สุดท้ายการลงทุนใส่เสื้อแดงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นไปได้แค่ตลกฝืดทางการเมือง ที่ไม่ได้ช่วยสร้างคะแนนนิยมอะไรเพิ่มขึ้นให้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้เลย คนที่ชื่นชม คนที่อยู่รอบข้างกายของนายอภิสิทธิ์เท่านั้นที่พากันประจบว่า ดีแล้ว ดีเหลือเกิน เป็นการเหน็บแนมเสียดสีประชดประชันขั้นเทพอะไรทำนองนั้น
จนดูเหมือนว่าทำให้นายอภิสิทธิ์ เหลิงลอยบนลมวาจาจนกู่ไม่กลับ ก็ขนาดกล้าระดับนี้แล้ว การจะกู่ให้กลับคงยากเสียแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดาผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์หลายๆคนพากันส่ายหน้าอย่างเดียว โดยไม่พูดไม่วิจารณ์อะไรเลย
คนที่กล้าพูดกับพรรคพวกใกล้ชิดที่สนิทสนมก็บอกเพียงว่า เพราะคุณสมบัติที่หลายคนมองว่าพร้อม ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ชาติตระกูล ฐานะ การศึกษา การมีคำพูดคำจาที่ดูเหมือนเฉลียวฉลาด ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้ ควรจะต้องถือว่าเป็นคุณสมบัติบวกในทางการเมือง
แต่ในอีกมุมหนึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เมื่อถูกยกยอปอปั้นจากคนรอบข้าง กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้นายอภิสิทธิ์มีอาการ “กู่ไม่กลับ”
ซึ่งในทางการเมือง พฤติกรรม “ปล่อยของ”ของนายอภิสิทธิ์ กลับกลายเป็นการ “เสียของ” ไปอย่างน่าเสียดาย
ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง จังหวะเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์กำลังสนุกสนานกับมุกเสียดสีเสื้อแดง แต่อีกขั้วของการเมือง มีการสัมมนา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในหัวข้อ “ปรับขบวนภายใน บทบาทและทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย” ที่เมืองพัทยา
กลับได้ผลสรุปที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือการไม่ถอนร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บนเหตุผลที่ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ใช้โฆษณาหาเสียง และแถลงต่อรัฐสภา และในการที่จะเดินหน้าต่อไป ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดชัดว่า ที่ผ่านมาอาจจะดูเหมือนรัฐบาลยอมถอยในการเผชิญหน้า ในการแก้ปัญหาเหล่านี้
แต่ทั้งหมดเป็นเพราะต้องการลดความขัดแย้งจากทุกๆฝ่าย
ส่วนว่าจะใช่การลดความขัดแย้งในลักษณะเดียวกับการพยายามแสดงออกของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทน ที่เจอทั้งความพยายามฉุดกระชากลากถูให้ลุกจากบัลลังก์ประธาน รวมไปถึงโดนขว้างปาด้วยแฟ้มใส่เอกสาร หรือไม่เป็นสิ่งที่น่าคิด
แต่ที่แน่ๆนายสมศักดิ์ดูเหมือนเลือกที่จะอดทน และเลี่ยงการปะทะด้วยการแนะนำว่า ควรถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกไปก่อน
แต่สุดท้ายไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดอยู่บนการตัดสินใจของ ส.ส. และ ส.ว. ในสภา ว่าจะเลือกทางไหนเป็นประตูทางออกในกรณีนี้
เนื่องจากในหมวกของประธานสภา ถอนออกนายสมศักดิ์ก็โดนพวกเดียวกันจวก หากไม่ถอนออก ก็ไม่รู้ว่าระหว่างที่นั่งทำหน้าที่ในสภา จะเจอพฤติกรรม ถ่อย ดิบ เถื่อน อีกหรือไม่
เจ็บทั้งขึ้นทั้งล่องสำหรับกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 “ฉบับหน้าแหลมฟันดำ”เจ้าปัญหาฉบับนี้
เพราะในขณะที่นายโภคิน พลกุล อดีต ประธานรัฐสภา มองว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่ก็ยังคงมีอีกฝ่ายที่มองว่า รัฐธรรมนูญ 2550 คือเครื่องมือในการกำหราบนักการเมืองโดยเฉพาะ
และที่สำคัญด้วยความที่กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มีกลุ่มคน กลุ่มขั้วอำนาจ พยายามที่จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แตะต้องแก้ไขไม่ได้ จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นเหมือนระเบิดเวลา ที่รอวันปะทุจากชนวนของความขัดแย้ง
ส่วนจะจบลงด้วยการแตกหักของ 2 ขั้ว 2 กลุ่มการเมือง หรือจะบานปลายไปเป็นดกลียุคสงครามประชาชนที่โหยหาประชาธิปไตยที่แท้จริง อย่างที่หลายๆฝ่ายเป็นห่วงกันหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของชะตากรรมของประเทศเท่านั้น
ปัญหาสำคัญในมุมมองของพรรคเพื่อไทย ก้คือจะเดินหน้าแก้ไขให้เกิดความถูกต้อง ชอบธรรมในหลักนิติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อมีฝ่ายที่จ้องขัดขวาง จ้องหาเรื่องในทุกวิถีทาง ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งการสร้างจินตนาการไปเอง โดยที่ไม่มีพื้นฐานความจริงเลยสักนิดก็ยังกล้าทำ
เพียงเพราะมั่นใจว่าการบรรยายจินตนาการจะสร้างความระทึกให้ก้าวไปสู่เกมที่วางเอาไว้ได้
จนทุกวันนี้ขนาดที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว แต่คำขู่ของขั้วการเมืองที่ไม่ยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ ก็ยังคุกรุ่นเติมฟืนเติมไฟอยู่ตลอด
ยิ่งบวกกับการเมืองนอกสภา ที่ประกาศจะรวมตัวโค่นล้มรัฐบาลด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดเจนถึงอาการปกป้องผลไม้พิษที่เกิดจากการทำรัฐประหารเอาไว้อย่างสุดกำลัง
ประเด็นหลักในการก้าวเดินของ ส.ส. และ ส.ว.ฝั่งที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการผ่าน พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ จึงมีโจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าจะแตะต้องแก้ไขอย่างไร ให้เกิดการยอมรับต่อสังคมในภาพรวม
โดยที่สามารถหักล้างประเด็นของการโจมตีที่ว่าเป็นการทำเพื่อคนๆเดียวให้ได้
เพราะแม้ฝ่ายค้านและขั้วการเมืองตรงข้าม จะอาศัยกลไกของศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นกลไกในการเพิ่มความยุ่งยากให้กับความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ตอนนี้คำวินิจฉัยกลางก็มีออกมาชัดเจนแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เข้าข่าย ล้มล้างการปกครอง!!!
แม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะในเรื่องของการทำประชามติเพิ่มมาด้วย ที่หลายฝ่ายพยายามที่จะใช้สร้างเป็นเงื่อนไข แต่อย่างน้อยที่สุดเงื่อนไขโจมตีในเรื่องล้มล้างการปกครองก็จบไปแล้ว
สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความพยายามที่จะตีรวน โดยอาศัยข้องอ้างในเรื่องของการพิทักษ์รัฐธรรมนูญบ้าง ในเรื่องของการที่จะยื่นให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความรอบแล้วรอบเล่านั่นเอง
เป็นการเดินเกมการเมืองเพื่อยื้ออำนาจเก่าเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันก็หางจังหวะเพื่อขั้วการเมืองรัฐบาลพลั้งพลาดเผลอไผลในบางจุดบางประเด็น จะได้ยืมดาบตุลาการรัฐธรรมนูญเชือด
งานนี้เกมของฝ่ายค้านอ่านได้ไม่ยากว่า เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรคได้เท่านั้นเป็นพอ
ปัญหาก็คือ การที่จะใช้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ และคำแนะนำมาเป็นเครื่องมือนั้น จะทำได้อย่างที่ขั้วการเมืองตรงข้ามรัฐบาลต้องการหรือไม่เท่านั้น?
เพราะประเด็นนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา ได้มีการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกคำสั่งที่ให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ไปแล้ว เพื่อหวังให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้นสำหรับประเทศไทย ว่าจะเดินหน้ากันต่อไปได้อย่างไร
ซึ่งนายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงชัดเจนแล้วว่า หลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ทั้ง 5 คำร้อง
เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ลงนามในหนังสือ ส่งถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งไปยังประธานรัฐสภาให้ทราบว่า
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยยกคำร้องคดีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
มีผลให้หนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ชะลอการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ 3 นั้น... สิ้นผลไปโดยปริยาย
ดังนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรจะเดินหน้าในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทางรัฐสภา
เท่ากับตอนนี้ชัดเจนแจ่มกระจ่างแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สุดแต่สภาผู้แทนราษฎรจะเอาอย่างไร เพราะไม่มีข้อกังวลในเรื่องคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญมาตรึงเอาไว้อีกแล้ว
ซึ่งเรื่องของการอาศัยกลไกอำนาจของตุลาการรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยหรือตีความประเด็นปัญหา เพื่อสกัดกั้นการเดินหน้าทางการเมือง ซึ่งถือเป็นสไตล์ถนัดของฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรฯก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน กลไกนี้ก็ถูกใช้ในการตรวจสอบพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน
เพียงแต่คนที่ใช้ช่องทางนี้ตรวจสอบความถูกต้องในพฤติกรรมการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.จอมสอย ที่ขยันตรวจสอบเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาตินั่นเอง
โดยล่าสุด นายเรืองไกรได้มีการยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ในฐานะพยานผู้ร้อง ยกเลิกการกระทำการกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนากระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกคำร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทั้ง 5 คำร้อง โดยเห็นว่ายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องของนายวิรัตน์ และพรรคประชาธิปัตย์
จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสาม และให้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสี่
เนื่องจากการกระทำของนายวิรัตน์และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา
โดยสาเหตุที่ยื่นให้วินิจฉัยเพียงนายวิรัตน์ และพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเป็นผู้ร้องที่เป็นพรรคการเมืองเพียงผู้ร้องเดียว
งานนี้เท่ากับเป็นการย้อนศรเข้าใส่เกมจินตนาการที่ห่างไกลความจริงของประชาธิปัตย์เต็มๆนั่นเอง
ที่มา.บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น