชามติ 2.สองเดินหน้าโหวตวาระ 3 และ3.แก้ไขเป็นรายมาตรา เท่าที่ทราบมีรายละเอียดประเมิน 9-15 เรื่องที่สำคัญ และบางส่วนพรรคประชาธิปัตย์แก้ไขไปแล้ว แต่สุดท้ายจะเลือกทางใดต้องใช้เวลาให้พรรคสรุปเป็นเอกฉันท์ โดยเจ้าของโจทย์ที่เสนอแต่ละแนวทางต้องนำเสนอให้พรรคทราบที่มาและผลดีผลเสีย จากนั้นจะมีการแบ่งโจทย์ให้ไปศึกษาแล้วนำกลับมาคุยกันว่าวิธีถอดโจทย์หรือแนวทางปฏิบัติของทั้ง 3 ทางจะทำอย่างไร เมื่อชัดแล้วมาตัดให้เหลือเพียงหนึ่งเดียว โดยมีคำอธิบายข้อดีข้อเสียออกมาก่อนและทำความเข้าใจ ซึ่งตนก็มีโจทย์ของตัวเอง

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าทั้ง 3 โจทย์ จะผูกมัดและเกิดผลเสียกับรัฐบาลหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าว สิ่งที่รัฐบาลทำทุกวันนี้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงไม่เห็นว่าจะมีผลเสียอะไร จะให้อธิบายผลเสียของรัฐธรรมนูญ2550 มีผลเสียอย่างไร จนต้องแก้ไขก็สามารถอธิบายเหตุผลได้ 108 อย่าง เมื่อถามว่าประเมินว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะแก้ไขแล้วเสร็จ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ และคิดว่าไม่มีใครกำหนดกรอบเวลา เพราะทั้ง 3 โจทย์ ก็มีคนที่เห็นด้วยแตกต่างกัน เป็นเรื่องที่พูดยาก ต่อข้อถามว่าเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านกับโจทย์ที่รัฐบาลสรุปหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถแย้งเราได้เลยว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อดีอย่างไร เพราะทุกคนก็เคยพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดี รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยพูดเมื่อตอนหาเสียง แต่ตอนนี้มาเบี่ยงเบนว่าแก้เพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อชวนให้เกิดการชุมนุมขึ้นอีก

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า จากนั้นปลายปีจะมีประเด็นข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร เนื่องจากศาลโลกจะพิจารณาเรื่องนี้ และมองว่าจะบานปลายเพราะเราก็ไปถอนตัวของคณะกรรมการมรดกโลกแล้วทำให้เรื่องยิ่งบานปลายหนัก และมองว่าเรื่องนี้เราน่าจะเสียเปรียบทางกัมพูชา ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากที่พรรคประชาธิปัตย์ไปสร้างเรื่องเอาไว้ ไปยั่วยุ และเมื่อเราเสียเปรียบกลุ่มพันธมิตรฯก็จะออกมาโหมกระแสว่า เรื่องทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลทั้งๆที่เราไม่เกี่ยวข้องเลย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ฉากสุดท้าย 2555 (เป็น - อยู่ - ไป)..


โดย : ปริญญา ชาวสมุน

เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายกันแล้วสำหรับปี 2555 ตลอดทั้งปีมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย

โอกาสสิ้นปีแบบนี้แทบจะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาสื่อต่างๆ กันไปแล้ว ที่จะต้องนำสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นในวงการใดวงการหนึ่งมารวบยอดถ่ายทอดอีกครั้ง เพื่อย้ำเตือน บางเรื่องอาจเป็นบทเรียนชั้นดีได้อีกด้วย สำหรับวงการวรรณกรรมบ้านเรา จุดประกายวรรณกรรม ก็เช่นเดียวกัน ไม่ปล่อยให้เรื่องบางเรื่องถูกปล่อยผ่านไป ไหนๆ จะสิ้นปี มาดูกันสิว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง เรื่องใดดี เรื่องใดร้าย เรื่องใดน่าสนใจ และสร้างแรงกระเพื่อมแก่วงการนี้บ้าง

1.รอยแผลจากอุทกภัยปี 54

ถึงแม้จะข้ามผ่านปี 2554 มาจวนจะหมดปี 2555 กันอยู่รอมร่อ ทว่าคงอดพูดถึงเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนั้นเสียมิได้ เพราะผลกระทบอันร้ายกาจมิได้หยุดอยู่แค่ปลายปี 54 แต่ไหลบ่าสู่ปี 55 นี้ด้วย กว่าจะพลิกฟื้นคืนสภาพกันได้ต้องใช้เวลากันนานพอตัว และภาพที่ได้เห็นกันคือความเสียหายของบรรดาบ้านนักเขียน บ้านบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสือ แม้กระทั่งบ้านนักอ่าน

ที่เด่นชัดและถูกกล่าวถึงมากที่สุด เห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากบรรณาธิการอาวุโสท่านนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบอุทกภัยเต็มตัวด้วยแรงกระแสน้ำซึ่งมาแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว และที่น่าเศร้าไปกว่าคือบรรดาหนังสือนับแสนเล่มที่บรรณาธิการเครางามคนนี้สะสมไว้ตั้งแต่สมัยเรียนก็ถูกน้ำท่วมเสียหายกลายเป็นซากแห่งปัญญา สะท้อนภาพสังคมไทยได้อีกนัยหนึ่ง

"สิ่งที่ผมทำผมหวังว่าวันหนึ่งจะเป็นสมบัติของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นประวัติศาสตร์สังคม แล้วแต่คนรุ่นต่อไปจะให้ความหมายมัน เอกสารและสิ่งเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปก็คือเอกสารชั้นต้นของคนรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือโป๊ หนังสือการเมือง หนังสือทุกๆ ประเภท ผมก็เก็บหนังสือทุกๆ ประเภท เพราะการเก็บหนังสือทุกประเภทนั้นผมต้องทำหน้าที่เหมือนบรรณารักษ์ ไม่เลือกที่รักไม่มักที่ชัง หนังสือแนวคิดทางการเมือง หนังสือต้องห้ามสมัย 6 ตุลา รวมทั้งหนังสือของผมเองก็จมไปหมดแล้ว หนังสือต้องห้ามที่ผมเคยฝังดินไว้เพราะเกิดภัยการเมืองช่วงนั้นมันก็รอดจากเหตุการณ์การเมืองเมื่อปี 2519 มาจนกระทั่งปีนี้ ไม่รอด" สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าว (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ. 8 ม.ค.55)

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีบรรดาเพื่อนๆ ในวงการหนังสือ รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาเข้าช่วยเหลือเก็บกู้หนังสือ แผ่นหนัง แผ่นเพลง ที่จมอยู่ใต้น้ำ แม้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นซาก แต่หากมองอีกมุมคงไม่มีอะไรดีไปกว่าได้เห็นน้ำจิตน้ำใจ และเห็นภาพสะท้อนการบริหารของฝ่ายบริหารที่สุดท้ายผลกรรมต้องตกอยู่กับชาวบ้าน เรื่องนี้มิได้เตือนใจเพียงแค่เรื่องพิบัติภัยทว่าคงสะกิดบอกอะไรแก่วงการหนังสือได้มากพอสมควร...หรือไม่จริง

2.E-Books (ไม่) บุกสักที

เป็นที่กล่าวขานถึงกันมาหลายปีแล้วว่าหนังสือกำลังจะตาย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์กำลังจะเข้ามาแทนที่ หากมองในต่างประเทศคงยากจะปฏิเสธ เพราะมีตัวอย่างของสำนักพิมพ์ที่ต้องปิดตัวลงเพราะไม่ปรับตัวเข้ากับกระแสอิเล็กทรอนิกส์ให้เห็นเนืองๆ หรือแม้แต่ร้านหนังสือ BORDERS ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา (ถัดจาก Barnes & Noble) ซึ่งเคยมียอดจำหน่ายถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่เมืองแอนอาร์เบอร์ ในรัฐมิชิแกน ต้องประกาศเลิกกิจการและปิดร้านค้าปลีกจำนวน 642 แห่งทั่วสหรัฐฯ และปลดคนงานกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมปี 2553

ซึ่งสองในสามเหตุผลในการปิดกิจการของ BORDERS ที่นักการตลาดได้วิเคราะห์ไว้ เกี่ยวกับการไม่ปรับตัวให้เป็นไปตามกระแส E-Books และ E-Commerce

ด้าน ดร.พลภัทร์ อุดมผล เจ้าของบริษัท ไอที เวิร์คส์ และถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน E-Books คนหนึ่งของเมืองไทย เคยกล่าวไว้ว่า

"ผมว่าคงยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมายนัก อาจจะเป็นเรื่องอุปกรณ์อาจจะเปลี่ยน อย่าง iPad 3 เราก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร จะมีอะไรเพิ่มขึ้นมาแค่ไหน ในปีนี้เองหลายๆ ค่ายมีแผนจะออกอุปกรณ์ อย่างค่ายแอ๊ปเปิ้ลในปีนี้ก็น่าจะมีทั้ง iPhone 5 และ iPad 3 ด้าน Android ก็มีแทบเล็ต Icecream, Sandwich เรียงแถวกันออกมาเลย ไมโครซอฟท์ก็จับมือกับโนเกียออกสมาร์ทโฟนวินโดว์ส จะมีวินโดว์ส 8 ออกมา ปีนี้น่าจะมีการเติบโต การแข่งขันในตลาดแทบเล็ตมาก มันก็จะดึง e-book ขึ้นไปด้วย" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.15 ม.ค.55)

ถ้าใครติดตามทั้งวงการหนังสือและวงการไอทีไปพร้อมๆ กัน จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ ดร.พลภัทร์ กล่าวนั้นเกิดขึ้นจริงในปี 2555 คือ สิ่งที่มาแรงจริงๆ คือ การแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์ แต่ละผลิตภัณฑ์ตอบสนองกระแสหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่หากจะบอกว่า E-Books เติบโตอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่ อาจยังตอบไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เท่าที่เห็นความเคลื่อนไหวของหนังสือบ้านเราก็คงเป็นกลุ่มนิตยสาร นิตยสารการ์ตูน หรือหนังสือประเภทอื่นบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ทดลองจับตลาด แต่จะจับติดหนับหรือไม่ อาจต้องรอดูกันยาวๆ ปีหน้า หรือไม่ก็ปีโน้น

3.มวจ.มาตรฐานใหม่แห่งวงการวรรณกรรม

จากต้นปีมังกรดำเนินมาอย่างเอื่อยๆ กระทั่งเข้าสู่กลางปี วงการหนังสือบ้านเราก็เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีกครั้ง นั่นคือการประกาศตัวทำโครงการ (ระยะยาว) มวจ. หรือ มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด โดยมีแกนนำคือ ดอนเวียง - วชิระ บัวสนธิ์ และ เรืองเดช จันทรคีรี ร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้มีใจรักวรรณกรรม เดินหน้าสร้างบรรทัดฐานให้การพิมพ์หนังสือชั้นดีเกิดขึ้นมากหลาย

เรืองเดช อธิบายว่า มวจ.เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณภาพและคุณค่าของหนังสือ เครื่องหมาย มวจ.จะเป็นเครื่องหมายรับรองให้ผู้อ่านมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าด้านเนื้อหา มีคุณภาพด้านงานบรรณาธิการ และการผลิต ซึ่งคุณค่าและคุณภาพทำให้สำนักพิมพ์และร้านหนังสือเล็กๆ ขายหนังสือนั้นได้มากขึ้นด้วย

ปัจจุบันตลาดวรรณกรรมภาพรวมอาจใหญ่โต แต่เมื่อแบ่งชั้นกัน วรรณกรรมดีกลับกลายเป็นชนกลุ่มน้อย แทบไม่มีที่ยืน มิหนำซ้ำผู้เสพงานวรรณกรรมดีก็ยิ่งมีน้อย วรรณกรรมดีจึงกลายเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (limited) แต่แง่ดีแนวทางของ มวจ.ก็เหมาะกับตลาดแบบจำกัดนี้ที่สุด

"ข้อดีอย่างหนึ่งของตลาดเฉพาะกลุ่ม คือ คู่แข่งน้อย เพราะตลาดเล็ก คนส่วนมากไม่สนใจ มันเล็กมาก ขายหนังสือ 2,000 เล่ม เขาไม่สนใจ เขาสนใจจะขายเป็นหมื่นเล่ม ดังนั้นหากเราค้นพบแนวหนังสือที่เป็นแนวถนัด ทางของตัวเอง ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้อ่านของเราได้ เราก็จะเป็นผู้นำตลาด" เจ้าสำนักรหัสคดี กล่าว (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.15 ก.ค.55)

จากวันนั้นจนวันนี้เราก็ได้เห็นหนังสือภายใต้เครื่องหมาย มวจ. ออกมาสองสามเล่มแล้ว เช่น สีแดงกับสีดำ และ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ซึ่งกระแสตอบรับจากนักอ่านก็ค่อนข้างดี

นับเป็นจุดเริ่มต้นอันงดงาม และน่าสนับสนุนต่อไป เพราะถ้าถามผู้อ่านจุดประกายวรรณกรรมอย่างเปิดอกเปิดใจว่าอยากเห็นอนาคตของวงการวรรณกรรมบ้านเราเป็นอย่างไร คงไม่มีใครต้องการให้บรรณพิภพไทยถึงคราวฉิบหายกันหรอก...ใช่ไหมครับ

4.'ซีเอ็ด - นายอินทร์' ศึกหนักกรณี DC 1 เปอร์เซ็นต์

ถัดมาเพียงหนึ่งเดือน วงการหนังสือบ้านเราก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องความร่วมอะไร เพราะเป็นการรวมตัวกันของสำนักพิมพ์ นักอ่าน นักเขียน ออกมาเรียกร้องให้ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของประเทศถึงสองแห่งที่จับมือกันร่อนหนังสือถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ แจ้งเจตน์จำนงว่าจะขึ้นค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า Distribution Center Fee (DC) อีก 1 เปอร์เซ็นต์ของราคาปก

ร้อนไปถึงเจ้าสำนักสามัญชน คนนอนอ่านหนังสือ อย่าง ดอนเวียง - วชิระ บัวสนธิ์ ต้องร่อนหนังสือคัดค้านมีใจความว่า...

"หนังสือที่เราเห็นๆ วางขายอยู่ตามร้านค้าทั่วไปนั้น หน้าร้านอาศัยกินเปอร์เซ็นต์จากเล่มที่ขายได้ เล่มใดขายไม่ได้ ก็ไม่คิดตังค์จากสำนักพิมพ์หรือสายส่งแต่ประการใด ข้อปฏิบัติดังกล่าวยังคงอยู่ แต่ซีเอ็ดกับอมรินทร์ ต้องการเรียกเก็บตังค์กินเปล่าเพิ่มอีก 1% ของยอดส่งสินค้าฝากขาย โดยผิวเผิน อาจดูเหมือนเป็นตัวเลขไม่สูงเท่าไร แต่ถ้าพิจารณาจากมูลค่าปกหนังสือที่ผลิตกันในช่วงปีปัจจุบัน ซึ่งมีการประเมินกันว่าไม่น่าจะต่ำกว่าสามหมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป เช่นนี้แล้ว และหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของยอดดังกล่าวที่จะไหลเข้ากระเป๋าของสองบริษัทมหาชนอย่างมากมาย" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.12 ส.ค.55)

หลังจากนั้นได้มีการตอบโต้จากหลายฝ่าย อาทิ การเรียกร้องไม่ให้ใช้บริการร้านหนังสือซีเอ็ดและนายอินทร์จากกลุ่มคนในสังคมออนไลน์ จนในที่สุดเรื่องก็ไปถึงคณะอนุกรรมาธิการการเมืองและสื่อสารมวลชน รัฐสภา โดยเรียกผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ทั้งตัวแทนจากซีเอ็ด, นายอินทร์ ตัวแทนสำนักพิมพ์ และสมาคมต่างๆ เข้าชี้แจง

กระทั่งได้บทสรุปว่า ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ทั้งสองเจ้ายอมยกเลิกการเรียกเก็บเงินดังกล่าว คล้ายเรื่องนี้จะจบลงอย่างงดงาม ทว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ซีเอ็ดกลับกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกครั้งจากกรณีจำกัดสิทธิการจำหน่ายหนังสือที่มีเนื้อหาส่อไปในทางเพศ เบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมที่กำลังก้าวไปสู่ความเป็นเสรีทั้งๆ ที่รากฐานทางความคิดยังไม่มั่นคงอย่างบ้านเรา ปีนี้จึงถือเป็นปีที่ซีเอ็ดและนายอินทร์ต้องรับศึกหนักจริงๆ โดยเฉพาะซีเอ็ด

5."เรยา"ผู้หญิงร้อนแรงข้ามปี

เรียกได้ว่าเป็นตัวละครหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อปีก่อนเพราะ 'เรยา วงศ์เสวต' ตัวละครเอกจากนวนิยาย 'ดอกส้มสีทอง' ของ ถ่ายเถา สุจริตกุล ได้ถูกรังสรรค์ในรูปของละครชื่อเดียวกัน ด้วยความที่บุคลิกและบทบาทของเรยาช่างร้อนแรงสะใจผู้ชม ทั้งนวนิายและละครจึงดังเปรี้ยงปร้างดั่งประทัดดอกไม้ไฟ

และในปี 2555 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ เรยาก็ถูกกล่าวขานถึงอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอมาในโฉมละครเวทีแบบมิวสิคัล ที่ขนเอาบทเพลงอันไพเราะมากมายขึ้นขับกล่อมพร้อมกับเนื้อหาที่เข้มข้น

ถ่ายเถา สุจริตกุล ผู้ประพันธ์ได้กล่าวไว้ว่า...

"ละครเพลงหรือมิวสิคัลสไตล์บอร์ดเวย์ เราเดินเรื่องด้วยเพลง คำพูดเป็นส่วนประกอบเพลง ไม่ใช่เพลงเป็นส่วนประกอบบทเจรจา ดิฉันก็ต้องคิดก่อน ตอนที่ได้คุยกันว่าจะทำเรื่องนี้เป็นละคร ดิฉันก็บอก ให้สมเถาแต่งเพลง เขาก็มีประสบการณ์เยอะ ติดต่อเขาก็ทำ สมเถาเป็นคนวางโครงเรื่อง เขาไม่ได้อ่านนวนิยายหมด เพราะภาษาไทยก็ไม่สันทัดนัก ดิฉันก็เขียนไปว่าตัวละครตัวนี้เป็นใคร ชีวิตเป็นอย่างไร จบอย่างไร เขาก็ไปทำโครงเรื่อง และมีบางตอนที่เรามาคุยกันว่าอย่างนี้ดีไหม แต่โครงเรื่องเขาเป็นคนวางเพราะเขารู้เรื่องดนตรีมากกว่าดิฉัน ที่อยากจะทำก็คือมันจะเป็นครั้งแรกที่ดนตรีนำเรื่อง ไม่ใช่เรื่องนำดนตรี" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.9 ก.ย.55)

เมื่อ เรยา เดอะมิวสิคัล แสดงเสร็จสิ้น ไม่ต่างจากทั้งเป็นนวนิยายและละครโทรทัศน์ เพราะมีทั้งเสียงชื่นชม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่อาจเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ต้องพบเจอเรื่องแบบนี้ หากเรายังดำรงอยู่ในสังคมปากว่าตาขยิบแบบนี้ ในสังคมที่มีคนแบบเรยาเดินไปๆ มาๆ ขวักไขว่...บางคนอาจยิ่งกว่าเรยาเสียด้วยซ้ำ

6.แรงเงา-กี่เพ้า

หลังจาก"เรยา"โบกมืออำลาไปแล้ว...."แรงเงา"ผลงานนวนิยายของ "นันทนา วีระชน"ที่ถูกนำมาทำเป็นละครทีวีก็ทำเร็ตติ้งร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งจิกทั้งตบทั้งกรี๊ดจนจอแก้วแทบร้าวเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วก็มีนวนิยายเรื่อง "กี่เพ้า"ผลงานของพงศกร (นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ)อีกเรื่องหนึ่งที่นำไปทำเป็นละครทีวี และประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับนวนิยายเรื่อง "รอยไหม"ที่มีคนดูติดกันงอมแงมทั่วประเทศ

7."คนแคระ" ซีไรต์ 2555

อย่างที่จุดประกายวรรณกรรมเคยพูดคุยกับ วิภาส ศรีทอง ว่า เขาบ่มกลั่น คนแคระ ร่วมสองปี ตั้งแต่เขียนเสร็จในช่วงปีครึ่งและแก้ไขตัดทอนอีกครึ่งปี เหตุผลแรกที่ใช้เวลานาน เพราะเนื้อเรื่องยาวมาก แต่อีกเหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าและเกือบทำให้เขาโยนคนแคระลงถังขยะเพราะ คำวิจารณ์อันหนักหน่วง รุนแรงจากเพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง

"มีกระแสตอบรับหลายอย่างที่...เอ่อ...ส่งให้เพื่อนนักเขียนหลายๆ คนอ่าน เขาบอกว่าไม่ผ่าน ต้องไปแก้เยอะ ผมต้องตัดไปเยอะ ตัดไปประมาณเกือบร้อยหน้าเอสี่ ซึ่งถ้าเป็นกระดาษมาพิมพ์ก็เกือบๆ สองร้อยหน้า...จริงๆ มีคนบอกให้ไปเขียนใหม่หมดหรือไม่ก็โยนทิ้งไปเลย ผมก็เสียความมั่นใจนะ" วิภาส เล่าให้ฟัง

แต่วิภาสก็ต่อสู้กับสภาวะในใจอันเกิดจากผู้อื่นหยิบยื่นให้ได้สำเร็จ เขาแก้ไขต้นฉบับที่มีปัญหาจนกระทั่งสมบูรณ์ ตีพิมพ์ และสุดท้ายก็ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปีล่าสุดไปครอง

ด้าน ผศ.สกุล บุณยทัต หนึ่งในคณะกรรมการบอกว่า นวนิยายเรื่องนี้สร้างมิติใหม่ทางสังคมอย่างน่าประหลาดใจ

"นี่คือจุดเด่นที่สุดของนวนิยายในรอบทศวรรษที่สร้างมิติของสังคมใหม่ให้ปรากฏเป็นภาพ สังคมใหม่มีรอยบาดเจ็บมาก ตัวละครมีความซับซ้อน มีความแปลกแยก แต่ละตัวเหมือนจะไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองกระทำ แต่ละตัวเหมือนจะไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสำนึกด้านในที่ปรากฏออกมา ตัวละครทั้งสี่ ทุกคนเป็นโลกแห่งความหมาย ซึ่งเป็นโลกแห่งความเร้นลับในชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน ด้วยฝีมือของวิภาสที่สร้างตัวละครเหล่านี้ให้กลายเป็นกรอบของภาวะสำนึกที่มันเจ็บปวดและขมขื่นและทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นภาวะที่เราได้ประจักษ์ถึงความทบซ้อนของชีวิตในภาวะต่างๆ และทำให้เราหันกลับมามองตัวเองว่าอย่างน้อยที่สุด ในสังคมทุกวันนี้เราก็เหมือนไม่รู้สึกตัวต่อสิ่งที่เราเป็นอยู่เช่นเดียวกัน"

แม้คนแคระของวิภาสจะคว้ารางวัลมาได้ด้วยมติขาดลอย 7 ต่อ 0 เสียง แต่ถ้าหากเท้าความไปเมื่อปี 2551 ความผิดพลาดครั้งนั้นกลับมาทิ่มแทงวิภาสจนกระทั่งวันนี้ ซึ่งภายในงานประกาศรางวัลซีไรต์ 2555 จิตติ หนูสุข กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาชิกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ได้แสดงทัศนะว่า ประหลาดใจมากที่ผลออกแบบนี้

"ผมไม่แน่ใจว่าในรอบคณะกรรมการตัดสินทั้งเจ็ดท่าน ซึ่งทุกท่านเป็นผู้ที่ผมเคารพ หลายท่านเป็นผู้ที่ผมเคารพนับถืออย่างยิ่ง แต่ผมคงต้องขอพูดความในใจ ผมไม่ทราบว่าท่านคณะกรรมการคิดอย่างไรถึงตัดสินให้ผลงานซึ่งแม้จะมีความดีเด่น ล้ำเลิศ ผมไม่สงสัยในคุณภาพของหนังสือเล่มนี้เลย ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้มีความดีเด่น แต่เราทั้งหลายในวงวรรณกรรมก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นักเขียนผู้เขียนผลงานดีๆ ผู้นี้มีความบกพร่องทางจริยธรรม โดยเฉพาะในการส่งประกวดรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2551 นักเขียนผู้นี้ได้ส่งหนังสือรวมเรื่องสั้นเข้ามาประกวด หนึ่งในตัวเรื่องสั้นเล่มนั้นได้ดัดแปลงเรื่องสั้นของนักเขียนต่างประเทศมา ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการตรวจสอบ และพบว่าเป็นความจริง นักเขียนคนนี้พอข่าวฉาวโฉ่ขึ้นมา นักเขียนคนนี้ก็หายหน้าไปจากวงวรรณกรรม 4-5 ปี แล้วปีนี้ ก็ได้บังอาจส่งนวนิยายผลงานเล่มใหม่เข้ามาประกวด กรรมการรอบตัดสินได้คิดเรื่องอะไรเหล่านี้หรือไม่ ผมคิดว่าในบ้านเมืองของเราเดือดร้อนวุ่นวายแสนสาหัส เพราะมีคนบกพร่องทางจริยธรรม และการบกพร่องทางจริยธรรมก็ได้ก้าวมาในวงการหนังสืออีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นระยะๆ ตลอดมา และผมก็คิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าโลกจะแตก"

หากมองอย่างเข้าใจ เสียงคัดค้านนี้มิได้มีเพียงเสียงเดียว หรือกล่าวร้ายอย่างเลื่อนลอยเท่านั้น จิตติเพียงประสงค์ดีต่อวงการวรรณกรรมและเกรงว่าจะเกิดคำครหาต่อศักดิ์ศรีแห่งรางวัลซีไรต์

แน่นอนว่าเมื่อมีก้อนอิฐโถมใส่ วิภาสรับรู้ แต่ไม่แปลกใจที่ถูกขุดคุ้ยประวัติ

"ผมไม่แปลกใจ เพราะประวัติน่ะใช่ มีปัญหาจริง แต่ซีไรต์เป็นการประกวดรางวัลหนังสือ เขาตัดสินกันที่หนังสือ เข้าใจนะว่าสังคมบ้านเรามีจารีต แต่ก็ดีเพราะจะได้มีการวิพากษ์วิจารณ์" (จุดประกายวรรณกรรม, ฉ.30 ก.ย.55)

8.อำลา-อาลัยผู้จากไป

ในช่วงปี 2555 มีนักเขียนนักกวีหลายคนที่เสียชีวิต แต่ละคนต่างกรรมต่างวาระ มีผลงานที่หลากหลายตามแนวถนัดของตัวเอง ซึ่งทั้งผลงานและเรื่องราวชีวิตของนักเขียนแต่ละคน เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเล่าขานสืบไป ไม่ว่าจะเป็น อังคาร กัลยาณพงศ์, ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร หรือ ดาเรศ,ศิริพงษ์ จันทร์หอม,ตะวันสันติภาพ,ดร.สาทิส อินทรกำแหง,หมื่น(การ์ตูนนิสต์ล้อการเมือง),มานพ ถนอมศรี....และในนามจุดประกายวรรณกรรมขอให้ดวงวิญญาณทุกท่านจงหฤหรรษ์ในทิพย์วิมานแห่งสวรรค์

...

ไม่ว่าปีนี้ที่กำลังจะผ่านไปนั้นจะเกิดอะไรขึ้น มีสีสันอันน่าจดจำมากน้อยเพียงใด ปีหน้าวงการวรรณกรรมไทยก็ต้องเดินหน้าต่อไป...จะดีไหมหากเรานำบทเรียนและ 'กำไร' จากปีก่อนมาเป็นรากฐานของปีใหม่ บางทีทั้งชีวิตและวงการวรรณกรรมอาจรุดหน้าเทียบชั้นนานาประเทศได้

พบกับอีกทีในปี 'กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือแห่งโลก2556'....สวัสดีปีใหม่จากใจจุดประกายวรรณกรรม

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) ยุทธศาสตร์แห่งการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ในศตวรรษที่ 21.


รถไฟความเร็วสูง ไม่ได้สลักสำคัญต่อประเทศไทยในเชิงปริมาณตัวเลข GDP หากเป็นผลกระทบเชิงคุณภาพ ตั้งแต่ธุรกิจแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามเส้นทางรถไฟฟ้า ไปจนกระทั่งถึงชีวิตผู้คนที่จะเปล่งประกายความคิดสร้างสรรค์และความสุขล้นละมุนละไม

เกษตรกรไทยนับล้านคน วนเวียนจมปลักกับความหวาดกลัวว่า พืชผลที่เพาะปลูกไปจะท่วมล้นตลาดหรือไม่ พ่อค้าคนกลางก็หวั่นวิตกความเสี่ยงว่าพืชผลจะเน่าเสียเท่าไร จนกว่าจะส่งมอบถึงมือผู้บริโภค สุดท้ายจึงต้องกดราคารับซื้อให้ต่ำเข้าไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมาชั่วนาตาปี

หากมีรถไฟความเร็วสูง สถานการณ์จะแปรเปลี่ยนไป

บรรยากาศที่รื่นรมย์ของผืนป่าและท้องนา ย่อมเป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรสามารถทดลองพันธุ์ข้าวและผลไม้แปลกใหม่ ที่มีรสชาตินุ่มละมุนหวานละไม โดยไม่ต้องกังวลถึงความเน่าเสียและราคารับซื้อที่ต่ำเตี้ยติดดินอีกต่อไป

ผลไม้คุณภาพล้ำเลิศและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ระดับ AAA ซึ่งเกิดจากดิน น้ำ และสภาพอากาศของแต่ละท้องถิ่น ย่อมสามารถผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ เพราะแม้จะมีความต้องการในวงจำกัด (Luxury Demand) แต่เนื่องจากพื้นที่การจำหน่ายขยายกว้างออกไปตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทำให้การลงทุนเพื่อพัฒนาสายพันธุ์มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้

ขณะที่ผู้บริโภคในเมือง ซึ่งเบื่อหน่ายกับผลไม้ที่เปรี้ยวเกินไปบ้าง เนียนนุ่มน้อยไปบ้าง ก็ไม่ต้องอดทนบริโภคสินค้าที่ไร้รสนิยมอีกต่อไป เพราะเกษตรกรจะเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีความละเอียดอ่อนของคุณภาพให้ได้ตามใจปรารถนา

นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ที่เคยต้องตีบตันด้วยชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ก็จะได้รับการปลดปล่อย

ประชากรในชนบทที่สูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อเข้ามาหาเลี้ยงชีพในเมืองกรุง ย่อมสามารถเดินทางขึ้นรถไฟความเร็วสูง เพื่อกลับบ้านเกิดไปสูดอากาศในท้องนายามโพล้เพล้ แล้วย้อนคืนสู่เมืองกรุงในรุ่งอรุณยามเช้าได้ทันเวลาเริ่มงาน ชีวิตจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังไฟแห่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศ และพลังกระตือรือล้นในการบริการลูกค้าอย่างถึงอกถึงใจ

ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อที่ล้นแน่นไปด้วยสินค้าซ้ำซากจำเจ ร้านอาหารที่มีเมนูให้เลือกลิ้มรสชาติเพียงไม่กี่ชนิด ก็จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงยิ่งยวด เมื่อสินค้าแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีโอกาสได้ผลิตออกมา เพราะต้นทุนการขนส่งที่ไร้ประสิทธิภาพ ก็จะพร้อมเดินเครื่องไปสู่ร้านรวงทุกหนแห่งทั่วแผ่นดินสยาม

สินค้าชั้นดีจะไม่เพียงเป็นความเพ้อฝันที่อยู่ในห้วงสมองของนักประดิษฐ์เท่านั้น หากเป็นจริงได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจุกจิกจู้จี้ได้พบเจอกับผู้ผลิตที่ละเอียดอ่อนและช่างประจบเอาใจ

คนไทยมีจิตใจบริการไม่พ่ายแพ้ชาติใดในโลกใบนี้ เพียงแต่ยังไม่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนอย่างเพียงพอ (Business Ecology) ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงจึงเป็นเสมือน Supply ที่คอยกระตุ้นให้เกิด Demand ในการบริโภคสินค้าที่ละเมียดละไมใส่ใจลูกค้า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะสามารถเสพรับอาหารและวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยได้อย่างรื่นรมย์สุขใจ โดยไม่ต้องคอยวิตกกังวลเรื่องการเดินทางที่ทุลักทุเล เพราะมีรถไฟความเร็วสูงที่สะดวกสบายคอยต้อนรับดูแล

รถไฟความเร็วสูง อาจไม่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำจากค่าโดยสาร ค่าเช่าจากร้านค้าทั้งที่ตั้งบนตัวรถไฟและสถานี แต่เมื่อรวมราคาที่ดินตามรายทางที่พุ่งสูงขึ้น การเติบโตของ SME ที่ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของระบบการขนส่ง แหล่งท่องเที่ยวและโอกาสของธุรกิจเกิดใหม่อีกมากมาย ทั้งหมดนี้จะทำให้รถไฟความเร็วสูงมีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจระดับชาติ

รถไฟความเร็วสูง ไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่เป็นการกระจายโอกาสให้กับคนไทยทุกชนชั้นที่มีความมุมานะในการพัฒนาคุณค่าของตนเอง จะได้บุกเบิกสร้างสรรค์เส้นทางสายใหม่ในการทำมาหากินสร้างชีวิต โดยไม่ขีดจำกัดวงไว้เพียงกลุ่มคนที่มีเงินทุนมหาศาลหรือชาติตระกูลสูงส่ง เหมือนกับที่เคยเป็นมาช้านาน

ที่มา.Siam Intelligence
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Lost in Thailand : หลงเสน่ห์ เมืองไทย !!?


ไม่ว่าใครก็คงคาดไม่ถึงว่าภาพยนตร์จีนเล็กๆ ทุนสร้างต่ำเพียง 30 ล้านหยวน หรือราว 150 ล้านบาท อย่าง ""Lost in Thailand"" จะมีเซอร์ไพรส์ ด้วยในเวลาเพียงไม่กี่วันเข้าฉายในจีนจะทำรายได้ไปอย่างมหาศาลถึงกว่า 3,000 ล้านบาท แถมยังส่งผลให้เกิดภาวะอยากตามรอยนักแสดงมาทัวร์ไทย จนทำให้ยอดนักท่องเที่ยว หรือทัวร์จีนที่ตีตั๋วเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า!!

ภาพยนตร์ที่ส่งผลให้ที่พักใน จ.เชียงใหม่แน่นเอี้ยด เล่าเรื่องราวของนักธุรกิจ "ซวี หลาง" "(ซวี เจิง)" ที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อตามหาเจ้านายที่มาปฏิบัติธรรมในวัดแห่งหนึ่งของ จ.เชียงใหม่ เพื่อขอให้เซ็นต์ชื่อในเอกสารสำคัญ ที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและมีเงินเป็นกอบเป็นกำ

แต่การเดินทางครั้งนี้ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อได้พบ "หวัง เปา" "(หวัง เป่าเฉียง)" หนุ่มป่วนบ้าดาราที่หลงกับคณะทัวร์จึงเกาะติดเขาแจ แล้วยังมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นคู่แข่ง "เกา ป๋อ" "(หวง ป๋อ)" ตามมาขัดขวาง เพราะหวังแย่งผลงานไปเป็นของตัวอีกต่างหาก

"การเดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้จึงทั้งกวน ป่วน และวุ่น ไม่สิ้นสุด"

จากเรื่องย่อก็คงพอดูออกว่า "Lost in Thailand" เป็นภาพยนตร์โรดมูฟวี่พาเดินทางจากเมืองจีนสู่เมืองไทย จากกรุงเทพมหานครสู่เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อได้ซวี เจิง นักแสดงตลกคนดังของจีนเป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงนำ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปี่ยมไปด้วยสารพัดมุขตลกและความฮา

ทะลึ่ง ทะเล้น ชวนหัว ล้อเลียนเรื่องราวไทยๆ อย่าง รถติดสนิทใจกลางกรุงเทพฯ, ผู้หญิงไทยคนไหนสวย คิดไว้ก่อนเลยว่าเป็นสาวประเภทสอง (ซึ่งข้อนี้คนไทยเองก็เริ่มจะปฏิเสธไม่ค่อยออก), การนวดแผนโบราณที่ในสายตาต่างชาติแล้วดูเจ็บปวด ไปถึงเรื่องราวของกีฬาประจำชาติอย่างมวยไทย

หากอย่าคิดว่าเขาเอาแต่เล่นขำ ล้อเลียนอย่างเดียว เพราะเรื่องความมีน้ำใจของคนไทย, ความเรียบง่ายของวิถีชีวิตต่างจังหวัด, ความงดงามของวัดวาอารามและสถานที่ท่องเที่ยว, ประเพณีไทยอย่างสงกรานต์ และความสวยงามของการปล่อยโคมลอยยามค่ำคืน ก็ถูกถ่ายทอดผ่านภาพและเรื่องราวออกมาได้อย่างดีเช่นกัน

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ และส่งผลต่างอย่างที่เห็น คำตอบอาจจะอยู่ที่ "ความลงตัว" เพราะหนังวางสัดส่วนระหว่างคอมเมดี้และดรามาออกมาได้อย่างพอดี-พอดี

มีการผสมผสานความฮาจากอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ตั้งแต่พาสสปอร์ตหาย โดนทำร้ายเพราะถูกเข้าใจผิด เดินทางอย่างลำบากยากเย็น หลงทาง หลงป่า และยังมีความบ้าบอของเปาที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงทุกที กับสิ่งที่หลางได้เรียนรู้ระหว่างทาง

หลางได้รู้ว่าชีวิตอันวางการงานไว้เป็นที่หนึ่งของเขานั้นเต็มไปด้วยความผิดพลาดมากมหันต์ เพราะในขณะที่การงานกำลังก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ชีวิตด้านอื่นของเขากลับสวนทาง เขามองตรงไปยังเป้าหมายบางอย่างแต่ลืมมองคนข้างตัว

นอกจากนั้นแล้วยังมีฉากหลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามและวิถีชีวิตอย่างที่คนจีนไม่เคยเห็นอยู่อีก

"จึงไม่น่าแปลกหากคนจะหลั่งไหลกันไปดูหนัง และหลังจากดูแล้วก็อยากมาเที่ยวเมืองไทย"

ที่มา : มติชนรายวัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นายกฯ อัดเทปยอมรับเหนื่อย ขอปีใหม่คนไทยคิดบวก !!?


นายกฯ"ยิ่งลักษณ์"บันทึกเทปโชว์ผลงาน 16 นโยบายในรอบปี 55 ยอมรับเหนื่อยหลังวิกฤตน้ำท่วม พร้อมวอนขอให้ปีใหม่เป็นปีแห่งความคิดบวก
     
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้บันทึกเทปรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนครั้งสุดท้ายของปี 55 ซึ่งออกอากาศทางสถนีโทรทัศน์ NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเช้านี้ โดยสรุปผลการทำงานตามนโยบายเร่งด่วน 16 เรื่องที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ต่อรัฐสภาว่า ยอมรับเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ หลังประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปี 54

จริง ๆ ก็เหนื่อยทุกคน ไม่อยากบอกว่าเหนื่อยคนเดียว เพราะเราเจอผลพวงจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 และต้องเร่งแก้ปัญหาที่สะสมของเก่า" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า
     
สำหรับนโยบาย 16 เรื่องที่รัฐดำเนินการ ได้แก่ การสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ, การแก้ปัญหายาเสพติด, การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น, การแก้ปัญหาและฟื้นฟูผลกระทบจากน้ำท่วม, การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้, การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับต่างประเทศ, การแก้ปัญหาพลังงาน, การแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน, การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล, การให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ เป็นต้น
   
นายกรัฐมนตรียังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งเพื่อร่วมมือกันทำงานพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าต่อไป เพราะในปี 56 จะเป็นปีของโอกาสและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน หากเราไม่เตรียมตัวให้พร้อมก็จะไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
   
อยากให้ทุกคนเดินไปข้างหน้า อยากให้ทุกคนให้อภัยเพื่อยุติความขัดแย้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะอยู่ในวังวนของความขัดแย้งไม่สิ้นสุด...จะให้ลืมอดีตทุกคนบอกว่าลืมยาก แต่ให้ยุติเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวและว่า
   
ส่วนการเตรียมความพร้อมรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) รัฐบาลได้ลงทุนสร้างระบบสาธาณูปโภค การพัฒนาบุคลากร การแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรค เป็นต้น
   
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปีหน้าจะสานต่อโครงการเดิมที่ได้ทำไว้แล้ว และริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับประเทศ โดยแนวทางการทำงานจะเน้นเรื่องการบูรณาการมากขึ้น
   
"ขอให้เป็นปีของความคิดบวก ฟังกันและกัน ถ้าเราช่วยกันเชื่อว่าประเทศจะมีทางออกที่ดี" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เอกยุทธ. โร่ให้ปากคำ ตร.คดีรุมตื้บ ผจก.โอเกะ ปฏิเสธทุกข้อหา ขู่แจ้งความกลับ !!?


นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดังเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ พร้อมด้วยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทีมทนาย เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยมี พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 พ.ต.อ.สง่า กรรภิรมย์ ผกก.สส.บก.น.4 พ.ต.อ.ธนวัฒน์ วัฒนกุล ผกก.สน.โชคชัย พ.ต.ท.มานะ มหาศะรานนท์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ (สบ3) สน.โชคชัย และพ.ต.ท.ประทวน แมลงทับ พนักงานสอบสวนชำนาญการ(สบ2)ร่วมสอบปากคำ โดยใช้เวลานานกว่า 1.30 ชม.

 นายสุวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า จากการสอบปากคำพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหากับนายเอกยุทธในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายและเอาไปเสียซึ่งเอกสารสลิปหรือทำลายสลิป ซึ่งเบื้องต้นให้การภาคเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมเตรียมทำเอกสารคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อนำมาชี้แจงภายใน 30 วันด้วย เนื่องจากต้องการชี้แจงเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น

 ด้านนายเอกยุทธ กล่าวว่า จากการสอบปากคำของพนักงานสอบสวนเบื้องต้น ตนขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริง มีการปั้นพยานขึ้นมากล่าวหา แต่ไม่อยากพูดอะไรมากเพราะกลัวจะเสียรูปคดี ส่วนกรณีที่บอกว่าบัตรเครดิตตนหมดอายุ ขอชี้แจงว่าบัตรของตนเป็นบัตรแบบพรีเมี่ยมของเอ็กซ์เพรสกับสยามซิตี้ แบงค์ ธนาคารนครหลวงไทย จะหมดอายุในปีหน้า และก็ได้รับการยืนยันจากทางธนาคารด้วย และก่อนหมดอายุทางธนาคารจะต้องส่งบัตรใหม่มาให้อยู่แล้ว นอกจากนี้ตอนที่พนักงานร้านนำบัตรตนไปรูดที่เครื่องนั้นทางร้านก็รูดแค่เครื่องเครื่องเดียวซ้ำๆ กัน ทั้งที่ในร้านมีอยู่ถึง 5 เครื่อง ก็ไม่รู้ว่าทางร้านจะเอาข้อมูลในบัตรตนไปด้วยหรือไม่

 ส่วนภาพที่เห็นว่าผมชี้มือสั่งลูกน้องรุมกระทืบนั้น เป็นแค่ภาพจากเพียงบางส่วนที่จริงแล้วตนแค่ชี้บอกให้หยุดอย่าทะเลาะกัน และภาพล็อคคอนั้น ก็เป็นการล็อกคอพวกเดียวกันเองเพื่อห้ามปราม ดังนั้นเรื่องที่ว่าผมสั่งลูกน้องรุมกระทืบจึงไม่ใช่เรื่องจริง และได้เตรียมแจ้งข้อหากลับผู้จัดการร้านคาราโอเกะในข้อหาแจ้งความเท็จ และเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนในข้อหาหมิ่นประมาทเพราะได้ให้ข่าวว่าผมรูดบัตรไม่ผ่าน ไม่มีเงินจ่าย ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท และที่จริงแล้วก็ไม่ได้กลัวอะไรเพราะโทษข้อหาที่แจ้งมาไม่ได้ร้ายแรงมาก”

ที่มา.ข่าวสดออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ฉายารัฐสภา : จองล้าง จ้องผลาญ. มาร์ค หล่อรับเละ เหลิม เต็มใจ..เป็นขี้ข้า !!?


ฉายารัฐสภาปี 55 “จองล้าง..... จ้องผลาญ .....”  "อภิสิทธิ์"ได้ฉายา "หล่อ รับ เละ" คู่กัด "ชูวิทย์-เฉลิม" ประธานรัฐสภา "ค้อนน้อย หมวกแดง" วาทะแห่งปี "เต็มใจ...เป็นขี้ข้า"
 ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในรอบปี 2555 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เล็งเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองของประเทศ พร้อมกันนี้ยืนยันว่าการตั้งฉายาดังกล่าวได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่าย และการพิจารณาทั้งหมดได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้
1. เหตุการณ์แห่งปี : “พิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง”
 ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่น่าจดจำ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สืบเนื่องมาจากการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 4 ฉบับ โดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และคณะส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 แต่ปรากฏว่าเกิดกระแสต่อต้านจากทั้งภายในและนอกสภา โดยในสภาฯพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงการคัดค้านในระหว่างการประชุมสภาฯวันที่ 30-31 พ.ค.2555 ถึงขั้นขว้างปาแฟ้มเอกสาร สิ่งของ หรือภาพการเข้าไปฉุดกระชากลากตัวประธานสภาฯลงจากบัลลังก์ เพื่อยับยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว สร้างความเสื่อมเสียให้กับรัฐสภาอย่างมาก และเป็นข่าวไปทั่วโลก
2. วาทะแห่งปี : “เต็มใจ...เป็นขี้ข้า”
 เป็นคำพูดของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2555 เพื่อตอบโต้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากอภิปรายพาดพิงว่าการละเว้นเพิกเฉยต่อการดำเนินการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เหมือนกับเป็นขี้ข้า ทำให้ร.ต.อ.เฉลิมลุกขึ้นชี้แจงว่า “ผมเป็นขี้ข้า แต่เสียใจหน่อยคุณสาทิตย์รู้ช้า ก็เป็นมานานแล้ว แต่ผมไม่เห็นเสียหายเลย ผมเต็มใจ" จากวิวาทะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของร.ต.อ.เฉลิม ได้อย่างมีนัยสำคัญทางการเมือง
 3. ฉายา สภาผู้แทนราษฎร : “จองล้าง..... จ้องผลาญ .....”

ภาพรวมการทำงานของสภาฯ ปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่าทั้งในวงประชุมสภาฯ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ถือเป็นคู่แค้นทางการเมือง ต่างเสนอญัตติหรือยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการ ที่เป็นพรรคพวกเดียวกันตรวจสอบฝ่ายตรงข้าม รวมถึงตั้งกระทู้ถามสด เพื่อโยงไปหาข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องของอีกฝ่าย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจ้องจะล้างแค้นซึ่งกันและกัน
ขณะที่ “จ้องผลาญ” คือการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ภาพที่เห็นชัดเจนคือ การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 55 และปี56 ที่ ส.ส.จ้องจัดสรรงบฯให้พวกตัวเอง และการจัดทริปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการชุดต่างๆ ซึ่งการไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการแต่ละชุด เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการไปท่องเที่ยวพักผ่อน มากกว่าที่จะไปดูงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
 4. ฉายาวุฒิสภา : “ตะแกรง...เลือกร่อน”
 ภาพรวมการทำหน้าที่ของวุฒิสภาตลอดปี 2555 ยังคงมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน แม้ว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันจะกำหนดบทบาทวุฒิสภา ให้ทำหน้าที่หลักๆ คือ การกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน การแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ แต่ปรากฏว่าการทำงานในรอบปีที่ผ่านมากลับไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.แม้บางครั้งจะทำงานมุ่งเน้นการตรวจสอบ แต่ก็ยังเป็นที่คลางแคลงใจว่ามีวาระซ่อนเร้นต่อฝ่ายการเมืองหรือไม่ เห็นได้จากการพฤติกรรมที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูน้ำท่วมปี 2554 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโครงการรับจำนำข้าว โดยส่อเจตนามุ่งโจมตีรัฐบาล ขณะที่ส.ว.อีกกลุ่มก็พยายามออกแรงช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ ถึงขนาดต้องแยกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 เป็น 2 ญัตติ จากส.ว. 2กลุ่ม ทั้งที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นหนึ่งเดียว จึงเปรียบเหมือนกับ “ตระแกรง”ที่เลือกร่อน เฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภาพจึงออกมาคือ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบฝ่ายการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะมากกว่า
5.ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร - สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ : “ค้อนน้อย..หมวกแดง”
 เจ้าของฉายา “ค้อนปลอม ตราดูไบ” เมื่อปี 2554 มาในปี 2555 ประธานสภาฯได้รับฉายา “ค้อนน้อยหมวกแดง” ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถแสดงผลงานให้เห็นว่าตัวเองเป็นขุนค้อนที่น่าเกรงขามได้เหมือนอดีต ในทางกลับกันมีข้อครหาเรื่องความเป็นกลางหลายครั้งเกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในสภาฯ ผนวกกับมีกรณีคลิปเสียงความยาวกว่า 20 นาทีสร้างความกระฉ่อนในทางการเมืองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยการใช้งบประมาณไปดูฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ยิ่งตอกย้ำว่าประธานสภาฯกลายเป็นขุนค้อนที่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นแค่ค้อนน้อยที่สวมหมวกแดง แทนการสวมหมวกของประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ
 6. ฉายาประธานวุฒิสภา - นิคม ไวยรัชพานิช : “ผลัด...ไม้สุดท้าย”
 นับว่าได้ตำแหน่งประธานวุฒิสภามาอย่างเหลือเชื่อ เนื่องจากนิคม ไวยรัชพานิช เคยทำใจแล้วว่าคงไม่สามารถก้าวถึงตำแหน่งสูงสุดในสภาสูงได้ในวาระที่เหลืออีกประมาณ 2 ปี หลังจากเคยมีความพยายามหลายครั้ง แต่เมื่อพล.อ.ธีรเดช มีเพียร มีอันต้องตกจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภาในคดีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ตัวเอง สมัยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทำให้นายนิคมซึ่งทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภามานานเกือบ 4 ปี ขอลงท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสภาสูงเป็นครั้งที่ 2 โดยฝ่าย ส.ว.สรรหา เฟ้นหาตัวที่พอจะต่อกรด้วยไม่ทัน จึงสามารถเอาชนะคู่แข่งไปได้ขาดลอย วุฒิสภาจึงเกิดการผลัดขั้วการเมืองครั้งใหญ่จากสายสรรหามาเป็นสายเลือกตั้ง ก่อนที่ส.ว.เลือกตั้งจะหมดวาระลงในช่วงต้นปี 2557
 7. ฉายาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : “หล่อ รับ เละ”
 ต้องยอมรับว่าบทบาทการทำหน้าที่ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในรอบปีที่ผ่านมาไม่ได้โดดเด่นเท่าที่ควร อาจเพราะตกอยู่ในสภาพต้องคดีทางการเมือง อาทิ คดี 91 ศพจากการชุมนุมทางการเมือง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สั่งฟ้องพร้อมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และถูกคำสั่งรมว.กลาโหมถอดยศว่าที่ร้อยตรี นอกจากนั้นยังมีปัญหาภายในพรรคมารุมเร้า ถือว่าทุกปัญหาต่างพุ่งเป้ามาที่ตัวนายอภิสิทธิ์ ขณะที่บทบาทการนำลูกพรรคในการทำหน้าที่ในสภาฯก็ไม่แสดงให้เห็น แม้ลูกพรรคจะสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐสภาเสื่อมเสีย ก็ยังออกมาแถลงข่าวสนับสนุน รวมถึงช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ยังมอบบทบาทการนำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านแทนทั้งหมด จึงเปรียบเหมือน นายอภิสิทธิ์ที่มีหน้าตาดูว่าหล่อเหลา แต่ช่วงปีที่ผ่านมาถูกมรสุมการเมืองรุมถล่มจนเละ
 8. ดาวเด่น : “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ฐานะรองประธานสภาฯคนที่ 2”
 มีไม่บ่อยครั้งนัก ที่ผู้นำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครัฐบาลจะได้รับความชื่นชมถึงความเป็นกลางจากพรรคฝ่ายค้าน แต่วิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯกลับได้รับเกียรตินั้น ด้วยการทำหน้าที่ที่สามารถผ่อนหนักผ่อนเบา ช่วยให้บรรยากาศการประชุมที่กำลังดุเดือดผ่อนคลายลง ขณะเดียวกันได้กล่าวตักเตือน ตำหนิ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคเดียวกันที่แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมกลางสภาฯหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการอภิปรายไม่ไว้ วางใจเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่า รองประธานสภาฯวิสุทธิ์ มีความเหมาะสม กับ การรับรางวัลดาวเด่นในที่สุด
 9.ดาวดับ : “จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ - น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์”
 บทบาทการทำหน้าที่ของ ส.ส. ควรจะมีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เพราะสภาฯถือเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่า จะเป็นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็พูดว่า ควรใช้รัฐสภาแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ แต่ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ประกอบด้วย “จ.ส.ต.ประสิทธิ์ – นพ.วรงค์ – น.ส.รังสิมา ที่แสดงพฤติกรรมกลางที่ประชุมสภาฯ ให้เห็นถึงความหยาบคาย ทั้งทางวาจาและพฤติกรรมที่แสดงออกมา อาทิ การกล่าว ผรุสวาท รวมไปถึงการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ถ่อย เถื่อน รวมถึงการขว้างปาสิ่งของ และลากเก้าอี้ประธานสภาฯ ทำให้ภาพพจน์ของสภาฯเสื่อมเสียอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนักข่าวรัฐสภาต้องการสะท้อนมุมมองให้เห็นว่าพฤติกรรม ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้
 10. คู่กัดแห่งปี : “นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ vs ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง”
 ในอดีตเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่หลังจากที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยและได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้เข้าสภาฯอีกสมัยในนาม “หัวหน้าพรรครักประเทศไทย” และประกาศตัวชัดเจนยืนยันจะทำหน้าที่ในบทบาทพรรคฝ่ายค้าน ทำให้บทบาทของทั้งคู่ที่แสดงออกในสภาในรอบปีที่ผ่านมา กลายมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน โดยนายชูวิทย์ได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีร.ต.อ.เฉลิมคอยกำกับดูแลอยู่ ได้มีการนำคลิปภาพมาแฉในห้องประชุมสภาฯหลายครั้ง ทั้งการเปิดบ่อนการพนัน แหล่งอบายมุขที่ผิดกฎหมาย ทำให้ทั้งคู่เกิดการโต้เถียงกันกลางสภาฯอย่างดุเดือดหลายครั้ง จึงได้รับฉายาคู่กัดแห่งปี
 11. คนดีศรีสภา: งดการเสนอชื่อบุคคล
 ตำแหน่งคนดีศรีสภาประจำปี 2555 สื่อมวลชนประจำรัฐสภามีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ถึงแม้จะมี ส.ส. ส.ว.หลายคนแสดงบทบาทการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนสะท้อนผ่านเวทีรัฐสภา โดยเฉพาะกับเหตุการณ์น้ำท่วม แต่นั่นถือเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งนิยามคำว่าคนดีศรีสภา ควรเป็นการแสดงบทบาทของคนดีให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเห็นได้ชัด แต่ในรอบปีนี้สื่อมวลชนประจำรัฐสภายังไม่เห็นมีใครเหมาะสม จึงมีความเห็นร่วมกันของดการมอบตำแหน่งคนศรีสภาประจำปี2555 

ที่มา.สยามรัฐ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อาเซียน-อินเดีย-ไทย เชื่อมโยงสัมพันธ์ จาก Look East สู่ Look West Policy !!?


ไทย-อินเดีย: บนร่องรอยความสัมพันธ์กว่า 6 ทศวรรษ

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดีย ก่อนที่อินเดียจะได้รับการรับรองเป็นประเทศเอกราช 15 วัน คือวันที่ 1 สิงหาคม 1947  ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่โลกตกอยู่ในช่วงสงครามเย็น ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายนั้นมีลักษณะห่างเหินกัน เนื่องจาก โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจ (bipolar world) ระหว่างโลกเสรีนิยมภายใต้สหรัฐอเมริกา และโลกสังคมนิยมภายใต้สหภาพโซเวียต โดยฝ่ายไทยดำเนินนโยบายตามโลกเสรีต่อต้านคอมมิวนิสต์
ทางด้านอินเดียดำเนินตามหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (Peaceful Co-existence) และนโยบายเป็นกลาง (Non-Alignment) แต่ยังให้ความสนิทชิดเชื้อกับสหภาพโซเวียต ขณะที่ฝ่ายไทยได้เข้าเป็นสมาชิก SEATO ที่มีปากีสถานเป็นรัฐภาคีร่วมอยู่ด้วย ทำให้ไทยมีนโยบายที่สนับสนุนปากีสถานที่กำลังมีข้อพิพาทกับอินเดียเรื่องดินแดนแคว้นแคชมีร์ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะห่างเหิน
จนกระทั่งคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกล่มสลายในช่วงปี 1991 อินเดียก็เริ่มสานสัมพันธ์และชูนโยบายที่สำคัญ คือ Look East policy นโยบายมองตะวันออก ที่อินเดียใช้ดำเนินความสัมพันธ์ทั้งต่อไทยและอาเซียนมาตั้งแต่ปี 1993 อันเป็นทิศทางที่มาบรรจบกับนโยบายของฝั่งไทยเองคือ Look West policy ในปี 1996 ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความมั่นคง การเกษตร การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา
นายกรัฐมนตรีไทย-อินเดีย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ มานโมฮัน ซิงห์ ภาพจาก Facebook Yingluck Shinawatra
นายกรัฐมนตรีไทย-อินเดีย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ มานโมฮัน ซิงห์ ภาพจาก Facebook Yingluck Shinawatra
การที่อินเดียดำเนินนโยบาย Look East นั้น มีลักษณะเด่นคือ การให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) มากขึ้น ขณะที่ไทยเองก็ดำเนินนโยบาย Look West ที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกามากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามระบบทุนนิยมและมีการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เริ่มเจือจางลง ทำให้โลกหันมารวมกลุ่มทางการค้า (trade bloc) เพื่อร่วมมือกันมากขึ้นโดยเฉพาะมิติทางด้านเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้ การดำเนินนโยบายของไทยในลักษณะ Look West ที่ริเริ่มในสมัยของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มุ่งปรับความสัมพันธ์กับอินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกาจึงเกิดขึ้นได้ แต่มีการพัฒนาในระยะสั้นเนื่องจากการเมืองในช่วงนั้นขาดเสถียรภาพ
แต่หลังจากนั้น นโยบายดังกล่าวได้ถูกนำมาสานต่อให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ  ที่เริ่มเสนอกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIST-EC (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุทวีป ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย) เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับเอเชียใต้ในลักษณะพหุภาคีมากขึ้น จนกระทั่งพม่าได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์จึงเปลี่ยนชื่อเป็น BISMT-EC นอกจากนี้ ไทยกับอินเดียยังคงดำเนินความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีหลายด้านด้วยกัน

อาเซียน-อินเดียกับความสัมพันธ์สมัยใหม่ภายใต้วงรอบ 2 ทศวรรษ

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-อินเดียหลังสงครามเย็น อินเดียดำเนินนโยบายต่างประเทศกับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ภายใต้หมุดสำคัญคือนโยบายมองตะวันออก (Look East policy) ทำให้ทั้งสองฝ่ายกระชับความร่วมมือทั้งในกรอบอาเซียน+1 (อินเดีย) อาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง คงคา (Mekong-Ganga Cooperation: MGC ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และอินเดีย) และ BISMT-EC เป็นต้น
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement) สาระสำคัญของร่างเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย
1) ความสัมพันธ์ในภาพรวม ผู้นำอาเซียนและอินเดียประกาศยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และสนับสนุนการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดีย (พ.ศ. 2553-2558) รวมทั้งจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนภายใน พ.ศ. 2558 โดยเห็นพ้องให้จัดตั้งศูนย์อาเซียน-อินเดียเพื่อกระชับความร่วมมือดังกล่าว
2) ภายใต้ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ผู้นำอาเซียนและอินเดียมุ่งมั่นจะ
  • (1) เสริมสร้างความเข้าใจโดยให้มีการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดในระดับสูงตลอดจนการหารือทวิภาคีและพหุภาคีในระดับต่าง ๆ โดยใช้ประโยชน์จากกระบวนการที่มีอาเซียนเป็นแกนนำ เช่น การประชุม ASEAN Defense Ministers’ Meeting Plus (ADMM+) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการทหาร และการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ในกรอบของรัฐมนตรีต่างประเทศ
  • (2) ส่งเสริมให้มีการดำเนินการภายใต้แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดียว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล และการประชุมร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค
3) ภายใต้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจผู้นำอาเซียนและอินเดียเรียกร้องให้สรุปผลการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุนอาเซียน-อินเดีย เพื่อให้สามารถจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าร่วมกระบวนการภายใต้ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) ตั้งแต่ต้น รวมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายระหว่างอาเซียน-อินเดีย เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2558
4) ภายใต้ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยให้มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน และนักวิชาการ เสริมสร้างความร่วมมือในการลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน พ.ศ. 2552-2558 (IAI Work Plan II)
5) ภายใต้ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงสนับสนุนการดำเนินการ ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงฯ และแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน โดยให้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง ASEAN Connectivity Coordinating Committee กับ India Inter-Ministry on ASEAN Transport Connectivity เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
6) สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) กรอบ ARF กรอบ ADMM+ และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ
7) เรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน-อินเดีย โดยให้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนอาเซียน-อินเดีย ASEAN-India Green Fund และกองทุนอาเซียน-อินเดียเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ  ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล
การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล
มติที่คณะรัฐมนตรีไทยเห็นชอบนั้น สอดรับกับแถลงการณ์วิสัยทัศน์อาเซียน-อินเดีย จากการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์อาเซีย-อินเดีย ทั้งสองฝ่ายร่วมประชุมกันภายใต้ธีมความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย เพื่อสันติภาพและความรุ่งเรืองร่วมกัน และได้ออกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมอาเซียน อินเดีย ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าความสัมพันธ์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
โดยแผนปฏิบัติการที่มีร่วมกันในช่วงแรกระหว่างปี 2005-2010 ประสบความสำเร็จ และช่วยทำให้แผนปฏิบัติการช่วงที่ 2 ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2010-2015 จะช่วยส่งเสริมให้ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ รุ่งเรือง และก้าวหน้าร่วมกันนั้นสมบูรณ์ขึ้น ความร่วมมือที่ก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ส่งผลต่อมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียน-อินเดีย 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐทะลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ในปี 2012
  • ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้นให้ถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2015 เนื่องจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียจะมีประชากรโดยรวมถึง 1.8 พันล้านคน และผลผลิตรายได้ประชาชาติ (GDP) จะสูงถึง 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
  • ด้านสังคม วัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีความร่วมมือในระดับประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา เยาวชน กีฬา ฯลฯ และเห็นพ้องที่จะให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสัญลักษณ์ของประเทศต่างๆในอาเซียนและอินเดียที่สะท้อนผ่านโบราณสถานต่างๆ เช่น นครวัดในกัมพูชา (Angkor Wat) วัดฮินดูพรัมบานัน และบรมพุทโธในประเทศอินโดนีเซีย (Borobudur and Prambanan) ปราสาทวัดพูในลาว (Wat Phu) อาณาจักรพุกามในพม่า (Bagan) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในไทย ปราสาทหมีเซิน (My Son) ในเวียดนาม
  • อินเดียยังให้คำมั่นจะให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLMV เป็นพิเศษด้วย เนื่องจากเป็นเสมือนตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย โดยให้ความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์เป็นหลัก

ความเนื้อหอมของอาเซียนที่ใกล้จะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ตัวแสดงหลักๆ ในเวทีโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จีน รวมทั้งอินเดียเข้ามาร่วมวงภาคี และพยายามแสดงบทบาทโดดเด่นในหลายเรื่อง เพื่อให้อาเซียนไม่หันเห หรือให้ความสำคัญกับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และอาเซียนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากอาจกลายเป็นยาสมานบาดแผลทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ประสบวิกฤตโดยถ้วนหน้า
ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่น่าจับตาผ่านความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนย่อมน่าสนใจ เพราะยังมีประเทศปิดอีกหลายประเทศที่ค่อยๆ ทยอยเปิดตัวให้เข้าไปลงทุนและสานผลประโยชน์ร่วมกันได้โดยง่าย ความร่วมมือที่ออกดอกออกผลชัดเจนจากมิติทางการค้าและการลงทุนดังกล่าว ส่งผลให้ปัญหาทั้งด้านการเมืองและความมั่นคงที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องเผชิญนั้น เลือนลางลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
การรวมตัวของอาเซียนที่มีรอบอายุมากขึ้นทุกๆ ปีทำให้อาเซียนได้เรียนรู้ว่า ยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งปฏิบัติตามหลักสากลเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ประเทศอื่นๆแทรกแซงน้อยลง และทำให้อาเซียนมีทางเลือกในการให้ความร่วมมือผ่านความสัมพันธ์จากการรวมกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น

ที่มา.Siam Intelligence
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

10 อันดับข่าวเด่น โลกปี 2012.


โต๊ะข่าวต่างประเทศจัดอันดับ 10 ข่าวเด่นโลก ประจำปี 2012 ดังนี้

1.“โอบามา” ชนะเลือกตั้งสมัย 2

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 นอกจากนี้นิตยสาร “ไทม์” ยังยกย่องให้เขาเป็น “บุคคลแห่งปี” เป็นครั้งที่ 2 ในฐานะผู้เป็นสัญลักษณ์และผู้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ให้กับสหรัฐ

2.ชาวมุสลิมประท้วงภาพยนตร์

ชาวมุสลิมทั่วโลกประท้วงภาพยนตร์เรื่อง “อินโนเซนท์ ออฟ มุสลิมส์” ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าดูหมิ่นพระศาสดาของศาสนาอิสลาม โดยมีการโจมตีสถานกงสุลสหรัฐในลิเบีย รวมถึงการประท้วงรุนแรงในหลายประเทศ

3.เหตุสังหารหมู่ในสหรัฐ

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่โรงเรียนประถมฯแซนดี้ฮุค เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนตทิคัตของสหรัฐ โดยนายอดัม แลนซา มือปืนวัย 20 ปี มีผู้เสียชีวิต 26 คน เป็นครู 6 คน และเด็กนักเรียน 20 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐ

4.กระแสตื่น “วันสิ้นโลก”

ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกหวั่นวิตกต่อการตีความปฏิทินมายาเรื่องวันสิ้นสุด 5,200 ปี ที่ว่าวันที่ 21 ธันวาคม 2012 จะเป็น “วันสิ้นโลก” ทำให้มีการสร้างยานพาหนะเพื่อป้องกันภัย หรือหลบหนีไปยังสถานที่บางแห่ง ขณะที่ 6 ชาติในลาตินอเมริกาจัดงานฉลอง

5.การเปลี่ยนผู้นำใน 3 ประเทศ

นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีน ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีคนใหม่ แทนประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ส่วนนายชินโซ อาเบะ ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ และ น.ส.ปาร์ค กึน-เฮ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้

6.ไต้ฝุ่น “โบพา” ถล่มฟิลิปปินส์

พายุไต้ฝุ่น “โบพา” พัดถล่มฟิลิปปินส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,050 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน สูญหายราว 800 คน และไร้ที่อยู่อาศัยราว 300,000 คน ซึ่งนับเป็นพายุรุนแรงที่สุดที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ในปีนี้

7.เกาหลีเหนือยิงจรวด

เกาหลีเหนือยิงจรวดส่งดาวเทียมสำรวจอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลกสำเร็จเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการทดสอบเทคโนโลยีติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์บนขีปนาวุธพิสัยไกล

8.“ซู จี” เป็น ส.ส. ครั้งแรก

นางออง ซาน ซู จี ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก นอกจากนี้เธอยังได้เดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี เริ่มจากไทย 6 ประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐ และอินเดีย

9.“โอบามา” เยือนพม่า

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา นับเป็นผู้นำสหรัฐคนแรกในรอบ 50 ปีที่ไปเยือนพม่า หลังจากที่สหรัฐได้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรพม่า ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลพม่าได้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง

10. วิกฤตการณ์ในซีเรีย

สงครามกลางเมืองในซีเรียที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2011 จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 21 เดือนแล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 44,000 คน ขณะที่กองกำลังฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านยังคงสู้รบกันอย่างหนักในหลายเมือง และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปีนี้-ปีหน้า !!?


โดย.วรศักดิ์ ประยูรศุข

อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ศักราชใหม่ 2556-2013 กันแล้ว

ปีนี้น่าจะฉลองกันได้สนุกกว่าที่ผ่านๆ มา เพราะไม่มีปัญหาระดับวิกฤตมารบกวน

แต่กลับมาทำงานตามปกติในปี 2556 เปิดหนังสือพิมพ์ เปิดคอมพ์หรือมือถืออ่านข่าว

อาจจะพบว่า ประเด็นต่างๆ ของความเป็นไปในบ้านเมือง ไม่ได้ขยับออกไปไกลมากนัก

แต่ก็ต้องสังเกตให้ดีๆ เพราะหลายๆ เรื่องก็ไปไกล ทำให้คนที่เกี่ยวข้อง กินไม่ได้นอนไม่หลับแล้วเหมือนกัน

ประเด็นสำคัญของปีใหม่ 2556 ยังได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังคาราคาซัง

อีกเรื่องคือ คดีความอันเนื่องมาจากการสลายม็อบ 99-100 ศพ

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รับหน้าที่เป็นโต้โผ ถือเป็นเรื่องใหญ่

ฝ่ายหนุน ฝ่ายค้านแสดงตัวออกมาชัดเจน

และเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำแนะนำว่า ถ้าจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ควรจะทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีการทำประชามติ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ "จัดให้" เกือบทันทีเหมือนกัน

ตอนนี้ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบตกลงจะจัดให้มีการลงประชามติ

แน่นอนว่า ย่อมมีเสียงคัดค้าน มีความเห็นต่าง เป็นเรื่องปกติธรรมดา

หากมีการลงประชามติจริงก็ถือว่า จะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของปี 2556

เพราะจะเป็นครั้งแรก ที่มีการถามประชาชนแบบตรงๆ ว่า ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำถามนี้ ต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ 24.3 ล้าน เป็นอย่างน้อย ถึงจะไปต่อได้

ถ้าออกมาอย่างน้อย 24.3 ล้าน แล้วเสียงข้างมากของ 24.3 ล้านว่ายังไง รัฐธรรมนูญก็จะไปทางนั้น

การที่รัฐบาลเพื่อไทยเลือกหนทางนี้ ต้องถือว่า "ใจถึง" พอสมควร

อดีตนายกฯแม้วประกาศลั่นเวทีว่า 24.3 ล้านนั้น

"หมูมาก" คงต้องการเรียกขวัญกำลังใจจากชาวพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงนั่นเอง

เพราะงานระดับนี้ ถ้าตัดสินใจแล้วต้องเอาจริง ถอยไม่ได้

ถ้าเสียงไม่ถึง เรื่องคงไม่จบง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนเมนู หันไปแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น

บรรดาเจ้ากรรมนายเวร ต้องออกมาขย่มจนแตกหักแน่

แต่ถ้าเสียงทะลุ 24.3 ล้านเสียงขึ้นมา ก็จะเป็นเรื่องระดับพลิกโฉมหน้าประเทศไทยอีกเช่นกัน

สรุปว่า เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยคงจะตัดสินใจเดินหน้าบนเส้นทางของการลงประชามติ แบบ "สุดทาง"

พรรคประชาธิปัตย์เองคงจะอ่านเกมนี้อยู่ และเปิดประเด็น "ซื้อเสียง" ออกมาดักคอ และแว่วๆ ว่า สั่งเตรียมหาเสียงเลือกตั้งกันด้วย เผื่อมียุบสภา

อีกเรื่องใหญ่ที่จะข้ามจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ ได้แก่คดี 99 ศพ ที่จะเริ่มต้นด้วยคดี พัน คำกอง ซึ่งแจ้งข้อหาให้ อภิสิทธิ์ -สุเทพ ไปแล้ว

แม้จะมีข่าวลือมากมาย แต่คดีจะเดินหน้าต่อไปจาก 1 ไปจนครบถ้วนกระบวนความ

เรื่องใหญ่ไม่แพ้การหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายก็คือ

คดีนี้ จะพิสูจน์ "ระบบ" ของประเทศไทย และจะมีผลถึงการแก้รัฐธรรมนูญอีกด้วย

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12  (มติชนรายวัน )
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความจริงหรือเรื่องโกหก กรณีท่าน ว.วชิรเมธี อร่อยจนลืมกลับวัด !!?


กลายเป็นกระแสพูดถึงในหลายแง่มุม กับภาพถ่ายปิดผนังร้านอาหารแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ที่เป็นภาพพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว. วชิรเมธีกำลังฉันอาหาร โดยมีข้อความกำกับไว้ว่า “อร่อยจนลืมกลับวัด” พร้อมลายเซ็น
     
       หลายเสียงโจมตีวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง กับสถานะเฉพาะตัวของการเป็นพระที่พ่วงด้วยการเป็นบุคคลสาธารณะที่ได้รับความนับถือมากมาย จึงไม่แปลกที่จะมีคนตั้งแง่รังเกียจและจ้องจับผิด เมื่อพลาดเพียงจุดใดจุดหนึ่ง การจู่โจมอย่างไม่เว้นวางจึงเกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าอีกแง่มุมหนึ่ง การสร้างประเด็นครั้งนี้อาจมีเบื้องหลังมาจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพื่อทำลายภาพลักษณ์และโจมตีความคิดทางการเมืองของอีกฝ่ายก็เป็นได้!
     
       จากอาจารย์ถึงลูกศิษย์
     
       ภาพที่เป็นข้อถกเถียงนั้นถูกโพสต์สู่โลกไซเบอร์ เป็นที่แรกๆ จากเพจเฟซบุ๊คบก.ลายจุด โดยโพสรายละเอียดไว้เพียงว่า “อร่อยจนลืมกลับวัด รูปนี้อยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่” จากนั้นก็มีการวิจารณ์ถึงความเหมาะสมมากมาย แต่บางคนก็เลยเถิดไปถึงขั้นไล่ไป สึก
     
       “มันอยู่ที่ว่า อักษรใต้ภาพนี้ “ใครเขียน” ถ้าร้านเอามาเขียนเอง ร้านก็ “หาแดกกะพระ” แต่ถ้าพระรูปนี้เขียนเองหรืออนุญาตให้เขียน แม่งก็ “พระจัญไร” ว่ะ ชัดมะ พระจะแดกห่าที่ไหนก็ได้แล้วแต่ใครนิมนต์ไปแดก แต่ว่าเรื่องสำคัญ พระจะชมว่า “อร่อย” ไม่ได้ ไม่ว่าอาหารที่นั้นแม่งจะเป็นอาหารทิพย์มาจากไหนก็ตาม ดังนั้น ภาพนี้ต้องทำให้ชัดว่า “คำใต้ภาพ” มาจากไหน” คือความเห็นจาก Sa-rhingkhan Jack Sangpho
     
       ความเห็นส่วนมากจะเป็นเชิงเหน็บแนมเสียดสี ตั้งแต่ในทำนอง อร่อยจนลืมนิพพาน กำลังกินฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน หรือเรียกท่านว่าหลวงเจ๊ แต่ในส่วนของการแสดงความคิดเห็น หลักใหญ่คงจะหนีไม่พ้นคำว่า อร่อย ซึ่งคำนี้เพียงคำเดียวก็ทำให้บางคนคิดว่า สังคมควรเลิกเรียกท่านว่า พระ
     
       “อร่อยจนลืมกลับวัด คุณคิดว่าในสมัยพุทธกาลพุทธองค์จะกล่าวประโยคแบบนี้มั้ยครับ ในฐานะเป็นสงฆ์ที่ต้องมีความสำรวม สันโดษ ไม่ยึดติดและพอใจในรสอาหาร แต่คำว่า อร่อย แม่งก็ทรงพลังเกินกว่าจะเรียกท่านวอร์ว่าเป็นพระแล้ว ปัญหาไม่ได้อยูที่สถานที่ แต่อยู่ที่เจตนาคนพูด ซึ่งผมไม่แปลกใจถ้าคนอย่างท่านวอร์จะพูดประโยคนี้” ความเห็นโดย Brandon Boyd
     
       แต่ก็มีหลายความเห็นที่ยังคงใช้ภาษาที่สุภาพ และวิจารณ์การกระทำนี้ออกมาอย่างมีหลักการและเหตุผล โดยผู้ใช้ชื่อว่า RitChie Bachmore สรุปความได้ว่า เรื่องการฉันที่ไหนคงไม่มีผิดพระวินัย แต่ต่อมาเมื่อพระสงฆ์อย่างท่านว.มีชื่อเสียงในมุมเจ้าของร้านที่มีศรัทธา จึงกราบขอให้พระลิขิตลายมือ นอกเหนือจากการสวดตามปกติ พระสงฆ์จึงเมตตาเขียนชมให้ดังที่เห็น ประเด็นสำคัญคือการเขียนอวยพรเชิงการค้าว่า อร่อยจนลืมกลับวัด พร้อมลายเซ็นและสัญลักษณ์ เจ้าของร้านคงมาติดด้วยความรู้สึกดี ปัญหาคือ ในพระไตรปิฎกมีอรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ 9 ข้อความหนึ่งเขียนว่า เรื่องอาหารจะกล่าวด้วยอำนาจ ความยินดีในสิ่งที่น่าใครว่า เราเคี้ยวกิน ดื่มบริโภค อาหารมีสีดีมีรสอร่อยไม่ควร เขาแสดงความเห็นว่า พระสงฆ์ในภาพต้องอาบัติหรือผิดพระวินัยสงฆ์ประการใด ขอให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในภาพพิจารณาตนเอง ส่วนทุกคนที่แสดงความเห็นนั้นก็ตั้งข้อสังเกต และถกเถียงกันตามสมควร
     
       อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทางสอดเสียด ล้อเลียน ถึงขั้นใช้คำเรียกว่า หลวงเจ๊ หรือขนานนาม เป็นเซเลบ มีบางความเห็นที่โยงไปถึงเรื่องการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน โดยโยนให้พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีอยู่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์
     
       “เชียร์เผด็จการไม่ลืมหูลืมตาขนาดนี้น่าจะสึกออกมาเข้า ปชป. ซะจะได้เล่นกันให้เต็มตีนไม่ใช่ห่มจีวรไว้กันโดนด่า” Phasu Phadungsin แสดงความเห็น
     
        และท่ามกลางการถกเถียงแสดงความเห็น ที่มาถึงยุคปัจจุบัน การวิจารณ์พระดูจะกลายเป็นเรื่องที่สามารถทำกันได้อย่างอยู่ในกรอบเกณฑ์ แต่ก็มีหลายครั้งที่มีการใช้คำพูดที่แสดงอารมณ์รุนแรงจนเกินกว่าเหตุ ที่นำภาพเพียงเหตุการณ์เพียงภาพเดียวนี้มาตัดสินการกระทำและคำสอนทั้งหมด กลายเป็นการวิจารณ์ที่มุ่งโจมตีบุคคลจนลืมไปแล้วว่า หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องก็มีออกมาจากการเทศนาของท่านเช่นกัน
     
       ประเด็นเรื่องภาพนี้เป็นของจริงหรือไม่? ถูกตั้งคำถาม เมื่อมีคนนำภาพมาโพสลงที่เว็ปบอร์ดยอดนิยมอย่างพันทิป ในห้องศาสนา มีการนำลายมือ ลายเซ็นมาเปรียบเทียบ หลายคนโจมตีอย่างไม่ลดละ ขณะที่อีกฝ่ายก็ช่วยปกป้อง ฝ่ายที่ล้อเลียนก็ยังคงเดินหน้าทำโลโก้ชวนชิม โดยเป็นภาพ ว.วชิรเมธีเป็นตัวการ์ตูนลอยอยู่เหนือชามอาหาร มีข้อความเขียนว่า “ว.ชวนชิม อร่อยจนลืมเหาะกลับวัด”
     
       หลังจากภาพที่ปรากฏเป็นที่คลางแคลงใจของฝ่ายหนึ่ง และการกระทำในภาพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยอีกฝ่าย ในที่สุดพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีก็ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงภาพดังกล่าวว่า
     
       “การนำมาวิพากษ์วิจารณ์ อาตมภาพต้องขอบอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอย่างยิ่ง เพราะว่าอะไร เพราะว่าประการที่หนึ่ง ไม่ได้ผิดพระวินัยอะไร ญาติโยมเขาทำบุญนิมนต์พระไปฉัน พระฉันแล้วเขาอยากได้ขวัญและกำลังใจ อยากให้เขียนข้อความอะไรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ในฐานะเป็นลูกศิษย์ลูกหาก็เขียนให้กำลังใจ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อะไรมากไปกว่านั้น ฉะนั้น ก็อย่าไปตีความให้มันเลยเถิด เลอะเทอะ
     
       แล้วก็ประเด็นที่สอง เป็นการเขียนทีเล่นทีจริง ประสาครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ที่สนิทสนม ไม่ใช่การการันตีเหมือนกับรายการเชลล์ชวนชิมอะไรทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจว่านี่คือการเขียนทีเล่นทีจริงระหว่างครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ลูกหา ไม่ใช่การการันตีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ก็ขอให้วางใจได้นะ เอาเวลาไปทำอะไรที่มีสารประโยชน์มากกว่านี้ดีกว่า เจริญพร”
     
       จ้องจับแบ่งฝั่ง
     
       แม้ต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ถูกโยงไปสู่การเมือง แต่กรณีทวีตของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ที่ถูกบิดเบือนจาก “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าฆ่าคน” เป็น “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง คำพูดนี้ส่งผลถึงปัจจุบันที่มีการแสดงความคิดเห็นว่าที่ว.วชิรเมธีได้รับรางวัลผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิ์มนุษยชนนั้นไม่เหมาะสมโดยใช้ตรรกะเชิงล้อเลียนว่า ในเมื่อฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน แสดงว่าฆ่าคนย่อมทำได้ง่ายกว่าฆ่าเวลา
     
       ปรากฏการณ์ที่พระนักเทศน์ผู้มีชื่อเสียงคนนี้ถูกพาดพิงบ่อยครั้งนั้นมาจากหลายปัจจัยรศ. วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า การที่คนมีชื่อเสียง มีผู้ชื่นชอบมากจะมีคนที่อิจฉา หมั่นไส้และมักถูกจับจ้องจับผิดนั้นเป็นเรื่องปกติ
     
       “ปกติท่านก็มีอารมณ์ขำ ชอบพูดในเชิงนี้อยู่แล้วด้วย คนที่จับผิดก็คงหยิบมาเป็นประเด็น ถ้าไม่คิดอะไรมากก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ฝ่ายที่ไม่ชอบหมั่นไส้เขาก็จะจับผิด ในประเด็นว่าเป็นพระแล้วมาพูดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร”
     
       เมื่อมองถึงตัวว.วชิรเมธีในฐานะพระ รศ.วิทยากรมองว่าว.วชิรเมธีเป็นพระหนุ่มที่ยังมีอายุน้อยอยู่ การที่พระรุ่นใหม่ได้รับความนับถือ กลายเป็นบุคคลสาธารณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ การวางตัวบางครั้งจึงเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าการเป็นบุคคลสาธารณะทั่วไป
     
       “คนเราพอเป็นบุคคลสาธารณะมีชื่อเสียง ยิ่งมีคนชอบมาก ก็จะมีฝ่ายหนึ่งที่รู้สึกอิจฉา หรือไม่ชอบ จับจ้อง เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ที่ท่านต้องระวังเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ พูดจริงๆ พูดเล่นตลกก็ต้องระวังตัวมากขึ้น” เขาเอ่ย
     
       เมื่อมองถึงสภาพสังคม การแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นตัวจุดชนวนการวิจารณ์ชั้นดี เขามองว่า เมื่อสังคมไทยมองเป็นพรรคเป็นพวก เสื้อเหลือง เสื้อแดง จับจ้องกัน ใครผิดอะไรหน่อยก็เล่นงาน
     
       “สังคมมันไม่ได้มองให้สมดุล มองกว้างๆ หน่อย โอเควิจารณ์นิดหน่อยได้ แต่ไม่ใช่จะเป็นจะตาย เสื้อแดงเขามองว่าท่านเป็นเสื้อเหลืองคนละฝ่าย ยิ่งท่านเป็นพระด้วยก็เล่นงานได้ง่าย ท่านมาพูดแบบนี้ก็โดนเล่น เพราะพระมีกฎเกณฑ์ต้องสำรวม”
     
       ทว่าแต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ รศ.วิทยากรก็เห็นว่า การวิจารณ์นั้นสามารถทำได้ แสดงความเห็นได้ ไม่เห็นด้วยที่ท่านพูดแบบนี้ก็วิจารณ์ได้ แต่ไม่ถึงกับต้องเล่นงานอีกฝ่ายมากจนเกินไป และพยายามทำให้ความน่าเชื่อถือทั้งหมดของว.วชิรเมธีลดลง
     
       “บางทีผมว่ามันจะเล่นกันแบบเป็นฝั่งฝ่ายมากเกินไป ใช้อารมณ์มากเกินไป พระที่มีปัญหากว่าท่านก็มีเยอะ น่าจะถกในประเด็นที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ แต่สื่อหรือคนชอบเล่นคนดัง ท่านดังขึ้นมาก็เป็นเป้าเล่นงาน เป็นการเล่นกระแส เราควรไปแก้ปัญหาความเชื่อของคนไทยที่มีต่อพุทธศาสนามากกว่า อย่างมงาย เชื่อในทางที่ถูกต้อง”
     
       ต่อความน่าเชื่อถือในฐานะพระนั้น ว.วชิรเมธีก็มีการเขียน หรือการบรรยายซึ่งต่างก็มีข้อที่ดีอยู่ หากเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ควรอภัยให้ท่านบ้าง
     
       “ผมคิดว่ามันเป็นการเรียนรู้ของท่านเองด้วย ท่านก็ยังหนุ่มอยู่ ถ้าเป็นดาราพูดกับแฟนคลับมันคงไม่มีอะไร ผมว่าสังคมไทยควรมองเรื่องใหญ่ๆ หน่อย อย่าจับเรื่องเล็ก แล้วก็บางอย่างให้อภัยได้ก็ให้อภัยไป มีพระที่แย่กว่าเยอะมากๆ อย่าจับที่ตัวบุคคล จับที่ระบบ อย่ามองสุดโต่ง คือบางคนมองสุดโต่งว่าพระนี่เป็นพวกเสื้อเหลือง งมงาย ผมว่าพระที่โดยพื้นฐานสอนให้คนทำดีก็เป็นสิ่งที่ดี สังคมมันก็จำเป็นต้องมีศีลธรรม อันนี้เป็นถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
     
       ....
     
       การที่สังคมไทยเปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากทว่า การวิจารณ์ด้วยเจตนาอย่างไร แฝงฝังการเลือกข้างแบ่งฝ่าย และผ่านการสร้างกระแสยุยงหรือไม่นั้น บางทีประเด็นที่ก้าวไปข้างหน้าของการวิจารณ์ระบบนั้นดูจะเป็นที่ทางที่เหมาะสมกว่าการจับผิดเล็กๆน้อยๆต่อบุคคล

ที่มา.ผู้จัดการออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กรมศุลฯ ขยายด่านทั่วไทย เพิ่มยอดค้าชายแดนรับ เออีซี.. !!?


อธิบดีกรมศุลฯกางแผนของบฯ 1.1 หมื่นล้านบาท เดินหน้าสร้าง-ขยายด่านศุลกากรทั่วประเทศรองรับเปิดเออีซีในระยะ 7 ปี ชี้ปี"56 เร่งเปิดด่านพุน้ำร้อนรับโครงการทวาย มั่นใจดันมูลค่าการค้าชายแดนโตต่อเนื่อง

นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 นอกเหนือจากเก็บรายได้เข้ารัฐให้ได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็คือการสร้างและขยายปรับปรุงด่านศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในทางการค้า และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งผลอาจจะไม่ได้แสดงให้เห็นในแง่เงินภาษี แต่จะมีอิมแพ็กกับการขยายตัวของมูลค่าการค้า

ทุ่มหมื่นล้านเพิ่มด่านทั่วไทย

โดย ขณะนี้กรมศุลกากรได้เตรียมแผนลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด่านศุลกากร ทั้งการก่อสร้างด่านใหม่ และปรับปรุงขยายด่านเดิม 32 แห่งทั่วประเทศ ด้วยงบฯ 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่รัฐเตรียมจะออกพระราชบัญญัติ 2 ล้านล้านบาท เพื่อกู้เงินมาใช้ในการลงทุนระบบคมนาคม โลจิสติกส์ของประเทศในระยะ 7 ปี

สำหรับ การสร้างด่านใหม่เพื่อรองรับโครงการทวายทางฝั่งพม่า ก็จะมีด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว จากปัจจุบันมีด่านสังขละบุรีดูแลอยู่ และจะขยายเพิ่ม ได้แก่ ด่านสิงขร, ด่านกิ่วผาวอก, ด่านบ้านห้วยผึ้ง

ส่วนทางอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่ติดกับกัมพูชา ก็จะมีด่านหนองเอี่ยน จะขยายออกไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร เพิ่มจากด่านอรัญประเทศเดิม ด่านบ้านผักกาด ด้านชายแดนลาว ก็จะมีด่านภูดู่, ด่านทุ่งช้าง ส่วนทางใต้ก็จะขยายด่านเดิม หรือเพิ่มด่านในสนามบินบางแห่งที่ยังไม่มี

"เป็นเรื่องดีที่รัฐบาล ให้เราอยู่ในกรอบ 2 ล้านล้านบาท เพราะเท่ากับเรากำลังทำแผนงบประมาณ 7 ปี โดยโครงการจะทยอยทำในปี 2556 ด่านใหม่ที่จะเห็นก็คือพุน้ำร้อน พร้อมกับการปรับปรุงอีกหลาย

แห่ง อย่างด่านสะเดา ด่านสุไหงโก-ลก ทางภาคใต้ก็ต้องพัฒนาใหม่หมด"

ปัจจุบัน หลายด่านมีความแออัดมาก เช่น ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม ด่านหนองคาย ด่านแหลมฉบัง เป็นต้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการตรวจสินค้า ซึ่งจะต้องเพิ่มเครื่องเอกซเรย์สินค้าเข้าไปด้วย

กางแผนลงทุน 7 ปรับเออีซี

นาง เบญจากล่าวว่า การปรับปรุงและขยายด่านศุลกากรจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านแดน และช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นได้อีกมาก อาทิ ด่านสะเดาที่มีมูลค่าการค้ากว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ด่านปาดังเบซาร์ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และด่านเชียงของ 3-4 พันล้านบาทต่อปี เป็นต้น

"ประเทศ ไทยโชคดี เพราะโดยที่ตั้งเป็นเกตเวย์ของหลายประเทศ อย่างพม่าถ้าเปิดประเทศมากขึ้น ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น หรือลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ก็ต้องผ่านทางไทย" นางเบญจากล่าว

อธิบดี กรมศุลกากรกล่าวว่า ปีหน้าจะเร่งขยายโครงการตัวแทนออกของระดับมาตรฐาน AEO ที่เป็นการดึงผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า (บัตรทอง) รวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนศุลกากร (โบรกเกอร์) เข้ามาอยู่ในระบบการรับรองผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย สินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานว่า มีการดำเนินงานที่ปลอดภัยและได้รับการรับรองจากศุลกากรว่าได้ปฏิบัติตาม มาตรฐานขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ที่ได้กำหนดกรอบมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกทางการค้า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ที่ ต้องเร่งคือระบบ National Single Window (NSW) และพัฒนาไปสู่ ASEAN Single Window ต่อไป โดยขณะนี้กรมได้ลงนามเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ แล้ว 35 หน่วยงาน แต่การเชื่อมต่อในทางปฏิบัติยังทำได้แค่ 12 หน่วยงาน ซึ่งหากเข้าสู่เออีซี ระบบนี้จะมีความสำคัญมาก และเอกชนก็ต้องการให้มีการอำนวยความสะดวกได้ในจุดเดียว

นอกจากนี้ใน อนาคต เมื่อมีการขยายด่านศุลกากรทั่วประเทศแล้ว จะต้องมีการขออัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม ซึ่งในระยะเร่งด่วน ขณะนี้ได้ทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อขอเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่จำนวน 504 อัตรา เพื่อรองรับภารกิจที่มากขึ้นในปัจจุบัน

"ตอนนี้คนไม่พอ อย่างด่านดอนเมือง ก็ต้องดึงคนจากด่านสุวรรณภูมิไปช่วยกว่า 100 คน ซึ่งจริง ๆ ต้องใช้ประมาณ 300 คน ดังนั้น ในส่วนของดอนเมืองจึงต้องขออีกกว่า 200 คน" อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

แบ่งพอร์ต 3 กลุ่มหลัก

แหล่ง ข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ใน พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีโครงการเพิ่มศักยภาพด่านศุลกากรอยู่รวมทั้งสิ้น 52 โครงการ วงเงิน 10,177 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ด้านเส้นทางเชื่อมโยงหลักเออีซี รวม 14 โครงการ วงเงินกว่า 6,668 ล้านบาท เช่น ด่านสะเดาแห่งใหม่ วงเงินกว่า 1,937 ล้านบาท ด่านบ้านประกอบระยะที่ 2 วงเงิน 380 ล้านบาท ก่อสร้างด่านบ้านหนองเอี่ยน 820 ล้านบาท ด่านนครพนมแห่งใหม่ กว่า 440 ล้านบาท ด่านหนองคายแห่งใหม่ กว่า 382 ล้านบาท ด่านทุ่งช้าง กว่า 147 ล้านบาท ด่านพุน้ำร้อน 825 ล้านบาท เป็นต้น

กลุ่ม ที่ 2 ด้านเส้นทางเชื่อมโยงรอง "ท่าเรือ และท่าอากาศยาน" จำนวน 33 โครงการ วงเงินกว่า 1,413 ล้านบาท เช่น ก่อสร้างลานตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเพิ่มเติมประจำศูนย์เอกซเรย์ ด่านแหลมฉบัง 35 ล้านบาท การก่อสร้างอาคารบริการบริเวณท่าเรือโดยสาร และอาคารชุดพักอาศัย ด่านบึงกาฬ 44 ล้านบาท การก่อสร้างที่จอดเรือตรวจการณ์ ด่านตากใบ 14 ล้านบาท การจัดหาเรือตรวจการณ์ ด่านสตูล 118 ล้านบาท ปรับปรุงที่ทำการอีก 42.5 ล้านบาท เป็นต้น

และกลุ่มที่ 3 ด้านสนับสนุนเพื่อการควบคุมทางศุลกากรอีก 5 โครงการ วงเงินกว่า 2,096 ล้านบาท เช่น โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แบบถอดประกอบเคลื่อนย้ายได้ สำหรับด่านนครพนม ด่านบ้านพุน้ำร้อน และด่านบ้านหนองเอี่ยน รวม 840 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กว่า 523 ล้านบาท โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แบบเคลื่อนที่ได้ สำหรับด่านเบตง และด่านสิงขร 300 ล้านบาท โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แบบตรวจขบวนรถไฟ ด่านปาดังเบซาร์ 364 ล้านบาท เป็นต้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++