ในรอบสัปดาห์นี้ ประเทศไทยคึกคักอย่างมากเนื่องจาก “แขกสำคัญ” ทั้งผู้นำสหรัฐและจีนต่างมาเยือนในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นสัญญาณอันดีว่าไทยต้องปรับตัวและหาจุดสมดุลทางการทูตระหว่างมหาอำนาจทั้งสองชาติของโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
แต่ในรอบสัปดาห์เดียวกัน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้หารือกับ “ผู้นำประเทศ” อีกคนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
นั่นคือนายมานโมฮัน ซิงค์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย
ภาพจาก thaigov.go.th
แม้นายซิงค์ไม่ได้แวะมาเมืองไทย แต่ก็เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก East Asian Summit ที่ประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน นอกจากการหารือระดับพหุภาคีกับอาเซียนทุกชาติแล้ว นายซิงค์ยังมีกำหนดการเจรจาแบบทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีไทยอีกด้วย
เนื้อหาการเจรจาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนา “พื้นที่ด้านตะวันตก” ของไทย ตามแนวทาง Look East ของอินเดีย และ Look West ของประเทศไทย ซึ่งมี “พม่า” เป็นพื้นที่ตรงกลาง โดยเน้นหนักไปที่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมคือโครงการทางหลวงสามฝ่าย (ไทย พม่า อินเดีย) แต่ก็ยังมีข้อตกลงอื่นๆ เรื่องการค้าการลงทุนอีกด้วย
นอกจากการหารือกับนายกรัฐมนตรีอินเดียแล้ว นายกยิ่งลักษณ์ยังมีกำหนดหารือทวิภาคี กับ นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดี สหภาพเมียนมาร์ ในเรื่องท่าเรือทวายด้วยเช่นกัน
การพบปะกับผู้นำชาติที่อยู่ทาง “ตะวันตก” ของประเทศไทยทั้งสองชาติ เป็นสัญญาณที่ดีว่าไทยเองก็ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันมากขึ้น หลังจากที่ถูกปิดกั้นทาง “มายาคติ” มานานว่าพรมแดนด้านตะวันตกของไทยคือพม่า ชาติคู่แค้นในอดีต และชาติล้าหลังในปัจจุบัน
ไทยต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ มองพรมแดนด้านตะวันตกให้เป็น “โอกาส” ของการค้าและการลงทุน ใช้จังหวะที่พม่ากำลังเปิดประเทศเชื่อมโยงไปยังอินเดีย มหาอำนาจอีกรายของเอเชีย
พื้นที่การพัฒนาฟากตะวันตกของประเทศไทย ด้านทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล อยู่ภายใต้องค์กรความร่วมมือ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for MultiSectoral Technical and Economic Cooperation) ซึ่งมีประเทศสมาชิกคือ ไทย พม่า บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล อินเดีย และศรีลังกา ซึ่งประเทศในกลุ่มมีการประชุมระดับรัฐมนตรีกันเป็นระยะ แต่ความสำคัญยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ
อินเดียถือเป็นมหาอำนาจของเอเชียอีกประเทศหนึ่ง ควบคู่ไปกับจีนและญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าอินเดียจะอยู่ใกล้ชิดกับภูมิภาคอินโดจีน แต่กลับไม่มีทางเชื่อมถึงกันยกเว้นผ่านพม่า ดังนั้นไทยควรใช้ประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอินเดีย ขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย
ข้อมูลจาก สำนักข่าวแห่งชาติ และ MCOT
ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น