พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และเลขาธิการ ศอ.รอ. แถลงแนวทางการปฏิบัติของ ศอ.รส.ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน
การชุมนุมในครั้งนี้ เนื่องจากใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ใช้แผนกรกฎ 52 แต่ ศอ.รส.ได้ออกแผนปฏิบัติการที่ 1/2555 เป็นหลักในการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่
1.ขั้นเตรียมการจะเป็นขั้นที่ดำเนินการก่อนการชุมนุม โดยดำเนินการด้านการข่าว การเตรียมการด้านกำลังพล การจัดเตรียมสถานที่ควบคุมกรณีเหตุการณ์บานปลาย การเตรียมการด้านแผนต่างๆ ที่สำคัญ
2.ขั้นการเผชิญเหตุจะเป็นขั้นที่ดำเนินการขณะชุมนุม โดยยึดถือแนวทางตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุให้ตำรวจท้องที่เข้ารักษาความสงบบริเวณที่ชุมนุมและใกล้เคียง ดำเนินการรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ ใช้ศูนย์ปฏิบัติการทุกระดับ ในการติดตาม ควบคุม และสั่งการ ชี้แจงทำความเข้าใจต่อแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมให้ทราบถึงขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดำรงการเจรจาต่อรอง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์
3.ขั้นการใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์จะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ 22-30 พฤศจิกายน โดยแจ้งเตือนและเจรจากับผู้ชุมนุม เพื่อป้องกันการปลุกระดมและสร้างความวุ่นวาย พร้อมทั้งปฏิบัติการข่าวสารควบคู่กับการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน เมื่อการเจรจาต่อรองหรือการปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์และรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ทราบทันที และการใช้กำลังให้ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชน
4.ขั้นการฟื้นฟู เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการหลังการชุมนุม โดยจะดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด การฟื้นฟู เยียวยาการจัดทำรายงานภายหลังการปฏิบัติ และบทเรียนจากการปฏิบัติงาน และชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน
สำหรับกฎการใช้กำลังตำรวจต้องพึงระลึกและยึดถือรัฐธรรมนูญว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายโดยมีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้ 1.ต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในการใช้กำลังตามที่กฎหมายกำหนด 2.ยึดหลักในการคุ้มครองเสรีภาพและหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อย 3.การใช้กำลังตามกฎนี้ให้หมายความรวมถึงการใช้อุปกรณ์หรืออาวุธประกอบการใช้กำลังด้วย และ 4.การจัดการเมื่อมีการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ตำรวจจะต้องดำเนินการจัดการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ หลักการใช้กำลังของตำรวจที่ควบคุมฝูงชนที่มีผลต่อชีวิตร่างกายตำรวจต้องคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ หลักแห่งความจำเป็นให้ตำรวจใช้กำลังเท่าที่จำเป็น พยายามใช้วิธีการอื่นเท่าที่สามารถทำได้ก่อน เลือกวิธีการใช้กำลังที่เบาที่สุด (เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุด) และหากผู้ชุมนุมลดหรือยุติความรุนแรง ต้องลดระดับหรือยุติระดับกำลังด้วย หลักแห่งความได้สัดส่วน ให้ใช้วิธีการและกำลังที่เหมาะสม สอดคล้องกับภยันตรายที่คุกคามเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น หลักความถูกต้องตามกฎหมายให้พิจารณาใช้กำลังและเครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามที่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือตามหลักสากลกำหนด และหลักความรับผิดชอบให้พิจารณาถึงผลที่เกิดจากการใช้กำลังโดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการ
ตำรวจต้องใช้กำลังตามระดับความรุนแรงของผู้ชุมนุมหรือได้สัดส่วนกับความรุนแรงที่คุกคาม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิผล ตามภัยคุกคามหรือความรุนแรงของผู้ชุมนุมดังนี้ 1.ผู้ชุมนุมโดยสงบ ให้ตำรวจดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ด้วยการแสดงกำลัง การเจรจา ให้ข้อมูลข่าวสาร หรือชักจูงแนะนำ 2.ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของตำรวจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่มีพฤติการณ์ก้าวร้าวหรือก่อเหตุ หรือกระทำผิดกฎหมายเล็กน้อย ให้ตำรวจแสดงกำลัง หรือใช้วิธีการในการเจรจาหรือดำเนินกลยุทธ์กดดันผู้ชุมนุม (Offensive Movement) ที่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดเล็กน้อย หรือการก่อเหตุนั้นๆ หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ประกอบก็ให้ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต 3.สถานการณ์การชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธหรือมีการก่อเหตุวุ่นวาย ทำร้ายตำรวจหรือบุคคลอื่น ให้ตำรวจพิจารณาใช้กำลังและเครื่องมือที่เหมาะสมในรูปแบบที่เป็นระดับที่สูงขึ้นเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ การใช้กำลังที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม ได้แก่ การใช้แก๊สน้ำตา หรือเครื่องเปล่งเสียงความถี่สูง การใช้กำลังผลักดัน การใช้น้ำฉีดแรงดันสูง และการยิงกระสุนยาง ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง และให้เวลาพอสมควรเพื่อให้ ผู้ชุมนุมสามารถปฏิบัติตามคำเตือนได้ทันเว้นแต่ไม่สามารถประกาศเตือนได้ก่อนหรือหากไม่ใช้กำลังเช่นว่านั้นในทันทีทันใดจะเกิดภัยอันตรายต่อบุคคล สถานที่ หรือทรัพย์สิน
แนวทางการปฏิบัติหลังการใช้กำลัง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะต้องดำเนินการ คือ 1.การช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการปฐมพยาบาล และรีบส่งไปรับการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นรวมทั้งแจ้งญาติให้รับทราบ 2.การบันทึกและการรายงาน หน่วยจะต้องบันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมดและรายงานตามสายการบังคับบัญชาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 3.การปฏิบัติต่อพื้นที่เกิดเหตุ ให้ปิดกั้นบริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ ไว้จนกระทั่งมีการดำเนินการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรวบรวมหลักฐานสำหรับใช้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 4.โดยถือปฏิบัติด้วยความมีมนุษยธรรมและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ศอ.รส.มีข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คือ 1.ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ มีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการ เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
2.ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น
3.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน 4.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด
5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามชนิด ประเภทลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน
ที่มา.มติชนออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น