ประเด็นการขับไล่ยังเดินหน้าต่อไป แม้จะมีการยอมรับหรือลงสัตยาบัน การขับไล่ก็ยังเดินหน้าเป็นปรกติ แต่รัฐมนตรีปึ๋ง (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) จะตัดสินใจแบบปึ๋งๆหรือเปล่า ไม่ว่าตัดสินใจทางไหนก็ต้องมีคำตอบให้เห็นว่ารัฐ บาลนี้ไม่ได้คิดเพื่อตัวเอง แต่มองไปวันข้างหน้า ถ้าประ เทศเราต้องกลับไปถูกกระ บวนการคว่ำรัฐบาลในวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างน้อยก็จะมีภูมิต้านทาน โดยรัฐมนตรีปึ๋งควรจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน 2 ข้อนี้ จะประกาศชัดเจนก็ได้ แต่ถ้าลังเลเรื่องการยอมรับหรือไม่ยอมรับเขตอำนาจศาล ก็ร่วมลงสัตยาบันไปเลย ก็ไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่อยู่ในภาวะไม่ตัดสินใจอะไรเลย อีกฝ่ายหนึ่งเขาต้องการให้รัฐบาลพ้น วันนี้เราต้องอยู่อย่างมีเกียรติ คิดถึงคนที่ตาย รวมถึงเรื่องที่เกิดความไม่เป็นธรรมในประเทศ ถ้าวันหน้าเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชน จะให้เหตุผลกับประชาชนเขาอย่างไร”
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้ความเห็นเรื่องการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC-International Criminal Court) ว่าไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 แต่ถ้าจะลงสัตยาบันก็เข้าข่ายมาตรา 190 ถ้ารัฐบาลวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองก็ยื่นให้รัฐสภาเห็นชอบตามมาตรา 190 ไปเลย เพราะไม่ได้มีผลแค่คดี 98 ศพเท่านั้น แต่ทุกคดีที่ฝ่ายค้านสงสัย อย่างเรื่องฆ่าตัดตอน การยอมรับเขตอำนาจ ICC หรือลงสัตยาบันจึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ฝ่ายค้านจะได้พิสูจน์เรื่องข้อกล่าวหา “นี่คือวัคซีนประชาธิปไตยและป้องกันการรัฐประหารในอนาคต”
นายจตุพรเตือนคนเสื้อแดงและรัฐบาลว่า ขณะนี้สถานการณ์กำลังคืบคลานเข้าสู่การรัฐประหาร ฝ่ายตรงข้ามกำลังจัดเตรียมอย่างเป็นระบบ ก่อนหน้านี้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เปรียบเทียบเป็น “จ๊อกกี้” แต่ตอนนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเจอกับ “สนามม้า” จึงอย่าประมาทหรือประเมินแค่ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม เพราะมีการสลับฉากหน้าให้ดูเหมือนว่าไม่มีกำลัง แต่เบื้องหลังไม่ได้มีแค่สนามม้า แต่มีทุกคอก ทุกสังกัดที่จะรวมตัวกันโค่นล้มรัฐบาลเพื่อตัวเองจะได้ประโยชน์ การลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC จึงเป็นทางออกหนึ่ง แต่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ด้วย แม้จะถูกขับไล่แต่ได้หัวใจประชาชน ดีกว่ากลัวและนั่งลุ้นอยู่ทุกวัน
อัยการ ICC รับคำร้อง
ม็อบ เสธ.อ้ายจึงไม่ใช่ “ม็อบกระจอก” อย่างที่คนเสื้อแดงหรือคนในรัฐบาลเคยดูถูกดูแคลน แต่ยังสะท้อนชัดเจนว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็น “มหากาพย์” ไปอีกนาน เพราะ “กลุ่มเกลียดทักษิณ” ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นยังคงเดินหน้าตามล้างตามเช็ด พ.ต.ท.ทักษิณและล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เหมือนข่าวการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณที่ จะเดินทางมาท่าขี้เหล็ก ไม่ว่าจะเป็นข่าวจริงหรือเท็จ แต่ก็ทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนระอุ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็เตรียมจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขณะที่ เสธ.อ้ายก็คึกคักกับการปลุกกระแสม็อบให้มาชุมนุมขับไล่รัฐบาล ปัญหาอยู่ที่ว่าจะมีคนมาชุมนุมล้านคนหรือแสนคนเท่านั้น
แต่ข่าวที่ต้องจับตามองไม่น้อยไปกว่าม็อบ เสธ.อ้ายและการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณคือ กรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. นำหนังสือของสำนักงานอัยการ ICC ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 มาเปิดเผยว่า ได้แจ้งมาว่ารับคำร้องของ นปช. ก่อนหน้านี้ที่เดินทางไปเข้าพบอัยการ ICC เพื่อเรียกร้องให้รับคดีการปราบปรามประชาชนเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไว้แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ใช่สมาชิกสนธิสัญญากรุงโรม จึงไม่สามารถเข้ามาสอบสวนได้ นอกจากจะได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสห ประชาชาติตามมาตรา 13 (b) ของสนธิสัญญากรุงโรมแล้ว ประเทศไทยต้องลงนามยอมรับเขตอำนาจของศาลก่อน โดยการประกาศและบันทึกที่สำนักทะเบียนตามมาตรา 12 (3) ของสนธิสัญญากรุงโรม ตามข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติปี พ.ศ. 2553 เพื่อให้ศาลมีขอบเขตอำนาจ และหากจะมีการเปิดการสอบสวนก็ต้องผ่านอัยการพิจารณาใช้ดุลยพินิจเองตามมาตรา 15
นพ.เหวงจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามรับรองเขตอำนาจ ICC ซึ่งทำได้ทันทีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยเขตอำนาจ ICC ครอบคลุม “อาชญา กรรมทำลายล้างมนุษยชาติ” ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและศาลไทยยังสามารถเดินหน้าไต่สวนการเสียชีวิตคดี 98 ศพได้ต่อไป ซึ่งนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนาย นปช. ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการ ICC เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 ให้เปิดการสอบสวนเบื้องต้นเหตุการณ์ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตและถูกทำร้ายโดยกองทัพ โดยในคำร้องระบุว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ต่อผู้ชุมนุมที่เป็นพลเรือน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้นถือ 2 สัญ ชาติ “ไทย-อังกฤษ”
ปมมาร์ค 2 สัญชาติ
นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. ชี้แจงว่า การ ถือ 2 สัญชาติ “ไทย-อังกฤษ” ของนายอภิสิทธิ์คือจุดสำคัญที่สำนักอัยการ ICC รับเรื่องร้องเรียนของ นปช. แต่เพื่อให้ ICC สามารถขยายขอบเขตการตรวจสอบไปยังส่วนอื่นๆ ไม่ใช่แค่ตรวจสอบเฉพาะนายอภิสิทธิ์คนเดียว นปช. จึงเรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีประกาศรับรองเขตอำนาจ ICC เฉพาะเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ตามมาตรา 12 (3) สนธิสัญญากรุงโรมด้วย
“เรื่องนี้ไม่ทำให้ประเทศเสียหาย แต่จะทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถตรวจสำนวนเบื้องต้นและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ไทยได้ นอกจากนี้ยังเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ปราบปรามประชาชนหรือฆ่าคนกลางถนนอีกต่อไป การลงนามรับรองครั้งนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว ยกเว้นว่ารัฐบาลตั้งใจจะฆ่าประชาชนอีกเท่านั้นเอง เรายินดีให้รัฐบาลเร่งพิจารณาและทำหนังสือไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมรัฐสภา ไม่ต้องผ่านมาตรา 190 เพราะไม่ใช่การทำสนธิสัญญา และรัฐบาลไทยมีสิทธิยกเลิกเมื่อไรก็ได้ เราจะส่งรายละเอียดทั้งหมดให้รัฐบาลดู และในเวลาที่เหมาะสมอาจเดินทางไปพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อบอกให้ท่านลงนามในประกาศนี้” นางธิดากล่าว
ดึง “ศาล-สถาบัน” ต้าน ICC
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่กล้าลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC ขณะนี้แน่นอน เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นปลุกกระแสมวลชนล้มรัฐบาลได้ โดยเฉพาะ ข้ออ้างว่าจะกระทบต่ออธิปไตยของประเทศไทย ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยถูกแทรกแซง และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะธรรมนูญกรุงโรมไม่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ แม้รัฐธรรมนูญของไทยบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและฟ้องร้องไม่ได้ก็ตาม แต่ถ้ามีใครยื่นฟ้องเบื้องสูง ICC ก็สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้ แม้นักกฎหมายและนักวิชาการยืนยันว่าการยอมรับเขตอำนาจ ICC หรือการลงสัตยาบันจะไม่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือศาลไทยก็ตาม
อย่างที่นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ยืนยันว่า หากมีการลงนามรับรองเขตอำนาจร่วมระหว่าง ICC กับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเข้ามาสอบสวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ก็เป็นคนละส่วนกัน และไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของ ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช. เน้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้เกี่ยวข้องว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และคำสั่งสมควรแก่เหตุหรือไม่
ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หากมีการลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC ก็เท่ากับว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จงใจใช้อำนาจของตัวเองบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพราะคดี 98 ศพอยู่ระหว่างการไต่สวนในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ ICC จะรับพิจารณา เป็นการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรัฐบาลทราบดีว่าไม่สามารถหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ จึงต้องสร้างละครตบตาคนเสื้อแดง
นายชวนนท์กล่าวว่า คดีที่เข้าข่ายที่ ICC จะรับไว้พิจารณาคือคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น คดีการฆ่าตัดตอน เหตุการณ์กรือเซะและตากใบ โดยจะรวบรวมรายชื่อญาติของผู้ได้รับความเสียหายยื่นต่อนายสุรพงษ์เพื่อให้รับอำนาจศาลในกรณีนี้เช่นกัน
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ออกแถลงการณ์ว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองเขตอำนาจ ICC มีขบวนการหมกเม็ดและมีวาระซ่อนเร้นทาง การเมือง คนเสื้อแดงต้องการให้คดี 98 ศพขึ้นสู่ ICC แต่ไม่ต้องการให้คดีฆ่าตัดตอนสมัย พ.ต.ท.ทักษิณถูกดำเนินคดีใน ICC
ขณะที่นายสุรพงษ์เปิดเผยหลังจากหารือกับตัวแทน ICC ที่เข้าพบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มองว่าคดีฆ่าตัดตอนการปราบปรามยาเสพติดสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่เข้าข่ายที่ ICC จะรับไว้พิจารณา เนื่องจากจะรับร้องเรียนใน 4 เรื่องคือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม รุกราน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งได้ให้ ICC สรุปรายละเอียดส่งมาให้อีกครั้ง
เตือน “ตุลาการภิวัฒน์”
อย่างไรก็ตาม การประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ท้วงติงว่า แม้การตีความ “ตามตัวบท” อาจสรุปว่าไม่เข้าลักษณะ “หนังสือสัญญา” ตามมาตรา 190 แต่การตีความ “ตามเจตนารมณ์” อาจทำให้คณะรัฐมนตรีต้องยั้งคิดพิจารณาให้ดีว่าการแถลงยอมรับอำนาจ ICC จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางและมีนัยสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมไทย และจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่
เพราะมาตรา 190 บัญญัติว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่หากวันหนึ่งประเทศไทยมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาลไทยจะแถลงยอมรับอำนาจศาลโลกโดยทำคำแถลงฝ่ายเดียวให้ศาลโลกวินิจฉัยข้อพิพาทเขตแดนได้ หากสุดท้ายศาลโลกตัดสินคดีเขตแดนในทางที่เป็นคุณต่อประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะกระทบต่ออาณาเขตไทยได้ หากเป็นเช่นนี้คณะรัฐมนตรีจะแถลงยอมรับอำนาจ ICC โดยไม่ปรึก ษาหารือกับรัฐสภาเพียงเพราะการแถลงดังกล่าวไม่ใช่ “หนังสือสัญญา” กระนั้นหรือ?
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยชุดปัจจุบันได้ขยายอำนาจการตีความของตนให้ไปไกลกว่าเพียง “ตัวบท” รัฐ ธรรมนูญ คือพร้อมจะอ้างการตีความ “ตามเจต นารมณ์” แม้จะขัดแย้งกับตัวบท แต่ก็ปลุกเสกให้เกิด “ผลทางการเมือง” ตามที่ใจปรารถนาได้
นายวีรพัฒน์จึงเสนอว่า คณะรัฐมนตรีอาจแก้ปัญหาโดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เปิดอภิ ปรายทั่วไปฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ
บทเรียนผู้นำเคนยา
น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การให้ ICC มาสอบสวนข้อเท็จจริงจะทำให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้รับความ เป็นธรรมในระดับสากล ทั้งจะเปิดโอกาสให้ ICC ทำงานร่วมกับศาลไทย และเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล หรือเกิดรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทยอีก ข้อเสียจึงแทบไม่มี นอกจากคนที่กระทำผิดเท่านั้นที่หวาดกลัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในต่างประเทศก็เกิดขึ้นเช่นกัน จึงมีกระบวนการต่อต้านในแง่ข้อกฎหมาย กระบวนการปกป้องนายอภิสิทธิ์และคนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ หรืออาจถึงขั้นให้การเท็จต่อ ICC
ส่วนคดีฆ่าตัดตอนหรือคดีตากใบที่ฝ่ายค้านดึงขึ้นมานั้น น.ส.จารุพรรณกล่าวว่า ตามความเห็นคิดว่าปราศจากเจตนา แตกต่างกับคดีสลายการชุมนุมที่ประกาศชัดเจนว่ามีเขตใช้กระสุนจริง และมีกระบวนการต่างๆที่ทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเทียบเคียงได้กับในเคนยาที่มีการปราบปรามกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยนั้น และเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง โดยกระบวนการพิจารณาคดีหรือการตัดสินของ ICC จะดู 2 ลักษณะคือ เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการ กับเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการแต่มิได้ห้ามให้กระทำการนั้น ซึ่งมีอัตราโทษต่างกันตามแต่ละกรณี เช่น กรณีเคนยาประธานาธิบดีถูกตัดสินจำคุก 30 ปี
อย่างไรก็ตาม นายวีรพัฒน์มองว่าแม้จะมีการยอมรับเขตอำนาจ ICC แล้ว แต่หากกระบวน การยุติธรรมไทยทำงานได้ตามปรกติและมีความคืบหน้าตามลำดับขั้น อย่างคดีนายพัน คำกอง ICC อาจเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาคดีให้ซ้ำซ้อนอีก แม้คดีดังกล่าวจะอยู่ในเขตอำนาจของ ICC ก็ตาม
วัดใจ “เพื่อไทย”
การให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC จึงอาจเป็นแค่ “ความฝัน” ของคนเสื้อแดง อย่างที่นายใจ อึ๊งภากรณ์ เชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC เพราะไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับกองทัพ จึงไม่เคยพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. ว่ามีส่วนในการฆ่าคนเสื้อแดง พูดแต่นายอภิสิทธิ์เท่านั้น ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่าไม่มีข้อขัดแย้งกับทหาร แต่ขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ นปช. ก็คล้อยตาม
การลงนามยอมรับเขตอำนาจ ICC จึงไม่ใช่แค่ “ห่วงแขวนคอ” นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในฐานะ “ฆาตกร 99 ศพ” เท่านั้น แต่ยัง “วัดใจ” พรรค เพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าจะเลือก “แขวนคอตัวเอง” โดยยืนอยู่หลังกองทัพและกลุ่มอำมาตย์เพียงเพื่อให้มีอำนาจต่อไป และรอวันเสื่อมถอย
หรือพร้อมจะยืนเคียงข้างประชาชนและ “คนเสื้อแดง” เพื่อเอา “ฆาตกร 99 ศพ” มาลงโทษ และเปิดประตูประเทศไทยให้ก้าวสู่สัง คมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง!
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น