--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มองให้รอบก่อนบุก เวียดนาม !!?

คอลัมน์ รู้จักอาเซียนโดย : กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ



กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสัมมนาเรื่อง "ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม : มิติใหม่แห่งการขยายการค้า และการลงทุน" ในช่วงที่ผ่านมา โดยเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในเวียดนาม

ดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดแข็งของเวียดนามในการพัฒนาประเทศว่า เวียดนามมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผสมผสานระหว่างระบบสังคมนิยมและการตลาด ซึ่งเปิดให้เวียดนามสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเสรีนิยม เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีจุดแข็งที่การเมืองมีเสถียรภาพสูง ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ทั้งยังมีแรงงานจำนวนมาก ค่าแรงอยู่ในอัตราต่ำ แต่มีความใฝ่รู้ และมีวินัยในการทำงานจนเป็นที่นิยมของนายจ้างชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าและการลงทุน

ในแง่ของการลงทุนในเวียดนาม นางวาสนา มุฑุตานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้แง่มุมว่า ตลาดในประเทศเวียดนามมีขนาดใหญ่ และปัจจุบันเวียดนามยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) หรือการได้รับการลดหย่อน/ยกเว้นอากรในการส่งสินค้าไปยังประเทศตะวันตก, การให้สิทธิพิเศษในการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแก่นักลงทุน, มีกฎหมายคุ้มครองนักลงทุน โดยจะไม่มีการยึดหรือโอนทรัพย์สินของนักลงทุนมาเป็นของรัฐ และอำนวยความสะดวกในการโอนเงินลงทุนและผลกำไรที่ได้กลับประเทศอีกด้วย

ด้าน นางสมหทัย พานิชชีวะ ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และนายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจในเวียดนามว่า ข้อสำคัญ คือควรทำประกันความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากเวียดนามมีข้อจำกัดในเรื่องความผันผวนของค่าเงินด่อง

อีกทั้งรัฐบาลก็ยังไม่อนุญาตให้ใช้เงินดอลลาร์ในการลงทุน ดังนั้น บริษัทที่เข้าไปลงทุนจึงควรมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพราะเวียดนามปรับเปลี่ยนกฎหมายด้านการลงทุนและภาษีอยู่เป็นประจำ สุดท้ายคือควรสร้างพันธมิตรกับเอกชนอื่น ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับภาครัฐ

ด้านภาคเอกชน นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และนายสุเวศ วังรุ่งอรุณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนว่าความท้าทายของนักทุนไทย คือการขอใบอนุญาตประกอบการ ซึ่งใช้เวลานาน, ต้นทุนอสังหาริมทรัพย์สูง และควรลงทุนด้านเครื่องจักร เพื่อเพิ่มสัดส่วนในการผลิต ซึ่งสามารถลดปัญหาอัตราค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในอนาคตการใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกในเวียดนามอาจจะไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ เวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำว่าร้อยละ 10 ในทุก ๆ ปี

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น