--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

เชิงอรรถ 'มะลิปฏิวัติ' ดอกเก่าร่วงไป ดอกใหม่ผลิบาน


ชาวอียิปต์หลายพันคนชุมนุมที่จตุรัสตาหะรี
ปฏิวัติดอกมะลิจากมือหนุ่มสาวโลกอาหรับ เพราะต้องการล้มอำนาจเก่า แล้ว"อำนาจเก่า"ทำอะไรพวกเขา จึงต้องใช้เครื่องมือใหม่ในโลกออนไลน์ประกาศสงคราม

โมฮัมเหม็ด บูอาซีซี วัย 26 ปี จุดไฟเผาตัวเองในเมืองซิดบูซิดของตูนิเซียเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อประท้วงอัตราว่างงานที่สูง เขาเป็นหนึ่งในบัณฑิตที่จบการศึกษามาหลายปีแล้วแต่ยังหางานทำไม่ได้ จนกระทั่งต้องมาตั้งแผงขายผักแต่ตำรวจก็มาจับเขาฐานตั้งแผงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพอันน่าสยดสยองของบูอาซีซีในเปลวเพลิงบริเวณจตุรัสประจำเมือง จุดชนวนการจลาจลในตูนีเซียจนประธานาธิบดีซีเน เอล-อัลบิดีน เบน อาลี ต้องหนีออกนอกประเทศเมื่อกลางเดือนมกราคม หลังจากอยู่ในอำนาจมานานถึง 23 ปี

การเสียชีวิตของบูอาซีซีและ "การปฏิวัติจัสมิน" (The Jusmin Revolution) ในตูนิเซีย ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไปทั่วโลกอาหรับ ด้วยการที่คนอย่างน้อย 7 รายในหลายประเทศจุดไฟเผาตัวเอง รายหนึ่งในแอลจีเรียหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อร้องเรียนเรื่องงานและที่อยู่ รายหนึ่งเป็นชายชาวอียิปต์ที่ขัดสนทางการเงินและจุดไฟเผาตัวเองหน้าสภา

บาฮีย์ เอลดิน ฮัสซัน ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาสิทธิมนุษยชนในกรุงไคโร แสดงความเห็นว่าเมื่อไม่มีช่องทางในการยื่นคำร้องเรียน คนก็เลยต้องจุดไฟเผาตัวเอง กว่าจะมาถึงจุดนี้พวกเขาผ่านความอยุติธรรมมามากมาย นี่อาจเป็นครั้งแรกที่โลกอาหรับได้เห็นการเผาตัวเองเลียนแบบกัน แต่ความขมขื่นใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกเพราะความเจ็บช้ำน้ำใจเหล่านี้เป็นปมค้างคามาหลายปีแล้ว

"ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุจากความยากจน มีผู้ชายคนหนึ่งผูกคอตายที่สะพานคาส เอล-นิลเมื่อปีที่แล้ว" ฮัสซันอธิบาย

สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกซึ่งเริ่มจากการเผาตัวเอง ไปเป็นการจัดชุมนุมประท้วงในโลกอาหรับ น่าจะคล้ายคลึงกัน นั่นคือการเรียกร้องขอสิทธิในการเลือกผู้นำ และสิทธิในการเปลี่ยนตัวผู้นำ หากผู้นำคนนั้นไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างที่ประชาชนต้องการ สาเหตุอีกประการหนึ่งคือต้องการผู้มีอำนาจมาช่วยยุติพฤติกรรมคอร์รัปชัน และขอให้รัฐบาลสร้างโอกาสในการหางานทำแก่ประชาชน

ยัสเซอร์ อับดีห์ และอันจาลี การ์จ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก เขียนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า น่าประหลาดใจที่อัตราว่างงานในตะวันออกกลางและภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นพร้อมกับการศึกษาที่มีมากขึ้น อย่างในอียิปต์ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การตรวจสอบระบบการศึกษาพบว่ามีบัณฑิตล้นเกินโดยเฉพาะด้านมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขณะที่ภาคธุรกิจบ่นว่าหาคนงานที่มีทักษะอย่างที่ต้องการไม่ได้

รายงานของธนาคารโลกยังระบุว่าบัณฑิต 1 ใน 7 คนในอียิปต์ จอร์แดน และตูนิเซีย ตกงาน และหลายคนมีคุณสมบัติสูงเกินสำหรับตำแหน่งงานที่ทำอยู่ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ขยายตัวไม่เร็วพอดูดซับแรงงานใหม่ๆ อย่างอียิปต์ซึ่งมีประชากร 80 ล้านคนนั้น จะต้องมีงาน 9.4 ล้านตำแหน่งเพื่อให้คนที่ตกงานได้มีงานทำและรองรับบัณฑิตจบใหม่

นอกจากนั้น อัตราว่างงานในหมู่หนุ่มสาวยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อย่างในอียิปต์ที่อัตราว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 8.9 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราว่างงานในหมู่คนอายุต่ำกว่า 25 ปี อยู่ที่ 25.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราว่างงานโดยรวมของตูนิเซียอยู่ที่ 14.2 เปอร์เซ็นต์ และอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวอยู่ที่ 30.3 เปอร์เซ็นต์

หลายทศวรรษก่อนหน้านี้ คนที่ต้องการหางานไม่ว่าจะเป็นชาวจอร์แดน อียิปต์ เยเมน ปาเลสไตน์ หรืออื่นๆ จะมุ่งหน้าไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มั่งคั่งในตะวันออกกลางหรือยุโรปหรือสหรัฐ แต่ในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 บางประเทศในตะวันออกกลางเริ่มวิตกว่ากำลังนำเข้าแรงงานที่อาจก่อเหตุวุ่นวายได้ จึงหันไปจ้างคนงานจากเอเชียแทน

พลังคนรุ่นใหม่ผสานสังคมออนไลน์

ผู้ที่ลุกขึ้นมาประท้วงเพราะทนไม่ไหวกับปัญหาต่างๆ ในหลายประเทศของอาหรับ ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งหลายคนเป็น "มือใหม่" ในกิจกรรมทางการเมือง และทุกคนก็ใช้เครื่องมือสมัยใหม่ อย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ อินเทอร์เน็ต และการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อจัดการชุมนุมและขยายผลการชุมนุม

สภาพการณ์ดังกล่าวนับว่าแตกต่างจากเมื่อไม่นานมานี้ ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางพูดถึงหนุ่มสาวในโลกอาหรับว่ามีความคับข้องใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะแม้คนเหล่านี้ไม่ชอบผู้ปกครองประเทศที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือ ทั้งยังรู้สึกว่าโอกาสทางเศรษฐกิจหรือการหางานของพวกเขามีขีดจำกัด แต่พวกเขาก็ไร้พลังทางการเมืองจนไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ ทั้งยังถูกคุกคามจากสายลับและตำรวจลับ

"ถ้าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คุณมาบอกว่านักศึกษาของผมจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยมาสู่อียิปต์ ผมคงขำ" ศาสตราจารย์ฮัสซัน นาฟา แห่งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร สารภาพ

ในทุกประเทศอาหรับ กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมีวัยไม่ถึง 30 ปี และมีความต้องการเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป นั่นคือเสรีภาพที่มาพร้อมประชาธิปไตย เมื่อปีที่แล้วบริษัทแอสดา เบอร์สัน-มาส์เทลลา ได้เผยผลการสำรวจความเห็นหนุ่มสาวใน 9 ประเทศอาหรับ ปรากฎว่าพวกเขาระบุว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ แซงหน้าสาธารูปโภค การศึกษา และค่าแรง

"ผมไม่สนหรอกว่าใครจะขึ้นมาบริหารประเทศ ตราบใดที่ผมสามารถเปลี่ยนรัฐบาลที่ผมไม่ชอบหน้าได้" คาเลด คาเมล นักศึกษาอียิปต์ ระบุ

ดังที่ระบุข้างต้นว่ากระแสความคับข้องใจในโลกอาหรับนั้นคุกรุ่นมานานแล้ว เปรียบเสมือนไม้ขีดไฟหัวเล็กๆ ที่เมื่อมารวมตัวกันก็จุดไฟกองใหญ่ได้ อย่างรายของคาเมลที่เล่าให้ฟังว่าเคยตกรถไฟและตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเขา แต่ไม่ได้มาช่วยเขา ซ้ำร้ายกลับตีเขาอีกเพราะเขานอนอยู่บนชานชาลา

การที่เจ้าหน้าที่ไม่ช่วยเหลือแถมทำให้ประชาชนขายหน้า เป็นเรื่องปกติในอียิปต์สมัยที่ฮอสนี มูบารัก ปกครองประเทศ และในรายของคาเมล วัย 20 ปีนั้น เขาระบายความคับข้องใจลงในบล็อกส่วนตัว จากนั้นชุมชนออนไลน์ก็มีเรื่องเมนต์กันกระหึ่มอีก เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความโหดร้ายของตำรวจที่เมืองอเลกซานเดรีย ซึ่งนักธุรกิจหนุ่มชื่อคาเลด ซาอิด ถูกตำรวจตีจนตาย จนมีการจัดทำหน้า "เราทั้งหลายเป็นคาเลด ซาอิด" ขึ้นบนเฟซบุ๊ค

คาเมลเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวบนเฟซบุ๊คและกลายเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตี จนกระทั่งรู้จักคนที่ดูแลหน้าดังกล่าว และเริ่มคุยกันทางอีเมล จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ คาเมลก็ทราบว่าคนที่เขาคุยด้วยทางอีเมลคือวาเอล โกนิม ผู้บริหารกูเกิลที่กลายเป็นหน้าตาของการปฏิวัติอียิปต์ หลังจากถูกจับเข้าคุกกว่า 10 วัน เพราะโกนิมคือผู้จัดทำหน้า "เราทั้งหลายเป็นคาเลด ซาอิด" และเรียกร้องให้ผู้คนไปชุมนุมประท้วงที่จตุรัสตาหะรีเมื่อวันที่ 25 มกราคม

ด้านคาเมลนั้น เน้นการขยายการประท้วงไปทั่วประเทศ ด้วยการไปร่วมเดินขบวนที่เมืองอเลกซานเดรียและเมืองดามันฮูร์ ผ่านซากอาคารรัฐบาลที่ถูกเผาและปล้นสะดมภ์ นอกจากนั้น เขายังเดินผ่านห้องขังซึ่งหน่วยรักษาความมั่นคงเคยทารุณนักโทษด้วยสุนัขและไฟฟ้า ซึ่งระหว่างการเดินขบวนนี่เองที่เขาเกิดความรู้สึกว่าคนรุ่นเขาสามารถยุติการทารุณเหล่านี้ลงได้

"เรามีกำลังแล้ว และเรากำลังเริ่มสร้างอียิปต์ในแบบที่เราต้องการ" คาเมลเล่า

ในส่วนของโกนิมนั้น หลังจากถูกปล่อยตัวจากคุก ก็แสดงบทบาทมากขึ้นด้วยการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ดรีมทีวีของอียิปต์ โดยเขาพูดทั้งน้ำตาว่าอยากบอกกับพ่อแม่ทุกคนที่สูญเสียลูกไปในการประท้วงครั้งนี้ว่าเขาเสียใจแต่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เป็นความผิดของทุกคนที่ยังหวงเก้าอี้

วันรุ่งขึ้น คนจำนวนมากที่จตุรัสตาหะรีบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากการให้สัมภาษณ์เมื่อคืน และโห่ร้องต้อนรับโกนิมที่ไปปรากฏตัวที่จตุรัสอย่างกึกก้อง รวมถึงฟัตมา เกเบอร์ สาวน้อยวัย 16 ที่ขอร้องพ่อแม่ให้อนุญาตให้เธอไปร่วมประท้วง

"เมื่อฉันเห็นโกนิมทางทีวี ฉันสะเทือนใจกับคำพูดของเขาและเข้าใจว่าคนจำนวนมากต้องลำบากกับการปฏิวัติครั้งนี้ ฉันจึงอยากมีส่วนร่วมเพราะไม่อยากให้คนที่เสียชีวิตหรือคนที่ไปประท้วงทุกวัน ต้องลำบากหรือสูญเสียบางอย่างไปเพื่อให้คนทั้งประเทศได้ประโยชน์" เกเบอร์เล่า

นอกจากเกเบอร์แล้ว ยังมีผู้หญิงอียิปต์อีกมากที่กระตือรือล้นอยากมีส่วนร่วมในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง รวมถึงมาร์วา อิบราฮิม บัณฑิตสาววัย 25 ปี ที่บอกว่าไม่ต้องการมูบารักและต้องการให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล พร้อมเสริมว่าชาวอียิปต์เรียกร้องมาตลอดให้ยุติกฎหมายฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และอนุญาตให้คุมตัวโดยไม่ต้องนำตัวขึ้นพิจารณาคดี

ขณะที่โกนิมเองนั้น แม้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ชุมนุม แต่เขาก็ขอร้องว่าอย่าชูว่าเขาเป็นวีรบุรุษของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เขาเป็นเพียงคนธรรมดา และวีรบุรุษคือผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนนั่นเอง

ลิเบียกับรสชาติเสรีภาพ

แม้การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ในลิเบียยังไม่สิ้นสุด แต่ชาวลิเบียทางภาคตะวันออกของประเทศก็พบว่าพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันมาก่อน นั่นคือเป็นอิสระจากการปกครองของโมอัมมาร์ กัดดาฟี เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี และชาวเมืองเบนกาซีก็ต้องหาหนทางบริหารกิจการของตัวเอง ในฐานะที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของลิเบียและเป็นจุดกำเนิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ที่เริ่มต้นจากการประท้วงเล็กๆ เพราะไม่พอใจการคุมขังทนายความด้านสิทธิมนุษยชน

"เราไม่ได้วางแผนก่อการปฏิวัติ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ประชาชนไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะเร็วขนาดนี้" ฟาธี เทอร์เบล ทนายความที่ถูกจำคุก เล่า

หลังจากประชุมกัน ชาวเมืองเบนกาซีก็ตกลงตั้งคณะกรรมการเพื่อรับรองความปลอดภัยของประชาชน และเริ่มพูดคุยกับนักวิชาการ ทนายความ และผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับวิธีบริหารเมือง ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังมีการชุมนุมกันประปรายเพื่อฉลองสิทธิในการชุมนุมตามจตุรัส อันเป็นสิทธิที่พวกเขาไม่ได้รับก่อนหน้านี้ เพราะกฎหมายปี 2516 ห้ามการชุมนุมเกินกว่า 4 คน เนื่องจากกัดดาฟีเกรงว่าจะมีการสมคบคิดกัน ทั้งยังปราบปรามองค์กรด้านพลเรือนด้วย

ส่วนในเมืองโทบรัก ที่มีประชากร 100,000 คนและเป็นอีกเมืองทางภาคตะวันออกที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้ประท้วงนั้น ก็ผ่านการต่อสู้อย่างหนัก โดยหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมประท้วงคืออับดุลฮามิด อาบู บักร์ วัย 53 ซึ่งเล่าว่ามีเรื่องต้องชำระกับกัดดาฟี พร้อมอ้างว่าสมัยหนุ่มๆ เคยถูกจำคุกปีครึ่ง ในฐานะนักโทษการเมืองและถูกทรมานด้วย บักร์กล่าวว่าชาวอาหรับควรมีโอกาสตัดสินเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง

ปัจจุบันผู้ประท้วงที่หันมาดูแลความปลอดภัยของชาวเมือง ได้พานักข่าวเข้าไปดูอาคารที่เคยเป็นที่ทำการของตำรวจลับ และปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกเผาเรียบแล้ว

อิสรภาพครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีทำให้ชาวเมืองเริ่มฝัน รวมถึงซาเลห์ ฟูอัด วิศวกรที่ทำงานกับบริษัทน้ำมันลิเบีย ซึ่งตั้งความหวังว่าภาคตะวันออกจะลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่สาธารณูปโภคแย่กว่าในกรุงตริโปลี (เมืองหลวงของลิเบีย)อยู่มาก

"เราผลิตน้ำมันได้วันละ 300,000 บาร์เรลในโทบรัก แล้วเงินหายไปหมดล่ะ ไปเข้ากระเป๋าของกัดดาฟีและครอบครัวหมดน่ะสิ" ฟูอัดระบายความอัดอั้น

ขณะที่ผู้ว่างงานจำนวนหนึ่งก็พากันออกมาแสดงตนว่ามีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย วิศวกรรม และแพทย์ศาสตร์ พร้อมกล่าวหารัฐบาลกัดดาฟีว่าสนใจแต่ฐานอำนาจทางภาคตะวันตกและละเลยภาคตะวันออก

"ผมมีปริญญาวิศวกรรม และสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษแต่หางานทำในลิเบียไม่ได้" อาเหม็ด โมฮัมหมัด เล่า
ด้านอับดุลเลาะห์ ลิฮัจ วัย 29 ปี บอกว่าเป็นเวลา 42 ปีที่ชาวลิเบียไม่มีเสรีภาพใดๆ แต่ขณะนี้เขาอยากบอกกับกัดดาฟีว่านี่เป็นประเทศของพวกเขาและพวกเขาต้องการให้กัดดาฟีออกไป

.................................................................................

ครั้งหนึ่ง บ็อบ ดีแลน นักร้องชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ปกครองโลก ความรุนแรงต่างหากที่ปกครองโลก

"โลกคงน่าอยู่กว่าถ้าไม่มีคนคิดแบบผม" เขาทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้

...แต่หลายคนบนโลกกำลังคิดแบบเดียวกับ บ็อบ ดีแลน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น