--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สมานรอยร้าว. ด้ามขวานนิติธรรม+ความมั่นคง !!?

สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม..สองคำนี้เปรียบเสมือน วาจาศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสรภาพ ใน ยูโธเปีย หากแต่ในโลกแห่งความ เป็นจริง..แม้แต่ความยุติธรรมยังห่างไกลยิ่งนัก

นักการเมืองมักใช้คำว่า “นิติธรรม” ในทางผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อสร้างความ ชอบธรรมตัวเอง หรือการหาเสียง ซึ่งหากพิจารณาจากความหมายแล้ว.. “สิทธิมนุษยชน” หมายถึง สิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถ จำหน่าย จ่าย โอน หรือแจกให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์

จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า “มนุษยทั้งหลาย เกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรี และสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ ประสาท เหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง” ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่เป็น ที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ และในกฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการ ของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์ การเมืองร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

ส่วน “หลักนิติธรรม” คือ การตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกติกา ต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคม และสมาชิก โดยมีการยินยอมพร้อมใจและให้ถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กล่าว โดยสรุปคือ สถาปนาการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่กระทำกันตามอำเภอใจหรืออำนาจของบุคคล

“วิทิต มันตาภรณ์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง หลักนิติธรรมว่า ในระดับสากลนั้น หากมีการตีความความหมายอย่างกว้างก็จะครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิทางการเมือง การแสดงออกสิทธิมนุษยชน การขึ้นศาล กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ ความ เป็นธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งเมื่อเกิดสหประชาชาติขึ้นก็ทำให้หลักนิติธรรมมีหลักประกันที่แน่ชัดผ่านสนธิสัญญา ข้อตกลงต่างๆ

“ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น มาตรา 3 จะกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนจากรัฐธรรมนูญ ไทยอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่มาจากพลังบางอย่าง หรือการใช้ความรุนแรงบางส่วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้อาจมีปัญหาเรื่องหลักสากล การเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นเห็นว่า การมองเรื่องหลักนิติธรรมจึงต้องดูกระแสสากลควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ เมื่อหลักนิติธรรมเป็นเรื่อง ของการใช้อำนาจ การตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) จึงเป็นคานสำคัญ ในการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ”

ปัจจุบันไทยเป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญาในเรื่องสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิสตรีฯ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติที่กีดกั้น ทางเชื้อชาติ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการกระทำที่เหยียดหยาม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

“นอกจากนั้นยังมีความสนใจในกฎหมายอีก 2 ฉบับคืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิแรงงานต่างด้าว และอนุสัญญาว่าด้วย การห้ามอุ้ม เช่นกรณีคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการเป็นภาคีอย่างเต็มตัว”

ทั้งนี้ ผลของการเป็นภาคีคือ ต้องปฏิรูปกฎหมาย นโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้ง ถูกตรวจสอบตรง จากกรรมการของสหประชาชาติ โดยส่งรายงานแห่งชาติเป็นครั้งคราว ซึ่งหากมีคำแนะนำจากกรรมการ ดังกล่าวก็ควรปฏิบัติตาม

เช่นในส่วนของกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิ ทางการเมืองนั้น พบว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้ฝากข้อคิดให้กับหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย ว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายส่วนนั้น สามารถจำกัดได้ แต่ในส่วนที่เป็นสิทธิเด็ดขาดไม่สามารถจำกัดได้เลย เช่น ห้าม ทรมาน ห้ามค้าทาส สิทธิในการมีชีวิตไม่ถูกประทุษร้าย ไม่ถูกอุ้ม รวมทั้งการประหาร ผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 18 ปี

ขณะที่การประกาศกฎอัยการศึก ในเหตุฉุกเฉินต่างๆ นั้น จะต้องมีความโปร่งใส พร้อมทั้งแถลงให้สหประชาชาติได้รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาคาดว่าในประเทศ ไทยมีการแถลงประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น คือในช่วงปีเหตุการณ์ความขัดแย้งช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ปี 2553 โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าต่อไปจะต้องมี การแถลงประกาศใช้ หรือขยายเวลาการใช้กฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการจำกัดสิทธินั้นมีความจำเป็นจริงๆ มีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้บริหาร ที่สำคัญต้องมีวัตถุประสงค์ตามหลักสากลคือ มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม”

>> กฎหมายลิดรอนสิทธิ์

ส่วนการใช้หลักนิติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ก็ถูกติงจากคณะกรรมการของสหประชาชาติ เรื่องการใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเนื่องจาก กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้นเมื่อใช้ร่วมกันแล้วสามารถกักตัวคนได้ โดยไม่ต้องขึ้นศาลนาน ถึง 37 วัน ทั้งที่ตามหลักนิติธรรมกำหนดให้การขึ้นศาลต้องกระทำโดยทันที และ ถึงแม้ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐจะยินยอมให้ครอบครัวเข้าถึงบุคคลที่ถูกกักขังได้ภายใน 3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องว่า บุคคลที่ถูกกักตัวต้องสามารถเข้าถึงทนายได้โดยทันที ระยะเวลา 3 วันนั้นนาน เกินไป

ส่วนที่จะมีการนำพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงแห่งรัฐใหม่ มาใช้แทนกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น อยาก ฝากข้อคิด โดยเฉพาะมาตรา 22 เรื่องการ กำหนดให้สามารถฝากตัวบุคคลที่ต้องสงสัยเข้าสู่การอบรมได้ แม้จะเป็นไปโดยความยินยอม แต่ผู้ที่ติดแบล็กลิสต์อาจประเมินแล้ว เห็นว่าจำเป็นต้องเลือกเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ทำให้ความยินยอม ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ศ.วิทิต กล่าว และทั้งนี้ สำหรับมาตรการในการแก้ปัญหา ชายแดนภาคใต้ต่อไปนั้น ตนเห็นว่าการเยียวยาที่แท้จริงตามหลักนิติธรรมนั้น ต้อง เป็นการเยียวยาทางพลเรือน ไม่ใช่การเยียวยาฉุกเฉิน ขณะเดียวกันต้องหาทาง ออกโดยวิธีทางที่สันติควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ทุกวันนี้ยัง ไม่เห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากนัก

>> กรณีภาคใต้ต้องใช้ยาแรง!..

“พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงหลักนิติธรรมระหว่างประเทศกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ว่า การปกครองของรัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ของสหประชาชาติต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ซึ่งก็คือหลักของความถูกต้อง ความ ชอบธรรมทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงป้องกันการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

“แม้ในรัฐธรรมนูญของไทยจะมีการพูดถึงหลักนิติธรรม แต่ไม่ได้มีการอธิบายในรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องยึดแนวทางของต่างประเทศที่เป็นสากล”

ส่วนที่มีการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงทางภาคใต้ของไทย นั้น แม้เรื่องนี้จะกระทบกระทั่งขอบเขตของระบบนิติธรรมอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสามารถยกเว้นได้ในบางข้อ เนื่องจากหลักความมั่นคงของรัฐ และสาธารณชนคงต้องมาก่อนหลักนิติธรรม เพราะความมั่นคงถือเป็นของส่วนรวม ถ้าความมั่นคงอยู่ไม่ได้ สาธารณชน อยู่ไม่ได้ หลักนิติธรรมคงอาศัยอยู่ในบ้านที่ไฟไหม้ไม่ได้เช่นกัน

>> สิทธิมนุษยชนของใคร?

“ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าในเรื่องหลักนิติธรรม ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับนิยามที่แคบและตายตัว แต่ต้องเข้าใจพื้นฐาน มีความเป็นธรรมและระบบที่เป็นธรรมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน ประชาชาติ

“การทำความเข้าใจหลักนิติธรรมในยุคนี้ต้องไม่ตีความแบบเกาะ อย่ามองอะไรแบบเดียว เพราะกฎหมายไม่ใช่เรื่อง ทางเทคนิคเท่านั้น มีบริบทภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความหมายเชิงเนื้อหาที่ดี ในเรื่องนิติธรรม สิทธิมนุษยชน แต่กระบวนการนั้นมีการสงวนไว้ ทำให้ไม่มีบททดลองความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนต้องลุกขึ้นมา อย่าปล่อยให้ภาครัฐเล่นอยู่ข้างเดียว”

สำหรับสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทย นึกแล้วก็ปวดใจพอสมควร มี การพูดพาดพิงจากรองนายกรัฐมนตรีว่าคนของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้ลงไปทำงาน ในจังหวัดภาคใต้เลย ขณะที่ทหารในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ก็ตั้งคำถามว่าจะเอาหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนตรงไหนมาผสมผสานในการทำงาน เมื่อเหล่าทหาร ต้องแต่งเครื่องแบบมาล่อเป้าถูกระเบิด

ดังนั้น ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นปัญหา เพราะประชาชนทุกคนต้องการความคุ้มครองความเป็นมนุษย์เช่นกัน แต่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ ยังมีประเด็นคำถาม ว่า ตกลงจะคุ้มครองใคร และเรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกหยิบมาพูดถึง เพราะไม่อยากให้เรื่องภาคใต้ยกระดับเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่รู้เพราะอายหรือกลัว แต่ฟังดูเหมือนกับว่า ขณะนี้หลักนิติธรรมของไทย ขัดกับหลักมาตรฐานสากลอยู่
ปัญหาชายแดนภาคใต้ยังถือเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนในหลายๆปัจจัย ซึ่งบางอย่างก็พูดได้ ในขณะที่หลายอย่างก็เหมือนน้ำท่วมปาก

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น