--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เสาการเมือง-ความมั่นคงของอาเซียนกำลังสั่นคลอน !!?

โดย:ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข

การประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงปลายปี คงได้เพียงแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนที่เบาบาง ไร้น้ำหนัก ไม่ถึงขั้น CoC ที่มีความหมาย

ขณะที่สังคมไทยกำลังฮือฮากับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ดังจะเห็นได้จากการจัดสัมมนา ฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียนไม่เว้นแต่ละวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอาเซียนเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของเสาการเมือง-ความมั่นคงของอาเซียน (ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ที่ประกอบไปด้วยอีก 2 เสา คือ เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมวัฒนธรรม) และย่อมส่งผลต่อการรวมตัวในภูมิภาคเป็น AEC ไม่น้อย

เหตุเกิดจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องที่กรุงพนมเปญ เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ ประสบความล้มเหลว จากการที่ไม่สามารถออก “แถลงการณ์” ร่วมกันได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี ที่มีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนเป็นต้นมา โดยปกติที่ประชุมจะออกแถลงการณ์ร่วม แม้เนื้อหาส่วนใหญ่มักจะเบาบางและไม่ผูกมัดก็ตาม แต่ครั้งนี้ ไม่สามารถแม้แต่ทำเช่นนั้นได้ สร้างความอึดอัดแก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกชาติ และเป็นที่น่าผิดหวังในสายตาประชาคมโลก

ทั้งนี้ เพราะชาติอาเซียนไม่สามารถบรรลุฉันทามติในเนื้อหาของแถลงการณ์ร่วม อันมีสาเหตุมาจากประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างจีนกับ 4 ชาติอาเซียน คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและบรูไน ที่อ้างสิทธิบางส่วนใน 2 หมู่เกาะหลัก คือ สแปรตลีย์กับพาราเซล ขณะที่จีนอ้างสิทธิทั้งหมด แม้ว่าหมู่เกาะดังกล่าวจะอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ของจีนมากก็ตาม

การประชุมครั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยืนกรานให้มีการระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ “แนวหินสการ์โบโรห์” ที่เกิดความตึงเครียดกับจีนหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ถึงขั้นเรือรบสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน แต่กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพการประชุมอาเซียน ไม่เห็นด้วย โดยเกรงว่าแถลงการณ์ร่วมจะทำให้เกิดความร้าวฉานกับจีน ทั้งฟิลิปปินส์และกัมพูชาต่างไม่ยอมถอย ทำให้ฉันทามติตามวิถีอาเซียนไม่อาจเกิดขึ้นได้ในครั้งนี้

ทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามไม่พอใจกัมพูชา ที่ดูเหมือนพยายามเอาใจจีน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ได้เดินทางมาเยือนกัมพูชาตั้งแต่เดือนเมษายน นัยว่าเพื่อมาล็อบบี้สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มิให้นำวาระเรื่องทะเลจีนใต้เข้าสู่การประชุมอาเซียน หรือให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นคุณกับจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่แก่กัมพูชา รวมทั้งได้ช่วยสร้างทำเนียบที่เป็นสถานที่จัดประชุมในครั้งนี้ด้วย

แต่ว่าไปแล้ว ชาติอาเซียนอื่นที่ไม่ใช่คู่พิพาท ก็ไม่อยากเสี่ยงกระทำสิ่งใดที่อาจไปสร้างความไม่พอใจต่อจีน แม้จะเห็นใจเพื่อนสมาชิกอาเซียนที่ขัดแย้งกับจีนอยู่ก็ตาม เพราะต่างก็มุ่งหวังผลประโยชน์จากจีน ไม่ว่าจะด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนความช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะจากการที่จีนถูกคาดหวังให้เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ และที่ยูโรโซนในปัจจุบัน

หลังจากความล้มเหลวในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ นายมาร์ตี้ นาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้พยายามประสานรอยร้าว แต่ดูเหมือนยังไม่สามารถช่วยให้อะไรดีขึ้น ล่าสุด นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังออกมากล่าววิพากษ์วิจารณ์ฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ว่า เป็นต้นเหตุให้ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในหมู่ชาติอาเซียนได้ แม้ว่าชาติอื่นจะมีมติร่วมกันแล้วในประเด็นดังกล่าว

อันที่จริงปีนี้อาเซียนวาดหวังว่าจะสามารถยกระดับ “คำประกาศว่าด้วยการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้” (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) หรือ DoC ที่ได้ลงนามร่วมกันระหว่างชาติอาเซียนกับจีนตั้งแต่ปี 2545 ขึ้นเป็น Code of Conduct (CoC) ที่มีผลผูกมัดมากขึ้น ในวาระครบรอบ 10 ปีของ DoC ทั้งนี้ อาเซียนได้ร่าง CoC ไว้แล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ความล้มเหลวในการออกคำประกาศในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ นับว่าเป็นชัยชนะของจีน ที่เน้นแก้ปัญหาด้วยแนวทางทวิภาคี จะเจรจากับประเทศคู่พิพาทเองทีละคู่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศใหญ่มักใช้กับประเทศเล็ก จีนไม่ประสงค์จะใช้เวทีพหุภาคีอย่างอาเซียน การไม่มีคำประกาศในครั้งนี้ เท่ากับว่าอาเซียนไม่อาจกล่าวถึงร่าง CoC ที่จัดทำไว้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยังไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีร่าง CoC ของอาเซียนอยู่

อย่างไรก็ตาม จุดยืนที่แข็งกร้าวของจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ คงไม่ส่งผลดีต่อจีนเท่าใดนัก ยิ่งในโลกปัจจุบันที่มหาอำนาจไม่สามารถใช้ hard power อย่างเดียวได้ หากแต่ต้องใช้ soft power ควบคู่ไปด้วย ความพยายามของจีนที่จะสร้างบารมีและความชื่นชมในหมู่ชาติอาเซียนจะด้อยประสิทธิผลลง และจะยิ่งผลักให้บางชาติอาเซียนเข้าหาสหรัฐที่พยายามกลับเข้ามาในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ในที่สุด จีนอาจยอมลดท่าทีแข็งกร้าวลงบ้าง อย่างมากใน การประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงปลายปี คงได้เพียงแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนที่เบาบาง ไร้น้ำหนัก ไม่ถึงขั้น CoC ที่มีความหมาย

ต่อเรื่องนี้ไทยเองตกอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบาก เนื่องจากเป็นวาระที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมการอาเซียน-จีน ซึ่งเท่ากับว่า ไทยเป็นแกนของอาเซียนในการประสานงานกับจีน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมือง-ความมั่นคง ซึ่งรวมถึงประเด็นทะเลจีนใต้ด้วย

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถือของอาเซียนได้เสื่อมถอยลงไปมาก จากการที่ไทยไม่สามารถจัดประชุมผู้นำอาเซียนได้ เมื่อคราวที่เป็นประธานอาเซียนในช่วงปี 2551-2552 และจากข้อพิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชาในประเด็นเขาพระวิหาร ที่ส่งผลต่อความพยายามสร้างประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียนโดยตรง

เนื่องจากอาเซียนไม่สามารถแสดงบทบาทในการแก้ไขข้อพิพาทนี้ได้เท่าที่ควร แม้รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย จะพยายามทำหน้าที่เป็นกาวใจ ในฐานะประธานอาเซียนในขณะนั้น แต่ไทยก็เน้นย้ำแนวทางทวิภาคี ไม่ประสงค์ให้อาเซียนเข้ามาไกล่เกลี่ย ในขณะที่กัมพูชาเลือกที่จะไปฟ้องร้องต่อศาลโลก ซึ่งก็เท่ากับเป็นการข้ามหัวอาเซียน ไม่เห็นว่าอาเซียนจะสามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาข้อพิพาทดังกล่าวได้

ปัจจุบันคนไทยบางกลุ่มก็ยังคัดค้านการเข้ามาสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียต่อการถอนทหารของกัมพูชาและไทยจากดินแดนในพิพาทตามคำพิพากษาของศาลโลก โดยรวม อาเซียนยิ่งดูไร้น้ำยามากขึ้น

ขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังคืบหน้าไป ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงกลับประสบภาวะไม่มั่นคง อาเซียนจะยิ่งพบข้อจำกัดมากขึ้นทุกทีๆ ในแนวทางเดิมๆ ที่เน้นความสบายใจ (comfort level) ของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ชีวิตของอาเซียนยังต้องดำเนินต่อไป The show must go on. ชาติอาเซียนยังต้องพยายามมุ่งมั่นก้าวเข้าสู่ AEC ต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2558 แม้บรรยากาศแห่งความร่วมมือจะถดถอยลงไปก็ตาม


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น