--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดบทเรียน : รถไฟความเร็วสูง ขนผัก จากต่างประเทศ !!?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองในแวดวงเศรษฐกิจ-การเมืองไทย คือการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 3 สมัย (ชาติชาย-ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์) ในประเด็นเรื่องแผนการลงทุนสร้าง “ไฮสปีดเทรน” หรือรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย
สิ่งที่น่าสนใจในการให้สัมภาษณ์ของพันศักดิ์คือประเด็นเรื่องการใช้รถไฟความเร็วสูงขนส่งสินค้า (logistics) แทนรถยนต์หรือเครื่องบิน โดยอาศัยความเร็วของรถไฟช่วยแก้ปัญหาเรื่องสินค้าที่เน่าเสียง่าย เช่น ผักผลไม้ ช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้
“ที่น่าสนใจคือ การขนส่งสินค้าที่เน่าเสียได้ อย่างผัก ผลไม้ ที่ปัจจุบันนี้มีการขนส่งทางรถยนต์เกิดการเน่าเสีย 17-35% แต่เมื่อขนส่งทางไฮสปีดเทรน จะมีอัตราการเน่าเสีย 0% ประเทศไทยจะสามารถขนส่งสินค้าเกษตรไปถึงลูกค้าในมูลค่า 336,000 ล้านบาท ในปี 2561 ที่ไฮสปีดเทรนสร้างเสร็จโดยไม่มีความสูญเสียเลย ขณะที่การขนส่งสินค้าสดๆ อย่างปลาสดจะถึงมือลูกค้าทั้งๆที่ปลายังเป็นอยู่”
SIU คิดว่าแนวคิดเรื่องการปรับระบบลอจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องน่าสนใจมาก และลองหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการขนส่งสินค้าเกษตรด้วยระบบรางจากต่างประเทศ เพื่อค้นหาว่าต่างประเทศมีประสบการณ์ด้านนี้อย่างไรบ้าง


Railex รถไฟความเร็วสูงขนสินค้าเกษตรข้ามทวีปของสหรัฐ

Railex รถไฟขนสินค้าเกษตรข้ามฝั่งทะเลสหรัฐ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือบริษัท Railex ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งโฆษณาตัวเองไว้ว่าเป็น “Temperature Controlled Unit Train” หรือรถไฟควบคุมอุณหภูมิพิเศษ ที่วิ่งระหว่างฝั่งตะวันตก-ตะวันออกของสหรัฐอเมริกาเพื่อขนส่งสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ ระยะเวลาการวิ่งจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งใช้เวลา 5 วัน
แนวคิดของการขนส่งด้วย Railex คือใช้รถไฟความเร็วสูงขนส่งสินค้าทางไกล และตั้งศูนย์ขนถ่ายสินค้าตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ จากนั้นต่อเชื่อมเส้นทางด้วยรถบรรทุกในระยะสั้นจากจุดกระจายสินค้าอีกทีหนึ่ง
Railex ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2006 โดยเริ่มจากเส้นทางระหว่างรัฐวอชิงตันทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มายังรัฐนิวยอร์กที่อยู่ด้านตะวันออกสุดของประเทศ จากนั้นก็ขยายเส้นทางในปี 2008 โดยเพิ่มเส้นทางระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนีย-นิวยอร์ก เพิ่มเข้ามา ในอนาคต Railex มีแผนตั้งจุดขนถ่ายสินค้าตอนกลางประเทศที่ชิคาโก และมีแผนขยายเส้นทางมายังภาคตะวันออกเฉียงใต้อีกเส้นทางหนึ่ง


เส้นทางของ Railex ในปัจจุบัน (2012)

ในหนึ่งสัปดาห์มีรถไฟของ Railex วิ่งให้บริการขนส่งสินค้า 4 ขบวน โดยแบ่งเป็นเส้นทางวอชิงตัน-นิวยอร์ก 2 ขบวน และเส้นทางแคลิฟอร์เนีย-นิวยอร์ก 2 ขบวน รถทุกขบวนปรับอากาศและมีระบบตรวจสอบสินค้าด้วยกล้องวงจรปิด ระบบเช็คพิกัดด้วยจีพีเอส ส่วนศูนย์ขนถ่ายสินค้าทั้งสามแห่งก็มีระบบห้องเย็นพร้อมมูล ช่วยการันตีว่าสินค้าเกษตรที่ขนส่งด้วย Railex จะผ่านการปรับอากาศตลอดการเดินทาง
ตัวอย่างการขนสินค้าของ Railex ได้แก่การขนส่งไวน์ และการขนผลไม้ที่ลงเรือหรือเครื่องบินจากแอฟริกามายังฝั่งตะวันออกของสหรัฐ และกระจายไปยังภาคตะวันตกอีกทีหนึ่ง

หลังจากเปิดบริการมาได้ราว 5 ปี ทาง Railex ระบุว่าได้ขนส่งสินค้าเท่ากับรถบรรทุก 100,000 เที่ยวไปเรียบร้อยแล้ว การขนส่งด้วยรถไฟมีประสิทธิภาพดีกว่ารถบรรทุกมาก เพราะต้นทุนการขนส่งต่ำกว่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้มมากกว่า และลดปัญหาจากการขนส่งโดยรถยนต์ เช่น การจราจรหรืออุบัติเหตุไปได้มาก

Euro Carex โครงการรถไฟเชื่อมยุโรปตะวันตก

ฝั่งยุโรปเองก็มีแนวคิดการสร้างโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงสำหรับขนถ่ายสินค้า (European High-speed Rail Freight Network) เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะยังเป็นเพียงโครงการอยู่ก็ตาม

โครงการ Euro Carex มีแนวทางที่ต่างไปจาก Railex อยู่บ้าง เพราะเป็นโครงการที่ผลักดันโดยอุตสาหกรรมการบินที่กำลังถูกบีบจากกฎกติกาทางสังคม (เช่น การห้ามบินในเวลากลางคืน) ทำให้ทำธุรกิจขนส่งสินค้ายากขึ้น ทางออกที่เป็นไปได้จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีขนส่งมาใช้รถไฟแทน และใช้จุดขนถ่ายสินค้าของสนามบิน (cargo) ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน หรือพูดในอีกแง่ก็คือเปลี่ยนจากการขนส่งทางอากาศมาเป็นรถไฟเท่านั้น ส่วนโครงสร้างของอุตสาหกรรม cargo ยังเป็นเหมือนเดิม

Euro Carex มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่สนามบินชาร์ลเดอโกล ปารีส และเมือง Liege ในเบลเยียม จากนั้นจะกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันตก เช่น ขนข้ามไปลอนดอนผ่านอุโมงค์ลอดใต้ช่องแคบอังกฤษ ขนขึ้นเหนือไปอัมสเตอร์ดัมและโคโลญจ์ และในระยะยาวจะขยายไปยังยุโรปตอนใต้อย่างสเปนและอิตาลีด้วย


แผนที่โครงการของ Euro Carex

ในเว็บไซต์ของ Euro Carex อธิบายแรงจูงใจของโครงการนี้ว่ามีปัจจัย 6 ประการที่ช่วยหนุนให้การขนส่งสินค้าด้วยรางลักษณะนี้เป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ
  • อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าเองมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • การบินช่วงดึกเริ่มเจอข้อจำกัดจากระเบียบของชุมชนใกล้สนามบิน ที่ต้องการลดมลภาวะทางเสียง
  • ถนนในยุโรปเริ่มมีการจราจรหนาแน่น และยุโรปก็เริ่มออกกฎจำกัดความเร็วของรถบรรทุกหนักส่งสินค้า (HGV หรือ heavy goods vehicle)
  • ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • การขยายตัวของโครงข่ายรางรถไฟ
  • อุตสาหกรรมการขนส่งด้วยรางในยุโรปกลับถูกจำกัดด้านกฎระเบียบน้อยลง
รถไฟของ Euro Carex ตั้งเป้าการวิ่งที่อัตราเร็ว 300-800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถขนสินค้าจากปารีสไปลอนดอนในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง และจากลอนดอนมายังแฟรงเฟิร์ตด้วยเวลา 5 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ภายใต้ต้นทุนที่ถูกกว่าการขนส่งทางอากาศมาก

Euro Carex จะใช้ขบวนรถ 2 แบบ ได้แก่ รถด่วน (Express) เน้นการขนสินค้าขนาดเล็ก มีกำหนดเวลาการส่งสินค้าที่ชัดเจน (เช่น ต้องส่งภายในวันรุ่งขึ้น) ซึ่งตลาดนี้เดิมเป็นตลาดที่ใช้เครื่องบินขนส่ง กับรถสินค้า (Cargo) สำหรับสินค้าขนาดใหญ่ที่ไม่เน้นระยะเวลาการส่งมากนัก (เช่น ภายใน 3 วัน) แต่เน้นเรื่องต้นทุนค่าส่งสินค้าที่ต่ำกว่าแบบ Express

โครงการ Euro Carex ถูกริเริ่มในปี 2009 มีแผนเพิ่มให้บริการจริงในปี 2015 และจะขยายเส้นทางไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2020

สรุป

แนวคิดเรื่องการใช้รถไฟความเร็วสูงขนส่งสินค้าไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะแนวคิดนี้ถูกเสนอตั้งแต่ปี 1984 โดย Yanick Paternotte นักการเมืองชาวฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญเรื่องสิ่งแวดล้อมและกฎเกณฑ์ของสนามบิน เขาเสนอว่าเที่ยวบินสินค้ารอบดึกสามารถใช้การขนส่งด้วยรถไฟได้ และทางบริษัทรถไฟแห่งชาติของฝรั่งเศส (SNCF) ก็ตอบรับและเคยศึกษาเรื่องนี้ในเชิงธุรกิจ

การเกิดขึ้นของ Railex และแนวคิดการสร้าง Euro Carex เป็นตัวอย่างที่ดีว่าการขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ (ในกรณีของ Railex) ในกรณีของประเทศไทยที่มีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์อันโดดเด่น สามารถนำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ได้ โดยอาจพิจารณาร่วมกับโครงการทางรถไฟสายอาเซียน (Kunming–Singapore Railway) ที่เคยถูกคิดขึ้นตั้งแต่สมัยอาณานิคม มาประกอบการตัดสินใจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น