--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เอดีบี ชี้ พม่า ยังล้าหลังในอาเซียน หนุนนักลงทุนเร่งพัฒนาสร้างถนน-ไฟฟ้า-ธนาคาร !!?

เอดีบีชี้พม่ายังล้าหลังในอาเซียนต้องปรับก่อนเข้าปีเออีซี หนุนนักลงทุนให้เชื่อมั่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถนน-ไฟฟ้า-การเงินดันการลงทุนจากต่างประเทศ เชื่อหากปฏิรูปได้กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เศรษฐกิจขยายตัวโต 7-8% ต่อปี

นางสาวซิน ยัง ปาร์ค ผู้ช่วยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าแผนกเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์และสนับสนุนปฏิบัติการเอดีบี ชี้ปัจจัยเสี่ยงที่พม่าต้องเผชิญในการปฏิรูปเพื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติของรัฐบาลในช่วงเริ่มต้นของการ ปรับเปลี่ยนประเทศเป็นสิ่งสำคัญ และต้องใช้เวลา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในพม่า การรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้พม่าต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาได้

"การปฏิรูปในพม่าจะเกิดขึ้น รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเร่งพัฒนาของรัฐบาล โดยในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 นั้น ทางอาเซียนเองก็มีแผนที่จะพัฒนาร่วมกันอยู่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าพม่ามีความล้าหลัง เพราะฉะนั้นพม่าจะต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในประเทศ การออกกฎหมายการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ถือเป็นการดำเนินมาถูกทางแล้ว แม้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการอยู่ก็ตาม" นางสาวปาร์คกล่าว

ด้านสิ่งที่พม่าจะต้องพัฒนาประเทศเพื่อรองรับ การเติบโต คือ การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งระบบคมนาคม การเงิน และไฟฟ้า ขณะนี้เส้นทางถนนที่มีเพียง 1 ใน 5 ที่อยู่ในระดับมาตรฐาน ส่วนไฟฟ้ามีประชากรพม่าเพียง 1 ใน 4 ที่สามารถเข้าถึง ด้านบริษัทและโรงงานที่เข้าไปลงทุนก็ผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงเพื่อไว้ใช้เอง ซึ่งในย่างกุ้ง เมืองหลวงมีไฟฟ้าใช้ 70%

พร้อมกันนั้น พม่าก็ต้องดำเนินงานในด้านระบบการเงิน ซึ่งถือว่าจำนวนธนาคารยังขาดแคลนในด้านการรองรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งยังน้อยกว่าจำนวนธนาคารในกัมพูชา จึงถือเป็นเรื่องท้าทายอีกอย่างหนึ่งในพม่าจำเป็นต้องมีการพัฒนา

นาง สาวปาร์กเพิ่มเติมว่า เอดีบีได้คาดการณ์ถึงการเติบโตของจีดีพีพม่า โดยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 6% และปีหน้าอยู่ที่ 6.3% ในขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 6.2% และปี 2556 อยู่ที่ 6.3% ทั้งนี้ พม่ามีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 1,700-1,800 เหรียญสหรัฐต่อหัว ซึ่งต่ำสุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม นางสาวปาร์คได้กล่าวถึงศักยภาพด้านเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวของพม่า โดยเห็นว่าพม่าสามารถพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากเกษตรกรรมในพม่ามีระบบชลประทานที่ดีรองรับอยู่ ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของพม่าถือว่าปรับตัวดีขึ้น โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 คน ซึ่งพม่าจะได้รับผลดีจากการพัฒนาด้านท่องเที่ยว ทั้งการก่อสร้างอาคาร โรงแรม และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าประเทศ

นอกจากนี้ การที่พม่าตั้งอยู่ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งมีการบริโภคคิดเป็น 43% ของโลก หรือประมาณ 32 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนั้น ทำให้พม่าสามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการพัฒนาเศรษฐกิจ จากการบริโภคของเพื่อนบ้านที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอาเซียน กับจีนและอินเดีย ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของพม่าในด้านการค้าและคมนาคม

ทั้งนี้ รายงาน "พม่าบนความเปลี่ยนแปลง : โอกาสและความท้าทาย" ของเอดีบี ได้กล่าวถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองของพม่า หากสามารถรักษากระบวนการปฏิรูปอย่างเข้มงวด

นายสตีเฟ่น กรอฟฟ์ รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกระบุว่า หากพม่ารักษากระบวนการปฏิรูปได้ คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโต 7-8% ต่อปี ทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง และจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หรือประมาณ 2,000-3,000 ดอลลาร์ ภายในปี 2573 โดยข้อได้เปรียบสำคัญของพม่าคือ ที่ตั้งของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ และจำนวนแรงงานที่มีมาก เหล่านี้จะส่งผลให้พม่าสามารถที่จะขยายตัวทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของเอเชียได้

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เอดีบีได้เปิดสำนักงานและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำการในกรุงย่างกุ้ง เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศของพม่า ก่อนหน้านี้ เอดีบีได้ยุติการปฏิบัติงานในพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 แม้ว่าพม่าจะเป็นสมาชิกของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง และเข้าร่วมในกิจกรรมระดับภูมิภาคที่เอดีบีให้การสนับสนุนในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด เอดีบีได้กล่าวถึงเงินกู้คงค้างที่พม่ายังมีต่อจากเอดีบีจำนวน 504 ล้านเหรียญสหรัฐว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่ายังไม่มีการชำระแต่อย่างใด แต่ได้มีการปรึกษาร่วมกับธนาคารโลก เอดีบี และรัฐบาลญี่ปุ่นถึงการชำระเงินคืนเม็ดเงินดังกล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการ แล้ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น