2553 เขานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี-เลขาธิการนายกรัฐมนตรี คอยกำกับ-จัดการนโยบายเศรษฐกิจ ในยุคที่ "รัฐบาลอภิสิทธิ์" กุมอำนาจฝ่ายบริหาร
ปี 2554 หลังประกาศยุบสภา เขาเป็นประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง และคุมเกมการนำเสนอนโยบาย
เมื่อ เกมที่เขากำหนด ทำให้พรรคแพ้การเลือกตั้ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยกำชัยชนะส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไปถึงฝั่งฝันนั่งบัลลังก์ที่ตึกไทยคู่ฟ้า
เขาแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง เหลือตำแหน่งห้อยท้ายไว้เพียง "สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์"
ชื่อ "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี-เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หล่นหายไปจากสภาผู้แทนราษฎร และเงียบไปจากพรรคประชาธิปัตย์
แต่ความจริงเขายังเฝ้าติดตามวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจผ่านสื่อหลายแขนง และยังพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ "พรรคเพื่อนอภิสิทธิ์" อย่างสม่ำเสมอ
หาก สนทนาการเมืองกับ "กอร์ปศักดิ์" อาจได้ข้อมูล-ความเคลื่อนไหวไม่ลึก ไม่ลับ แต่ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจต่างประเทศ อาจได้ความคืบหน้าที่เร็วยิ่งกว่าพายุ เพราะเขารับข่าว-ส่งข่าวต่อผ่าน http://twitter.com/korbsak วันละหลายข้อความ มีผู้ติดตามข่าวโดยตรงจากเขาเกือบ 3 หมื่นคน
สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ จึงไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของเขา
"ผม มีโอกาสได้คุยกับหัวหน้า อ่านข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศทุกวัน ทุกเช้าที่มีประเด็นผมจะย่อยทั้งหมดลงทวิตเตอร์ ให้ความรู้กับทุกคน โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป เป็นเรื่องที่เราปล่อยทิ้งไม่ได้"
"มัน ไม่ได้เป็นปัญหาของกรีซคนเดียว แต่โซนยุโรปจะสะเทือนกันหมด ดังนั้นนโยบายทุกอย่างตอนนี้ จึงเหมือนให้ยาเพื่อเลี้ยงไข้ แต่กรีซเป็นเหมือนคนป่วยระยะสุดท้าย อีกไม่นานก็จะตาย และปัญหาก็จะมาถึงไทย"
"หลังกลุ่มสกุลเงินยูโรเกิดขึ้น กรีซและสเปนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ก็ค้าขายสู้เยอรมนีไม่ได้ นั่นคือปัญหาที่หลบซ่อนมา 8 ปี ทางออกตอนนี้คือต้องให้เยอรมนีออกจากกลุ่ม แต่แน่นอนว่าเขาจะไม่ทำ เพราะปัญหาการเมืองในประเทศตามมาแน่ ทุกอย่างจึงเหมือนคนอมไข้ตลอดเวลา"
แต่ในระยะสั้นไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหานี้จะกัดกร่อน และเกิดผลชัดในอีก 2-3 ปี
ยิ่ง เมื่อเทียบกับการรับมือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เขาบอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ประเทศไทยอาจเหนื่อยกว่าอีกหลายเท่าตัว
"ครั้ง ก่อนเราโชคดีที่มีจีนเป็นคู่ค้า เขาสร้างรถไฟความเร็วสูง สร้างตึก เรายังได้รับประโยชน์ มีตัวเลขการส่งออกไปได้ดี แต่ครั้งนี้ประเทศมหาอำนาจทั้งจีน อเมริกา มีปัญหาของตัวเองหมด สภาพการณ์มันจึงแย่กว่า"
ในฐานะคนข้างฝ่ายค้าน เขาวิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ "ยิ่งลักษณ์และคณะ" ว่ารัฐมนตรีแถว 3 ส่วนใหญ่ไม่เก๋า ไม่เก่ง ขาดคนเชี่ยวชาญด้านแมโครอีโคโนมิกส์ ทำให้ภาพการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขาดรูปธรรม
ชื่อคนมีฝีมือของฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่ใช่อยู่ในแถวคณะรัฐมนตรีที่ "กอร์ปศักดิ์" นึกชื่อได้ทันทีคือ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
การบริหารนโยบายที่ ผิดพลาด ที่อาจยังไม่เห็นผลลบเป็นตัวเลข ในสายตาเขาคือ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง "กอร์ปศักดิ์" บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดและทำผิดตั้งแต่ต้น ที่ต้องการให้รัฐบาลค้าข้าวแข่งกับเอกชน
"เขาคิดจะให้องค์การคลัง สินค้า (อคส.) ถือข้าวอยู่ในมือทั้งหมด เพื่อจะควบคุมกลไกราคาในตลาด แต่เขาคิดผิด เพราะข้าวไม่ใช่น้ำมัน ทอง หรือโลหะ หากสต๊อกไว้นานมันมีแต่ราคาจะตก ยากมากที่จะทำให้ราคาขึ้นไปตามที่ต้องการ"
"ข้าว เป็นสินค้าที่มีหมุนเวียนตลอด แค่มีดิน มีน้ำ ประเทศไหนก็ปลูกข้าวได้ หากรัฐบาลกักตุนไว้นานเกินไป จะเป็นการบีบให้ต่างชาติต้องหันไปปลูกข้าวกินกันเอง เราก็จะไม่เหลือประเทศคู่ค้า และในที่สุดประเทศก็ต้องแบกรับหนี้สินหลายแสนล้านบาทที่เกิดจากโครงการรับ จำนำข้าว"
จังหวะที่ ปชป.เตรียมเซตอัพข้อมูล "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" กอร์ปศักดิ์วิจารณ์ว่า หากต้องการอภิปรายให้ได้เนื้อหา และนำเสนอเรียบเรียงประเด็นให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เช่น
1.ฉายภาพให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริงของพรรค ไม่เก่งจริงเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริหารนโยบายที่ผิดพลาด
2.ต้องให้ข้อมูลเชิงลึกว่า โครงการรับจำนำจะทำลายระบบข้าวของประเทศทั้งระบบ โดยเฉพาะเสถียรภาพทางราคา
3.ชำแหละงบประมาณ ให้สังคมเห็นว่าภาษีของประเทศที่เสียไปหลายแสนล้านบาท สุดท้ายเดินทางไปไม่ถึงมือชาวนา
4.เปิดข้อมูลการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการสมประโยชน์ของนักการเมือง ที่อยู่เบื้องหลังการครอบครองเก้าอี้ รมว.พาณิชย์
แม้ ในเชิงบริหารโครงการรับจำนำข้าวอาจมีผลลบมากกว่าบวก แต่ "กอร์ปศักดิ์" ยอมรับว่า ในมุมมองชาวนา ประมาณ 8 ล้านคน 3 ล้านครัวเรือน พึงพอใจจากการมีเงินในมือที่เพิ่มขึ้น
แต่ในกติกาประชาธิปไตย ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องเตรียมตัวลงสนามแข่งใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เขาเชื่อว่า หากอีก 3 ปี วิกฤตเศรษฐกิจหนัก จนยากจะบริหาร ถึงตอนนั้น ชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อาจเป็นตัวเลือกอีกหน
ที่มา.ประชาชาติออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น