ศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 56 ก็ผ่านไปได้อย่างดุเดือด..ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างงัดกลเม็ดเด็ดพรายกันขึ้นมาตอบโต้อย่างถึงพริกถึงขิง
เรื่องของงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญที่ละเอียดอ่อน และอาจ จะต้องไปคาบเกี่ยวกับผลประโยชน์ของใครต่อใครในหลายขั้นตอน หลายกระบวนการ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยแผนเกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐบาลและการจัดหารายรับให้เพียงพอกับการใช้จ่ายในรอบระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติมีระยะเวลา 1 ปี
สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงมากที่สุดคงไม่พ้นเรื่องของหนี้สาธารณะ ที่เชื่อว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้น ในภายหลัง อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากนโยบายที่เราเรียกกันว่าประชานิยม โดยเฉพาะเรื่องของการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ “โครงการจำนำข้าวเกษตรกร” ซึ่งฝ่ายค้านมองว่า นอกจากจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องทางการทุจริตอย่างมหาศาล
น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พระเอกของท้องเรื่อง ร่ายมาตามบทบาทถึงโครงการจำนำข้าวว่าถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลอย่างที่สุด
“การทุจริต” ทำให้เงินไม่ถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง และเกษตรกรก็ไม่ได้รับสิทธิ์เงิน 15,000 บาท ตามที่รัฐบาลได้โฆษณาไว้อีกด้วย นอกจากนี้ ชาวนายังออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการนี้ว่าถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยกัน 3 ส่วน คือ การทุจริตความชื้น การทุจริตเรื่องตาชั่ง เป็นการปล้นกันกลางแดด เพราะเป็นการทุจริต กันซึ่งๆ หน้า การทุจริตสิ่งเจือปน เมื่อหักลบเงิน 15,000 บาท กับ สิ่งอื่นๆ ทำให้ชาวนาได้รับเงินไม่ถึง 13,000 บาท จึงอยากให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากมีข้อผิดพลาดตรงไหนก็ควรคืนเงินให้ชาวนา
ขณะที่ชาวนาตาใสที่เฝ้าดูการอภิปรายอยู่หน้าจอทีวีกลับพูดสวนออกมาว่า...
“ประกันราคาข้าวได้เงินมาเป็นไร่ แต่จำนำราคาข้าวนั้น ผลิตผลมีเท่าไหร่ นำไปจำนำได้ทั้งหมด มีผลผลิตมากก็ได้ราคามาก ราคา จำนำที่ได้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ขายได้ตันละ 12,000 บาท ปกติถ้าไม่ได้เข้าโครงการกับทางรัฐบาลจะขายข้าวได้เพียงตันละ 8,000-9,000 บาท จึงถือว่าโครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี ทำมากก็ได้เงินมาก จำนำข้าวจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ตามจริง และต้อง มีผลผลิตไปยืนยัน แต่ประกันราคาจะใช้พื้นที่เพาะปลูกในการคำนวณ ผลผลิตและรัฐจะจ่ายในส่วนต่างที่ขาด รวมแล้วก็ได้รายรับน้อยกว่า จำนำข้าว”..ชาวนาวัย 50 ย่านปทุมธานี กล่าว..
แล้วยังไงล่ะทีนี้..สรุปว่ามันดี หรือไม่ดี...
โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อนักลงทุน และการวิเคราะห์แนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคา เพราะว่าราคาดังกล่าวจะเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ ในการกำหนดราคาซื้อขายของสินค้าในประเทศโดยปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ อย่างเช่น ปริมาณความต้องการของประเทศผู้บริโภค หรืออัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลกระทบต่อราคาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แม้ว่าโครงการรับจำนำสินค้าของรัฐบาลจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ประสิทธิภาพโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจของโครงการดังกล่าวก็จะต้องถูกวัดด้วย สมดุลระหว่างประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกร และต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
แน่นอนว่าข้อดีของโครงการรับจำนำสินค้าในลักษณะนี้ เกษตรกรจะได้ผลประโยชน์ทางการเงินในทันที อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญของโครงการนี้ก็คือ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจาก โครงการจะมีเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตของ สินค้าเกษตรแต่ละชนิดมีมากกว่าปริมาณที่รัฐบาลจะสามารถรับจำนำได้ ทั้งนี้ในทางทฤษฎีราคารับจำนำของรัฐบาลจะมีผลผลักดัน ให้ราคาตลาดปรับตัวตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งมีผลให้เกษตรกรรายอื่นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง หรือไม่มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากแนวโน้มของราคาที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน
“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” กรรมการสมัชชาปฏิรูปเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร มองโครงการจำนำข้าวเกษตรกรว่าในระยะสั้นชาวนา ได้ประโยชน์จากราคาจำนำที่สูง แต่ในระยะยาวนโยบายนี้ไม่เป็นผลดี และปัญหาเรื่องการรั่วไหลอย่างหนัก
ข้อดีสำหรับตัวเกษตรกรโครงการจำนำข้าวถือว่าดี แฮปปี้มาก ได้ราคาจำนำที่ถือว่าสูง มีเงินในมือมากขึ้น ในแง่รัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือ เกษตรกรตามที่ต้องการ และถือว่ากุมตลาดข้าวไว้ได้หมด แต่มีข้อระวังในแง่เกษตรกรคือได้เงินง่ายและสูงมาก ก็อาจจะไม่เก็บออม ไม่ได้ลงทุน แต่ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็ได้ และก็ไม่สนใจปรับปรุงคุณภาพ ข้าว แม้จะจำนำแต่ก็เหมือนขายขาดไม่ไถ่ถอนแล้ว เพราะราคาจำนำ สูงกว่าตลาด ในแง่ของรัฐบาลก็จะมีปัญหาที่ต้องรับภาระงบประมาณ ไปเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านจะคาดหวังอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ชาวนา จะปลูกข้าวมากขึ้นเรื่อยๆ จากปกติเราก็ปลูกเกินความต้องการ อยู่แล้ว
สอง คือเราต้องเสียเงินค่าเก็บรักษาเป็นภาระในการระบาย ข้าวถ้าเร็วก็จ่ายน้อย ช้าก็จ่ายมาก เพราะเราต้องฝากไว้กับโรงสีเอกชน หรือโกดังเก็บเอกชน ไม่ระวังให้ดีเกิดการรั่วไหลในขั้นตอน ต่างๆ รวมทั้งถ้าระบายช้า ข้าวก็เสื่อมคุณภาพ เก็บไม่ดีก็เสื่อมเร็ว เก็บดีก็เสื่อมตามธรรมชาติอยู่แล้ว
> การแก้ไข
วิธีการแก้ไข ต้องทำมาตรการควบคู่กับการจำนำ เกษตรกรต้องเน้นเรื่องให้ความรู้ทางการเงิน การออมเงินส่วนที่เกินมาจากปกติ จะให้ดอกเบี้ยพิเศษก็ว่ากันไป สาม คือให้รณรงค์ให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มผลผลิตต่อไป ลดต้นทุนควงคู่ไป ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ราคาข้าวที่จำนำจะไม่ถูกเรียกร้องให้เพิ่มราคา ให้เน้นที่กำไร ไม่เน้นที่รายได้ ถ้าเน้นรายได้ราคาจำนำต้องเพิ่ม เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ขายปุ๋ยจะใช้เป็นข้ออ้างเพิ่มราคา ชาวนาก็ขอราคาจำนำ เพิ่มอีกเพราะต้นทุนเพิ่ม แต่ถ้าชาวนาลดต้นทุนได้ กำไรก็จะเพิ่ม
รวมทั้งต้องสอนชาวบ้านเรื่องคุณภาพข้าวด้วย ถ้าคุณภาพดี ราคาก็เพิ่ม ถ้าคุณภาพไม่ดีก็ต้องตัดราคาลงนะ แทนที่จะดูแต่ความ ชื้น สิ่งเจือปน หรือน้ำหนัก ถ้าคุณภาพดี หมายถึง เวลาสีแล้วได้คุณภาพข้าวมาก เพราะเราพบว่าเกษตรกรจำนวนมาก ที่ทำนาปรัง ปีละหลายรอบ เพราะมีชลประทาน ชาวบ้านเห็นราคาดี พยายามปลูกปีละ 3 ครั้ง ก็ต้องหาพันธุ์อายุสั้นๆ แค่ 80-90 วัน พอข้าวอายุสั้น ข้าวไม่แกร่ง เวลาสีเหลือข้าวน้อย ข้าวป่นมาก ทำให้คุณภาพ ข้าวโดยรวมของประเทศมีปัญหา คิดว่าจำนำแล้วดีก็ต้องมีมาตรการ เสริมด้านคุณภาพอย่างนี้ด้วย
รัฐบาลต้องจัดระบบการระบายข้าวออกไม่ให้เก็บนานเกินไป เพราะถ้าเกิน 6 เดือนคุณภาพข้าวจะเสื่อมอยู่แล้ว กรณีเก็บดีนะ แต่ถ้าเก็บไม่ดีก็ยิ่งเสื่อมเร็ว และถ้าระบายมั่วข้าวเก็บไว้นานจะไม่ได้ระบายออกไป รวมถึงวิธีการเก็บด้วย เอกชนก็ถือโอกาสที่รัฐบาล ต้องเก็บไว้มาก อย่างข้าวเปลือกตอนนี้จำนำไว้ 16 ล้านตัน แปรเป็นข้าวสาร 6-7 ล้านตัน อย่างนี้ถามว่าใครจะให้ราคาสูง ไม่มีใคร ให้กำไร รัฐบาลก็ขาดทุนหนัก ประมูลได้ในราคาต่ำรัฐบาลก็ไม่กล้าขายอีก กลายเป็นงูกินหางสร้างปัญหาต่อไปอีก
> การระบายข้าวออกตลาด
ในเรื่องของการระบายข้าวสู่ตลาดโลกนั้น รัฐบาลควรขาย จีทูจีจะดีกว่าให้สต็อกลดลงราคาจะได้ขยับ เพราะจีทูจีคนไม่ว่าอะไร ถ้าราคาต่ำ และมีวิธีมาก ถ้าตลาดเก่าจีทูจีก็มีแถมได้ราคาไม่ต้องลง แต่มีแถม เหมือนธุรกิจเอกชนขายสินค้ายี่ห้อดังๆเค้าจะไม่ลดราคา แต่เปิดนาทีทองซื้อสามแถมหนึ่งเพื่อไม่ให้เสียราคา ยิ่งรัฐบาลไหนเกิดน้ำท่วม ฝนแล้งก็แถมไปให้เขาไม่ให้ราคาเสีย เพราะจริงๆ แล้ว เราจำนำราคาขนาดนี้ ทิ้งข้าวไว้หลายเดือน ค่าเก็บรักษาเท่าไหร่ ยังไงก็ขาดทุน แต่เราคำนวณได้ว่าถ้าเก็บไว้ต่อไปจะขาดทุนเท่าไหร่ คำนวณได้หมด ถ้าไม่ทำอะไรเลยพ่อค้าจะถล่มรัฐบาล
อย่างตลาดใหม่เราก็เปิดได้ ให้ทูตพาณิชย์ไปแจกเลย ช่วย ผู้ยากจนด้อยโอกาสได้กินข้าวไทยต้องมีของแถม อร่อยแล้วมาซื้อใหม่ ส่วนที่สามคือจัดสรรในประเทศ เพราะมีหน่วยงานที่ต้องมาของบประมาณซื้อข้าวอยู่แล้ว หรือแม้แต่ในโรงเรียนชายแดน พื้นที่ ความมั่นคง งบประมาณส่วนหนึ่งเราต้องให้เขาอยู่แล้ว ก็จัดสรรเป็น ข้าวแพ็กพิเศษ ต่างหากเลยว่ามาจากรัฐบาลจะลดสต็อกได้ เมื่อมีข่าวว่าลดสต็อก จะทำให้ผู้นำเข้าต่างประเทศไม่ชะล่าใจ ต่างจากตอนนี้ยังไงเค้าก็กดราคาเพราะคิดว่าอีกสองเดือนเราก็ต้องขายแน่นอน
> มองการแก้ปัญหาในระยะยาว
การแก้ปัญหาในระยะยาวต้องเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา เพราะตอนนี้น้อยมากต่ำกว่า 1% ขณะที่ประเทศพัฒนาเค้าให้ 2% ทั้งที่ข้าวทำรายได้เข้าประเทศไทยนับแสนล้านบาท ต้องทำให้เรามีข้าวหลากหลายชนิดเพื่อให้สามารถปลูกในพื้นที่ต่างกัน แต่ยังมีผลผลิตที่ดี บางพื้นที่น้ำท่วมบ่อย บางพื้นที่แล้งบ่อย ต้องมีพันธุ์ ทนน้ำท่วมบ่อยแล้งบ่อย ไม่เช่นนั้นพื้นที่น้ำดีคือนาปรัง พื้นที่น้ำน้อย ผลผลิตก็ต่ำ รวมๆ แล้วทั้งประเทศก็ศักยภาพในการผลิตต่ำ
ดังนั้น เราต้องเพิ่มการวิจัยพัฒนาเข้าไป พันธุ์ข้าวพื้นเมืองก็ เอามาปรับปรุงให้ดี ให้เรามีสินค้าเป็น 100 อย่างในการขาย เวลา เราขายก็บอกว่าเราไม่แข่งกับเวียดนาม เช่น พันธุ์ข้าวมีโภชนาการสูง กินแล้วเหมือนได้กินยาป้องกันโรคไว้ก่อน เช่น ที่เกษตรกำแพงแสน ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหินเหล็ก ผ่านการวิจัยแล้วว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลน้อยเหมาะกับคนเป็นเบาหวาน มีธาตุเหล็กมาก คนที่มีเงิน ประเทศที่มีเงิน จะสนใจแตกต่างจากข้าวของเวียดนาม ทั้งสายพันธุ์และงานส่งเสริมจะตามมา จะทำให้ข้าวไทยคงความเป็นผู้นำ ไม่แข่งราคาถูก แข่งราคาแพง ไม่แข่งเรื่องสร้าง รายได้ชาวนา แต่แข่งเรื่องสร้างกำไรให้ชาวนา ซึ่งไม่เหมือนกัน สร้าง รายได้จะเป็นภาระรัฐบาล ถ้าสร้างกำไรรัฐบาลใช้จ่ายไม่มาก แต่ชาวบ้านมีเงินเหลือมีกำไร
ตอนนี้พูดกันเรื่องเฉพาะหน้าแต่ต่อไปอีกสองปีข้างหน้า จะมี ปัญหาเมื่อมี AEC ก็ต้องมีหน่วยงานสักหน่วยที่มีความสามารถมาดูแลข้าวไทยจริงๆ ทั้งระบบ มาดูทั้งการตลาด ผลิต แปรรูป แต่ต้องไม่โยงการเมือง ควรมีสภาข้าว ซึ่งต้องประกอบด้วยทั้งตัวแทน รัฐบาล ผู้แทนชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก มารวมกันบริหารกันเอง ให้เราเป็นผู้นำได้ เน้นไปที่การมีข้อมูลข่าวสารให้คนรู้เท่าทันกัน จะรู้ว่าตลาดข้าวโลกเป็นอย่างไร คู่แข่งเป็นอย่างไร เมื่อมี AEC แล้วจะจับมือกับกัมพูชา พม่าได้หรือไม่ จะได้กำหนดทิศทาง ผลกระทบ ที่เกิดขึ้น นโยบายรัฐบาลจะได้ทำต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ต้องเปลี่ยนไป ทั้งเกษตรกร ชาวนา พ่อค้า งงหมดเลย ต้องเปลี่ยนใหม่
> ช่องทางทุจริต
เรื่องการจำนำข้าวมีช่องโหว่ได้ทุกขั้นตอน ขึ้นกับว่าเรารู้และเราคุมเรื่องนี้ได้อย่างไร ตั้งแต่ตอนขึ้นทะเบียนกับเกษตร ถ้าเกษตรกร กับเกษตรตำบลร่วมมือกัน เกษตรกรอาจโกหกก็ได้ บอกพื้นที่ผลผลิต ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เกษตรตำบลอาจใส่ตัวเลขไว้มากกว่าความจริง ร่วมกับโรงสี โรงสีก็ร่วมกับชาวนา ชั่่งน้ำหนัก วัดความชื้นต่างๆ กันไป สิ่งเจือปนก็หักมากไว้ให้ตัวเองได้ประโยชน์ บริษัทผู้ตรวจสอบ คุณภาพข้าวหรือเซอร์เวเยอร์ ถ้าจะตรวจให้ผ่านกระสอบเท่าไหร่ คุณภาพอย่างนี้กินกันได้อีก
ตลอดไปจนถึงโกดังกลาง ที่โรงสีกับโกดังกลางอาจร่วมมือกัน ขนไปหรือไม่ขนไป หรือส่งไปมากน้อยไม่มีใครรู้ เจ้าของโกดังยังได้เงินตามตัวเลขรายงาน หรือเจ้าของโรงสีอาจเอาข้าวที่รับจำนำไว้ แต่มีคุณภาพดีออกขายไป แล้วเอาข้าวคุณภาพไม่ดีใส่แทน เพราะยังไงรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลต้องเก็บสต็อกอีกนาน ยังไงข้าวที่เก็บต้องเสื่อมคุณภาพอยู่แล้ว
ผู้ส่งออกก็อาจร่วมมือกับนักการเมือง ข้าราชการ ตอนประมูล ฮั้วกันได้อีก จะล็อบบี้ให้เจ้าไหนได้ไป ตอนประมูลก็ฮั้วกัน จะเห็นได้ว่ามีทุกขั้นตอน แม้แต่การแปรสภาพข้าว นำไปแปรจริงๆ เท่าไหร่ ไม่จริงเท่าไหร่ หรือโรงสีอาจถือโอกาสทำโกดังเอง จริงๆ ไม่ได้มีการ ขนส่งไปโกดังกลาง ก็ต้องไล่ตรวจกัน
ที่ ธ.ก.ส.เคยเข้าไปตรวจสอบก็ทำได้ผล แต่เราต้องทำอย่าง รัดกุมให้มาก ร่วมกับตำรวจและสำนักนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านจะกลัวมากไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่เกษตร เจ้าหน้าที่อตก. หรือเจ้าหน้าที่ อคส. พวกนี้จะกลัวผู้ตรวจสำนักนายกฯ ส่วนชาวบ้านจะกลัวตำรวจ ก็ไม่กล้า เราจะทำที่เรียกว่า Surprise Check ไม่บอกล่วงหน้า แล้ว ก็จะทำก็ทำพร้อมกันเลย วันเดียวกัน ถ้าทำอย่างมีแผนทุกคนก็รู้หมด จะขนข้าวหนีกันใหญ่เลย แต่เราทำสำเร็จ เราซีลกองข้าวด้วยพลาสติกคาดรัด และติดกล้องวงจรปิดถ่ายไว้ด้วย ถ่ายไว้ 3-4 ตัว เอาภาพนั้นลิงค์เข้ามากรุงเทพฯ มันก็จะไปขยับกองข้าวจะเห็นเลย มีเจ้าหน้าทีมอนิเตอร์เห็น ถ้าไปขยับเรามีเบอร์โทรศัพท์ผู้ว่าฯ และผู้การตำรวจ ภายในหนึ่งชั่วโมงจับได้เลยก็มีจับได้นะ แต่น้อยเพราะเค้าเห็นเรามีระบบนี้ก็ไม่เสี่ยงดีกว่า เราจะลิงค์ให้ดูเลยว่ากดปุ่มปุ๊บออกมาเลย จะดูโกดังกลางกองไหน คือธ.ก.ส.เราเอาระบบ แบงก์มาทำงานคือเช็กและบาลานซ์ ไม่ได้ใช้เงินมากมายอะไรนัก แรกๆก็มีคนบอกโรงสีเค้าไม่ยุ่งอะไรด้วยหรอก เราก็บอกว่าถ้าไม่ทำ ก็ไม่ให้ร่วมโครงการ ถ้าโกดังใหญ่ๆ เราใส่แบบนี้หมดเลย เพราะโกดัง เล็กๆ เรารู้ว่าเค้าทำไปก็ไม่คุ้ม เราไม่ได้ทำทุกที่เฉพาะโกดังใหญ่ๆ
กสิกรของไทย คือกระดูกสันหลังของชาติ...ความเป็นอยู่ของเขาเหล่านั้นย่อมเป็นปัจจัยสำคัญของชาติ รัฐบาลมีหน้าที่การให้บริการและสวัสดิการทางสังคมพัฒนาประเทศ.. งานนี้จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบทั้งเศรษฐกิจมวลรวม และความเป็นอยู่ของชาวนา..
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น