โดย เกษียร เตชะพีระ
เมื่อนักข่าวถามว่าเกรงม็อบเมืองไทยจะต่อต้านล้มล้างรัฐบาลเลียนแบบม็อบลิเบีย อียิปต์หรือไม่? พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตอบว่า: -
"ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเป็นคนไทย ตนว่าลึกๆ แล้วคนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ขี้เห็นใจ ใจอ่อน เชื่อคนง่าย ดังนั้น สิ่งที่เราแตกต่างจากต่างชาติคือเรามีความผูกพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของพวกเรา
"ดังนั้น แน่นอนมีคนที่จ้องจะทำลายสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร ถ้า 2 สถาบันนี้คือสถาบันกษัตริย์และสถาบันทหารอ่อนแอเมื่อไหร่ก็ตาม ก็จะถูกแทรกซ้อนโดยง่าย เหมือนกับสมัยก่อนก็เคยมีอยู่ ดังนั้นก็จะต้องไปหากันว่าใครที่ต้องการทำแบบนั้น"
คำตอบของพลเอกประยุทธ์ที่ผมได้ยินครั้งแรกทางทีวีช่อง 5 ข้างต้นสะดุดหูสะดุดใจชอบกล เพราะเผอิญ คล้องจองกับทรรศนะต่อประเด็นคล้ายกันในกรณีลิเบียของ ซาอิฟ อัล-อิสลาม โมอามาร์ อัล-กาดาฟี (ผู้ได้สมญานามว่า "ท่านผู้ใหญ่") ลูกชายที่พันเอกโมอามาร์ กาดาฟี (ผู้ได้สมญานามว่า "ท่านผู้นำ") ผู้พ่อเตรียมให้สืบทอดอำนาจต่อจากตน ดังที่ซาอิฟกล่าวย้ำแล้วย้ำอีกในคำปราศรัยสดทางทีวีของรัฐลิเบียเมื่อตีหนึ่งคืนวันอาทิตย์ที่ 20 ก.พ.ศกนี้ว่า:
"ลิเบียไม่ใช่ตูนิเซียหรืออียิปต์ๆๆๆ...
"ลิเบียประกอบไปด้วยชนเผ่า, โคตรตระกูล, และความจงรักภักดี มันจะเกิดสงครามกลางเมือง...
"เราจะสู้จนชายคนสุดท้าย จนหญิงคนสุดท้าย จนกระสุดนัดสุดท้าย"
(NYTimes.com, 20 February 2011)
คำว่า "ไม่เหมือน" และ "ไม่ใช่" ในคำสัมภาษณ์และปราศรัยออกจะวิ่งสวนทางประวัติศาสตร์การลุกฮือของมวลชนในอดีต, เหตุการณ์รอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา, แนวโน้มสถานการณ์, และจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้ ขัดแย้งทางการเมืองทั้งในเมืองไทยและลิเบียอย่างผิดสังเกต เป็นที่เข้าใจได้ว่าในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ย่อมไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้เป็นไปเช่นนั้น แต่โลกที่เป็นจริงก็มีความดื้อดึงของมัน
บางทีวิธีหนึ่งที่จะใช้ทำความเข้าใจคำกล่าวข้างต้นอาจเป็นดังที่ ฮิชัม มาทาร์ นักเขียนนิยายชาวลิเบียในกรุงลอนดอน-ลูกชายแกนนำฝ่ายค้านพลัดถิ่นผู้ถูกกาดาฟีสั่ง "อุ้ม" จากอียิปต์กลับไปคุมขังทรมานในคุกลิเบียจนถึงทุกวันนี้-ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำปราศรัยของพันเอกกาดาฟีเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ศกนี้ มีลักษณะแปลกพิกลบางอย่างคล้ายๆ คำปราศรัยครั้งหลังๆ ของประธานาธิบดีเบน อาลี แห่งตูนิเซีย และประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ กล่าวคือ
จอมเผด็จการทั้งสามต่างสับสนปนเปประเทศของตนเข้ากับตัวเอง พูดเรื่องประเทศของตนราวกับกำลังพูดเกี่ยวกับตัวเอง พวกเขาต่างเป็นเหยื่อแห่งความขัดแย้งในตัวของเขาเอง เป็นเหยื่อของโลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเขานึกคิดขึ้นเอง ท่ามกลางพรรคพวกบริวารแวดล้อมที่คอยพร่ำบอกว่าเขาถูกเสมอ
(www.democracynow.org/2011/2/23/were_witnessing_the_violent_lashings_of#)
อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็เคยมีผู้นำไทยที่พยายามใช้คาถาเอกลักษณ์มาเสกขจัดปัดเป่าความขัดแย้งต่อสู้เข่นฆ่า ทารุณอย่างดุเดือดนองเลือดกลางเมืองว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ไทยเอามากๆ และดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่วิสัยคนไทยทำ...
"การเผาคนตายกันกลางถนนนั้น ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย
"เหตุที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นแปลกมาก มีการทุบตีคนให้ตายแล้วเอามาแขวนคอ ชักชวนให้เอาไม้ไปตี เอาเก้าอี้ไปตี แล้วเอาคนที่ถูกแขวนคอจนตายนั้นเอามาวาง มีการเอายางรถยนต์วางแล้วเอาศพวาง แล้วเอายางรถยนต์วางทับ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้ง 4 ศพ
"ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นกลางถนน กลางสนามหลวง กลางถนนราชดำเนิน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ได้ แต่ผลการสอบสวนในภายหลังนั้นก็สามารถจะปะติดปะต่อได้
"การที่มีการเผาคนตายไป 4 คนนั้นเป็นการเผาคนซึ่งต้องการทำลายหลักฐาน ไม่ให้รู้ว่าเป็นคนชาติใด เพราะเหตุว่าหลักฐานในกองที่ไหม้นั้น มีรูปโฮจิมินห์เล็กๆ ซึ่งเผาไปไม่หมด
"เราสอบไปในภายหลังในธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ได้...หนักหนานั้น มีหมาซึ่งถูกฆ่าตายแล้วย่าง หมาตุ๋น หมาสตู เอาอ่างมีตะแกรง หมากรอบทั้งตัวมีมีดเสียบอยู่หลายตัว
"ผมเองซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ แต่ได้เข้าไปดูเองและไปดูหลักฐานที่โรงพักชนะสงคราม
"เราวิเคราะห์ได้ในเวลาต่อมาว่า มีชาติอื่นคือชาติเวียดนามนั้นจำนวนไม่ทราบได้แน่นอนเข้าไปเกี่ยวข้อง ในกรณีธรรมศาสตร์ แล้วเข้าใจว่าเป็นคนเวียดนามเองที่ถูกฆ่าตาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชันสูตรและกลายเป็นคนชาติอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนถึงทางนั้น คนที่เกี่ยวข้องได้จัดการเผาคนทั้ง 4 เสีย
"เขาเรียกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่มิใช่วิสัยคนไทย ทำการเผาคนกลางถนนนั้น ไม่ใช่วิสัยของคนไทย..."
(รัฐมนตรีมหาดไทย สมัคร สุนทรเวช กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่ฝรั่งเศส, 4 มิ.ย. 2520 อ้างจากวีระ มุสิกพงศ์ และศิระ ตีระพัฒน์, โหงว นั้ง ปัง, สำนักพิมพ์สันติ์วนา, 2521, น.155-56)
สรุปตามตรรกะของคาถาเอกลักษณ์ไทยได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ = ญวนฆ่าญวน เพราะมันขัดกับความเป็นไทยฉันใด!
ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์มวลชนลุกฮือต่อต้าน/ล้มล้างรัฐบาลอย่าง 14 ตุลาฯ 2516, พฤษภาประชา-ธรรม 2535, 7 ตุลาเลือด 2551, สงกรานต์เลือด 2552, เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553 รวมทั้งการก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้ที่ปะทุรุนแรงขึ้นอีกรอบนับแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ฯลฯ ก็ไม่น่าเป็นไปได้หรือเกิดขึ้นได้กลางเมืองไทยแผ่นดินไทย เพราะมันขัดกับความเป็นไทยฉันนั้น!
ถ้าข้อสรุปดังกล่าวจะขัดขืนฝืนทวนความเป็นจริงบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะในเมืองไทย อุดมคติสำคัญกว่าความเป็นจริง และบ้านนี้เมืองนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้...
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความในมุมกลับว่าในหมู่คนไทย 60 กว่าล้านคน ล้วนเจียะป้าบ่อสื่อ วันๆ เอาแต่สุมหัวรวมตัวลุกฮือต่อต้านล้มล้างรัฐบาลท่าเดียว เปล่าครับ
เพราะแม้แต่ เบน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาดนตรีวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา ผู้มาสำรวจวิจัยการแสดงดนตรี/ร้องเพลงในการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของไทยปัจจุบัน ก็ยังกล่าวทิ้งท้ายกับ นีล เทรวิธิค ผู้สื่อข่าวบีบีซีระหว่างไปร่วมงานชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อยุธยาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า : -
ชาวโลกคงประทับตาตรึงใจกับภาพข่าวการชุมนุมต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับทหารอย่างดุเดือดรุนแรงเมื่อกลางปีก่อน แต่ถ้าคุณอยู่ในที่เกิดเหตุจริงๆ คุณจะเห็นว่าลับตากล้องออกไป ผู้คนแสดงความเมตตาปรานีต่อกันอย่างเหลือเชื่อ มีการช่วยดึงฝ่ายตรงข้ามให้หลบพ้นภยันตราย พาคนไม่เลือกฝ่ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อได้รับบาดเจ็บ แจกน้ำแจกท่าให้กันไม่เว้นแม้แต่ทหาร ตำรวจ ฯลฯ นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามได้
(รายการวิทยุ From Our Own Correspondent ของ BBC, 12 ก.พ. 2011
www.bbc.co.uk/iplayer/episode/p00df8cr/From_Our_Own_Correspondent_12_02_2011/)
โดยมิจำต้องวาดภาพให้โรแมนติคเกินจริง ข้อควรคำนึงก็คือสังคมไทยก็คงเป็นเฉกเช่นสังคมอื่นที่มีความแตกต่างหลากหลายพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมมากมาย ทั้งดีงามและเลวร้าย ทั้งสว่างและมืดมิด คนไทยสามารถเป็นได้ทั้งนักบุญและปีศาจ ผู้เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือผู้อื่นและฆาตกรกระหายเลือด
ประเด็นคงไม่ใช่ว่าเอกลักษณ์ไทยคือ อะไรแน่? ด้านใดจริงแท้ ด้านใดเป็นเท็จ?
หากเป็นว่าคนไทยสังคมไทยอาจมีพลวัตโน้มเอียงไปด้านไหนได้บ้างในแต่ละช่วงจังหวะเวลา? ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์อย่างไร? และเราจะร่วมกันสร้างเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้คนไทย สังคมไทยมีเสรีภาพที่จะทำดี (moral freedom) แทนที่จะทำร้ายทารุณต่อกัน-ได้ง่ายขึ้นเช่นใด?
ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น