ตลอดห้วงเวลาหนึ่งปีเศษ รัฐบาลใต้ปีกการนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้เป่านกหวีดเปลี่ยนตัว ผู้เล่นไปแล้ว 2 ครั้ง จนล่วงมาถึงการทำคลอดบัญชี “ครม.ชุด 3” ที่มีการเปลี่ยนตัว “ทีมรัฐมนตรี” แบบปรับโฉมใหม่ใน 23 เก้าอี้
เหนืออื่นใด การปรับใหญ่รอบนี้ ยังถือได้ว่าเป็นการล้างบัญชีหนี้บุญคุณใน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”...ชุด 1 และชุด 2 ที่เคยเป็น “ต้นทุนทางการเมือง” ผ่านท่อร้อย-สายในอาณาจักรชินวัตร รวมถึงระบบ โควตา ภาคที่มีการ “เขย่า” กันต่อเนื่องโดย มุ้งการเมืองในพรรคเพื่อไทย
ยิ่งหนนี้มี “รัฐมนตรี” ที่ถูกปรับออกมากถึง 21 ตำแหน่งด้วยกัน “เปิดทาง” ให้มีการจัดแถวรัฐมนตรีใหม่ 21 คนเข้ามา ปะ-ผุ...ก่อผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้แก่ “รัฐบาล” ในการขับเคลื่อนนโยบายเมื่อเข้าสู่ขวบปีที่ 2
เหตุผลในด้านหนึ่งคือ “การจัดสรรอำนาจ” ให้คนหน้าเก่าอย่าง “ประชากรบ้าน 111” ตอบแทนให้หลังปลดพันธนาการ เมื่อคราวพฤษภาป่าช้าแตก! ในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการ “จ่ายหนี้...เคลียร์สิน” ให้กับคนใน-นอกพรรคที่เป็นท่อร้อยสายพันคอน-เน็กชั่น และมีสัญญาต่างตอบแทนซึ่งกัน
ทั้งหมดทั้งปวง เป็นการ “ก้าวข้าม” ระบบโควตาพรรค เพื่อให้ “ยิ่งลักษณ์” ได้จัดแถวรัฐมนตรีใหม่ ด้วยการเพิ่มตัว “ผู้เล่น” ประหนึ่งว่าเป็นการ “เปลี่ยนโฉมหน้ารัฐบาล” เพื่อรับศึกรอบด้านที่กำลังเขย่าแรงๆ อยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะเวทีอภิปราย ไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านได้ตระเตรียม “หอกแหลม” เอาไว้กรีดแทงรัฐบาลในศึกซักฟอกที่ขยับเข้ามาใกล้ทุกขณะ
ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลเองก็คงรอ คิวแถลงผลงานรอบ 1 ปี ซึ่งผลงานทุกนโยบายรายกระทรวง ก็ถูกรวบรวมไว้แล้ว แต่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมือง! ทีมงานยุทธศาสตร์จึงได้กำหนด วัน น. เวลา น. รอแถลงนโยบายให้ใกล้เคียงกับการเปิด เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ให้มากที่สุด ซึ่งคงจะทำให้กระแสบี้ตรวจสอบ “รัฐบาล” น่าจะลดดีกรีลง สกัดไม่ให้ “ยิ่งลักษณ์” และทีมเสนาบดี โดนขยายทั้งแผลเก่า-แผลใหม่ โดยเฉพาะกรณี “รับจำนำข้าว” และเงื่อนปมส่อทุจริตอีกหลายรายการ โดยอีกป้อมประตูค่ายที่ “ทีมกุนซือไทยคู่ฟ้า” วางเอาไว้ ก็คือ 16 นโยบายเร่งด่วนแห่งรัฐ ที่ถูกแช่แข็งไปชั่วขณะ...หยุดความคืบหน้าไว้ที่ตัวเลขหนึ่งปี ซึ่งที่เหลือก็คงปล่อยให้เป็น “ผลงาน” ของทีมงานชุดใหม่
เพราะหากว่าไปถึง “ผลงาน” ที่ผ่านมาของรัฐบาล...แน่นอนสปอตไลต์ยังโฟกัสไปที่ “ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ที่ถูกโจมตีอย่างหนักว่า ไร้ซึ่งผลงาน และล้มเหลวโดย สิ้นเชิง!
เช่นกรณีรองนายกฯ ที่กำกับดูแลด้าน เศรษฐกิจ รวมถึงเก้าอี้ รมว.กระทรวงการ-คลัง ที่ดูแลโดย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” แม้จะถูกโจมตีอย่างหนัก จากการหลุดปากวรรคทองอย่าง “ไวต์ไลน์” หรือ “โกหกสีขาว” จนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ไปทั่วประเทศ ทว่าเก้าอี้ยังคงเหนียวแน่น เพราะ “เดอะโต้ง” ถือว่าเป็นที่ไว้วางใจของนายกฯ
ขณะที่เก้าอี้ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ที่มี “บุญทรง เตริยาภิรมย์” ทำหน้าที่อยู่นั้น ก็รู้กันดีถึงสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ “สายเหนือ” ทั้งที่เคยมีกระแสข่าวถูกปรับออกมากที่สุด จากปัญหารับจำนำข้าว แต่สุดท้ายยังคงเหนียวแน่นอยู่ได้ เพื่อรองรับการอภิปรายจาก “ฝ่ายค้าน” ซึ่งหากถูกปรับออก นั่นย่อมทำให้ “รัฐบาล” ก้มหน้ารับผิดในความล้มเหลวไปในตัว ที่สำคัญ “บุญทรง” ยังทำงานได้เข้าขากับ “ยิ่งลักษณ์” เป็นอย่างดี โดยไม่ลืมคอนเซปต์ที่ว่า...ต้องไม่เด่นจนกลายเป็นข่ม “ผู้นำหญิง” ขณะเดียวกันยังถือว่ามีฐานการเมืองที่ควบแน่น และสามารถทำงานต่อทันที โดยเฉพาะ “รับจำนำข้าว” ที่กำลังคาบลูกคาบดอก หาก คิดจะเปลี่ยนม้ากลางศึกอาจไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลมากเท่าไรนัก
ด้านกระทรวงพลังงานที่มีการเปลี่ยน หัวใหม่ หลัง “อารักษ์ ชลธาร์นนท์” ขุนพลแห่งอาณาจักรชินฯ ถูกปรับออก ซึ่งปฏิเสธ ไม่ได้ว่า...ผลงานที่ผ่านมาของ “อารักษ์” ดูจะไม่เข้าตา “ฝ่ายการเมือง” สักเท่าไหร่... เอาแค่เรื่องปรับโครงสร้างก๊าซแอลพีจี ที่เจ้ากระทรวงคนเก่ามักทำให้เกิดความตื่นตระหนกมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะการประกาศว่าจะ “ลอยตัวก๊าซหุงต้ม” ให้เป็นไปตามตลาดโลก ก็ยิ่งทำให้เกิดกระแสสังคม วิพากษ์อย่างรุนแรง
พลันให้ชื่อของ “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ที่เพิ่งกรุแตก! ได้เข้ามาแทนที่ เพราะเป็น “นายทุนสายตรง” ที่สังคมย่อมรับรู้กันอยู่แล้ว ซึ่งภารกิจเร่งด่วน ของ รมว.กระทรวงพลังงานคนใหม่ ก็หนีไม่พ้นเผือกร้อนอย่างเรื่องการปรับโครงสร้าง ราคาพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นหนี้อยู่กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงบัตรเครดิตพลังงาน เพราะ เรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับค่าครองชีพของประชาชน แทบทั้งสิ้น
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมในโควตา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ก็มีการเปลี่ยน กันใหม่เช่นกัน เพราะยังมี “เผือกร้อน” ที่รัฐมนตรีใหม่ต้องเข้ามาจัดการ คือ มาตรการ ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีให้แข่งขันกันมากขึ้น หลังจากในปีหน้ารัฐบาลประกาศปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทต่อวัน ทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมไปการเตรียมก่อนเข้าสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน “เออีซี” ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ยิ่งถ้าพิจารณาตัวบุคคลที่เข้าประจำการใน “ครม.ปู 3” ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการปรับ...เพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในหลายเงื่อนประเด็น
นั่นเพราะเป็นการจัด “ทีมยุทธ-ศาสตร์เศรษฐกิจ” ให้กับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และจัดทีมรัฐมนตรีไว้เป็น “กันชน” ในทำเนียบรัฐบาล มีทั้งเพิ่มเก้าอี้รองนายกฯ อีก 3 ตำแหน่ง...เพิ่มรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อีก 2 ทำให้มีองครักษ์ข้างกาย “ผู้นำหญิง” มากถึง 9 คนเข้าไปแล้ว
โจทย์อีกข้อหนึ่ง คือ การที่ “ยิ่งลักษณ์” สามารถตรึงหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไว้ได้ ซึ่งทำให้ “เดอะโต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ทำหน้าที่ควบเก้าอี้ “ขุนคลัง” ต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้สร้างทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการลงทุนทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเสริมทีมต่างประเทศ ดึงตัว “เสี่ยปึ้ง” สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เข้ามาประจำการในทำเนียบอีกตำแหน่ง เช่นเดียว กับ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” กูรูด้านกฎหมาย ที่มารั้งเก้าอี้ “ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาและสาง ปัญหาการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรรองรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
พร้อมไปกับการวางตัว “ปลอด-ประสพ สุรัสวดี” ให้ทำหน้าที่ “ควบคุม” อภิโปรเจกต์น้ำมูลค่า 3.5 แสนล้าน แตะมือ กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รมว.กระทรวงคมนาคมคนใหม่ ที่เป็นองครักษ์พิทักษ์นาย หญิง และเคยทำหน้าที่ร่วมกับ “ปลอด-ประสพ” มาตลอดระยะ 8 เดือนเศษ อีกทั้งได้มีการวางตัวอดีต รมช.กระทรวงการคลัง 2 สมัยอย่าง “วราเทพ รัตนากร” เข้ามาเป็น “เกราะชั้นใน” บนเก้าอี้ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ได้รับการแบ่งงานจากนายกฯ ปู ให้ดูแลงานของสำนักงบประมาณการ ขับเคลื่อนนโยบายกองทุนที่ “เพื่อไทย” เคยหาเสียงไว้ ทั้งกองทุนตั้งตัวได้ และกองทุนหมู่บ้าน SML หรือแม้แต่กองทุนอุดหนุนสินค้าเกษตร ส่วนงานประชาสัมพันธ์ เชิงรุกก็ยังมี “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” เป็นผู้วางยุทธศาสตร์ร่วมกับ “ศันสนีย์ นาค-พงศ์” ที่ผันตัวมาจากทีมโฆษกฯ ผ่านการผลักดันของ “เสี่ยปุ้ม” สุรนันทน์ เวชชา-ชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้วอร์รูมไทยคู่ฟ้าทำหน้าที่คู่ขนานกับทีมยุทธศาสตร์
ขณะที่ในตำแหน่งของ “น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” รมว.กระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมจะขึ้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เฟสใหม่ ส่วน “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ก็ถูกวางบทบาทให้ดูแลงานด้านความมั่นคง และเป็นด่านแรกทางการเมืองให้นายกฯ หญิง เพื่อสกัดกั้นการรุมสกัมของฝ่ายค้านและผู้แทนในสภาสูงที่รอเวลาจัดหนักรัฐบาล ผ่านเวทีสภาฯ ตลอดทั้งจัดการปัญหาเรื่องม็อบข้างถนน
เป็นไปได้ว่า จากนี้ไปการขึ้นเฟสใหม่... นโยบายการลงทุนภาครัฐ และสะสางนโยบายเก่า จะอยู่ภายใต้การจัดการของ “คนกลุ่มหนึ่ง” ที่ถูกดึงมาอยู่ข้างกายผู้นำ โดยเป็นรัฐมนตรีที่ครบเครื่องในหลากหลาย ด้าน และยังขึ้นตรงต่อ “นายหญิง” เพื่อผสานยุทธศาสตร์ “ทักษิณคิด...เพื่อไทยทำ”
เหนืออื่นใด นอกจากทีมเสนาบดี “ข้างกายผู้นำ” แล้ว ยังมีการประสานงานร่วมกับที่ปรึกษานายกฯ ที่มี 2 อรหันต์อย่าง “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร และ “พัน-ศักดิ์ วิญญรัตน์” ร่วมกำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในระดับนำไปสู่ระดับการปฏิบัติการ ตลอดทั้งวางยุทธศาสตร์จัดการเม็ดเงินทั้งในและนอกงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ การ “สะสาง” งานไม่คืบหน้า เช่น การรับจำนำข้าว ปฏิรูปธุรกิจการเกษตร การจัด การหนี้สาธารณะ และบริหารเงินกู้สำหรับโครงสร้างการลงทุนพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท
เช่นที่ว่านี้ นโยบายด้านเศรษฐกิจคงต้องได้รับการเซ็ตอัพกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะการ “อุดรูรั่ว” การเงินคงคลังของประเทศ ตลอดจน “หาทาง” แก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ อันเป็นช็อตต่อเนื่องจาก “ภาวะเงินเฟ้อ” และราคาเชื้อเพลิงที่ถีบตัวสูงขึ้น รวมถึงแรงเหวี่ยงจาก “วิกฤติเศรษฐกิจโลก” และอีกนโยบายเร่งด่วนที่ทีมเศรษฐกิจต้องรุดมือเข้าจัดการ นั่นคือการยกระดับคุณภาพชีวิต ให้กับประชาชน เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพ ให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค
เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสารพันปัญหาที่รุมเร้า! ซึ่งที่สุดแล้ว “รัฐบาล” คงต้อง ขับเคลื่อนนโยบายควบคู่ไปกับการจัดการ “ทุกองคาพยพ” เพื่อพิสูจน์กึ๋น...รัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ หากวันนี้รัฐบาลยังเต็มไป ด้วยความอ่อนแอ หรือมีความ “อ่อนด้อย” ในนโยบายเศรษฐกิจเช่นแต่ก่อน แน่นอนในยกแรกก็เตรียมล้างคอให้ “ฝ่ายค้าน” ยกเอาความล่อแหลมเหล่านี้ไป “ขยายผล” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ที่กำลังรูดม่านขึ้น ซึ่งหากแก้ไม่ตก-คิดไม่ออก ก็คงได้เผชิญกับความล้มเหลวแบบซ้ำซาก เพราะถ้าการวางตัวผู้เล่นใน “ครม.ปู 3” เป็น ไปแบบผิดฝาผิดตัว หรือเพื่อปูนบำเหน็จ-บำนาญให้แก่พวกพ้องแต่เพียงอย่างเดียว นั่นอาจนำมาซึ่งหายนะของรัฐบาลในเวลาอันใกล้
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น