โฆษกเพื่อไทยแฉเบื้องหลังผลโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาที่คะแนนออกมาค้านสายตาและความรู้สึกประชาชนเนื่องมาจากมีการแจกเงินค่ายกมือให้ ส.ส. ระบุคืนก่อนโหวตหมาหอนทั้งคืน ต่อรองกันจนนาทีสุดท้ายจนสามารถปั่นตัวเลขค่าตอบแทนขึ้นไปสูงถึง 8 หลัก ให้จับตาก่อนยุบสภาจะมีการอนุมัติโครงการทิ้งทวนเพื่อถอนทุนคืนและเตรียมทุนเลือกตั้ง แนะเพื่อไม่ให้ถูกครหาไม่ควรอนุมัติโครงการใหม่ก่อนยุบสภา ประชาธิปัตย์เสี้ยม “เฉลิม-มิ่งขวัญ” ให้แย่งตำแหน่งผู้นำพรรคเพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยังไม่ขับ “สมเกียรติ” ที่โหวตไม่ไว้วางใจนายกฯออกจากพรรค อ้าง ส.ส. มีเอกสิทธิ์ตัดสินใจในสภา
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นความแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน ผู้นำการอภิปราย กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรค
“ชัดเจนว่านายมิ่งขวัญกับ ร.ต.อ.เฉลิมจะไม่ถูกวางตัวเป็น ส.ส.สัดส่วน ลำดับที่ 1 ในการเลือกตั้ง เพราะไม่ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวนอกสภากับคนเสื้อแดง น่าเสียดายที่คนที่พร้อมจะใช้สภาขับเคลื่อนทางการเมืองถูกลดบทบาทลง”
ความแตกต่างระหว่าง พท.-ปชป.
นพ.บุรณัชย์กล่าวอีกว่า การอภิปรายที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแนวคิดที่แตกต่างระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์หลายเรื่อง ได้แก่ 1.ราคาสินค้าเกษตร พรรคเพื่อไทยเน้นวิธีการจำนำ แต่พรรคประชาธิปัตย์เน้นวิธีประกันราคา 2.รายได้ พรรคประชาธิปัตย์เน้นเพิ่มรายได้คู่กับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่พรรคเพื่อไทยเน้นเพิ่มรายได้เพียงอย่างเดียว 3.ด้านพลังงาน พรรคประชาธิปัตย์เน้นคุมราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวเบนซิน แต่พรรคเพื่อไทยจะลอยตัวดีเซล แก้ปัญหาเบนซิน
“ภาพรวมการอภิปรายที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่ได้เน้นตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่เน้นสร้างความแตกแยกและสร้างความเสียหายให้ผู้อื่นโดยใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองเป็นเกราะกำบัง”
ยังไม่ขับ “สมเกียรติ” พ้นพรรค
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า พรรคยังไม่ได้หารือเรื่องที่นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน ของพรรคโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หากไม่ขับออกจากพรรคก็ไม่ได้หมายความว่ากลัวจะแตกหักกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะต้องแยกแยะการทำหน้าที่ของ ส.ส.
“ขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 6 สัปดาห์จะยุบสภาตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศเอาไว้ เวลาที่เหลือรัฐบาลจะเร่งดำเนินนโยบายวาระเร่งด่วน พร้อมกับสำรวจความต้องการและปัญหาของประชาชนเพื่อกำหนดนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง โดย ส.ส. จะเสนอข้อมูลในพื้นที่ต่อที่ประชุมพรรควันที่ 22 มี.ค. นี้”
นโยบายเร่งด่วนเน้นเพิ่มรายได้
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่พรรคจะเสนอต่อประชาชน เช่น เพิ่มรายได้ 25% ภายใน 2 ปี ลดต้นทุนการขนส่งด้านพลังงานจาก 19% เหลือ 15% ปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรเพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ ร.ต.อ.เฉลิมประกาศวางมือจากการเมืองหากนายมิ่งขวัญขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นการวัดกำลังกันภายในพรรค และเป็นการประกาศเพื่อกดดันนายใหญ่
เสี้ยม “มิ่งขวัญ” อย่ายอมถ้าถูกเขี่ย
“นายมิ่งขวัญได้แสดงฝีมือแล้วในการนำอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเพื่อไทยจึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงผู้นำให้ประชาชนสับสนอีก หากจะมีการเปลี่ยนแปลงนายมิ่งขวัญไม่ควรยอมแพ้ต่อขบวนการขัดขวางตัวเอง ส.ส. ในกลุ่มที่รับเงินพิเศษจากนายมิ่งขวัญควรออกมาปกป้องนายให้สมกับเงินที่ได้รับ” นายเทพไทกล่าวและว่า การที่ ร.ต.อ.เฉลิมยก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเพื่อสกัดนายมิ่งขวัญและเพื่อหวังปอกลอก
นายเทพไทกล่าวว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนใครขึ้นมาชิงตำแหน่งนายกฯควรเร่งเปิดตัวเพื่อให้ประชาชนได้พิจารณา
“สุเทพ” อุบรวมงานกลุ่ม 3 พี
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การที่ ส.ส.กลุ่ม 3 พี โหวตสนับสนุนรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้เป็นสัญญาใจว่าจะร่วมงานกันหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะการโหวตในสภาเป็นการใช้ดุลยพินิจของ ส.ส.
“ต้องขอบคุณที่โหวตไว้วางใจรัฐบาล เพราะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ส่วนในอนาคตยังไม่สามารถบอกได้”
“มิ่งขวัญ” เสนอตัวเป็นเรื่องดี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารจะตัดสินใจได้เองว่าเชื่อถือข้อมูลของใคร ข้อมูลอะไรของฝ่ายค้านที่เป็นประโยชน์พร้อมรับมาพิจารณา เช่น ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ส่วนกรณีที่นายมิ่งขวัญเสนอตัวเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีจะได้มีความชัดเจนในการนำเสนอวิธีคิดแก้ปัญหาให้ประชาชน
“เมื่อนายมิ่งขวัญเสนอตัวแล้วหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะมีความชัดเจนที่จะมาแข่งขันกันในระบบ จะได้นำการเมืองออกจากความขัดแย้ง เพราะหลายปีที่ผ่านมาวนเวียนอยู่กับการเคลื่อนไหวนอกสภา ทั้งการใช้มวลชนและกองกำลัง ถ้านายมิ่งขวัญสามารถหยุดตรงนี้ได้จะเป็นการแสดงภาวะผู้นำ จะได้มาแข่งขันกัน” นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า หากนายมิ่งขวัญเสนอตัวแล้วหยุดกระบวนการนอกสภาไม่ได้แสดงว่ารู้เห็นเป็นใจและไม่ได้เป็นผู้นำอย่างแท้จริง
เพื่อไทยยันไม่เปลี่ยนคณะผู้บริหาร
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การประชุมวิสามัญประจำปีของพรรคในวันที่ 22 มี.ค. นี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค ส่วนเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร แต่จะประกาศบุคคลที่เหมาะสมได้ก่อนยุบสภาแน่นอน
“ทันทีที่นายอภิสิทธิ์ประกาศกำหนดยุบสภาชัดเจนเราจะประชุมพรรคทันทีเพื่อให้ ส.ส. เลือกว่าจะชูใครขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับนายอภิสิทธิ์ในการเลือกตั้ง” นายพร้อมพงศ์กล่าวพร้อมยืนยันว่า ในพรรคมีคนเก่งกว่านายอภิสิทธิ์ที่บริหารประเทศจนข้าวของแพงอยู่หลายคน
โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามีโพลประเมินผลงานของทีมอภิปรายให้คะแนน 7.9 เต็ม 10 ผู้อภิปรายของพรรคทุกคนสอบผ่านหมด ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมีเพียงนายอภิสิทธิ์คนเดียวที่ได้ 5.01 คะแนน ที่เหลือได้เพียง 4 คะแนนกว่าๆ
แฉค่าโหวตไว้วางใจสูง 8 หลัก
“คะแนนที่ออกมาต่างจากผลโหวตในสภาที่ยังเป็นลักษณะพวกมากลากไป ที่เห็นชัดเจนคือกรณีของนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนบอกว่าชี้แจงไม่ตรงประเด็น ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ผลโหวตในสภากลับได้คะแนนไว้วางใจมากที่สุดถึง 251 เสียง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ที่เป็นคนเดียวที่ประชาชนให้สอบผ่านได้เพียง 249 เสียง” นายพร้อมพงศ์กล่าวพร้อมระบุว่า ที่ผลคะแนนออกมาอย่างนี้ทราบมาว่ามีการวิ่งล็อบบี้ชนิดหมาหอนทั้งคืนก่อนจะโหวต ได้ยินมาว่าบางพรรคมี ส.ส. วิ่งเข้าไปรับมัดจำงวดแรกก่อน หลังการลงมติก็ไปรับงวดที่สอง ที่น่าตกใจคือการโหวตครั้งนี้แลกกับเงินมากถึง 8 หลักเลยทีเดียว ผลโหวตในสภาจึงสวนทางต่อความรู้สึกของประชาชน
จับตาโกงทิ้งทวนก่อนยุบสภา
นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า รู้สึกเป็นห่วงที่นายกรัฐมนตรีประกาศไม่ปรับคณะรัฐมนตรี และยังย้ำเรื่องยุบสภาสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. เพราะจะทำให้มีการโกงทิ้งทวนในโครงการต่างๆมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีความชัดเจนเรื่องเวลายุบสภาแล้วจึงไม่ควรอนุมัติโครงการใหม่ๆอะไรอีกในช่วงนี้
โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า การชี้แจงในสภาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 9 คนตอบไม่ตรงคำถาม และไม่ได้ตอบคำถามของฝ่ายค้านหลายเรื่อง จึงจะรวบรวม 20 คำถามที่รัฐบาลไม่ได้ตอบหรือตอบไม่ชัดเจนให้ประชาชนพิจารณา เช่น เรื่องภาษีบุหรี่ 68,000 ล้านบาท น้ำมันปาล์ม การทุจริตในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การปั่นหุ้นไทยคม การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทรูในการประมูล 3จี การโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม การซื้อหัวรถจักรไฟฟ้า 7 หัวโดยมิชอบ การส่อทุจริตรถตู้เอ็นจีวี การขายแป้งมันสำปะหลังแบบจีทูจี ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าจีนไม่รับรอง 3 บริษัท การขายสต็อกข้าว โครงการแจกข้าวถุง 75 ล้านถุงที่พบว่าแพงกว่าท้องตลาด การครอบครองที่ดิน 700 ไร่ ที่จังหวัดนครพนม และความล้มเหลวทางการทูตกับเพื่อนบ้าน โดยจะทำเป็นเอกสารแจกจ่ายประชาชนทั่วประเทศต่อไป
ภท.-ชทพ. หวังเป็นตัวแปรตั้งรัฐบาล
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งยังไม่แน่นอนว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะจับมือทำงานร่วมกันต่อไป เพราะพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาประกาศร่วมมือกันแล้วเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง
“ทั้ง 2 พรรคประเมินแล้วเห็นว่าหลังเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีใครได้ชัยชนะเด็ดขาด ไม่มีพรรคไหนได้ถึง 251 เสียงแน่นอน สองพรรคจึงรวมกันเพื่ออยู่ตรงกลางและต่อรอง ก่อนตัดสินใจว่าจะสนับสนุนฝ่ายไหนตั้งรัฐบาล” ผศ.ดร.ปริญญากล่าวและว่า หากพรรคภูมิใจและพรรคชาติไทยพัฒนาร่วมมือกันถึงขนาดไม่ส่ง ส.ส. ทับซ้อนกันมีโอกาสที่จะรวมเสียงกันแล้วมากกว่าพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ได้เช่นกัน
นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชื่อว่าการหาเสียงเลือกตั้งในบางพื้นที่อาจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะผู้สมัครต้องคอยระมัดระวังตัว และเชื่อว่าจะไม่มีพรรคไหนชนะเลือกตั้งเด็ดขาด รัฐบาลชุดใหม่ยังต้องเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน
ที่มา.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น