การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเร่งเครื่องห้อตะบึง ขู่เช้าขู่เย็นว่ายื่นแน่ทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 1 ส.ค.
แต่เอาเข้าจริงกลับเกิดภาวะ “ชะงักงัน” จนต้องถอนเท้าออกจากคันเร่ง
ความชะงักงันในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นความชะงักงันที่เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง
ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียง ส.ส. มากพอในการเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่เพียงพรรคเดียวได้ ไม่ต้องง้อพรรคฝ่ายค้านอื่นที่มีอยู่แค่พรรคละเสียงสองเสียง
เมื่อเดินหน้าด้วยตัวเองแต่พรรคเดียวได้ เหตุใดจึงเกิดความละล้าละลัง เกิดความชะงักงัน ไม่ดุดันอย่างที่ฉายหนังตัวอย่างเอาไว้
จากที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา เลื่อนออกไปเป็นการยื่นญัตติหลังจากสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ผ่านวาระ 3 ไปแล้ว
ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์
จากที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา เลื่อนออกไปเป็นการยื่นญัตติหลังจากที่รัฐบาลแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีแล้ว
ซึ่งน่าจะมีขึ้นช่วงปลายเดือนสิงหาคม
เมื่อปฏิทินเดือนสิงหาคมถูกฉีก ก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกันยายนเลยหรือไม่
เป็นความไม่แน่ชัดจากปากคำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเองที่บอกว่า “ไม่รีบ”
ไม่รีบเพราะสมัยประชุมสภายังเปิดยาวไปถึงเดือนธันวาคม
ไม่รีบเพราะต้องการใช้เวลารวบรวมข้อมูลที่จะใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมจากที่มีอยู่
หากฟังจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์ ความ “ชะงักงัน” เกิดจากความไม่พร้อมในเรื่องของข้อมูล
นอกเหนือจากความไม่พร้อมของข้อมูลแล้ว ยังน่าจะมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อย่างที่ทราบกันว่ากรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจการทำงานครบรอบ 1 ปีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประชาชนให้สอบผ่าน 5.31 จากคะแนนเต็ม 10 และ 70.4% ต้องการให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
ต่างจาการทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนนเพียง 3.55 ซึ่งเป็นคะแนนในระดับ “สอบตก”
หากย้อนดูการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้ไม่ประหลาดใจกับผลคะแนนที่ได้รับ เมื่อพบว่า “ผลงาน” โดดเด่นน้อยกว่า “โวหาร” และ “วาทกรรม”
งานในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่สามารถจับต้องเป็นชิ้นเป็นอันได้
คงมีเพียงแต่ “โวหาร” และ “วาทกรรม” ที่คอยประดิษฐ์ขึ้นมาจิกกัดรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการตามจิกกัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ สลับสับเปลี่ยนกันออกมาโจมตีนายกรัฐมนตรีในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานหลายเรื่อง
“เปลี่ยนชุดบ่อย-เดินแฟชั่นมากกว่าทำงาน-เป็นพริตตี้รัฐบาลไม่ใช่นายกฯ-พูดภาษาอังกฤษห่วย”
ส่วนเนื้องานที่เป็นเรื่องเป็นราวก็สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ยื่นตีความ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน
คัดค้านนาซ่าไม่ให้เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการบินสำรวจสภาพอากาศ
คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอย่างสุดโต่งด้วยการโห่ฮาในสภา กระทั่งขึ้นไปกระชากตัวประธานลงจากบัลลังก์ ลากเก้าอี้ประธานสภาหนี ขว้างปาหนังสือ เอกสารว่อนห้องประชุม
คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ คมช. โดยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าล้มล้างการปกครองหรือไม่
การคัดค้านทุกเรื่องเอาไปผูกโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์
เป็นการก้าวไม่พ้น พ.ต.ท.ทักษิณที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย
ยังไม่นับรวมการแสดงออกของของนายอภิสิทธิ์ที่ล้อเลียนเสียงจ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ และสวมเสื้อแดงขึ้นเวทีปราศรัย จนมีคนไล่ให้ไปพบจิตแพทย์เพราะสงสัยว่าสภาวะจิตใจยังปรกติดีอยู่หรือไม่
ทั้งหมดคือผลงานในรอบ 1 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
ผลงานในรอบ 1 ปีอันเป็นผลให้ได้คะแนนเพียง 3.55 จากเต็ม 10
เมื่อข้อมูลไม่พร้อม ประชาชนไม่มีอารมณ์ร่วม คนในพรรคเดียวกันเองเริ่มตั้งคำถามกับผู้นำพรรค เริ่มไม่ไว้วางใจในตัวหัวหน้าว่าจะพาพรรคตกต่ำ เข้ารกเข้าพงไปมากกว่านี้หรือไม่
จึงเป็นที่มาของภาวะ “ชะงักงัน”
“ชะงักงัน” เพราะความไม่พร้อม
“ชะงักงัน”เพราะความมั่นใจที่มีให้นายอภิสิทธิ์ลดน้อยถอยลง
นี่อาจเป็นความ “ชะงักงัน” เพื่อรอให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการนำจากนายอภิสิทธิ์ไปเป็นคนอื่นก็เป็นได้
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น