เย็นวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา แม้ฟ้าฝนจะไม่เป็นใจแต่คนที่รัก “อากง” นายอำพล ตั้งนพกุล ชายวัย 61 ปี อดีตผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคนที่ไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษที่หนักน่วงของกฎหมาย ต่างไปรวมตัวกันที่วัดลาดพร้าวเพื่อร่วมส่ง “อากง” เป็นครั้งสุดท้ายในพิธีฌาปนกิจศพ
การถูกจับดำเนินคดีของ “อากง” เป็นประเด็นฮือฮา
การถูกศาลสั่งจำคุก 20 ปี ก็เป็นประเด็นฮือฮา
การไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ก็เป็นประเด็นฮือฮา
การเสียชีวิตหลังถูกจำคุกได้ไม่นานยิ่งเป็นประเด็นฮือฮา
คำถามคือ สังคมได้อะไรจากความ “ฮือฮา” ที่เกิดขึ้น
“อากง” ถูกตำรวจเข้าควบคุมตัวที่บ้านพักย่านสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ด้วยข้อกล่าวหาใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวพิมพ์ข้อความอันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติยศ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระราชินี ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น
เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2), (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
คดีนี้ศาลตัดสินจำคุก “อากง” รวม 20 ปี จากความผิด 4 กระทง กระทงละ 5 ปี เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2554
ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้คดี แม้ทนายความจะยื่นขอประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต
หลัง “อากง” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 จากโรคมะเร็งตับ มีคำอธิบายจากนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 108 ที่ว่าด้วยการปล่อยตัวผู้ต้องหาเป็นการชั่วคราว จำเป็นต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน และเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวออกไปได้ ส่วนจะอนุญาตหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล และกว่าร้อยละ 93 ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่ในกรณีของ “อากง” เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่มีความชัดเจนในตอนที่แจ้งขอรับการประกันตัว จึงเป็นเหตุผลให้ศาลไม่อนุญาต
“ศาลเองก็รู้สึกไม่สบายใจ และเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับเป็นห่วงและไม่อยากให้ใครมาใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้าม”
กรณีของ “อากง” ไม่ได้เป็นที่ฮือฮาเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต่างประเทศก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่าสื่อต่างประเทศ เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิมนุษยชน และสหภาพยุโรปหรืออียู ต่างให้ความสนใจในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ ซึ่งทีมทนายความของกลุ่มคนเสื้อแดงระบุว่า กรณีของอากงนั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้อากงเดินทางไปศาลด้วยตนเองทุกครั้ง โดยไม่คิดหลบหนี แต่กับกรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีความผิดในกรณีเดียวกันกลับได้รับการประกันตัวออกมา (ผู้จัดการออนไลน์ 16 พ.ค. 2555)
ประเด็นเรื่องมาตรา 112 เคยเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก เมื่อคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ออกมาชี้ให้เห็นว่า กฎหมายนี้เกิดจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2519 จากนั้นมีการปรับปรุงเพิ่มโทษให้หนักมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล และไม่สอดคล้องหลักการของกฎหมาย
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์คือ ปรับปรุงกฎหมายให้มีความสมเหตุสมผล ทั้งเรื่องการคุ้มครองที่ต้องแยกสถานะราชวงศ์ไม่ใช่เหมารวม
ให้ลดอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ส่วนการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระราชินี รัชทายาท โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท ไม่กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจลงโทษตามสมควรแก่เหตุ
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการติชมโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
หรือหากพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริงก็ไม่ต้องรับโทษ
แต่ประเด็นการเสนอก้ไขมาตรา 112 ก็เหมือนกับไฟไหม้ฟาง ที่จุดติดพึ่บเดียวก็เหลือแต่เถ้าถ่าน
หลังคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ยื่นรายชื่อประชาชนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอแก้ไขกฎหมาย 26, 968 รายชื่อ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2555 เรื่องก็เงียบหายไปตั้งแต่บัดนั้น
ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการดำเนินการต่อทั้งจากผู้ยื่นเสนอแก้ไข ผู้รับเรื่อง นักการเมือง พรรคการเมือง หรือแม้แต่กระแสของสังคมที่ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายก็หยุดลง
แม้วันที่เปลวไฟเผาไหม้ร่างไร้วิญญาณของ “อากง” ที่เมรุวัดลาดพร้าว ก็ไม่เป็นประเด็นให้ฮือฮาเหมือนแต่ก่อน
มีคนบอกว่ามาตรา 112 มีไว้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง
หรือการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ที่ผ่านมาเป็นแค่เรื่องทางการเมืองที่ไม่ได้ต้องการให้มีการปรับแก้เกิดขึ้นจริง
วันนี้ “อากง” ไปสูสุคติแล้ว
แต่มาตรา 112 ยังดำรงอยู่ และคงจะอยู่ต่อไปอย่างอมตะนิรันดร์กาล
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น