ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นวันที่ 2 โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ต้องจ่ายใต้โต๊ะ 30%
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กระทรวงการคลังภายใต้การบริหารของนายกรณ์มีความบกพร่องหลายด้าน โดยเฉพาะการบริหารค่าเงิน ปรากฏว่าในปีที่ผ่านมาผู้ส่งออกประสบปัญหาอย่างมากจากค่าเงินบาทที่ผันผวน เพราะการบริหารงานที่ผิดพลาดของนายกรณ์ เช่นเดียวกับการขาดวินัยทางการเงินการคลัง เพราะมีการกู้เงินจำนวนมากจนสร้างหนี้ให้กับประเทศมหาศาล ที่สำคัญการกู้เงินดังกล่าวยังพบว่ามีการคอร์รัปชันเป็นจำนวนมาก มากถึงกับมีการบอกกล่าวในแวดวงธุรกิจว่าต้องมีการจ่ายถึง 30%
หาเสียงมากกว่าแก้ไข
นอกจากนี้การออกนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าเป็นการหาเสียงมากกว่าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน อย่างนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในช่วงที่เงินเฟ้อกำลังพุ่งสูง การทำแบบนี้จะส่งผลให้ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกทาง ขณะที่การเสนอภาษีทรัพย์สินและมรดก ปรากฏว่าตอนนี้ไม่มีความคืบหน้า เพราะมีคนในกระทรวงการคลังแวดล้อมรัฐมนตรีไปสร้างความวุ่นวายให้กับกฤษฎีกาเพื่อจะรักษาผลประโยชน์ให้ตัวเอง
รวยกระจุก-จนกระจาย
นายจุลพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่สามารถกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คนร่ำรวยมีเพียงกลุ่มเดียว ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเดือดร้อนกับการมีรายได้น้อยและปัญหาปากท้อง ทำให้เกิดคำกล่าวที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” บกพร่องในการบริหารราคาน้ำมันล้มเหลว บริหารกองทุนน้ำมันขาดทุน เหลือเงินกองทุนที่ใช้ได้จริงเพียง 4,800 ล้านบาท และมีการตั้งงบประมาณที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การตั้งงบประมาณประจำปีให้ความสำคัญกับหน่วยงานด้านความมั่นคง มีการตั้งงบเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน งบโครงการไทยเข้มแข็งกว่า 400,000 ล้านบาท มีความผิดพลาด ทั้งการทุจริต ความหละหลวม การเบิกจ่ายล่าช้า การจัดงบประมาณให้หน่วยราชการไม่ดูกำลังความสามารถในการทำงาน ขณะที่การจัดงบประมาณให้ท้องถิ่นไม่เพียงพอต่อการพัฒนา
ฮั้วสลากภายในเครือญาติ
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังปล่อยให้มีการขายสลากกินแบ่งที่แพงผิดปรกติ และการทุจริตของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในโครงการออกสลากการกุศล 100,000 เล่ม หรือ 10 ล้านฉบับ รวมมูลค่า 13,900 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนการพัฒนาศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ กรณีมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ได้แสดงความจำนงให้ผู้พิการเป็นผู้จำหน่ายสลาก โดยมูลนิธิมีหนังสือความจำนงวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งมูลนิธิจะเป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายเพื่อประโยชน์ของผู้พิการ ต่อมา 4 วันให้หลังสำนักงานสลากฯออกประกาศเกณฑ์การออกสลาก 100,000 เล่ม (10 ล้านฉบับ) ในจำนวนดังกล่าว 60,000 เล่ม จัดสรรให้นิติบุคคล 3 ราย รายละ 20,000 เล่ม ถือเป็นเรื่องผิดปรกติที่มีนิติบุคคลได้รับโควตาต่อรายมากกว่า 10,000 ฉบับ ทั้งนี้ มีคำครหาว่าผู้ได้เป็นญาติพี่น้องกับกลุ่มผู้จำหน่ายสลากรายใหญ่ที่สี่แยกคอกวัว
ปลอมเอกสารศิริราชมูลนิธิ
ส่วนการออกสลากของศิริราชมูลนิธิ ปรากฏว่ามีหนังสือปลอมที่มีเนื้อหาแปลกๆไปปรากฏภายในสำนักงานสลากฯ จนศิริราชมูลนิธิต้องออกมาร้องเรียน โดยวันที่ 31 สิงหาคม มูลนิธิได้ส่งหนังสือกลับมาแจ้งกับสำนักงานสลากฯ มีเนื้อหาว่า ที่มาของเงินมูลนิธิต้องเป็นเงินบริสุทธิ์ ไม่ใช่ฟอกเงิน หรือเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ขอให้กองสลากดำเนินการอย่าให้มีความเสื่อมเสียตามที่มีข่าวการฮั้วประมูลสลากการกุศลและการปลอมลายมือ ทั้งนี้ อย่าให้เกิดความเสื่อมเสียมายังมูลนิธิ เมื่อเกิดความระคายขึ้นท่านรัฐมนตรีทำอะไร ท่านทำหนังสืออนุมัติเข้า ครม. เอง ลงนามเอง จะบอกว่าไม่รู้คงไม่ได้
แจงกู้เพื่อแก้วิกฤต
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า เรื่องหนี้สาธารณะ ตัวเลขที่ฝ่ายค้านใช้เป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง ตามที่อ้างว่ารัฐบาลกู้เงินตลอด 2 ปี จำนวน 1.49 ล้านล้านบาท ความจริงเงินกู้ส่วนหนึ่งเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลก่อนหน้า เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในภาวะวิกฤตจำเป็นต้องกระตุ้นกำลังซื้อและลดอัตราการว่างงาน จึงเป็นภาระของรัฐบาลที่ปฏิเสธไม่ได้ต้องกู้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน การพูดของฝ่ายค้านจึงไม่เข้าใจสถานการณ์ในการบริหารนโยบายการคลัง ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลัง
ขอยืนยันว่าหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหา สำหรับขีดความสามารถในการแข่งขันหลังจากรัฐบาลแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การกู้เงินของรัฐบาลไทยก็เหมือนกับรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เขาเกิดแผ่นดินไหว เกิดสึนามิ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องกู้ ซึ่งการกู้ของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อช่วยประชาชนของเขาผิดไหม ถ้าท่านเป็นฝ่ายค้านที่ญี่ปุ่นอาจจะบอกว่าผิดวินัยการคลัง ก็เหมือนกับประเทศไทย เมื่อเราเจอวิกฤตเศรษฐกิจก็ต้องกู้เพื่อกู้วิกฤต ไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจจะเจอหายนะ
ย้อนรัฐบาลอดีตทำแบบลอยๆ
นายกรณ์ชี้แจงกรณีสลากการกุศลว่า การออกสลากการกุศลที่หน่วยงานขอมาต้องมีการเสนอโครงการอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินโครงการอะไรบ้าง ไม่ใช่เสนอมาลอยๆเหมือนกับรัฐบาลในอดีต เมื่อมีการเสนอเข้ามาก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่ ครม. มีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อใช้เงิน และมีการบริหารสิทธิของมูลนิธิว่าจะดำเนินการอย่างไร ในอดีตการออกสลากการกุศลเป็นการออกลอยๆ เหมือนกับการจัดงบประมาณในอดีตที่ตั้งงบประมาณลอยๆไว้ให้นายกฯ มีข้อครหาเป็นข่าวอื้อฉาวเกี่ยวข้องกับ กกต. ในอดีตก็มี มีการจัดสรรงบให้กับเลขาฯอดีตนายกฯเป็นประธาน และมีการกล่าวหาว่ามีการยักยอกถ่ายโอนก็มี เลยมีการเปลี่ยนแปลงการออกสลากการกุศล
ใช้ออนไลน์แก้หวยแพง
ส่วนเรื่องการจัดสรรสิทธิในการขายนั้น มีการจัดสรรให้ 13 นิติบุคคล ซึ่งยอมรับว่ามี 3 บริษัทใหญ่ที่ได้รับโควตามากที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบริษัทนิติบุคคลขนาดใหญ่สามารถวางเงินมัดจำได้มากถึง 50% ของรายได้ที่ต้องโอนเข้ามูลนิธิ ขณะเดียวกันมีผู้ได้รับโควตารายย่อยบางรายรับสิทธิไปแล้วขายไม่ได้และนำสิทธิไปขายให้บริษัทใหญ่ รวมไปถึงบางรายรับสิทธิแล้วไม่มารับสลากไปขาย เหล่านี้สร้างปัญหาให้ ครม. อย่างมาก
ส่วนปัญหาสลากแพงเกิดขึ้นเพราะมีการขายขาด กองสลากจะกำหนดสลากไว้ตายตัว ซึ่งขายไปแล้วไม่รับคืน ผู้รับไปแล้วต้องรับความเสี่ยงขายไม่หมดด้วยตัวเอง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15% ที่ขายไม่หมดก็ต้องรับปัญหาการขาดทุน ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องตั้งราคาไว้สูงเผื่อเป็นการขาดทุนเอาไว้ วิธีเดียวที่จะแก้ได้คือต้องซื้อโดยตรงจากรัฐบาล ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องการแก้ไขกฎหมาย และรางวัลต้องยืดหยุ่นตามที่ขายได้จริง ซึ่งตนต้องการพัฒนาการขายสลากเพื่อให้ประชาชนซื้อกับรัฐบาลได้โดยตรงในราคาฉบับละ 40 บาท
ส่งดีเอสไอฟันปลอมเอกสาร
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชี้แจงว่า สลากของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ยืนยันว่ามูลนิธิพอใจกับการจัดระบบและการจัดจำหน่าย ซึ่งไม่ได้ทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือขัดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ หากทำอะไรไม่ถูกต้องตนยินดีรับผิดชอบ ส่วนกรณีสลากของศิริราชมูลนิธิ ปรากฏว่ามีการนำเอกสารปลอมเข้ามา ทางกองสลากได้ถามไปยังศิริราชมูลนิธิ ซึ่งยืนยันว่าเป็นเอกสารปลอมจริง ขณะนี้ให้ดีเอสไอดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม ใครอยากได้เอกสารเพิ่มเติมตนพร้อมที่จะให้
ขึ้นค่าจ้างเพราะถูกกดมานาน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่า ต้องยอมรับว่าในโครงสร้างเศรษฐกิจของเรา รายได้สำหรับประชาชนที่ได้จากค่าจ้างถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่นำมาสู่ความไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนจำนวนมาก ประการต่อมาเหตุผลที่เศรษฐกิจไทยพัฒนามาโดยพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกมาก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัญหาค่าแรงถูกกดเอาไว้ ตนคิดว่าถึงยุคปัจจุบันเราต้องการจะเห็นสัดส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้มแข็งขึ้น
เพราะฉะนั้นตนพูดเรื่องนี้มาหลายปีและมีการปรับขึ้นมาตามลำดับ ที่เมื่อสักครู่ท่านพูดว่าจะขึ้นค่าแรงเพราะของแพง ตอบเลยว่าใช่ เพราะเห็นว่าเวลาเศรษฐกิจขยายตัวและของแพงขึ้น เงินเฟ้อขึ้นโดยธรรมชาติ เราไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมกับคนที่มีรายได้จากค่าจ้าง คนอื่นรายได้เพิ่มขึ้นไม่มีใครวิจารณ์อะไร แต่เมื่อไรจะขึ้นเงินเดือน ค่าแรงก็ไปอ้างว่าพอจะทำสิ่งเหล่านี้ของจะแพงขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้คนเหล่านี้ก็ตายลูกเดียว
ยันเงินเฟ้อแค่ 25%
ความจริงของจะแพงขึ้นหรือไม่ไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะต้นทุนที่เป็นค่าแรงสัดส่วนไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ถ้ามีการฉวยโอกาส เอารัดเอาเปรียบขึ้นนั่นก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องไปดูว่าไม่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีการแข่งขันที่ดี ตนอยากเรียนว่าเป็นอย่างนี้ ทีนี้เมื่อท่านบอกว่าถ้าเงินเฟ้อของแพงอยู่จะขึ้นค่าแรงจะเป็นบันไดลิง ก็เป็นความชอบธรรมที่พวกตนจะถามว่าแล้วที่ท่านเพิ่งอ้างสักครู่ว่าจะขึ้นค่าแรง 300 บาทอะไร ท่านจะขึ้นเมื่อไร ก็ได้นโยบายแตกต่างกัน ของตน 25% อีก 2 ปี ของท่าน 300 บาทแ ต่ต้องรอไม่ให้มีเงินเฟ้อก่อน
ผิดแถลงนโยบายก่อน
นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่านายกรณ์มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง และนายกรัฐมนตรีก็ถูกกล่าวหาเช่นนี้ด้วย การกล่าวหาครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทุจริตและทำผิดกฎหมาย ในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติที่ถูกกล่าวหาว่าส่อที่จะกระทำความผิดนั้น นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาก่อนรับตำแหน่งว่าจะปฏิบัติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับเรื่องปั่นหุ้นขอเรียนข้อเท็จจริงว่าตลาดหุ้นเป็นที่ทำการขายหลักทรัพย์ที่มีบริษัทมหาชน ธนาคารจำกัดมหาชนที่ขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. มีสิทธิที่จะเอาหุ้นเหล่านั้นเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆคือตลาดหุ้นก็เป็นที่ทราบกันว่ามีนักลงทุนเข้าไปแสวงหากำไรจากการซื้อขายระยะสั้นและระยะยาว เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯมีความละเอียดอ่อนจึงมีกฎหมายกำกับตลาดหลักทรัพย์ฯค่อนข้างชัดเจน สมัยก่อนกฎหมายไม่เข้มข้นในการเอาใครเข้าคุก กระทั่งเมื่อปี 2520 จึงมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่และพัฒนาให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
กรณ์-อภิสิทธิ์ปั่นหุ้นไทยคม
นายประเกียรติอภิปรายว่า ขณะนี้เราอยู่กับกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ปี 2553 โดยมีมาตราหนึ่งที่ห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จที่ทำให้หลักทรัพย์สูงหรือต่ำลง อยากเรียนว่าเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2553 คือวันที่ 14 มิถุนายน 2553 นายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ออกมาให้ข่าวว่าจะซื้อดาวเทียมไทยคม ที่จริงดาวเทียมไทยคมคือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และมีการจดทะเบียนใน ก.ล.ต. ปรากฏว่าเรื่องนี้จะจริงหรือเท็จขณะนั้นไม่มีใครทราบ แต่เข้าใจว่านายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ต้องทราบว่าดาวเทียมไทยคมเป็นดาวเทียมของประเทศไทยและคนไทย เพราะโดยสัญญาจ้างเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าท่านต้องรู้ เพราะท่านอยู่ในคณะรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบว่าดาวเทียมไทยคมเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้นการที่นายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ให้ข่าวลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องไม่จริง และข่าวเช่นนี้ก็เผยแพร่ออกไปจนทำให้หุ้นที่เกิดขึ้นที่มีการซื้อขายใน ก.ล.ต. ณ วันที่นายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ให้ข่าวพุ่งขึ้นมโหฬาร จะเห็นได้ว่าก่อนถึงเดือนมิถุนายนหุ้นของไทยคมอยู่ที่ 5.65 บาท ถือว่าต่ำและมีวอลุ่มไม่มาก แต่พอนายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ให้ข่าวปรากฏว่าหุ้นขึ้นเป็น 7.45 บาท วอลุ่มซื้อขายเป็น 123,400 หุ้น
ไม่สนใจรายรับ-จ่ายชาติ
นอกจากนี้ข่าวการซื้อหุ้นไทยคมก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร จึงขอกล่าวหานายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 240 ซึ่งได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้ว และมาวันหนึ่งก็ตกใจเพราะเลขาธิการ ป.ป.ช. ส่งหนังสือมาให้ไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. โดย ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวเท็จของนายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นลงผิดปรกติ
ส่วนเรื่องต่อไปนายกรณ์เป็นรัฐมนตรีคลังที่จริงมีหน้าที่ที่จะบริหารเงินคลังของประเทศให้มีเสถียรภาพและมั่นคง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอันจะเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ท่านไม่เคยสนใจไปดูรายรับของประเทศให้เกิดความชัดเจน รายรับที่เป็นรายรับขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ท่านปล่อยปละละเลยไม่ยอมตรวจสอบอะไรทั้งสิ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้รายจ่ายของประเทศก็ยังไม่ควบคุมให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่เป็นการจ่ายที่ไม่ได้หวังผลให้ประเทศเจริญเติบโต
นอกจากนั้นหนี้สาธารณะท่านก็ยังไม่สนใจที่จะไปดู ตนได้ตรวจสอบตัวเลขคร่าวๆในปี 2553 ถึง 427,993.65 ล้านล้านบาท ซึ่งตรงนี้เป็นภาระจีดีพี ทำให้ภาระงบประมาณต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นถึง 31.3% ปัญหาคือท่านจะลดหนี้อย่างไร เพราะเราไม่มีรายได้เกิดขึ้นเลย
เอื้อประโยชน์บริษัทบุหรี่
สำหรับกรณีการละเว้นจัดเก็บภาษีบุหรี่ พบว่าบริษัทสหสามิตมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทนี้เป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2541 มีอายุสัญญา 5 ปี โดยจะต้องส่งรายได้ให้กับรัฐเป็นค่าตอบแทนต่างหากเป็นเงิน 16.8 ล้านบาทต่อปี รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเช่าโกดังและลานจอดรถปีละ 1.4 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าปี 2543 มีการขยายอายุสัญญาออกไปโดยไม่มีกำหนด และแก้ไขไม่ต้องส่งรายได้ 16.8 ล้านบาทให้กับรัฐบาล เหลือเพียงค่าเช่าสถานที่ลดลงเพียง 83,000 บาทต่อปี นอกจากนี้บริษัทสหสามิตมีหน้าที่จำหน่ายบุหรี่ที่เบิกจากโรงงานยาสูบ โดยหลักเกณฑ์การขายจังหวัดใดก็จังหวัดนั้น ไม่ข้ามเขต แต่ก็รุกล้ำขยายไปในพื้นที่อื่นๆที่มีห้างโมเดิร์นเทรด เช่น โลตัส เซเว่น-อีเลฟเว่น
เลี่ยงภาษีบุหรี่
นายประเกียรติกล่าวอีกว่า สหสามิตยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนชำระภาษีให้กับบริษัทนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศที่เข้ามาแบ่งส่วนแบ่งตลาดโดยไม่เป็นธรรมถึง 25.83% ภาษีบุหรี่จากในประเทศลดลง ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็ลดลงด้วย ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศนำเข้าไม่ปรากฏว่ามีการเสียภาษี โดยบุหรี่ในประเทศต้องเสียภาษี 9.3 สตางค์ต่อมวน ทำให้รัฐเสียรายได้หลายพันล้าน
เรื่องนี้พบว่ามีกระบวนการเลี่ยงภาษีไม่จ่ายให้ อบจ. ตามกฎหมายอย่างครบถ้วน ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ ที่ผ่านคณะกรรมาธิการการคลังของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภาเคยไปสุ่มตัวอย่าง พบว่าในจังหวัดปทุมธานีมีการจ่ายภาษีขาดหายไปจำนวน 7.7 ล้านบาท ที่เกิดจากสหสามิตรับเป็นตัวแทนชำระภาษี แต่ส่งไปยัง อบจ. ไม่ครบถ้วน อยากทราบว่าเรื่องกระทรวงการคลังได้มีการตรวจสอบหรือไม่ เพราะ อบจ. ต้องขาดรายได้จากภาษีดังกล่าวเพื่อมาพัฒนาพื้นที่
นายประเกียรติอภิปรายในตอนท้ายว่า มีคนกล่าวว่าคนจนซื้อหวย คนรวยซื้อหุ้น แต่ท่านรัฐมนตรีคลังกินรวบทั้งข้างบนข้างล่างหรือไม่ อยากให้นายกรณ์ทบทวนการบริหารประเทศว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ละเลยต่อหน้าที่ กลับไปเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงเป็นเหตุให้ถอดถอนและไม่ไว้วางใจท่านอีกต่อไป
ยันไม่เคยปั่นหุ้น
นายกรณ์ชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่าปั่นหุ้นไทยคมว่า รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในเดือนธันวาคม 2551 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 400 จุด แต่เพราะผลจากการบริหารนโยบายของรัฐบาล ทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีกำไรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000 จุด
“ผมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั่นราคาหลักทรัพย์ นั่นอาจเป็นเพราะผมอยู่ในวงการนี้ น่าจะรู้วิธีการและมีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น ถือว่าเป็นการดูถูกผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ และอาจเป็นเพราะพวกท่านคุ้นเคยกับพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯมีความเข้มข้นในการตรวจสอบ ผมอยู่ในวงการนี้มา 19 ปี ขอยืนยันว่าไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่มีการซื้อขายหุ้นแบบผิดกฎหมายที่ทำให้ ก.ล.ต. มาสอบให้เสียเวลา”
ยอมรับไปพบเทมาเส็กจริง
สำหรับเรื่องไทยคม ซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียมที่ใช้ในการสื่อสาร ภาพรายการโทรทัศน์มีปัญหาสมัยเสื้อแดงที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีการแพร่ภาพที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น นายกฯจึงมอบหมายให้ผมติดต่อไปยังผู้มีอำนาจสูงสุดของไทยคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของชินคอร์ป จึงเป็นเหตุให้ต้องเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อพบเทมาเส็กในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2553 และได้เชิญนายศิริโชค โสภา ไปด้วย
ทั้งนี้ การไปสิงคโปร์เพื่อแจ้งผู้ถือหุ้นได้ทราบว่าบริษัทที่เขาถือหุ้นอยู่มีแนวทางการดำเนินงานขัดต่อการทำงานของประเทศ ผู้ถือหุ้นจึงแจ้งว่าจะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของไทยคม นอกจากนี้ยังได้สอบถามความสนใจเรื่องหุ้น เพราะเมื่อปี 2549 เทมาเส็กเคยแถลงว่าการเข้าไปซื้อหุ้นชินคอร์ปทำให้ได้หุ้นไอทีวีและไทยคมด้วย ซึ่งเทมาเส็กแจ้ง ก.ล.ต. ว่าต้องการสงวนสิทธิการซื้อหุ้นรายย่อยเพราะไม่ต้องการถือหุ้นไทยคม ดังนั้น จึงถามเทมาเส็กว่ายังมีแนวคิดนี้อยู่หรือไม่ แต่ยังไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะประเด็นหลักคือการให้เทมาเส็กดูแลผู้ถือหุ้นไม่ให้ปฏิบัติขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนกระทั่ง 2 เดือนต่อมา วันที่ 13 มิ.ย. มีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศพูดถึงแหล่งข่าวต่างประเทศที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือเทมาเส็กออกมาให้ข่าวว่ามีการพูดคุยระหว่างเทมาเส็ก รัฐมนตรีคลัง และนายศิริโชค ดังนั้น หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์จึงโทร.มาถามว่ามีแนวโน้มการซื้อหุ้นเทมาเส็กหรือไม่
สิทธิไทยคมเป็นของเทมาเส็ก
นายกรณ์ชี้แจงอีกว่า ซึ่งก็ตอบว่าไปจริง ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และไม่มีเหตุผลที่ต้องปิดบัง หลังจากนั้นราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไป ข้อเท็จจริงคือช่วงนั้นไม่ซื้อหุ้นไทยคม และชีวิตนี้ไม่เคยซื้อหุ้นไทยคม ก.ล.ต. ตรวจแล้วพบว่าไม่มีใครได้กำไรจากการปั่นหุ้นไทยคม ราคาหุ้นที่ขึ้นก็เพราะข่าวเรื่องการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับเทมาเส็ก ไทยคมเป็นเจ้าของสัมปทาน ตัวดาวเทียมเป็นทรัพย์สินรัฐบาล แต่สิทธิการเก็บรายได้เป็นของบริษัท เวลาพูดกันเรื่องซื้อขายหุ้นคือการซื้อสิทธิหรือซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อ้างว่าไทยคมเป็นของคนไทยคงไม่ถูกนัก ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหุ้นมา จึงถือว่าไม่มีเหตุผลในการกล่าวเรื่องนี้
ไม่มีการปั่นหุ้นไทยคม
นอกจากนี้ได้เสนอรายงาน ก.ล.ต. กรณีการซื้อขายหุ้นไทยคมผิด พ.ร.บ. ได้ข้อสรุปว่า ก.ล.ต. ไม่พบข้อบ่งชี้ว่าการเผยแพร่ข่าวของบางกอกโพสต์ทำให้เกิดการปั่นราคาหลักทรัพย์ และผู้ที่ให้ข่าวนั้นไม่ใช่คนในรัฐบาล และตนให้ข่าวก็เพื่อเป็นการตอบข้อซักถาม ไม่ใช่การเผยข่าวเท็จ ขณะที่ข้อกล่าวหาตามมาตรา 241 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์นั้น ก.ล.ต. ไม่พบการซื้อขายหุ้นไทยคมในระหว่างที่ตรวจสอบ พบผู้เดียวที่ขายหุ้นในช่วงนั้นมากคือพนักงานของไทยคมในเครือกลุ่มชินคอร์ปเอง ซึ่ง ก.ล.ต. ไปตรวจบุคคลนั้นแล้วพบว่าไม่มีเหตุผลว่าผู้นี้จะใช้ข้อมูลภายใน เพราะซื้อหุ้นนี้ก่อนที่จะเดินทางไปสิงคโปร์ เช่นเดียวกับมาตรา 243 เรื่องการสร้างราคา ก.ล.ต. พบว่าไม่มีการซื้อขายแบบสร้างราคา เช่น ไม่มีการซื้อขายและกระจุกตัว หรือซื้อจากรายใหญ่ สรุป ก.ล.ต. ตรวจสอบแล้วพบว่าทุกข้อกล่าวหาไม่มีมูล
“ผมได้ยุติบทบาทการซื้อขายหุ้นตัวเองตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตรวจสอบได้จาก 2 บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีคือ 1.บลจ.ภัทร และ 2.บลจ.บัวหลวง ให้ไปตรวจสอบทั้งผมและภรรยาได้เลย นอกจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิในบริษัทที่ถือหุ้นไว้บริษัทหนึ่งเท่านั้น”
โยน “ประดิษฐ์” ตอบภาษีบุหรี่
ส่วนเรื่องภาษีที่ว่าท้องถิ่นมีการจัดเก็บมวนละ 9.3 สตางค์นั้น เป็นหน้าที่ตัวแทนที่ต้องจ่ายให้ยาสูบ แต่ต่อข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายภาษีครบถ้วนหรือไม่สำหรับการซื้อขายผ่านโมเดิร์นเทรด ซึ่งก็เป็นห่วงเรื่องนี้ แต่กรมสรรพสามิตถือเป็นตัวกลางในการจัดเก็บภาษี ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของท้องถิ่นหรือ อบจ. ที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนกรณีที่สหสามิตไปขายบุหรี่ต่างประเทศนั้น ตามสัญญาถือว่าทำไม่ได้ แต่สรรพสามิตรับจ่ายภาษีแทนห้างร้านหรือปั๊มน้ำมัน ส่วนการขายบุหรี่นำเข้าเองไม่อยู่ในสัญญาที่สรรพสามิตดำเนินการได้
อย่างไรก็ดี ได้ให้นโยบายนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลโรงงานยาสูบทบทวนเรื่องนี้ ส่วนเรื่องที่โมเดิร์นเทรดขายบุหรี่ต่างประเทศน่าเป็นนโยบายของพาณิชย์ และในวันที่ 29 มีนาคมทางกรมสรรพสามิตจะทบทวนนโยบายนี้ครั้งใหม่เพื่อพิจารณาตามข้อสังเกตของฝ่ายค้านต่อไป
ด้านนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่เคยกำกับดูแลโรงงานยาสูบ ชี้แจงว่า สหสามิตเป็นผู้รับโควตาบุหรี่ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้ามาบริหาร ซึ่งอยู่ในสมัยของ พล.อ.องอาจ ชัมพูทะ เป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ส่วนเรื่องที่บุหรี่ไทยเสียภาษี บุหรี่นอกไม่เสียภาษีนั้นไม่เป็นความจริง เพราะตรวจสอบจากโรงงานยาสูบแล้วพบว่าไม่ว่าบุหรี่ไทยหรือนอกต้องเสียภาษีเหมือนกัน โดยสหสามิตต้องสำรองจ่ายภาษีให้ อบจ. ไปก่อน จ่ายเท่าไรแล้วมาเบิกจากโรงงานยาสูบ ซึ่งยาก จึงคาบเกี่ยวกัน
ยันนายกฯจะซื้อไทยคม
นายประเกียรติอภิปรายแย้งว่า สิ่งหนึ่งที่คิดว่าสิ่งที่ตนกล่าวหานายกรณ์และเป็นสิทธิโดยชอบที่จะแก้ปัญหาของท่าน ส่วนจะครบถ้วนหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญานของท่าน หากไม่ครบถ้วนก็จะเป็นอันตรายต่อท่าน อย่างไรก็ตาม ท่านชี้แจงเรื่องดาวเทียมไทยคมว่าไทยคมเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทย ไม่ใช่ของไทยคม ทีนี้ข่าวที่ออกไปไม่ใช่อย่างที่ท่านชี้แจง เพราะมีการให้สัมภาษณ์และให้ความเห็นต่อเนื่องว่าประเทศไทยคิดว่าจะซื้อดาวเทียมคืนมาเป็นของเรา ส่วนเนื้อข่าวมีนายกรัฐมนตรีที่พูดมากเรื่องนี้ เหตุที่จะซื้อท่านอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ และอยากเรียนให้ทราบข้อเท็จจริงว่าข่าวที่แพร่ออกไปไม่เป็นความจริง และเมื่อประชาชนทราบข้อเท็จจริงหุ้นก็ตกลงมา
นายกรณ์ชี้แจงว่า ทั้งหมดที่นายประเกียรตินำเสนอไม่ได้ติดใจและไม่ได้คิดตอบโต้ แต่เมื่อกล่าวหาว่าตนพูดเท็จก็ต้องชี้แจง ถามว่าวันที่ 16 มิถุนายนที่พูดครั้งแรกโดยมาจากแหล่งข่าวอื่น ะสื่อได้ถามตนและพูดไปตามข้อเท็จจริง และพูดกับเทมาเส็กจริง โดยพูดสองเรื่องคือ ความกังวลต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนโยบายการถือหุ้นในเทมาเส็กว่าเขาต้องการจะขายหรือไม่ แต่ในเรื่องรายละเอียดทางกฎหมาย ซึ่งเพิ่งปรากฏชัดเจนเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง โดยมีการตั้งคณะกรรมการ มาตรา 22 ซึ่งมีข้อสรุปว่าไม่ชอบ ทำให้ดาวเทียมหมดสิทธิการเป็นของไทยคมด้วยซ้ำไป และมีข้อสรุปทุกข้อกล่าวหาว่าไม่มีการกล่าวเท็จแต่อย่างใด
รัฐมนตรียุติธรรมร้อนตัว
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงพาดพิงว่า จากการกล่าวหานายกรัฐมนตรีเรื่องของการปล่อยปละละเลยไม่ตั้ง ป.ป.ท. และเลขาธิการ ป.ป.ท. นั้น หากติดตามจะพบว่ามีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท. แล้วส่วนเลขาธิการนั้นมีข้อขัดข้องระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤฎีกาและ ป.ป.ท. แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด ซึ่งทาง ปปง. ได้ทำงานร่วมกับดีเอสไอและ ป.ป.ส. ต่อการตรวจสอบการค้ายาเสพติดและการทุจริตในหลายประเด็น จึงไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำกับดูแลเพราะขึ้นตรงกับตน
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น