นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบขยายเวลาการใช้มาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ ใน 2 มาตรการ อีก 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ได้แก่ 1.ขยายเวลาการลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จากปัจจุบันเก็บเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 5 ลดลงเหลือจัดเก็บฝ่ายละร้อยละ 4 ส่วนเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลยังส่งในอัตราเดิมร้อยละ 2.75 ทั้งนี้ จะทำให้เงินสมทบใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร จะเก็บได้เพียง 20,000 ล้านบาท จากที่เคยเก็บได้ 60,000 ล้านบาท แต่ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการให้สิทธิประโยชน์ทั้ง 4 กรณี แก่ผู้ประกันตนแน่นอน
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า 2.ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้อยู่ 10,000 ล้านบาท แต่มีผู้ประกอบการยื่นกู้เพียง 794 ล้านบาท และที่ประชุมได้เห็นชอบปรับเพิ่มวงเงินกู้ โดยสถานประกอบการที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน จากเดิมกู้ได้ 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51-200 คน เดิมกู้ได้ 2 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4 ล้านบาท และสถานประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน เดิมกู้ได้ 4 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8 ล้านบาท และที่ประชุมได้มอบให้ สปส.หารือกับธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง สปส.ฝากเงินกองทุนประกันสังคมไว้ ปรับขั้นตอนการกู้ให้สะดวกมากขึ้น
"ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ขยายเวลาการจ้างพนักงานเร่งรัดหนี้สิน 179 คน ไปอีก 1 ปี เนื่องจากสามารถทำงานได้ดีในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา โดยสามารถทวงหนี้จากนายจ้างที่ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 1,290 ล้านบาท จากยอดหนี้ค้างชำระสะสมอยู่กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งการจ้างเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ใช้เงินทั้งหมด 22 ล้านบาท ถือว่าคุ้มค่ากับเงินเดือนที่จ่ายไป" นพ.สมเกียรติกล่าว
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีมติปลดนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากละเลยการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทว่า นายพยุงศักดิ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปรับค่าจ้าง เพราะการปรับค่าจ้างเป็นเรื่องของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีตัวแทนจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง จึงไม่อยากให้โยงเรื่องการปลดนายพยุงศักดิ์กับการปรับค่าจ้างเข้าด้วยกัน เพราะไม่เป็นธรรมกับนายพยุงศักดิ์
นายเผดิมชัยกล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ได้เข้าข้างหรือรู้จักกับนายพยุงศักดิ์เป็นการส่วนตัว เพราะที่ผ่านมา การที่ ส.อ.ท.เดินทางเข้าพบที่กระทรวงแรงงาน ไม่ใช่นายพยุงศักดิ์ มีเพียงนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท.สายแรงงาน และนายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. สายงานเศรษฐกิจโลจิสติกส์เท่านั้น จึงเชื่อว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจ เพื่อคัดค้านการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ไม่รู้สึกกังวล เนื่องจากกระทรวงแรงงานได้เตรียมพร้อมรับมือไว้อยู่แล้ว แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้รับความร่วมมือในการส่งข้อมูลผลกระทบจาก ส.อ.ท.ก็ตาม
นายเผดิมชัยกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการส่งรายชื่อตัวแทนจาก ส.อ.ท.เข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงแรงงานและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ และตัวแทนลูกจ้าง เพื่อติดตามปัญหาและผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะนี้ ส.อ.ท.ยังไม่มีการส่งรายชื่อตัวแทนเข้ามา แต่สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศหาข้อมูลผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยวันที่ 8 ธันวาคมนี้ จะเรียกผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงแรงงานทั่วประเทศเข้ามาประชุม เพื่อรับทราบข้อมูลผลกระทบของภาคธุรกิจ โดยแบ่งตามลักษณะผลกระทบและพื้นที่ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่อไป
รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการ ส.อ.ท.มีมติปลดนายพยุงศักดิ์พ้นจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.น่าจะเกิดจากการที่ไม่ได้ออกมาแสดงบทบาทในการคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันผู้บริหาร ส.อ.ท.บางส่วนก็มีธุรกิจซึ่งต้องใช้แรงงานแบบเข้มข้น ทำให้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างมาก ส่งผลให้ผู้บริหารและสมาชิก ส.อ.ท.เกิดความไม่พอใจในการทำงานของนายพยุงศักดิ์
"เวลานี้ ส.อ.ท.ควรเร่งคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อศึกษาผลกระทบและวางมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีใน 29 จังหวัด ที่อัตราค่าจ้างมีการปรับเพิ่มแบบก้าวกระโดด และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เน้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10-200 คน ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ซึ่งสามารถปรับตัวได้ โดย ส.อ.ท.ควรผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้ทันกับการปรับขึ้นค่าจ้าง" รศ.ยงยุทธกล่าว
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น