ตราบเท่าที่ยัง “ปรองดอง” กันไม่ได้ ก็เอากันให้ตายไปข้าง... นี่คงเป็นวิวาทะ!! ใต้ภาวะ “ความ ขัดแย้งทางการเมือง” ที่หวนกลับมาสู่ “วิกฤติ” อีกครั้ง โดยเฉพาะการจุดชนวน “ความขัดแย้งรอบใหม่” เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจับมือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย “ขัดขวาง ปรองดอง” ของรัฐนาวาเพื่อไทย
เปิดเกมรุก-ไล่หนักหน่วง เขย่า กันทั้งในและนอกสภา ยิ่งไปกว่านั้น “วาระปรองดองแห่งชาติ” ยังเป็นปมปัญหาใน “จุดยืนที่ไม่ตรงกัน” ระหว่างคนสองกลุ่ม ด้านหนึ่งคือ “ประชาธิปัตย์-กลุ่มพันธมิตร” กับอีกข้างหนึ่งคือ “เพื่อไทย” และคนเสื้อแดง ที่แม้จะเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงในทางการเมือง แต่ก็ยังมี “มุมความคิดที่แตกต่าง” ขัดกันเองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาขอบเขต “การนิรโทษกรรม”....!!
เมื่อเกมการเมืองข้างถนนพักยกไปชั่วคราว ก่อนเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ “ประชาธิปัตย์” ก็เพิ่งจะฉุกคิดขึ้นได้ เลยตั้งคณะทำงานเตรียม ฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มุ่งเอาผิด “คนแดนไกล” อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในคดีฆ่าตัดตอน ยาเสพติดกว่า 2,500 ศพ โดยเป็นอาการ...แก้เกี้ยว! ของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากถูก “แกนนำเสื้อแดง” หอบคดีพฤษภาเลือด 2553 ไปฟ้องศาลโลก
แม้การไต่สวนของศาลยังดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ฝ่ายกลุ่มเสื้อแดง นำโดย “ธิดา โตจิราการ” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) และ น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางนำคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก เป็นการยื่นเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ซึ่งรับผิดชอบการสั่งให้ทหารออกมาปราบผู้ชุมนุม ถึงแม้ว่าประเทศ ไทยจะไม่มีข้อตกลงรับเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่เนื่องจาก “อภิสิทธิ์” มีอีกสถานะหนึ่งคือได้สัญชาติ อังกฤษ และยอมรับสัญชาติอังกฤษ ตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งใช้สิทธิ์การเป็นพลเมืองอังกฤษในเรื่องการศึกษา และ ยังไม่มีการยื่นเพิกถอนสัญชาติ จึงเป็นช่องทางให้ทนายความยื่นฟ้อง “อภิสิทธิ์” ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้นั่นเอง
เมื่อฝ่ายหนึ่งนำกลไกยุติธรรมระหว่างประเทศมาเป็น “เครื่องมือ” ทำให้ “จังหวะก้าว” ของฝ่ายค้านเต็มไปด้วยอารมณ์อยากบลัฟคืน ด้วยการลากคดี “ฆ่าตัดตอน” ไปยื่นฟ้องบ้าง แม้คดีดังกล่าวจะมีการตั้งคณะกรรมการ “คตน.” ขึ้นมาสอบสวนแล้วก็ตาม ซึ่ง คตน.ชุดที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็ได้สอบสวนแล้วเสร็จ ปิดสำนวนกันไปนานแล้ว แต่ยังมีบทสรุปแบบ “ไว้เชิง” ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่าย “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ซึ่งเป็นฐานความผิดที่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามีการนำคดีฆ่าตัดตอน! ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่าง ประเทศ และศาลเกิดรับพิจารณาขึ้นมา ประเทศไทยก็จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน ตกเป็นจำเลยในข้อหา “อาชญากร มือเปื้อนเลือด”
แต่จะว่าไป... ปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ให้ “สัตยาบัน” ธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เท่ากับว่าคดีจากประเทศไทยยังไม่อยู่ใน “เขตอำนาจศาล” ซึ่งในข้อกำหนดอีกประการของศาลอาญาโลก ที่ว่าคดีที่จะ นำขึ้นสู่ศาลระดับโลกต้องไม่อาจแสวงหา ความเป็นธรรมผ่านกระบวนการใดๆ ภายในประเทศของตนเองได้แล้ว ที่น่าแปลกก็คือ คดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ยังคงอยู่ในกระบวน การ “ไต่สวนการตาย” ตาม ป.วิอาญามาตรา 150 จำนวนกว่า 10 สำนวน ขณะที่คดี “ฆ่าตัดตอน” ก็ผ่านขั้นตอนการสอบสวน ไกลไปถึงชั้นศาล ตัดสินกันไปแล้วก็หลายคดี จึงมีคำถามว่า การลากคดีที่กระบวนการยุติธรรมภายในยังทำหน้าที่ ได้ เอาไปสร้างเรื่อง “อื้อฉาว” ในเวทีโลกเช่นนี้ จะเข้าข่ายดูถูกกระบวนการยุติธรรมไทย...หรือไม่?!
ต่อเรื่องดังกล่าว “ดร.จารุพรรณ กุลดิลก” คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ตอบโต้การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นนี้ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว กรณี ที่ ปชป.เพิ่งจะมาสนใจเรื่องฆ่าตัดตอน โดยไปศาลอาญาโลกตามรอยเสื้อแดง พร้อมประกาศส่ง “กษิต ภิรมย์” อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ต้องหา ในคดีก่อการร้ายปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ไปเป็นผู้ดำเนินการนั้น ต้องขอไว้อาลัย ต่อการตัดสินใจของ ปชป.ครั้งนี้ เพราะ มองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ ปชป.มีแต่เสียกับเสีย
โดยข้อเสียประการแรก คนทั้งโลกจะตั้งคำถามว่าทำไมเพิ่งจะมาสนใจ ไอซีซี ความจริงใจต่อเรื่องฆ่าตัดตอนแทบจะไม่มี เป็นแค่เกมทางการเมืองที่ตอบโต้ไปวันๆ ส่วนประการที่ 2 คงไม่พ้นข้อหาเด็กลอกการบ้านตามเคย ลอกหนทางของเสื้อแดงที่จะแสวงหาความเป็นธรรมสากลให้กับประเทศไทย ประการที่ 3 การที่จะไปฟ้องไอซีซีบ้าง ก็เท่ากับยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว ก็ควรยินดีที่จะส่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไปประเดิมสอบสวนเป็นคนแรก และสุดท้ายขอ บอกว่า ช่วยดำเนินการให้ฉับไว เพราะ อยากเห็นปรากฏการณ์เปรียบเทียบ “ความเป็นธรรมของไทย” กับ “ความเป็นธรรมสากล”
“จารุพรรณ” ยังทวีตอีกว่า “เท่ากับไม่ต้องออกทุนการศึกษาให้ ปชป.ในการเรียนระบบกฎหมายสากล จะได้เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่เขาอดทนกับวิธีคิดเรื่องนิติรัฐแบบไดโนฯ ของ ปชป.มากพอแล้ว เมื่อนายกษิตไปไอซีซี กลับมา ก็ควรถ่ายทอดให้เร็ว เพราะหาก ปชป.ได้สัมผัสความเป็นธรรมสากล แล้ว อาจจะเกิดสำนึกได้ว่าได้ก่อกรรมทำเข็ญกับประเทศนี้ขนาดไหน รู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอย่างไร ปชป.ก็ต้องเดินมาตามเส้นทาง นี้ ทางที่ไม่เหลือทางเลือกอื่น และในที่สุดเสื้อแดงก็ทำสำเร็จ การปฏิรูปความ เป็นธรรมของไทยเริ่มแล้วและจะเปลี่ยน แบบไม่มีวันหวนคืน ขอให้ทุกคนช่วยกัน ให้ความรู้เรื่องไอซีซีให้กระจ่างแจ้งไปทั้งหมดทุกสีเสื้อ โดยเฉพาะหลักปรัชญา เพื่อกรุยทางกันต่อไป”
ล่าสุด สหภาพเพื่อประชาธิปไตย ประชาชน หรือ “ยูพีดี” ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของคนเสื้อแดงที่อาศัยอยู่ในยุโรป ได้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่า 1 แสน รายชื่อ เพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาล อาญาระหว่างประเทศ “กรรณิการ์ นีลเซ่น” ผู้แทนสหภาพ “ยูพีดี” ย้ำหัวตะปูว่า การล่ารายชื่อนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. ตอนนี้ได้รายชื่อเพียงสองพันกว่ารายชื่อ โดยตามรัฐธรรมนูญกำหนดกำหนดไว้หนึ่งหมื่นรายชื่อในการยื่นเสนอกฎหมาย ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยได้เท่าไหร่ก็จะยื่นเท่านั้นก่อน แม้รายชื่อจะยังไม่ครบตามเงื่อนไข และหลังจากยื่นรายชื่อ แล้วจะมีการล่ารายชื่อต่อไปเรื่อยๆ เพื่อทำการจัดส่งภายหลัง โดยหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ทหารออกมาเข่นฆ่าประชาชนเหมือนกับปี 2552-2553 อีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ ทางยูพีดีได้มีการยืนหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในประเด็นดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.54 โดยทางรัฐบาลได้ตอบกลับมาว่าติดกฎหมาย ภายในประเทศหลายมาตรา ซึ่งทางสหภาพฯ ได้มีการตอบโต้ไปแล้วว่า ไม่จริง! ทั้งนี้ “ผู้แทนยูพีดี” ได้นำจดหมายของทางสหภาพฯ ที่ส่งถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดย ให้เหตุผลว่า...เป็นข้ออ้างที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนด การให้เกิดความคืบหน้าสู่การให้สัตยาบันฯ เพราะในประเทศที่มีระบอบ การปกครองเช่นเดียวกับไทย ต่างก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันฯ ไปแล้ว ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบางประเทศก็มีบัญญัติไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์ ว่าจะถูกล่วงละเมิดมิได้!!
ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องบทบาทและอำนาจ หน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยกับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ” โดย “วารุณี ปั้นกระจ่าง” ผู้อำนายการกองกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามถึงสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เข้าเป็นภาคีของรัฐธรรมนูญ กรุงโรมว่า...
“ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ประมุข ของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญศาลนี้ ไม่ว่ากรณีใดและจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 ระบุ ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ใน ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้อง พระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
และเป็นข้อติดขัดประการหนึ่ง ซึ่งหากไทยจะเข้าเป็นภาคี ก็จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อรองรับพันธกรณีตามข้อ 27 ซึ่งไทยจะต้องคำนึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีสถานะพิเศษในบริบททางสังคม การเมืองและกฎหมายของไทย จะต้องมีการศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่าง ละเอียดรอบคอบ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น