ไอเอ็มเอฟ ชื่นชมแบงก์ชาติฉลาด ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ พร้อมอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นตามกลไกตลาด ช่วยลดทอนผลกระทบจากภาวะช็อกทางศก.
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เผยแพร่งานวิจัยล่าสุดเรื่อง “Shock Therapy! What Role for Thai Monetary Policy?” ซึ่งศึกษาถึงบทบาทและประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงที่เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ 3 ครั้ง ได้แก่ วิกฤติการเงินโลกในช่วงปี 2551-2552 เหตุการณ์แผ่นดินไหวใน ญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2554 และมหาอุทกภัยในประเทศในช่วงปลายปี 2554
งานวิจัยเริ่มอธิบายจากพายุหนักลูกแรกจากวิกฤติการเงินโลกพัดกระหน่ำแรงขึ้น เมื่อการล้มของเลแมนบราเดอร์ส สะเทือนมาถึงไทยในปลายปี 2551 ก่อเกิดภาวะช็อกครั้งแรก ช่วงแรกได้รับผลกระทบ ผลประกอบการภาคส่งออกยังมีความยืดหยุ่น ด้วยอัตราโตเฉลี่ยกว่า 10% ช่วงปี 2549-2550 และช่วยให้การเติบโตของจีดีพีแท้จริงแข็งแกร่ง แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งออกไทยทรุดในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ตามหลังการล้มพังพาบของการค้าโลก
ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติพากันถอนตัว ซึ่งมาพร้อมกับความผันผวนเพิ่มขึ้นมากในตลาด และตามด้วยดัชนีตลาดสำคัญๆ ลดลงอย่างมาก บวกกับการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างต่อเนื่อง ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยลง 2.5% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25%
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ไทยยังเผชิญภาวะช็อกครั้งใหญ่อีก 2 ครั้ง ในปี 2554 โดยภาวะช็อกครั้งแรกเป็นเหตุแผ่นดินไหวทำให้เกิดภัยจากคลื่นสึนามิครั้งใหญ่เมื่อเดือนมี.ค. ในญี่ปุ่น ไทยได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตสินค้าคงทน และสินค้าระดับกลาง มีความซับซ้อนให้ไทย สินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนกว่า 90% ของส่วนประกอบบางอย่าง และเพราะความเป็นผู้ผลิตกับซัพพลายเชนที่เน้นสินค้าปลายน้ำกับความเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นเหตุให้การผลิตของไทยสะดุดลงอย่างฉับพลันและชะลอตัว
สำหรับภาวะช็อกครั้งที่ 2 ในปี 2554 เป็นปัญหาน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งเกิดช่วงเดือนส.ค. จนถึงเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตกว่า 800 ราย และคนไทยหลายล้านคน ไร้ที่อยู่อาศัยและต้องอพยพออกจากพื้นที่พำนักอยู่ใน 66 จังหวัด ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศเผชิญภาวะน้ำท่วม ซึ่งรวมถึงจังหวัดอยู่ในภาคการผลิต ทั้งการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฉุดการเติบโตจีดีพีระดับ 7.8% ในปี 2553 เหลือเพียง 0.1% ในปี 2554 หลังจากจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่มีสัดส่วน 50% ของการคำนวณหาจีดีพีทั้งปี หดตัวมากถึง 11%
รัฐบาลไทยตอบสนองต่อสถานการณ์น้ำท่วม ด้วยการกำหนดนโยบายครอบคลุม รวมถึงการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง การวางแผนการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และทาง ธปท. ได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ในงานวิจัยของไอเอ็มเอฟ พบว่า ช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้น นโยบายการเงินภายใต้ “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น” (Flexible Inflation Targeting : FIT) ที่ชัดเจนน่าเชื่อถือ และอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถเคลื่อนไหวได้ยืดหยุ่นตามกลไกตลาด มีส่วนสำคัญในการลดทอนผลกระทบและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยไทยนำเอฟทีไอมาใช้อย่างเป็นทางการในเดือนพ.ค. ปี 2543 ความสอดคล้องกับเป้าหมายนี้คือปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เป้าหมายหลักของธปท.เพื่อให้แน่ใจเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งกำหนดให้ต่ำกับเงินเฟ้อคงที่ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ดำเนินการพิจารณาพัฒนาการเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ ให้เหมาะสมกับการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลังจากนำกรอบงานนโยบายการเงินใหม่มาใช้ เศรษฐกิจไทยช่วงปี 2544-2550 มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.6% และจีดีพีขยายตัวเฉลี่ยต่อปี 5.1%
ในบทวิจัยทางเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ประมาณการว่า หากประเทศไทยไม่ได้ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ เอฟไอที และมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น แต่ใช้กรอบอื่นเช่น กรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริงถึง 3.7% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับปกติที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี
งานศึกษาของ ไอเอ็มเอฟ ชิ้นนี้ ยังให้ข้อสังเกตว่า กรอบ เอฟไอที นอกจากจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำแล้ว กรอบนโยบายนี้ยังมีความยืดหยุ่นพอ เพราะไม่ได้มุ่งแค่เป้าหมายแคบๆ ในระยะสั้นแต่เน้นเป้าหมายเป็นกรอบกว้างในระยะปานกลาง จึงทำให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะใช้ดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจและลดความผันผวนระยะสั้น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากภายนอกได้
งานวิจัยนี้ยังได้ยกตัวอย่างการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงปลายปี 2551 ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2.5% จาก 3.75% ไปอยู่ที่ 1.25% ต่อปี ถือเป็นอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งการปล่อยให้ค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวได้ตามกลไกตลาด ว่า การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวมีส่วนช่วยรองรับผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้มาก
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น