--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ภาพฝัน : ก้าวข้ามขัดแย้ง สันติภาพการเมืองไทยมองง่าย-ไปยาก !!?


ประเมินสถานการณ์ความสุ่มเสี่ยงทางการเมืองในช่วงขณะนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดการปะทะกันของ กลุ่มชนที่มีความขัดแย้งทางความคิดที่แตกต่างกันในเชิงการเมือง จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม ที่ทำท่าว่าจะโหมกระแสไฟการเมืองอย่างต่อเนื่องหลังที่ก่อติดแล้ว ซึ่งก็มีกระแสต่อเนื่องตามมาถึงการปลุกมวลชนขึ้นต่อต้าน....

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา พยายามออกมาขวางโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 62 ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการ เมือง กระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยขอให้ศาลสั่งให้ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การ พิทักษ์สยาม และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) เลิกกระทำการ นัดชุมนุมครั้งต่อไป ที่จะเกิดขึ้นภายในปลาย เดือน พ.ย.นี้ เพราะมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเข้าลักษณะขัดรัฐธรรมนูญ ชัดเจน และเข้าข่ายความผิดฐานเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ต้อง ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ในทรรศนะเรื่องการปรองดองในสังคม การเมืองประเทศนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ใกล้ตา แต่ไกลตีน!!..ไปเสียแล้ว ซึ่งในมุมของนักวิธีการด้านสันติวิทยาอย่าง อาจารย์โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ได้พยายามทำงานด้านนี้อย่างต่อเนื่องด้วยโครงการเวทีสันติประชาธิปไตย อึด ฮึด ฟัง!!..

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า แม้สังคม ขณะนี้จะมองทางออกโดยเน้นที่การปรองดอง แต่เห็นว่าสิ่งสำคัญกว่า คือการสร้างสังคมสันติประชาธิปไตยที่อยู่กันอย่างเคารพกัน เพราะสังคมเสื้อสีและการแบ่งแยกที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่สภาวะที่ทุกคนอยากเห็นอยากได้ แต่เป็นสภาวะที่ถูกลากจูงเข้าไป เป็นความอ่อนด้อยในสังคมไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งสังคมที่มีความเห็นขัดแย้งในประชาธิปไตยและแน่นแฟ้นในการเป็นปฏิปักษ์กับอีก ฝั่งเช่นนี้ คนที่ “อยู่กลางๆ” ต้องออกมามีเสียงบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้สังคมเป็นของคนที่เสียงดัง แต่ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีเสียงอยู่เพียงฝ่ายเดียว

“สังคมไทยขณะนี้กลายเป็นว่า เมื่อมีคนออกมาแสดงความเห็นก็ถูกผลักไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ข้อมูลของคณะกรรมการอิสระอย่างสถาบันพระปกเกล้า หรือ คอป.เมื่อรายงานออกมาก็ถูกวิจารณ์ ถูกตัดสินโดยผู้ที่ไม่ได้อ่าน เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่ด่ากันไปโดยไม่รู้ข้อมูล ใช้ความรู้น้อยกว่าความรู้สึก”

นายวุฒิสาร กล่าวถึงบทเรียนจากต่างประเทศสามารถพาสังคมที่ขัดแย้งกลับมาสู่ความยั่งยืนได้ โดยกระบวนการสำคัญ คือ สานเสวนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นร่วมกัน แต่ต้องพูดคุยระยะยาวจากเรื่องที่เห็นร่วมกันมากที่สุดก่อน ทั้งนี้ การค้นหาความจริงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ได้คำอธิบายเหตุการณ์อย่าง เป็นกลาง เยียวยาคนบางกลุ่ม ซึ่งการเยียวยามีทั้งกล่าวขอโทษไป ชดเชยเป็นตัวเงิน ให้โอกาสกลับมาอยู่ในสังคม พัฒนาอาชีพ การให้ เกียรติสร้างอนุสรณ์สถาน และปฏิรูปโครงสร้าง ระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของสังคม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ เจตจำนงที่ชัดเจนของผู้นำ การเมืองในการปรองดอง สังคมโดยรวมต้องยอมรับผิด ให้อภัยและพูดถึงอนาคตร่วมกัน

สำหรับสังคมไทย นายวุฒิสาร กล่าวว่า การพยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดความปรอง ดองเป็นสิ่งสำคัญ โดยการพูดคุย 3 ระดับ 1.ผู้นำ การเมือง ต้องยอมรับซึ่งกันและกัน หาข้อยุติในบางเรื่อง 2.สื่อ มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่ดีและเร่งปฏิกิริยาความขัดแย้ง สื่อ ต้องไม่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่ใช้ความอ่อนด้อยของสังคมที่เชื่อโดยไม่ค้นหาความจริงมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา อันจะทำให้สังคมแย่ไปกว่านี้ 3.ภาคประชาชน ควรเริ่มต้นพูดคุยกันที่เรื่องอนาคตของประเทศไทย มากกว่าเรื่องอดีตและ ความขัดแย้งที่เคยมีมา หรือพูดคุยเพื่อหาคนผิด ซึ่งจะยิ่งทำให้สังคมตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งต่อไป

“ในส่วนเรื่องกฎหมายเน้นย้ำว่าควรจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องท้ายๆ ของความปรองดอง ต้องออกหลังจากสังคมเห็นพ้องกันพอสมควร และอาจมีความจำเป็นต้องปฏิรูปสิ่งที่คนส่วนมากเห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญบางข้อ เช่น การยุบพรรค”

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากนี้ไปสังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งพูดคุยกันแค่ในกลุ่มที่ขัดแย้งกันเท่านั้น เหตุที่คนไทยยังไม่ก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ เนื่องจากไม่ยอมรับในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระ ในขณะที่ต่างประเทศเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาต้องยุติความขัดแย้งแล้วให้คณะกรรมการอิสระมาหาทางออกให้และปฏิบัติตาม แต่ประเทศไทยกลับใช้ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ฉะนั้น ไม่ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการชุดใดก็จะถูกลากดึงไปอยู่แต่ละฝ่าย เป็นปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในสังคมที่ยังไม่ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ยังมีความจำเป็น ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมให้ดีที่สุด หากนำข้อเท็จจริงไป “แห่” ที่ท้องถนนปัญหาคงไม่จบ การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงสังคม ไทยที่ผ่านมาได้นำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นหรือไม่ มีการตรวจสอบที่ดีขึ้นหรือไม่ หรือเป็นประชาธิปไตยแบบพวกมากลากไป แล้วดึงองค์กรหรือสถาบันต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

“ปัญหาของสังคมไทยอยู่ที่ความไม่เชื่อถือศรัทธาในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเรื่องสื่อเลือกข้างและคนเลือกสื่อ คนที่ใช้ประโยชน์จากสื่อเป็นต้นเหตุของปัญหามากที่สุด ในยุคที่คนเลือกเสพสื่อได้ จะทำให้เกิดการแบ่งแยกขั้วอำนาจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ที่ต้องข้ามผ่านไปให้ได้”

ดร.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผมหวั่นเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง มีสัญญาณว่ามีการชุมนุมของผู้ที่ทนกันไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น บริบท อันนี้อาจจะต้องขยายให้กับคนที่ทนกันได้ บริบท ที่สองจะมีการขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญกับ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ต้องวงเล็บนิรโทษกรรมไว้ด้วย ผมเห็นว่าบริบทนี้ก็ทำให้วิตก เพราะสองข้อเสนอ นี้เป็นไปได้ 2 ทาง ทางที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็เป็นข้อเสนอ ซึ่งจะเป็นทางเข้าสู่ความขัดแย้ง ไม่ ใช่ทางออกจากความขัดแย้ง ถ้าจะให้เป็นทาง ออกจากความขัดแย้ง การทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ก็ดี ความปรองดอง หรือการนิรโทษกรรมก็ดี ต้องเป็นเรื่องที่เปิดรับทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

ผมไม่แน่ใจ ผมว่าตกเรื่องที่วิตกอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหา ความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ที่สำคัญมากๆ คือเรื่องทางด้านวัฒนธรรม ด้วยการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กทม. เห็นอาจารย์ แนะนำว่าให้คิดอนาคต ให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เรามีความขัดแย้ง แต่เราเสียเวลาน้อย ที่จะไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุ หรือเสียเวลาน้อย ที่จะไปพยากรณ์ว่ามันจะไปทางไหน และเสีย เวลาน้อยที่จะไปหาทางเยียวยา หาทางออก มีข้อสรุปว่าวัฒนธรรมอันหนึ่งคือวัฒนธรรม ที่คิดว่าพูดถึงความขัดแย้งในทางรุนแรง ที่วันนี้มีเต็มไปหมด ทั้งสื่อและในโซเชียลมีเดีย เป็นไปได้ไหมที่เราจะคิดทำ เราตื่นขึ้นมาได้แล้วโดยไม่ต้องมีเสียงระเบิดมาปลุกเรา

ที่ผมพูดถึงความรุนแรงรอบใหม่ ถ้าฝ่ายหนึ่งคิดว่าตนถูก และมองฝ่ายหนึ่งด้วยภาพความประสงค์ร้าย ขาดความเห็นใจหรือ เมตตา ขณะเดียวกันพวกเขาเหล่านี้ผมก็เห็นใจเขา เพราะเขามองไม่เห็นทางออก เขา คิดว่าถึงจะไม่ชอบความรุนแรง แต่คิดว่าความรุนแรงยังเป็นทางออกอยู่ จำให้เกิดนั้น หลายคนเป็นคนที่ผมรักและเข้าใจอย่างดี ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น แต่เข้าใจ แต่บังเอิญเข้าใจแต่เฉพาะเรื่องที่เราเข้าข้างอยู่แล้ว ตรงนี้คือปัญหา

ปัญหาลึกลงไปอีกเรื่องหนึ่ง เรามีตรรกะแค่ 2 ทางเท่านั้น แบ่งชัดออกเป็น 2 พวก โลกทัศน์คือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก 2 ทางเลือกนี้ เป็น 2 ทางเลือกที่สุดโต่งของความขัดแย้ง แต่อันที่จริงทางเลือกอื่นยังมี เช่น ทางเลือกที่ 3 ทั้งใช่หรือไม่ใช่ ยุติเรื่องเอาไว้ก่อน เรื่องมันยังแก้ไม่ได้ เช่น อินเดียกันจีน อินเดียกับปากีสถาน 50-60 ปีแล้วยังแก้ไม่ได้แต่ยุติเอาไว้ก่อน ทะเลจีนใต้ยังแก้ไม่ได้ก็ยุติไว้ก่อน อันนี้ก็ทำได้ถ้ายังแก้ไม่ได้ หรือไม่ก็ก้าวพ้นความขัดแย้งไปด้วยกัน ที่เรามักใช้คำว่า “วิน-วิน” คือเราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา แต่เราสุมหัวกันมีความคิดสร้างสรรค์แล้วจะเกิดพื้นที่ที่เราเดินไปข้างหน้าได้ หรือประนีประนอม เรายังมีอีกตั้ง 3 ทางเลือก แต่เราคิดอยู่อย่างเดียวว่ามีแค่ 2 ทาง เราถูกเขาผิดก็มีแค่นี้

ถ้าเราคิดจาก 2 เป็น 5 เราจะเริ่มตั้งสันติวัฒนธรรม เพราะสันติภาพนั้นมันเหมือน การปลูกป่ามันที่มีหลายพันธุ์ เป็นสวนรุกขชาติ และพวกเราเป็นนักสันติภาพ นักประชาธิปไตยต้องทำตัวเป็นชาวสวนที่ดี ข้อเสนอในการสานเสวนามีหลายประเด็น อาทิ เรื่องที่สำคัญไม่ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองหรือรัฐบุรุษไม่รู้กี่คน เพราะ ประชาธิปไตยคือประชาชน และประชาชนต้องเอาเรื่องนี้มาอยู่ในมือของเรา ประชาชน ไปข้างหน้าได้ อย่าไปคิดติดที่ว่าต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่ไปช่วยแก้ปัญหาให้เรา นั่นเป็นแนวความคิดดั้งเดิมในยุคสมัยศักดินา ประชาชน คือองค์อธิปัตย์ แต่ระวัง การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องใด ยังไม่ถกแถลงอย่างชัด แล้วมาท้าดวลคะแนนก็จะลงคะแนนตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามพรรคตามพวก ข้อเสนอของการสานเสวนาไม่ใช่การถกเถียง แต่ให้ความคิดโลดแล่นรวมออกมาเป็นพลังมวลรวมแห่งชาติ ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

มีความจำเป็นในการเยียวยา การคืนดี การปิดฉากโลกของความขัดแย้งบางช่วงบางตอน วิธีหนึ่งที่เสนอไว้ก็คือ จัดกลุ่มพบปะแบ่งปันความรู้สึกความห่วงใยและมีการขอโทษกัน การให้อภัย การเยียวยาบาดแผล เราช่วยเยียวยากันเองได้ไหม

ทางออกอีกอย่างหนึ่งที่มีการคุยกันไว้คือสานเสวนา ซึ่งเป็นการตั้งคำถามและการ แสวงหา เป็นการใช้กริยาเชิงสมมติว่าถ้าเป็น เช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น เรามาคุยกัน สิ่งที่เราได้ข้อสรุป ถือเป็นชั่วคราว อาจจะเปลี่ยนได้หากมีการสานเสวนารอบใหม่ๆ สิ่งที่เราเสนอ ที่เป็นรูปธรรมเป็นส่วนที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม แห่งสันติเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

สรุป เราสื่อสารความขัดแย้งเพื่อมีความเห็นใจ มีความคิดสร้างสรรค์ เราศึกษา สันติภาพเพื่อป้องกันความรุนแรงบนพื้นฐาน แห่งความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม เรา ศึกษาการคืนดีเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต เยียวยาความขัดแย้งที่ทำเกิดขึ้นในอดีต ความรุนแรงนั้นมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ถ้าเราสามารถทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นน้อยลง สันติภาพก็จะมีมากขึ้น และจะช่วยป้องกัน ความขัดแย้งใหม่ๆ ให้เราเผชิญกับความขัดแย้งนั้นๆ อย่างสันติ สันติภาพทำให้ประชาชนยิ่งใหญ่

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น