เดินหน้าแยกยื่นภาษี "สามี-ภรรยา" ให้ทันปี 56 พร้อมปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาเก็บแบบขั้นบันไดที่ 5-35 % มั่นใจกระทบจัดเก็บรายได้รัฐไม่มาก สั่งสรรพากรเร่งศึกษาลดหย่อนภาษี "บริจาคเพื่อการศึกษา-ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยพัฒนา" เพิ่มจาก 2 เท่าเป็น 3 เท่า
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขแยกยื่นภาษีสามีภรรยา และศึกษาการปรับอัตราภาษีใหม่ที่ปัจจุบันอัตราการเสียภาษีอยู่ที่ 10-37% โดยมีผู้เสนอให้กรมสรรพากรปรับลดให้ต่ำลงกว่าเดิม เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่า จะกระทบกับรายได้รัฐบาลมากน้อยแค่ไหน
ส่วนความคืบหน้าในการแยกยื่นภาษีสามีและภรรยา นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อให้มีผลทันที ในเดือนม.ค.56 ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่จะมีการขยายฐานภาษีให้มีความถี่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ 10% 20% และ 30% โดยอาจปรับเป็นขั้นบันไดที่ 5-35% โดยจะทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ยอมรับว่ามีผลกระทบกับรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลบ้างเล็กน้อย แต่ยืนยันว่าการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ จะทำให้ผู้มีรายได้เสียภาษีน้อยลง และมีความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งนี้จะดำเนินการหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายของรัฐ โดยเฉพาะการจูงใจให้นิติบุคคลเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้องตามระบบ เพื่อให้มีรายได้มาชดเชยกับการปรับลดอัตราภาษี
นอกจากนี้ ได้สั่งการกรมสรรพากรออกระเบียบเงื่อนไขให้บุคคลธรรมดาและภาคเอกชน บริจาคลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้คล่องตัวมากขึ้น จากเดิมแม้ว่าจะกำหนดให้หัก 2 เท่าของเงินที่บริจาค แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้ออุปกรณ์ศึกษาและวัสดุก่อสร้างสถานศึกษาเท่านั้น แต่สำหรับระเบียบใหม่จะเปิดให้บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์เช่น บริจาคเงินให้ครูไปอบรมความรู้เพิ่มเติม ก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ยังให้กรมสรรพากรไปพิจารณาให้บริษัทเอกชนสามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยพัฒนาได้เพิ่มขึ้น จาก 2 เท่า เป็น 3 เท่า รวมทั้งให้กำหนดสถาบันวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจน สำหรับการบริจาคเงินเพื่อการวิจัย โดยแนวทางการลดหย่อนภาษีทั้ง 2 ตัว ให้กรมสรรพากรรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จทันในต้นปี 2556
ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น