โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แกนนำสองคนของประชาชนตำบลอ่าวน้อย ซึ่งกำลังต่อต้านโครงการบ่อขยะ และสะพานปลาในพื้นที่ ถูกมือปืนกระหน่ำยิงด้วยปืนเอ็ม 16 แต่ทั้งสองอาศัยความคุ้นเคยพื้นที่หนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด
จากการสอบถามชาวบ้าน ได้ความว่าขบวนการประชาชนที่อ่าวน้อยเคยต่อต้านโครงการโรงเผาขยะได้สำเร็จมาแล้ว แต่โครงการนั้นก็ถูกเจ้าพ่อท้องถิ่นแปรจากโรงเผามาเป็นบ่อขยะ ซึ่งชาวบ้านก็รับไม่ได้อีกนั่นแหละ จึงเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้ต่อมา ในขณะเดียวกันเจ้าแม่แพปลาในพื้นที่ก็สร้างสะพานเทียบเรือยื่นไปในทะเลยาวเหยียด ขวางทางเดินเรือประมงของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงขยายการคัดค้านมาพ่วงเอาสะพานปลานี้ไว้ด้วยกัน
แต่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนึ่งในแกนนำถูกหมายปองชีวิต นั่นคือ แกนนำผู้นั้นมีทีท่าว่าจะให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังจะเข้ามาแข่งขันกับกลุ่มเก่าในการเมืองท้องถิ่น การลอบสังหารจึงอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุทั้งสามเรื่องปนๆ กัน เพราะกลุ่มผู้เสียประโยชน์เป็นกลุ่มเดียวกัน
นี่เป็นความรุนแรงของการเมืองท้องถิ่นใช่หรือไม่?
ผมตอบไม่ได้จนมาพบงานวิจัยของอาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งศึกษา "การลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นไทย : ในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2543-2552)" ซึ่งสำนักข่าว "ประชาไท" (สื่อออนไลน์อิสระที่ถูกรัฐรังควานอย่างหนัก) ได้นำมาลงไว้ แม้เป็นงานวิจัยเบื้องต้นที่เก็บและวิเคราะห์สถิติเท่านั้น แต่ก็ทำให้มองเห็นความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นไทยตามความเป็นจริงได้มากกว่าสรุปเอาเอง และเปิดคำถามใหม่ๆ ในเรื่องนี้ขึ้นอีกมาก
เรามักสรุปเอาเองว่า การเมืองท้องถิ่นไทยนั้นมีความรุนแรงอย่างยิ่ง แต่เมื่อดูที่ตัวเลขแล้ว กลับไม่พบว่าอย่างนั้น จริงอยู่มีการลอบสังหารเกิดขึ้นมากทีเดียว ทั้งสิบปีที่อาจารย์ณัฐกรศึกษา มีการลอบสังหารถึง 481 ราย หรือ 459 กรณี เฉลี่ยเหตุที่เกิด 48.1 ราย และเสียชีวิตเฉลี่ย 36.2 คนต่อปี แต่เมื่อดูสถิติค่าเฉลี่ยของคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาของไทย จะพบว่ามีถึงเกือบปีละ 4,700 ราย ฉะนั้น กรณีลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นจึงมีไม่ถึง 1% ของคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา นอกจากนี้ นักการเมืองท้องถิ่นในปัจจุบันมีประมาณ 160,000 คนทั่วประเทศ คดีลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นต่อปี ก็มีไม่ถึง 1% เช่นกัน
ผมยอมรับว่าตัวเลขคดีลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นอาจน้อยไปบ้าง เพราะไม่ได้รวมการลอบสังหารหัวคะแนน ดังที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการลอบสังหารแกนนำชาวบ้านที่อ่าวน้อย
การสรุปเอาเองว่าการเมืองท้องถิ่นไทยมีความรุนแรงนั้น อาจมาจากการรับรู้ข่าวสาร เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นมักเป็นข่าวใหญ่ในสื่อ แม้ว่าความถี่ซึ่งเกิดขึ้นมีไม่ถึง 1% ของกรณีฆ่ากันตายโดยทั่วๆ ไป แม้กระนั้นผมก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า การลอบสังหารนักการเมืองเป็นความรุนแรงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในการเมืองท้องถิ่น แต่มูลเหตุอาจไม่ได้อยู่ที่การเมืองท้องถิ่นเท่ากับสังคม-วัฒนธรรมไทยเอง กล่าวคือ เราอยู่ในสังคม-วัฒนธรรมที่ใช้ความรุนแรงค่อนข้างมาก จะยับยั้งความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นได้ ก็ต้องยับยั้งการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาในสังคม-วัฒนธรรมไทยให้ได้
ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งการวิจัยค้นพบ ก็คือ เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรงในท้องถิ่น อาจไม่ได้อยู่ที่ภายในเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เกิดภายนอกท้องถิ่นด้วย ผู้วิจัยพบว่า การลอบสังหารเกิดขึ้นอย่างมากเป็นพิเศษในช่วง 2546 อันเป็นปีที่รัฐบาลทรท.ทำ "สงครามยาเสพติด" คือเปิดโอกาสให้แก่การฆาตกรรมในนามของ "ฆ่าตัดตอน" อย่างมาก เช่นเดียวกับใน พ.ศ.2550 อันเป็นที่ความรุนแรงในสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นไปอย่างหนัก กรณีการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นในภาคใต้ก็สูงขึ้นอย่างผิดสังเกตเช่นกัน
งานวิจัยยังพบอีกว่า เฉพาะจากกรณีที่จับคนร้ายได้ นายกฯ (อบต., เทศมนตรี, อบจ.) ถูกลอบสังหารด้วยสาเหตุทางการเมืองมากสุด (สัดส่วนการลอบสังหารนายกฯ 28.9%) แต่สมาชิกสภา (ตำบล, เทศบาล, จังหวัด) ถูกลอบสังหารด้วยสาเหตุส่วนตัวมากที่สุด (สัดส่วนการลอบสังหารสมาชิกสภาคือ 42.8%) ส่วนประธานสภานั้นไม่มีสักรายเดียวที่ถูกลอบสังหารด้วยสาเหตุทางการเมือง (สัดส่วนการลอบสังหารประธานสภาคือ 5.6%)
พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ ส่วนใหญ่ที่ฆ่ากันไม่ใช่เพราะแย่งตำแหน่งทางการเมืองกัน แต่เพราะมีเหตุส่วนตัว หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้ง หมายความว่าจะมีหรือไม่มีการเมืองท้องถิ่น เมืองไทยก็เป็นสังคมแห่งความรุนแรงอยู่แล้ว
รัฐมีบทบาทน้อยมากในการระงับหรือยับยั้งความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่น ประมาณ 81% ของคดีลอบสังหาร ตำรวจไม่อาจสืบสวนจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้ และในจำนวนน้อยที่สามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ ก็ไม่สามารถสืบไปจนถึงผู้จ้างวานได้ สถิติการจับกุมระดับนี้ทำให้ต้นทุนการลอบสังหารแทบจะเป็นศูนย์ การลอบสังหารจึงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, ธุรกิจ หรือส่วนตัวที่ใช้ง่ายและคุ้มทุนที่สุดอย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สถิติการลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นกลับเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในสองปีสุดท้าย จนผู้วิจัยคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มว่าการลอบสังหารจะยังลดลงในการเมืองท้องถิ่นต่อไป
ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่ผู้วิจัย ในฐานะนักวิชาการ จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ในขณะนี้ แต่ผมในฐานะนักเขียนเล็กๆ คนหนึ่งอยากอธิบายดังนี้
ผมพยายามมองหาเหตุผลที่ทำให้ "ต้นทุน" การลอบสังหารสูงขึ้น รัฐคงไม่เกี่ยว เพราะฝีมือของตำรวจในการจับตัวคนร้ายไม่ได้ดีขึ้นในระยะ 2 ปีท้ายมาจนถึงบัดนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่พอมองเห็นได้ ก็คือ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนขยายตัวขึ้น และเข้มแข็งมากขึ้น แม้ไม่ใช่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ข่าวคราวเหล่านี้สามารถเรียนรู้กันได้มากขึ้นผ่านสื่อ
กรณีอ่าวน้อยเท่าที่ผมได้รับทราบมาเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ
ก่อนเกิดการไล่ยิงแกนนำ เจ้าพ่อ-เจ้าแม่เลือกแสดง "บารมี" ของตน โดยให้ลูกน้องใช้ปืนตบหน้าชาวประมงที่ร้องคัดค้านการสร้างสะพานปลา เพื่อ "สั่งสอน" กลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวแนะนำให้เหยื่อของความรุนแรงแจ้งความ แม้จะแน่ใจว่าตำรวจในพื้นที่ไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ หรือถึงจับได้ก็คงเพียงแค่ถูกปรับ ถึงกระนั้นก็แนะนำให้เหยื่อแจ้งความ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้เกิดบันทึกประจำวัน หนึ่งในแกนนำอธิบายให้ผมฟังว่า บันทึกประจำวันของตำรวจนั้นมีประโยชน์ในการต่อสู้ เพราะคำให้การจะเป็น "น้ำหนัก" ที่ตกลงบนชื่อเสียงของเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ แม้เป็นน้ำหนักที่ไม่มากนัก แต่หากมีการแจ้งความในทุกกรณีที่ถูกรังแก "น้ำหนัก" ก็จะเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง "ผู้ใหญ่" ในอำเภอ, จังหวัด, และประเทศ ซึ่งแบกเจ้าพ่อ-เจ้าแม่นั้นอยู่ รู้สึกว่าเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หนักเกินไปที่จะแบกไว้ต่อไป จำเป็นต้องวางเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ลง
เท่านั้นก็พอแล้ว เพราะเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทั้งหลายในเมืองไทยนั้น ล้วน "หญ่าย" อยู่ได้ก็เพราะซื้อหรือฉกชิงอำนาจรัฐบางส่วนมาไว้ในมือ (นับตั้งแต่สินบนไปถึงอยู่ในเครื่องแบบ หรืออยู่ในตำแหน่งทางการเมืองที่สูง) ดังนั้น หัวใจสำคัญในการต่อสู้กับอิทธิพลท้องถิ่นก็คือ ทำให้อำนาจรัฐ "เป็นกลาง" (neutralize) ไปเสียให้ได้ หากทำได้สำเร็จ กฎหมายย่อมอยู่ฝ่ายชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายอยู่แล้ว
ผมไม่ทราบว่า ในที่สุดชาวประมงที่ถูกปืนตบหน้าได้ไปแจ้งความหรือไม่ แต่ขบวนการประชาชนที่ "รู้ทัน" เหล่านี้เติบโตขึ้น ในท้องที่ต่างๆ ของประเทศไทยมากขึ้น จนเริ่มมีนัยยะสำคัญในการเมืองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
"ต้นทุน" การลอบสังหารทางกฎหมายอาจน้อย แต่ "ต้นทุน" ทางการเมืองและสังคมเริ่มมีสูงขึ้น กรณีคุณเจริญ วัดอักษร แห่งตำบลบ่อนอก น่าสนใจในแง่นี้ แม้ว่าจนถึงทุกวันนี้ บ้านเมืองยังไม่สามารถสืบสวนคดีของคุณเจริญไปจนถึงผู้บงการที่แท้จริงได้ (เพราะคงจะ "หญ่าย" ระดับชาติ) แต่การเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจังของชาวประจวบฯ ทำให้จับมือปืนได้ แม้ไม่อาจสาวไปถึง "เจ้าพ่อ" ตัวจริงผู้รับ "งาน" การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของประชาชนก็ยังไม่หยุด เป็นผลให้ต้องมีการ "ตัดตอน" และ "ผู้ใหญ่" ไม่กล้าอุ้มเจ้าพ่อต่อไปได้ ผลก็คืออิทธิพลและเส้นทางการเมืองในท้องถิ่น (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการเมืองระดับชาติ) ซบเซาลงทันตาเห็น
ผมจึงเชื่อว่า หากขบวนการประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เคลื่อนไหวและมีพลังมากขึ้น การเมืองท้องถิ่นก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากยิ่งขึ้น
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราจะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นลุกขึ้นมากำกับดูแลการเมืองท้องถิ่นได้อย่างไร
ที่มา.มติชนออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น