ภายหลังจากที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้บริหาร บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ยูไนเต็ด จำกัด และพวกอีก 14 คน ตามสำนวนคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งมาให้พิจารณา ในกรณีของการสำแดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และ แอลเอ็ม (L&M) จากประเทศฟิลิปปินส์ต่ำกว่าความเป็นจริง จนทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้กว่า 68,000 ล้านบาท
โดยเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้อง ทางอัยการชี้แจงว่า เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาสำแดงราคาเป็นเท็จ จึงส่งสำนวนคดีกลับไปยัง DSI เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นร้อน ๆ อีกประเด็นหนึ่ง ที่พรรคฝ่ายค้านจะนำไปใช้ในการอภิปรายในสภาครั้งนี้ โดยมีการนำข้อมูลของคดีนี้เชื่อมโยงไปถึง "เสี่ย ก." ว่า เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการตัดตอนคดีนี้
ย้อนคดีมาร์ลโบโร
ย้อนรอยคดีนี้ในช่วงปี 2544-2546 กรมศุลกากรได้ตั้งข้อสังเกตว่าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรและแอลเอ็มที่นำเข้ามาจากฟิลิปปินส์ อาจจะสำแดงราคาต้นทุนการนำเข้า (CIF) ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงส่งเรื่องให้ DSI เป็นคดีพิเศษในช่วงปี 2549 ได้สืบสวนเก็บข้อมูลและพยานหลักฐานต่าง ๆ พร้อมเปรียบเทียบราคาต้นทุนบุหรี่นำเข้าที่แจ้งกรมศุลกากรประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนกับราคาต้นทุนการนำเข้า (CIF) ที่ทางบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯแจ้งไว้กับศุลกากรไทย
พบว่า บุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรของ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ฟิลิปปินส์) ส่งมาขายให้กับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ในช่วงนั้นแจ้งราคาต้นทุนนำเข้าไว้ที่ซองละ 7.76 บาท แต่ส่งไปขายให้กับบริษัทคิง เพาเวอร์ แจ้งราคาที่ซองละ 27.46 บาท และเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาทิ สิงคโปร์ แจ้งราคา CIF ซองละ 20 บาท มาเลเซียซองละ 19.95 บาท ส่วนบุหรี่ยี่ห้อ L&M ก็เช่นเดียวกัน โรงงานผลิตที่ประเทศฟิลิปปินส์ส่งมาขายให้บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ซองละ 5.88 บาท แต่ส่งไปขายให้บริษัท คิง เพาเวอร์ซองละ 16.81 บาท เป็นต้น
จากข้อมูล DSI ได้เปรียบเทียบราคาบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรที่สำแดงราคาซองละ 7.76 บาท บุหรี่ยี่ห้อ L&M แจ้งราคาที่ซองละ 5.88 บาท กับบุหรี่ไทยพบว่ามีราคาใกล้เคียงกับบุหรี่ยี่ห้อกรองทิพย์ ซึ่งแจ้งราคาต้นทุนก่อนออกจากโรงงานไว้ที่ซองละ 7.946 บาท พร้อมกับให้ข้อมูลถึงส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ต่างประเทศที่ขยายตัวจาก 5% เป็น 25% ในช่วง 10 ปี (2539-2548) โดยแย่งตลาดบุหรี่ไทยได้อย่างรวดเร็ว
ในระหว่างที่ DSI รวบรวมพยานหลักฐานและขยายผลคดีอยู่นั้น ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ทำเรื่องร้องเรียนไปถึงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2551 กล่าวหาว่ากรมศุลกากรไทยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของ WTO ไม่ยอมรับราคาบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อที่นำเข้ามาจากฟิลิปปินส์และมีการใช้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรกำหนดราคาขึ้นมาใช้ในการคำนวณภาษี โดยไม่เป็นไปตามหลักการของราคา GATT จนกระทั่ง 15 พ.ย. 2553 ทางคณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทของ WTO ระบุว่า "การดำเนินการต่าง ๆ ของไทย เป็นการละเมิดกติกาการค้าโลกประเด็นแรก ไทยละเมิดข้อกำหนดที่ให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับราคาส่งออก เป็นราคาศุลกากร ไม่ว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่" ล่าสุดทางกระทรวงการคลังได้ทำเรื่องขออุทธรณ์คดีนี้ไปถึง WTO แล้ว
ดังนั้น จะสังเกตเห็นได้ว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯกับรัฐบาลไทยสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ 1.เป็นคดีที่ DSI พยายามจะดำเนินคดีกับบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯ โดยส่ง ให้อัยการฟ้องต่อศาลภาษีอากรของไทย
2.ทางบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯ ไปฟ้อง WTO ว่ากรมศุลกากรใช้อำนาจในการประเมินภาษีกับบริษัท โดยที่ไม่ปฏิบัติตามกติกาสากลของ WTO ซึ่งกรณีนี้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายแพ้คดีในยกแรก และล่าสุดทางกระทรวงการคลังได้มีการยื่นอุทธรณ์กับ WTO ไปแล้ว
ส่วนกรณีที่ 1 ที่ DSI ส่งสำนวนคดีไปให้อัยการ และอัยการสั่งไม่ฟ้อง เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นการเมืองที่ฝ่ายค้านนำไปเป็นประเด็นอภิปรายและมีการเชื่อมโยงไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคน โดยเฉพาะ "เสี่ย ก." ที่ถูกฝ่ายค้านกล่าวถึงเป็นพิเศษ
"เกียรติ สิทธีอมร" โต้
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2554 นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า "เสี่ย ก." อาจจะมีส่วนพัวพันกับการล้มคดีนี้ว่า ในช่วงปีแรกที่นายกฯเดินทางไปอเมริกา ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากทางการสภาธุรกิจอเมริกันในกรณีของมาร์ลโบโล นายกฯอภิสิทธิ์ย้ำว่าต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง
"ทางฝ่ายค้านพยายามโยงเรื่อง WTO กับการดำเนินคดีตามกระบวนการของกฎหมายไทย ซึ่งมีหลายประเด็นที่อาจจะเกี่ยวข้องกัน และก็มีบางประเด็นที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันเลย อย่าโยงแบบเหมารวมรายละเอียดขอให้ไปฟังกันในสภามีคำอธิบาย และมีเอกสารหลักฐานทุกประการ"
ฝ่ายค้านหนุนดีเอสไอ
ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ออกมากล่าวหาบริษัทฟิลลิป มอร์ริสว่า กรณีฟิลิปปินส์ฟ้องร้องประเทศไทยต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นการฟ้องเรื่องวิธีการในการประเมินภาษีของไทยในกรณีบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีการฟ้องหลายเรื่อง ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้าต่าง ๆ ซึ่งปรากฏ บางเรื่องเราก็ชนะ บางเรื่องเราก็แพ้
"เรื่องที่แพ้ เป็นเรื่องภาษีศุลกากร เป็นเรื่องวิธีการประเมิน ซึ่งตามหลักของ GATT มี 6 วิธี แต่ไม่ได้แพ้เพราะไปคำนวณภาษีผิด และต้องแยกกัน กรณีดีเอสไอกำลังจะดำเนินคดีในข้อหาสำแดงเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องภายในประเทศ เมื่อนำของเข้าประเทศ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ศุลกากรของไทย ก็ต้องสำแดงตาม พ.ร.บ.ศุลกากร แต่ระบบวิธีในการคิดคำนวณภาษีเราเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เรายอมรับระบบ GATT ซึ่งทั่วโลกก็ใช้กันแบบนี้" นายยุทธพงศ์กล่าว
ล่าสุด อัยการได้ส่งคดีมาร์ลโบโรกลับไปที่ DSI แล้ว เหลือแค่รอฟังคำตอบว่า DSI จะเสนอเรื่องให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องอีกครั้งหรือไม่ นี่คือ ที่มาถึงต้นสายปลายเหตุที่ทำให้คดีพิเศษที่ร้อนที่สุดในปี 2554 กลับมาอยู่บนหน้าสื่อ และกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง
DSI จะแย้ง-ไม่แย้ง
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวว่า กรมได้รับสำนวนสั่งไม่ฟ้องจากอัยการตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.หากดีเอสไอเห็นด้วยกับความเห็นของอัยการ เรื่องก็จะยุติลง หรือดีเอสไอไม่เห็นด้วยกับการสั่งไม่ฟ้อง ก็จะต้องทำความเห็นแย้งและส่งเรื่องกลับไปที่อัยการอีกครั้งหนึ่ง
ขณะนี้กรมได้มอบหมายให้กลุ่มงานคดีความเห็นแย้งพิจารณาเรื่องนี้ในรายละเอียด ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน และยังไม่สามารถบอกได้ว่ากรมจะมีความเห็นอย่างไร
ส่วนแหล่งข่าวจากบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กล่าวในเรื่องนี้ว่า บริษัทยังไม่ได้รับทราบเรื่องการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ คงต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการก่อน และคงไม่สามารถแสดงความเห็นอะไรได้
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น