--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

กลับไปสภา !!??

โดย ปราปต์ บุนปาน

สัปดาห์ก่อนมีโอกาสชมรายการโทรทัศน์แนววิเคราะห์ข่าว

พิธีกรท่านหนึ่งเป็นห่วงว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้น จะเต็มไปด้วยการใช้ถ้อยคำหยาบคายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสภาผู้แทนราษฎรยุคเก่าๆ

พิธีกรอีกรายจึงโต้ว่า คุณแน่ใจได้อย่างไรว่า ส.ส.ยุคเก่าอภิปรายโดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย?
คุณจำเนื้อหาการอภิปรายในสภาสมัยก่อนได้จริงหรือ? คุณได้รับฟังการอภิปรายเหล่านั้นผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุจริงหรือ? และการอภิปรายในสภายุคเก่ามีการถ่ายทอดภาพ/เสียงผ่านสื่ออยู่ตลอดจริงหรือ?
นี่อาจเป็นการปะทะกันระหว่าง "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์" กับ "ความทรงจำ" ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนในสังคม

ในความทรงจำว่าด้วยการเมืองไทยร่วมสมัย ภาพของนักการเมืองก็ถูกวาดไว้อย่างไม่สวยงามสักเท่าใดนัก

เพราะดูเหมือนกลุ่มคนผู้มีอำนาจรัฐซึ่งถูกด่ามากที่สุด จะเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง

ระบบรัฐสภาหรือรัฐธรรมนูญถูกล้มถูกฉีก ก็เพราะข้ออ้างสำคัญประการหนึ่ง คือ "นักการเมืองเลว"
แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่ง นักการเมืองจากการเลือกตั้ง ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือครองอำนาจรัฐเพียงไม่กี่กลุ่ม

ที่สามารถถูกด่าและตรวจสอบได้อย่างละเอียดมากที่สุด

เพราะพวกเขามีที่มาจากประชาชน จึงต้องพร้อมจะแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม ความทรงจำทางการเมืองในราว 2 ทศวรรษหลัง กลับสร้างให้นักการเมืองกลายเป็นต้นตอแห่งความเสียหายต่างๆ (ทั้งที่พวกเขาอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น)

กระทั่งอำนาจสำคัญหลายประการในการตัดสินชะตากรรมของประเทศ ค่อยๆ ถูกพรากออกมาจากสภา

จนมีคนบอกว่าเรามีสภาก็เหมือนไม่มี
คำถามคือ สภาไทยไร้ค่าขนาดนั้นจริงหรือ?
ถ้าพิจารณาจริงๆ สภาผู้แทนราษฎรชุดปี 2550 ก็มีการอภิปรายถกเถียงในประเด็นน่าสนใจจำนวนมาก

อันแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการต่อสู้นอกสภาดำเนินเคียงคู่กันไปด้วย

เพราะสภาอาจรองรับประเด็นความขัดแย้งต่างๆ ไว้ได้ไม่หมด

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสภาจะไร้ความหมาย
เพราะแม้แต่แกนนำ นปช. ก็ยังแสดงความต้องการที่จะกลับมาต่อสู้ในระบบรัฐสภา

แน่นอนว่า ขบวนการเสื้อแดงบนท้องถนนยังเดินหน้าต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

แต่หากพรรคเพื่อไทย/กลุ่มคนเสื้อแดงต้องการได้อำนาจรัฐและสิทธิคุ้มครองอันมั่นคงแล้ว

พวกเขาก็จำเป็นต้องทำการต่อสู้ในพื้นที่สภาด้วย

ฉะนั้น ในระยะยาวที่ไม่ใช่แค่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ (ซึ่งน่าจะตามมาด้วยการเลือกตั้งครั้งต่อไป) รัฐสภาจึงยังคงเป็นเวทีทางการเมืองที่สำคัญ

แต่สภาจะ "ทำงาน" หรือ "ไม่ทำงาน" ก็ไม่ได้อยู่ที่ ส.ส. หรือ ส.ว.เท่านั้น

หากยังอยู่ที่ "ความทรงจำ" หรือ "ความรับรู้" ที่คนในสังคมมีต่อสภาด้วย

ถ้าพวกเราไม่เชื่อในการเมืองระบบ "ตัวแทน"
ก็ยากที่กลไกของระบบรัฐสภาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา.มติชนออนไลน์,คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น