--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คลังสั่งรื้อ เกณฑ์กองทุนการออมแห่งชาติ !!?

กิตติรัตน์. สั่ง สศค. รื้อหลักเกณฑ์กองทุนการออมแห่งชาติ เตรียมเพิ่มตัวเลือกรับเงินสะสมทั้งรูปแบบบำเหน็จ-บำนาญ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขรายละเอียดของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ที่ออกในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ใหม่ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับผู้ออมมากขึ้น

สาระสำคัญที่ควรจะมีการปรับเปลี่ยน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการรับผลประโยชน์ของผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ จากเดิมที่กำหนดว่าสมาชิกที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากเงินสะสมและเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ โดยเห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนให้ผู้รับสิทธิสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินสะสมและเงินสมทบเป็นเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญก็ได้

"หากมีกฎหมายแล้ว ก็อยากให้ผู้ออมได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีลักษณะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ออมจะสามารถได้รับเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ตามที่ระบุไว้ แต่เมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติก็เห็นว่าเงื่อนไขที่ผู้ออม จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบของเงินบำนาญเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิ แต่ทำไมไม่ให้โอกาสผู้ออมเขาสามารถเลือกได้ว่าเมื่อครบแล้วจะสามารถขอรับทั้งหมด หรือขอเป็นบำเหน็จแทน เพื่อให้มีเงินก้อนไปใช้ อาจไปลงทุนทำอาชีพหลังเกษียณ หรืออาจขอรับแบบเงินบำนาญก็ได้"

สำหรับการกำหนดอายุของผู้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนที่แต่เดิมกำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพประจำและมีอายุไม่เกิน 60 ปีนั้น ตนยังได้แนะนำ สศค.ว่า ในส่วนนี้ควรเพิ่มบทเฉพาะกาลว่า กรณีที่สมาชิกกองทุนมีอายุเกินกว่า 60 ปี แต่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และยังคงสามารถที่จะประกอบอาชีพ และส่งเงินเข้ากองทุนได้รัฐบาลก็ควรที่จะช่วยส่งเงินสมทบต่อไปเพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนที่ออมเงินในส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ บทเฉพาะกาลนี้ยังไม่มีใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารผลประโยชน์ของกองทุนนั้น ก็คงต้องทบทวนใหม่ เช่น การจะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอาจไม่มีความเหมาะสม และอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ออมได้ ดังนั้น จึงต้องระบุให้ชัดเลยว่าหากจะมีการลงทุนจะไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีหน้าที่เข้าไปประกันผลตอบแทนขั้นต่ำของกองทุนฯ

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ยังอยู่ระหว่างการกำหนดรูปแบบว่าจะจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ หรือให้เป็นการดำเนินการโดยธนาคารในสังกัดของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น