ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา 3 วันสาดใส่กันมันหยด
รัฐบาลจะผ่านการซักฟอกหรือไม่ รู้ผลกันในวันนี้ ซึ่งผลที่จะออกมาเป็นอะไรที่พอคาดเดากันได้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนท่วมท้นให้รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ไปต่อ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ว่ารัฐบาลไหนไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายค้านในสภา อาจมีบ้างสักครั้งสองครั้งที่เกิดอาฟเตอร์ช็อกหลังการอภิปรายจนต้องปรับรัฐมนตรีที่มีปัญหาออก หรือยุบสภา
แต่สถิติในอดีตที่ผ่านมาถือว่าน้อยมาก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเป็นระบบตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ ส.ส. ก็ยังอยากอภิปรายจนกลายเป็นเทศกาลประจำปี
เหตุที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นระบบตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะการอภิปรายส่วนมากเน้นโวหารและการกล่าวหา
ขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหา
แต่ที่ ส.ส. ชอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะได้โผล่หน้าออกทีวี. ที่ถ่ายทอดสดให้คนทางบ้านได้เห็นว่า ส.ส. ที่เลือกมาทำงานในสภา
อีกอย่างที่ ส.ส. ชอบอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะว่าจะกล่าวหาใครอย่างไรก็ได้ เนื่องจากมีเอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ
จะชี้หน้าด่าใครว่าโกงกิน ทุจริต ไร้ประสิทธิภาพอย่างไรก็ทำได้เต็มที่
ดีหน่อยตรงที่กฎหมายสมัยนี้ห้ามพาดพิงถึงบุคคลที่สามที่อยู่นอกสภา
หากพาดพิงคนอภิปรายต้องรับผิดชอบต่อคำพูดตัวเอง เพราะสามารถฟ้องร้องเป็นคดีได้ ไม่อย่างนั้นจะมีการผูกโยงกล่าวหากันมั่วไปหมดว่าขบวนการโกงกินผูกโยงไปถึงคนนอกอย่างไร
ในอดีตที่ผ่านมาจึงเห็น ส.ส. บางคนลุกขึ้นพูดโดยถือกระดาษแผ่นเดียวกล่าวหาคนนั้นคนนี้ไปทั่ว
ในยุคปัจจุบันกฎหมายมีออพชั่นบังคับว่า หากอภิปรายว่ารัฐบาลหรือรัฐมนตรีคนไหนทุจริตต่อหน้าที่ต้องยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องที่กล่าวหาด้วย
เป็นการป้องกันไม่ให้กล่าวหากันลอยๆ มั่วๆ โดยขาดพยานหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีการยื่นให้ ป.ป.ช. สอบสวนเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตี่ที่ถูกกล่าวหาว่าโกง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
สะท้อนความล้มเหลวของการตรวจสอบด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ พรรคประชาธิปัตย์เน้นใช้วิดีโอคลิปเปิดในห้องประชุมสภาเพื่อให้ประชาชนได้เห็นทั้งภาพและเสียง
เหมือนว่าจะเป็นหลักฐานเด็ดมัดรัฐบาลได้
แต่เอาเข้าจริงคลิปที่นำมาเปิดส่วนใหญ่เป็นคลิปที่ทำขึ้นให้สอดคล้องกับข้อกล่าวหาที่ใช้อภิปรายโจมตีรัฐบาล
จะเกี่ยวโยงกับการทุจริตบ้างก็เป็นระดับปฏิบัติไม่ถึงตัวรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี คลิปที่นำมาเปิดจึงไม่อยู่ในสถานะที่เป็นหลักฐานเด็ด
คลิปที่นำมาเปิดเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพของเนื้อหา จนถูกสังคมออนไลน์ยกการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเปรียบเทียบกับละครฮิตเรื่องแรงเงา ที่เอะอะอะไรก็เปิดคลิปแฉกัน
ต่างกันตรงที่คลิปละครแรงเงาเป็นกระแสทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ทุกครั้งที่ออกอากาศ แต่คลิปที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาเปิดเรียกเรทติ้งไม่ได้ไม่มีใครพูดถึงนอกสภา
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 3 วัน แม้จะมีประโยชน์อยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงที่สุดเท่าที่ควรจะเป็น
เป็นการอภิปรายที่มีเป้าหมายใหญ่เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจให้รัฐบาลได้บริหารประเทศต่อ แต่การอภิปรายกลับไม่มีอะไรแตกต่างจากการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติของวุฒิสภา
ข้อมูลหลักฐาน ประเด็นข้อกล่าวหา แทบคัดลอกกันมาจากต้นฉบับเดียวกัน
แรงคลิปจากแรงแค้นของประชาธิปัตย์จึงไม่แรงทะลุเป้าเหมือนคลิปละครแรงเงา
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น