ตลาดเครื่องดื่มเดือด!
ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า เป็นเรื่องใหญ่ ลากยาว และน่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่งสำหรับบิ๊กดีลแห่งปี ช้างเปิดศึกไฮเนเก้น
ย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของบิ๊กดีลแห่งปีพบว่า เริ่มต้นจากปฏิบัติการแหย่หนวดเสือของกลุ่ม "นายเจริญ สิริวัฒนภักดี" เจ้าของฉายา เจ้าพ่อน้ำเมา, นักซื้อ, จอมเทกโอเวอร์ ด้วยการให้บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มตรา "ช้าง" เข้าซื้อหุ้นบริษัทเฟรเซอร์แอนด์นีฟ หรือเอฟแอนด์เอ็น ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ร้อยละ 22 จากธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือโอซีบีซี
กับอีกดีลให้บริษัท ไคน์เดสท์ เพลซ กรุ๊ป ของนายโชติพัฒน์ พีชานนท์ บุตรเขย เข้าซื้อหุ้นโดยตรงจาก บริษัท เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ (เอพีบี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไทเกอร์ อีก 8.6%
และมีตัวเร่งให้กลายเป็น "ดีลเดือด" บิ๊กดีลแห่งปี เมื่อไฮเนเก้น ผู้ผลิตเบียร์พรีเมียมรายใหญ่จากประเทศฮอลแลนด์ ประกาศทุ่มเงิน 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 1 แสนล้านบาท เข้าซื้อหุ้นในเอพีบี ส่วนที่เหลือทั้งหมดราวร้อยละ 40 ในราคาหุ้นละ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ ถือครองอยู่โดยเอฟแอนด์เอ็น
ความน่าสนใจของสงครามแย่งชิงธุรกิจเอพีบีระหว่างไทยเบฟและไฮเนเก้น ไม่ใช่แค่บิ๊กดีลมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็นเงินก้อนใหญ่มากกว่าแสนล้านบาทเท่านั้น
ทว่านี่คือสัญญาณบอกให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดสินค้าบริโภคกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคนี้ทั้งในมิติของโครงสร้างตลาด สินค้า การแข่งขัน มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับปากท้อง เงินในกระเป๋า
และยังเป็นเป็นการตอกย้ำความสำคัญของตลาดผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อบริษัทระดับโลก อันเป็นผลจากพลวัตความเปลี่ยนแปลงสองด้านหลักคือ วิกฤตในสหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, วิกฤตที่กำลังจะตั้งเค้าขึ้นในประเทศจีน และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ในอีกสามปีข้างหน้านั่นเอง
เริ่มต้นทำความเข้าใจบิ๊กดีลนี้ด้วยการมองข้ามเรื่องรายละเอียดการซื้อหุ้น เพราะซับซ้อนไขว้กันไปมา ตามกลเกมทางการเงินสมัยใหม่
ให้ยึดเรื่องไฮเนเก้นเดินหน้าสวนกลับปฏิบัติการเปิดเกมรุกกระตุกหนวดเสือของกลุ่มเจริญ ด้วยการทุ่มเงินก้อนโตเพื่อผลักดันตัวเองสู่ผู้คุมนโยบายสูงสุดในเอพีบีแต่เพียงผู้เดียวว่า "คือการประกาศรักษาหน้าตักของผู้ผลิตเบียร์ในตลาดอาเซียน ชนิดที่เรียกว่าไม่มีใครยอมใคร"
กล่าวสำหรับเอพีบี เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไฮเนเก้นและเอฟแอนด์เอ็น มีโปรดักส์สำคัญคือ เบียร์ไทเกอร์ สร้างขึ้นมาเพื่อทำตลาดในเอเชีย หรือรีจินัล แบรนด์ (regional brand) เป็นการเฉพาะ
เอพีบี มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 342,000 ล้านบาท มีฐานการตลาดอยู่ใน 14 ประเทศทั่วเอเชีย โดยเฉพาะถือเป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาดในตลาดเกิดใหม่อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ประเทศสำคัญในอาเซียน ภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตและการบริโภคเบียร์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ชี้ว่า การบริโภคเบียร์ใน 9 ประเทศอาเซียน มียอดรวม 6,840 ล้านลิตร ในปี 2554 เพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2553 ตลาดนี้มีเวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ติดกลุ่มนักบริโภคเบียร์ตัวยง เฉพาะเมืองไทยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการบริโภคหรือตลาดรวมกันถึง 130,000 ล้านบาท หรือ 2,000 ล้านลิตรต่อปีเลยทีเดียว
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของเอพีบี ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญในตลาดเอเชียและอาเซียน ตลาดที่กำลังจะรวมเป็นหนึ่งเดียวมีประชากรสูงถึง 600 ล้านคน ในปี 2558 ส่งผลให้ไฮเนเก้นอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตอบโต้ด้วยการทุ่มเงินผลักดันตัวเองขึ้นสู่ผู้คุมนโยบายสูงสุด บล็อกไม่ให้กลุ่มเจริญเข้ามาเกี่ยวในเรื่องกำหนดโยบายบริหารบริษัท
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หลายราย เห็นในทางตรงกันว่าไฮเนเก้นคงต้องเพิ่มราคาแข่งขึ้นไปอีกกันไม่ให้กลุ่มเจริญเข้ามา หลังจากกลุ่มนี้ขอซื้อหุ้นเพิ่มในเอพีบีอีกราวร้อยละ 7 ในอัตราหุ้นละ 55 ดอลลาร์สิงคโปร์ สูงกว่าราคาซื้อเดิมของไฮเนเก้นที่ระดับ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์
นั่นประการแรก เป็นการรักษาฐานธุรกิจในห้วงเวลาเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐอเมริกาดิ่งตัวลง ธุรกิจต่างชาติหลากหลายภาคส่วน พาเหรดเข้าสู่เออีซี ภูมิภาคที่คาดการณ์กันว่าจะเป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการฉุดดึงเศรษฐกิจโลก นำไปสู่สงครามแย่งชิงหุ้นกันในบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในที่สุด
อีกประการถัดมา การเข้าซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นของกลุ่มเจริญยังจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคอาหารเครื่องดื่มในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย
กลับมาทางฝั่งเอฟแอนด์เอ็น เวลานี้ไทยเบฟขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 24% หลังซื้อเพิ่มอีกจากรายย่อยในตลาด ตามด้วย "คิริน โฮลดิ้ง" ผู้ถือหุ้นลำดับสองในสัดส่วน 15%
กล่าวสำหรับคิริน ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตเบียร์และเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ได้ซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นจากเทมาเส็ก หรือกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างฐานที่มั่นในธุรกิจเครื่องดื่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังตลาดเบียร์ในญี่ปุ่นถดถอยลงตามภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากแผ่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเข้าไปถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็น และยังบุกเข้าไทยโดยผนึกเข้ากับทางโอสถสภา เปิดตัวสินค้าแบรนด์แรกอย่างยิ่งใหญ่ "ชาเขียวนามาชะ" ยอมทุ่มจ้าง "เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์" มาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าด้วยเงินลงทุนก้อนโต แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จทางตลาด
กระนั้น คิรินยังได้เข้าซื้อกิจการเบียร์มาแล้วหลายครั้งในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ไล่เรียงมาตั้งแต่ การซื้อหุ้นในบริษัทไลอ้อน นาธาน บริษัทผู้ผลิตเบียร์อันดับ 2 ในออสเตรเลีย การเข้าซื้อกิจการของชินคาริโอล บริษัทผู้ผลิตเบียร์และเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของบราซิล เป็นต้น
การรุกเข้าไปไปถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็นของไทยเบฟบริษัทในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มเหมือนกัน ทำให้คิริน รู้สึกอึดอัดและไม่อาจนิ่งเฉยได้ เวลานี้ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นเหลือทางเลือกอยู่ไม่มากนัก หนึ่งในทางนั้นคือผนึกเข้ากับไทยเบฟไม่รับข้อเสนอขายหุ้นเอฟแอนด์เอ็นในเอพีบีให้ไฮเนเก้น บล็อกไฮเนเก้นไม่ให้กุมอำนาจการบริหารสูงสุดในตลาดเบียร์เอเชียแปซิฟิก กับการขยายแบรนด์เครื่องดื่มเพิ่มเติมขอซื้อกิจการเครื่องดื่มในกลุ่มซอฟต์ดริงก์ภายใต้แบรนด์ฟรุตทรี ของเอฟแอนด์เอ็นในประเทศมาเลเซีย
...ถึงจะไม่ใช่บิ๊กดีล ทว่าการขยับตัวของคิรินยังสะเทือนไปถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลกอีกรายคือ "โคคา โคล่า"
ผู้ผลิตชั้นนำจากอเมริการายนี้ จะมีท่าทีสนใจซื้อแบรนด์ซอฟต์ดริงก์ของเอฟแอนด์เอ็น ประกอบด้วย 100พลัส น้ำผลไม้ น้ำแร่ และผลิตภัณฑ์นมตราหมีเช่นกัน เพียงแต่รอดูสถานการณ์การแย่งชิงหุ้นเอฟแอนด์เอ็นถืออยู่ในเอพีบี ระหว่างไฮเนเก้นและไทยเบฟเวอเรจ ว่าจะลงเอยอย่างไร
สิ่งที่ทาง "คิริน" และ "โคคา โคล่า" ทำมีเป้าหมายเช่นเดียวกับ "ไฮเนเก้น" คือ การรักษาหน้าตักอาเซียน ตลาดที่มีการประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีในอีก 18 ปีข้างหน้าจะเพิ่มจาก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 71.3 ล้านล้านบาท ในสิ้นปีนี้เป็น 10 ล้านล้านดอลลาร์หรือประมาณ 310 ล้านล้านบาท ในปี 2573
..ในฟากธุรกิจสองเหตุผลหลักในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกกับเออีซี กำลังจะเป็นตัวเร่งให้สงครามธุรกิจในภูมิภาคนี้กำลังลุกลาม ดึงเอาอีกหลายบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มอีกหลายรายเข้าสู่เกมนี้
เกิดการต่อสู้แย่งชิงธุรกิจในสองฟากหลัก คือการรุกคืบเข้าไปในกิจการของยุโรป อเมริกา ที่เข้ามาปักธงในภูมิภาคนี้โดยกลุ่มบริษัทข้ามชาติทั้งคนไทย ญี่ปุ่น จีน กับอีกทางข้อเสนอซื้อหุ้นจากกลุ่มเจริญสะท้อนแนวโน้มบริษัทข้ามชาติในไทยรวมทั้งเอเชียต้องการแผ่ขยายุรกิจ เข้าสู่ภูมิภาค ตลาดโลก โดยเลือกช็อปของถูกเอาจากวิกฤตอียู และอเมริกา
..แล้วถามว่า ผู้บริโภคจะได้อะไรบ้างจากสนามรบอันเดือดพล่านนี้
ตอบว่าได้ประโยชน์แน่ การผนึกเข้ากับบริษัทในภูมิภาคเดียวกันในลักษณะไทยเบฟเข้าซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นช่วยเพิ่ม economy of scale กดต้นทุนการดำเนินงานให้ต่ำลง และเมื่อมีสินค้าบริการเพิ่มขึ้นในตลาดที่แข่งขันกันอย่างเสรี ผู้บริโภคคือกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองสูงสุด
...เว้นแต่เสียว่า การได้มาของธุรกิจนั้นๆ จะทำให้เกิดการผูกขาด โดยผู้ผลิตเพียงรายเดียว และไม่มีใครคาดเดาได้ซะด้วยว่าเกมนี้จะลงเอยอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น