--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปิดกิจการ-เลิกจ้าง-ย้ายฐาน SME พลิกกลยุทธ์สู้ค่าแรง 300 บาท !!?



ใกล้ ดีเดย์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฟสที่ 2 วันที่ 1 มกราคม 2556 แรงกดดันทั้งจากนายจ้างและผู้ใช้แรงงานยิ่งมีเพิ่มขึ้น แม้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะการันตีว่าจะเดินหน้าขึ้นค่าแรงรอบใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ ตาม 7 จังหวัดนำร่องคือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และภูเก็ต ซึ่งปรับขึ้นค่าแรงล่วงหน้าตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยไม่เลื่อนหรือชะลอตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ ก็ไม่ทำให้ตัวแทนผู้ใช้แรงงานวางใจ

ไม่แปลกที่ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศ, สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างเสรีแห่งชาติ, สภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ตลอดจนกลุ่มสหภาพแรงงานหลายแห่ง นำโดย นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างเสรีแห่งชาติ จะเข้าพบยื่นหนังสือสนับสนุนนโยบายขึ้นค่าแรงต่อ รมว.แรงงาน

ขณะที่ ตัวแทนของฝ่ายนายจ้างก็เคลื่อนไหวผลักดันผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยื่นคัดค้านการขึ้นค่าแรง พร้อมนำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อ รมว.แรงงาน ควบคู่กับส่งตัวแทนคือ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้ายื่นหนังสือถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสนอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชนพิจารณาผลกระทบ และกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม คงเป็นไปได้ยากที่นโยบายดังกล่าวจะถูกดึงกลับไปทบทวน นายจ้างในกิจการทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็กจึงต้องทำใจยอมรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเร่งปรับตัวท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้าน

เอสเอ็มอี ภาคเหนือฮึดสู้วิกฤตค่าแรง

นาง เปรมฤดี กุลสุ นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือกล่าวว่า แม้จะทราบล่วงหน้าว่าอีก 70 จังหวัดที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จะต้องปรับขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ม.ค. 2556 นี้ แต่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะสมาชิกของสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบมาก และปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากสินค้าหัตถกรรมมีลักษณะเฉพาะต้องใช้แรงงานฝีมือในการผลิต ไม่สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรผลิตแทนได้

ดังนั้นเมื่อต้นทุน เพิ่มขึ้นจากค่าแรง ก็ต้องขึ้นราคาสินค้า แต่จากที่มีการแข่งขันกันรุนแรง โดยเฉพาะกับผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ประกอบการเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีปัญหา การขึ้นราคาสินค้าจึงเป็นไปได้ยาก อาจต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้โดย 1.หาทางลดต้นทุนโรงงาน 2.หาวัตถุดิบใหม่มาใช้ในการผลิต ซึ่งค่อนข้างลำบาก เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่มีราคาแพง 3.ปรับเปลี่ยนการจ้างแรงงานจากเดิมจ้างเป็นรายวัน มาจ้างเป็นรายชิ้น ให้ลูกจ้างรับงานไปทำที่บ้านแทน แต่มีปัญหาเนื่องจากลูกจ้างจะหันไปทำงานในโรงงานอื่นที่จ่ายค่าจ้างได้ 300 บาทต่อวัน เป็นต้น

ชี้มาตรการรัฐสวยหรูแต่เข้าไม่ถึง

ถาม ถึงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ที่กระทรวงแรงงานออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556 และเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ SMEs 6 มาตรการ นางเปรมฤดีมองว่า ในทางปฏิบัติเอสเอ็มอีคงไม่ได้ประโยชน์เท่าใดนัก และอาจมีปัญหาเหมือนหลาย ๆ มาตรการที่ผ่านมา ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ยาก ผู้ประกอบการจึงต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองเป็นหลักมากกว่าที่จะรอพึ่งมาตรการ รัฐ

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้สมาคมได้เคลื่อนไหวเรียกร้องปัญหาขึ้นค่า แรงขั้นต่ำ ผ่านหอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มเอสเอ็มอีอีก 69 จังหวัด ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยดำเนินการในนามสมาชิกของสมาคมซึ่งมีทั้งหมดกว่า 250 ราย คิดเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี

ผู้ผลิตเครื่องสำอางเลิกจ้างงานใหม่

นาง เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การปรับขึ้นค่าแรงต้นปีหน้า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเครื่องสำอางไทยแน่นอน เพราะอุตฯนี้ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนในเกือบทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่บรรจุ ติดฉลาก และขนส่ง ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวอาจจะทำให้ระบบการจ้างงานป่วน เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำด้านความสามารถของกลุ่มแรงงานเดิมและแรงงานใหม่

จาก ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นการบริหารจัดการภายในองค์กรแทนการปรับ ขึ้นราคาสินค้า โดยจะมีการเปลี่ยนจากแรงงานคนเป็นเครื่องจักร ซึ่งจะไม่เกิดการจ้างแรงงานใหม่ ทำให้เกิดปัญหาว่างงานเพิ่มขึ้น ส่วนระยะยาวเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์เพื่อปรับขึ้นราคา ผลิตภัณฑ์ ด้วยการหาลูกเล่นทางการตลาดเข้ามาเสริม หรือสร้างนวัตกรรมเข้ามาสอดแทรกในผลิตภัณฑ์ ปรับราคาขึ้น

ขณะเดียว กันรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน คือ การหาจัดช่องทางการจำหน่ายเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย เพราะช่องทางจำหน่ายเดิมที่เป็นร้านโชห่วยเริ่มล้มหายไป จากการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้ขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศด้วย

จี้พัฒนาฝีมือ-จัดเกรดอัตราค่าจ้าง

ด้าน นางสาวพฤทธิดา ศรีสันติสุข ผู้ประกอบการเครื่องหนังเจ้าของแบรนด์ ARTTY กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีโรงงานได้ปรับค่าแรงเป็น 300 บาทแล้ว แต่ขึ้นให้เฉพาะกลุ่มที่เป็นช่างฝีมือ ซึ่งก็มีผลกระทบบ้าง เนื่องจากบางเดือนที่มียอดสั่งซื้อมากโรงงานถึงจะคุ้มกับค่าแรง แต่ช่วงเดือนที่ออร์เดอร์น้อยโรงงานขาดทุนได้ แต่ปีหน้านอกจากจะมีการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศแล้ว ในส่วนของวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างก็จะมีการปรับราคาเพิ่ม ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับราคาสินค้าขึ้น เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวอยากให้ชะลอการขึ้นค่าจ้างออกไปก่อน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรจะเข้ามาช่วยเหลือเช่นการกำหนดระดับค่าแรงเป็นเกรด ๆ ไป รวมทั้งพิจารณาเรื่องค่าแรงของแรงงานต่างด้าว ควรเป็นคนละระดับกับแรงงานคนไทย เพื่อให้ทางผู้ประกอบการมีทางเลือกในการลดต้นทุน

"ตอนนี้แรงงานคนไทยค่อนข้างเลือกงาน ขณะที่แรงงานบางส่วนเมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวก็มักจะลางานกลับไปทำงานภาคการเกษตรของตน"

ขณะ ที่ นายปพนพัธน์ พลานุสนธิ์ เจ้าของแบรนด์เครื่องหนังแบรนด์ Seastar กล่าวว่า โดยส่วนตัวต้องการแรงงานไทยมากกว่าการจ้างงานแรงงานต่างด้าว แต่เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยเลือกที่จะทำงานด้านบริการมากกว่างานด้าน ฝีมือ หรือแรงงานที่เข้ามาจริง ๆ ก็เป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ จึงอยากให้รัฐเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ระบบการศึกษาสายอาชีพเพื่อสร้างแรงงาน ฝีมือในอนาคตเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจในอนาคต

รายงานข่าวจากจังหวัด มหาสารคามแจ้งว่า การเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเจ้าของกิจการแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา โรงงานผลิตชุดกีฬาใน อ.โกสุมพิสัย ปิดโรงงานแล้วเพื่อย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ มีการเลิกจ้างคนงานจำนวน 1,048 คน จ่ายเงินชดเชยกว่า 34 ล้านบาท และบริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ซึ่งมีพนักงานกว่า 1,000 คนก็เตรียมแผนย้ายฐานการผลิตไปประเทศพม่า ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างโรงงานรองรับใกล้เสร็จแล้ว

ขณะที่ผู้ผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องใช้พนักงานจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบหนัก เบื้องต้นใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการส่งงานไปให้กลุ่มผู้ต้องการรายได้เสริมทำที่ บ้าน และเตรียมปลดคนงาน โดยจะเริ่มประมาณเดือนธันวาคมเป็นต้นไป เพราะออร์เดอร์จากบริษัทแม่ลดลงกว่า 20%

เช่นเดียวกับเอสเอ็มอีอีก หลายธุรกิจ ที่ต่างเร่งปรับตัวขนานใหญ่รับมือต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในตลาด แม้เวลานี้ทางเลือกจะมีไม่มากนัก

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น