อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน หวั่นเปิดเสรี 4 สาขา กระทบจ้างงานภายในประเทศ
กระทรวงแรงงาน สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 หัวข้อ"อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน" เพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์ถึงแนวความคิด ทิศทางระบบเศรษฐกิจไทย และผลกระทบของการดำเนินการทางเศรษฐกิจต่อการประกอบการ ในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งมิติการทำงานและคุณภาพชีวิตแรงงาน
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผลจากการเปิดประชาคมอาเซียนจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในกลุ่มประชาคมรวมตัวเป็นตลาดเดียวกัน เพื่อสร้างฐานการผลิตเดียวกัน โดยกระทรวงแรงงานถูกจัดเป็น 1 ใน 9 กระทรวง รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของภาคแรงงานหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน ได้มีข้อตกลงยอมรับการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ถึง 7 สาขาอาชีพ คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี จึงมีความกังวลว่าในอนาคตประเทศไทยอาจขาดแคลนแรงงาน ให้กับประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า โดยเฉพาะประเทศสิงค์โปร์ และมาเลเซีย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งปรับปรุงสถานการณ์การจ้างงานภายในประเทศให้มีความพร้อม เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต
นายเผดิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีการขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาคุณภาพแรงงาน โดยรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชาการพลเรือน(ก.พ.) ดำเนินการพัฒนาสมรรถนะหลักเกี่ยวกับการทำงาน และสมรรถนะตามหน้าที่รับผิดชอบ รวมถึงพัฒนาทักษะด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาประเทศอาเซียน โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเน้นคุณภาพแรงงานทั้งในและนอกระบบ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยไปต่างประเทศ ให้ไปอย่างยุติธรรมและเหลือเงินกลับมา ทั้งนี้ในแต่ละปีแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ส่งเงินกลับมายังประเทศไทย กว่า 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นแรงงานในภาคการเกษตร ร้อยละ 40 ภาคบริการ ร้อยละ 40 และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 20
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 ป้องกันแรงงานไหลออกนอก
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถาหัวข้ออนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า หากประเทศไทยสามารถรักษาระดับการเติบโตให้อยู่ในระดับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบและกลายเป็นศูนย์กลางตลาดในภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาการกระจายรายได้และความไม่เป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ ยังถือเป็นประเด็นสำคัญที่ฉุดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยการพลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อกระจายรายได้ไปยังกลุ่มแรงงานให้มากขึ้น
ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า แม้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงอย่างก้าวกระโดด แต่อย่างไรก็ตามถึงที่สุดแล้วการเพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานก็ต้องทำอยู่ดี แต่ขณะเดียวกันทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะผลจากการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้ตลาดแรงงานกว้างมากขึ้น และการเคลื่อนย้ายแรงงานจะทำได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าค่าจ้างในประเทศไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แรงงานไทยก็อาจย้ายออกไปทำงานนอกประเทศจนขาดแคลน
"โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจอุตสาหกรรมในมุมมองของนายจ้างมีหลายลักษณะ เช่น โอกาสที่มากขึ้นในการเลือกจ้างแรงงานที่มีคุณภาพ ทำให้อำนาจในการต่อรองแรงงานลดน้อยลงโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็จะสามารถย้ายการผลิตไปใช้แรงงานที่สอดคล้องกับการผลิตมากกว่า เพราะหากมีการเปิดเสรีแรงงานอย่างเต็มที่จะส่งผลให้อัตราจ้างค่อยๆ ปรับลดลง แต่ในด้านความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ประเด็นสำคัญคือนายจ้างอาจสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพให้กับประเทศอาเซียนที่จ่ายค่าตอบแทนสูงกว่า" ดร.อนุสรณ์ กล่าว
ประเทศพัฒนาแล้วกีดกันแรงงานระดับล่าง
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการยกเลิกกฎเกณฑ์การจัดตั้งสาขาบริษัทต่างชาติ เช่น เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน ร้อยละ 49 ในธุรกิจของไทย หรือกฎหมายถือครองที่ดิน แต่ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้ประเทศที่พัฒนาแล้วอนุญาตให้เข้าไปทำงานได้อย่างสะดวก เช่น แรงงานภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และตัดเย็บ แต่ปรากฏว่าประเทศที่พัฒนาแล้วทำการต่อต้านอย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าแรงงานระดับล่างจะทะลักเข้าประเทศจนทำลายระบบสวัสดิการ ระบบเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศ การค้าบริการรูปแบบเคลื่อนย้ายแรงงาน จึงมีมูลค่าเพียง ร้อยละ 1.4 ของการค้าบริการระหว่างประเทศทุกรูปแบบ แต่กลับกันการตั้งกิจการในต่างประเทศกลับมีมูลค่าสูงถึง ร้อยละ 56.3 ของมูลค่าบริการทั้งหมด
หวั่นเปิดเสรี 4 สาขา กระทบจ้างงานภายในประเทศ
นายยุทธนา สุระสมบัติพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลกระทบด้านแรงงานไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่า นอกจากผลกระทบการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มฝีมือ ทั้ง 7 อาชีพแล้วนั้น ผลกระทบทางอ้อมในระยะยาว กลุ่มสินค้า บริการ การลงทุน และเงินทุน ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานมากขึ้น เนื่องจากการเปิดเสรีใน 4 สาขา จะส่งผลให้รูปแบบการประกอบการในอาเซียนเปลี่ยนไป เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี ซึ่งจะส่งผลให้ภาษีนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศลดลงจนถึงขึ้นไม่เก็บภาษี ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เปลี่ยนไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่ราคาวัตถุดิบที่มีราคาถูกกว่าแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศลดลง
นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ส่วนการเปิดเสรีการลงทุนและเงินลงทุน อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของแรงงานภายในประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนการจ้างงาน จากเดิมที่เน้นจ้างแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก ไปเป็นการประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและแรงงานฝีมือ เพราะจะช่วยให้สามารถสร้างมูลค่าได้สูงกว่าการประกอบการแบบเดิม
แนะเอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพการผลิต
ดร.วีระชัย กู้ประเสริฐ กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเปิดประชาคมอาเซียน ทำขึ้นเพื่อปรับตลาดและปรับฐานการผลิตร่วมกันในภูมิภาค ดังนั้นทั้งตลาดสินค้าและบริการจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งถึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูปส่งออกอาหารฮาลาลให้กับประเทศมุสลิม หากว่าประเทศไทยมีความสามารถผลิตอาหารมุสลิมป้อนตลาดก็จะถือเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบที่มีอยู่ นอกจากนี้ประเทศกลุ่มอาเซียนไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ 10 ประเทศในภูมิภาคเท่านั้น เพราะยังมีอาเซียน+3 +6 จึงอยากให้มองเป็นโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทำการพัฒนาสินค้าและศักยภาพการผลิต
"ประเทศไทยก็ยังมีความได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว ในแต่ละปีสามารถนำเงินเข้าประเทศไทยได้มากมาย ขณะเดียวกันในยุคนี้เป็นยุคเศรษฐกิจแบบฐานความรู้ ความด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและงานวิจัยจะถูกนำมาใช้มากขึ้น โดยนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยในขณะนี้ประเทศไทยก็ได้มีสถาบันส่งเสริมวิชาชีพ เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงาน เพราะคุณภาพของแรงงานจะเป็นตัวสะท้อนค่าจ้าง ยิ่งมีทักษะความสามารถสูงก็จะยิ่งได้ค่าแรงสูงตามไปด้วย" ดร.วีระชัย กล่าว
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น