--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

หมดยุคเผด็จการ !!??

คำกล่าวที่ว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้สำหรับการเมืองไทย” ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อหรือจิ้งจกทักเท่านั้น แต่เป็นกระแสการเมืองที่มีมาหนาหูในระยะนี้ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะยุบสภาประมาณต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากรัฐสภาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการเลือกตั้ง 3 ฉบับแล้ว

การที่นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 7 หากเกิดสุญญากาศขึ้น เช่น หากรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการเลือกตั้ง 3 ฉบับได้ทันภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลาออกทั้งคณะหากมีการบังคับให้ กกต. ต้องออกระเบียบเพื่อใช้ในการเลือกตั้งแทนการใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมา

โดยจะเป็นไปตามเงื่อนไขของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาเรียกร้องให้งดใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมือง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งนั่นเอง

แม้จะเป็นไปได้ยากในท่ามกลางประชาคมโลกที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ แต่การปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งกองทัพก็อ้างว่าเป็นการปฏิวัติรัฐประหารแบบไทยๆ ไม่ใช่ระบอบเผด็จการเยี่ยงบางประเทศ และเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาบ้านเมือง

โดยเฉพาะโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยที่ไม่ใช่มีแค่กองทัพ แต่ยังมีกลุ่มชนชั้นสูงและกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์และยึดโยงผลประโยชน์กันอย่างแนบแน่น การปฏิวัติรัฐประหารจึงไม่ใช่แค่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหรือนักการเมืองชั่วเท่านั้น

แม้ทุกฝ่ายจะตระหนักดีถึงหลักเกณฑ์ประชาธิปไตยว่าต้องปกครองโดยหลักนิติรัฐและนิติธรรมที่เป็นธรรมและเสมอภาค และอำนาจต้องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กองทัพหรือกลุ่มอำนาจหนึ่งกลุ่มใด และไม่ใช่เผด็จการ

ประชาธิปไตยของไทยเกือบ 80 ปีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ยังวนเวียนอยู่กับการปฏิวัติรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งไม่ได้ทำให้การเมืองหรือระบอบประชาธิปไตยดีขึ้นเลย

การเมืองไทยยังวนเวียนอยู่กับวงจรอุบาทว์ภายใต้กลุ่มอำนาจเดิมๆ นักการเมืองก็ยังทุจริตคอร์รัปชันและคำนึงแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง การปฏิรูปประเทศจึงไม่ใช่กลับไปหาอำนาจเผด็จการ แต่ต้องทำให้ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศชาติได้อย่างแท้จริง

ที่มา. หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น