ประเทศไทยก็เริ่มประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่โดยมี “นายกรัฐมนตรี” เป็นสุภาพสตรีเป็นครั้งแรก หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับเสียงโหวตข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย
นับจากวันนั้นมาเป็นเวลาได้หนึ่งปีพอดี ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ถึงแม้สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งใหญ่คืออุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 รับน้อง “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ที่เพิ่งทำงานได้เพียงหนึ่งเดือน
ย้อนดูการทำงานของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา SIU ตัดสินให้เธอ “สอบผ่าน”
“สอบผ่าน” ในที่นี้ไม่ใช่ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย”
แต่เป็นในฐานะ “ซีอีโอของประเทศไทย” ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับตัวเธอในวันที่ 5 ส.ค. ปีที่แล้วนั่นเอง

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 5-6 ปีมานี้ เราจะเห็นความพยายามของขั้วอำนาจฝั่งพรรคเพื่อไทย (ซึ่งรวมถึงพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนเดิม) ในการรักษารัฐบาลให้อยู่รอดไปตลอดรอดฝั่ง ซึ่งก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง รัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย
ถึงแม้ว่าขั้วอำนาจตรงข้ามจะมีอาวุธอย่างขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภา แม่ทัพนายกอง และกลไกทางกฎหมายต่างๆ คอยทิ่มแทงรัฐบาลฝั่งพรรคเพื่อไทยให้ล้มลงไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมของตัวบุคคลที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ก็มีผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเช่นกัน
สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่ใช่นักการเมืองที่ก้าวขึ้นมาด้วยคะแนนนิยมของตัวเอง และบทบาทในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีไทย” ที่เป็นศูนย์รวมการต่อรองอำนาจทางการเมืองของฝักฝ่ายต่างๆ ในประเทศไทย ก็ไม่ได้เอื้อให้คนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สามารถรักษาตัวให้สะอาดและไม่เจ็บช้ำได้อย่างที่ใจต้องการ
คนที่รับทราบบทเรียนและความเจ็บปวดของตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” อย่างลึกซึ้งกว่าใคร หนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อยู่ด้วยซ้ำ
ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยแก้ปัญหานี้ด้วยแนวทาง “คิดใหม่ทำใหม่” คือแยก “บทบาท” ของนายกรัฐมนตรีออกเป็นสองส่วนจากกัน
งานเบื้องหลังที่ต้องต่อรอง ตุกติก เจ็บช้ำ แต่สำคัญกับฐานอำนาจและการคงอยู่ของรัฐบาลทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะรับไปทำเอง ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองกับพรรคร่วม บริหารมวลชนคนเสื้อแดง รวมไปถึงการเจรจาเงื่อนไขผลประโยชน์กับรัฐบาลต่างชาติ
ส่วนงานเบื้องหน้าที่ต้องพึ่งทักษะการบริหารงานทั่วไป การสั่งการผ่านกลไกรัฐอย่างคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ งานพิธีการ รวมถึงงานทางการทูตในต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เราขอเรียกตำแหน่งใหม่อย่างไม่เป็นทางการนี้ว่า “ซีอีโอประเทศไทย” โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอประเทศคนแรก
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา การแบ่งหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีออกเป็นสองส่วน เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทยเป็นอย่างมาก (อ่านรายละเอียดในบทความ ระบอบนายกรัฐมนตรีคู่ – ยิ่งลักษณ์ออกหน้า ทักษิณคุมหลัง)
สถาปัตยกรรมทางการเมืองลักษณะนี้ถูกออกแบบขึ้นมาใต้ข้อจำกัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้มีอำนาจตัวจริง ไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ และภายใต้ข้อจำกัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีพื้นฐานทางการเมืองมาอย่างนอมินีคนก่อนๆ อย่างนายสมัครและสมชาย
หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ต้องบอกว่า ยิ่งลักษณ์ “สอบผ่าน” ในตำแหน่งนี้ เพราะเธอสามารถทำงานตามที่ได้รับมอบหมายมาได้เป็นอย่างดี การบริหารประเทศทั่วๆ ไปทำได้ไม่ติดขัดนัก (ถ้าไม่นับวิกฤตน้ำท่วมที่เป็นภัยจู่โจมแบบไม่ตั้งตัว) การดำเนินนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นไปได้ด้วยดี (ส่วนนโยบายจะดีหรือแย่แค่ไหนกับประเทศ ต้องมาพิจารณากันในรายละเอียดอีกครั้ง) งานพิธีไม่มีปัญหาอะไร และการเยือนต่างประเทศก็ได้รับความสนใจจากชาวโลก เนื่องจากความเป็นผู้หญิงและบุคคลิกหน้าตาของตัวยิ่งลักษณ์เอง
มิหนำซ้ำ การที่เธอหลีกเลี่ยงการปะทะทางการเมืองโดยตรง (ในสถานะ “นายกรัฐมนตรีไทย”) ยิ่งส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทยด้วยซ้ำ
ถ้าไม่นับปัญหาเรื่อง “พูดผิด” ที่เรามักได้เห็นกันอยู่เสมอ (อันเนื่องมาจากทักษะการพูดของยิ่งลักษณ์ที่ไม่ดีนัก ซึ่งก็ควรตำหนิและวิจารณ์ เพราะเป็นประเด็นสำคัญของคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้) ก็ต้องถือว่ายิ่งลักษณ์ทำได้ดีมากทีเดียวกับการประคองรัฐบาลเพื่อไทยในฐานะ “หัวหน้าคณะรัฐมนตรี” หรือ “ซีอีโอของประเทศ”
แต่ถ้าเรานำกรอบการประเมิน “นายกรัฐมนตรีไทย” แบบเดิมๆ มาประเมินตัวยิ่งลักษณ์ ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำงานหลายๆ อย่างที่นายกรัฐมนตรีไทยในอดีตต้องลงมาทำด้วยตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้กับฝ่ายค้าน
กิจการของรัฐสภาก็แทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยว มีบ้างตามหน้าที่ และส่วนใหญ่ก็มอบหมายให้รองนายก-รัฐมนตรีเป็นคนทำหน้าที่แทน
การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนก็อยู่ในประเด็นเรื่องนโยบายและการบริหารเท่านั้น แทบไม่มี “การเมือง” ในความหมายดั้งเดิมเลย
ดังนั้นการประเมิน “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะ “นักการเมือง” จึงกระทำได้ยากยิ่ง เพราะหน้าที่การงานของเธอฉีกออกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองแบบเดิมๆ ของประเทศไทย
เราอาจพูดได้ว่ายิ่งลักษณ์นั้น “สอบตก” ในฐานะนักการเมือง แต่ถ้าลองมองออกไปในมุมที่แตกต่าง ก็อาจจะตั้งคำถามกลับได้ว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ” จำเป็นต้องลงมาทำงานการเมืองลักษณะนี้จริงๆ งั้นหรือ
โดยเฉพาะในห้วงยามที่ประเทศไทยแบ่งแยกทางความคิดอย่างหนัก การเมืองขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง และพรรคเพื่อไทยเองก็มี “นายใหญ่” นั่งสั่งการจากระยะไกล มีขุนพลจำนวนมากคอยทำหน้าที่นี้แทนอยู่แล้ว
หนึ่งปีแรกของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงอาจไม่จำเป็นต้องสนใจว่า “สอบตก” หรือ “สอบผ่าน” ในฐานะนายกรัฐมนตรี-นักการเมืองเลยด้วยซ้ำ ถ้าหากว่าเธอไปได้ในฐานะ “ซีอีโอประเทศ” ทำงานบริหารราชการแผ่นดินได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง และรัฐบาลเพื่อไทยเองก็ยังมีความนิยมมากพอเป็นรัฐบาลต่อได้
ภายใต้สถาปัตยกรรมทางการเมืองแบบ “นายกคู่” ที่พรรคเพื่อไทยนำมาใช้ ยิ่งลักษณ์ก็คงไม่ต้องลงมาคลุกวงใน เปิดศึกตอบโต้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดวาระ 4 ปีเลยด้วยซ้ำ (ในกรณีที่เธออยู่ครบวาระ)
อย่างไรก็ตาม ปีที่สองของยิ่งลักษณ์จะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เธอกำลังจะต้องเจอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งแรกในชีวิตในไม่ช้านี้ และในระยะยาวกว่านั้น อุปสรรคที่สำคัญกว่าที่เธอต้องเผชิญก็คือ เสียงเรียกร้องจากประชาชนว่า ตกลงแล้ว การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยจะสามารถสร้างสภาวะ “อยู่ดีกินดี” นำพาประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองได้อย่างที่หาเสียงไว้หรือไม่
ความรับผิดชอบเหล่านี้ย่อมหนักหนาสาหัส และต้องการ “สภาวะผู้นำ” จากตัวของยิ่งลักษณ์ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก
เธอจำเป็นต้องออกมาแสดงความกล้าหาญ แสดงภาวะผู้นำให้มากขึ้น มีความเป็นอิสระของตัวเองมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นแค่ในสถานะ “ซีอีโอของประเทศ” ก็ตามที เพราะตำแหน่ง “ซีอีโอ” ไม่ใช่เพียงแต่ต้องบริหาร แต่ต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ชักนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จในอนาคตด้วย
และถ้าหากนโยบายของพรรคเพื่อไทยล้มเหลว ต่อให้ไม่ต้องยุ่งกับการเมืองโดยตรงในสถานะ “นายกรัฐมนตรี” แบบเดิมๆ ก็ตาม ตัวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะเพียงแค่ “ซีอีโอของประเทศ” ย่อมต้องแสดงความรับผิดชอบเป็นคนแรก
ที่มา:Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
นับจากวันนั้นมาเป็นเวลาได้หนึ่งปีพอดี ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ถึงแม้สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งใหญ่คืออุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 รับน้อง “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ที่เพิ่งทำงานได้เพียงหนึ่งเดือน
ย้อนดูการทำงานของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา SIU ตัดสินให้เธอ “สอบผ่าน”
“สอบผ่าน” ในที่นี้ไม่ใช่ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย”
แต่เป็นในฐานะ “ซีอีโอของประเทศไทย” ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับตัวเธอในวันที่ 5 ส.ค. ปีที่แล้วนั่นเอง
ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 5-6 ปีมานี้ เราจะเห็นความพยายามของขั้วอำนาจฝั่งพรรคเพื่อไทย (ซึ่งรวมถึงพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนเดิม) ในการรักษารัฐบาลให้อยู่รอดไปตลอดรอดฝั่ง ซึ่งก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง รัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย
ถึงแม้ว่าขั้วอำนาจตรงข้ามจะมีอาวุธอย่างขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภา แม่ทัพนายกอง และกลไกทางกฎหมายต่างๆ คอยทิ่มแทงรัฐบาลฝั่งพรรคเพื่อไทยให้ล้มลงไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมของตัวบุคคลที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ก็มีผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเช่นกัน
สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่ใช่นักการเมืองที่ก้าวขึ้นมาด้วยคะแนนนิยมของตัวเอง และบทบาทในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีไทย” ที่เป็นศูนย์รวมการต่อรองอำนาจทางการเมืองของฝักฝ่ายต่างๆ ในประเทศไทย ก็ไม่ได้เอื้อให้คนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สามารถรักษาตัวให้สะอาดและไม่เจ็บช้ำได้อย่างที่ใจต้องการ
คนที่รับทราบบทเรียนและความเจ็บปวดของตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” อย่างลึกซึ้งกว่าใคร หนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อยู่ด้วยซ้ำ
ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยแก้ปัญหานี้ด้วยแนวทาง “คิดใหม่ทำใหม่” คือแยก “บทบาท” ของนายกรัฐมนตรีออกเป็นสองส่วนจากกัน
งานเบื้องหลังที่ต้องต่อรอง ตุกติก เจ็บช้ำ แต่สำคัญกับฐานอำนาจและการคงอยู่ของรัฐบาลทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะรับไปทำเอง ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองกับพรรคร่วม บริหารมวลชนคนเสื้อแดง รวมไปถึงการเจรจาเงื่อนไขผลประโยชน์กับรัฐบาลต่างชาติ
ส่วนงานเบื้องหน้าที่ต้องพึ่งทักษะการบริหารงานทั่วไป การสั่งการผ่านกลไกรัฐอย่างคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ งานพิธีการ รวมถึงงานทางการทูตในต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เราขอเรียกตำแหน่งใหม่อย่างไม่เป็นทางการนี้ว่า “ซีอีโอประเทศไทย” โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอประเทศคนแรก
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา การแบ่งหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีออกเป็นสองส่วน เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทยเป็นอย่างมาก (อ่านรายละเอียดในบทความ ระบอบนายกรัฐมนตรีคู่ – ยิ่งลักษณ์ออกหน้า ทักษิณคุมหลัง)
สถาปัตยกรรมทางการเมืองลักษณะนี้ถูกออกแบบขึ้นมาใต้ข้อจำกัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้มีอำนาจตัวจริง ไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ และภายใต้ข้อจำกัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีพื้นฐานทางการเมืองมาอย่างนอมินีคนก่อนๆ อย่างนายสมัครและสมชาย
หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ต้องบอกว่า ยิ่งลักษณ์ “สอบผ่าน” ในตำแหน่งนี้ เพราะเธอสามารถทำงานตามที่ได้รับมอบหมายมาได้เป็นอย่างดี การบริหารประเทศทั่วๆ ไปทำได้ไม่ติดขัดนัก (ถ้าไม่นับวิกฤตน้ำท่วมที่เป็นภัยจู่โจมแบบไม่ตั้งตัว) การดำเนินนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นไปได้ด้วยดี (ส่วนนโยบายจะดีหรือแย่แค่ไหนกับประเทศ ต้องมาพิจารณากันในรายละเอียดอีกครั้ง) งานพิธีไม่มีปัญหาอะไร และการเยือนต่างประเทศก็ได้รับความสนใจจากชาวโลก เนื่องจากความเป็นผู้หญิงและบุคคลิกหน้าตาของตัวยิ่งลักษณ์เอง
มิหนำซ้ำ การที่เธอหลีกเลี่ยงการปะทะทางการเมืองโดยตรง (ในสถานะ “นายกรัฐมนตรีไทย”) ยิ่งส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทยด้วยซ้ำ
ถ้าไม่นับปัญหาเรื่อง “พูดผิด” ที่เรามักได้เห็นกันอยู่เสมอ (อันเนื่องมาจากทักษะการพูดของยิ่งลักษณ์ที่ไม่ดีนัก ซึ่งก็ควรตำหนิและวิจารณ์ เพราะเป็นประเด็นสำคัญของคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้) ก็ต้องถือว่ายิ่งลักษณ์ทำได้ดีมากทีเดียวกับการประคองรัฐบาลเพื่อไทยในฐานะ “หัวหน้าคณะรัฐมนตรี” หรือ “ซีอีโอของประเทศ”
แต่ถ้าเรานำกรอบการประเมิน “นายกรัฐมนตรีไทย” แบบเดิมๆ มาประเมินตัวยิ่งลักษณ์ ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำงานหลายๆ อย่างที่นายกรัฐมนตรีไทยในอดีตต้องลงมาทำด้วยตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้กับฝ่ายค้าน
กิจการของรัฐสภาก็แทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยว มีบ้างตามหน้าที่ และส่วนใหญ่ก็มอบหมายให้รองนายก-รัฐมนตรีเป็นคนทำหน้าที่แทน
การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนก็อยู่ในประเด็นเรื่องนโยบายและการบริหารเท่านั้น แทบไม่มี “การเมือง” ในความหมายดั้งเดิมเลย
ดังนั้นการประเมิน “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะ “นักการเมือง” จึงกระทำได้ยากยิ่ง เพราะหน้าที่การงานของเธอฉีกออกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองแบบเดิมๆ ของประเทศไทย
เราอาจพูดได้ว่ายิ่งลักษณ์นั้น “สอบตก” ในฐานะนักการเมือง แต่ถ้าลองมองออกไปในมุมที่แตกต่าง ก็อาจจะตั้งคำถามกลับได้ว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ” จำเป็นต้องลงมาทำงานการเมืองลักษณะนี้จริงๆ งั้นหรือ
โดยเฉพาะในห้วงยามที่ประเทศไทยแบ่งแยกทางความคิดอย่างหนัก การเมืองขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง และพรรคเพื่อไทยเองก็มี “นายใหญ่” นั่งสั่งการจากระยะไกล มีขุนพลจำนวนมากคอยทำหน้าที่นี้แทนอยู่แล้ว
หนึ่งปีแรกของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงอาจไม่จำเป็นต้องสนใจว่า “สอบตก” หรือ “สอบผ่าน” ในฐานะนายกรัฐมนตรี-นักการเมืองเลยด้วยซ้ำ ถ้าหากว่าเธอไปได้ในฐานะ “ซีอีโอประเทศ” ทำงานบริหารราชการแผ่นดินได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง และรัฐบาลเพื่อไทยเองก็ยังมีความนิยมมากพอเป็นรัฐบาลต่อได้
ภายใต้สถาปัตยกรรมทางการเมืองแบบ “นายกคู่” ที่พรรคเพื่อไทยนำมาใช้ ยิ่งลักษณ์ก็คงไม่ต้องลงมาคลุกวงใน เปิดศึกตอบโต้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดวาระ 4 ปีเลยด้วยซ้ำ (ในกรณีที่เธออยู่ครบวาระ)
อย่างไรก็ตาม ปีที่สองของยิ่งลักษณ์จะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เธอกำลังจะต้องเจอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งแรกในชีวิตในไม่ช้านี้ และในระยะยาวกว่านั้น อุปสรรคที่สำคัญกว่าที่เธอต้องเผชิญก็คือ เสียงเรียกร้องจากประชาชนว่า ตกลงแล้ว การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยจะสามารถสร้างสภาวะ “อยู่ดีกินดี” นำพาประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองได้อย่างที่หาเสียงไว้หรือไม่
ความรับผิดชอบเหล่านี้ย่อมหนักหนาสาหัส และต้องการ “สภาวะผู้นำ” จากตัวของยิ่งลักษณ์ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก
เธอจำเป็นต้องออกมาแสดงความกล้าหาญ แสดงภาวะผู้นำให้มากขึ้น มีความเป็นอิสระของตัวเองมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นแค่ในสถานะ “ซีอีโอของประเทศ” ก็ตามที เพราะตำแหน่ง “ซีอีโอ” ไม่ใช่เพียงแต่ต้องบริหาร แต่ต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ชักนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จในอนาคตด้วย
และถ้าหากนโยบายของพรรคเพื่อไทยล้มเหลว ต่อให้ไม่ต้องยุ่งกับการเมืองโดยตรงในสถานะ “นายกรัฐมนตรี” แบบเดิมๆ ก็ตาม ตัวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะเพียงแค่ “ซีอีโอของประเทศ” ย่อมต้องแสดงความรับผิดชอบเป็นคนแรก
ที่มา:Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น